22 พ.ย. 2021 เวลา 01:08 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 8: "ผ ผึ้ง🐝 " ทำรัง
🕛ระยะเวลาการอ่าน 7-9 นาที
มาทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ทั่วโลกกันเถอะ
หากลองนึกถึงผึ้งบางคนก็จะนึกถึงภาพสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่บินเข้าบินออกอยู่ตามดอกไม้สีสันสดใส พร้อมเสียงสีปีกดังหึ่งๆ มาแต่ไกล
ซึ่งการที่เรามักจะพบผึ้งอยู่ท่ามกลางดอกไม้เสมอนั้น🌻🐝นั่นคือการออกไปทำงานของผึ้งนั่นเอง
งานของผึ้งนับเป็นหนึ่งในงานที่สำคัญที่สุดในโลก นั่นก็คืออาชีพ “ผู้ผสมเกสร” หรือที่เรียกว่า “pollinator” นั่นเอง
การผสมเกสรหรือการถ่ายละอองเรณู (Pollination) คือ กระบวนการที่ละอองเรณูไปตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ละอองเรณูปลิวไปตามแรงลมแล้วไปตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย
หรืออาจเกิดขึ้นโดยมี ‘ตัวกลาง’ เช่น แมลง นก ค้างคาวหรือหนู ซึ่งนำเกสรจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่งทำให้เกิดการผสมเกสร
กระบวนการผสมเกสร (pollination) ที่มา: https://www.sciencefacts.net/pollination.html
โดยหนึ่งใน pollinator คนดังที่เป็นที่รู้จักในวงการ pollination จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ผึ้ง นั่นเอง โดยต้องยกเครดิตนี้ให้กับเหล่า ‘ผึ้งงาน’ เป็นพิเศษด้วย
ชื่อเสียงที่ได้มาไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะความขยัน การทำงานเป็นทีม
ตลอดจนการมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการเก็บเกสรที่เรียกว่า ตะกร้าเก็บเกสร (pollen basket) อยู่ตรงขาหลังซึ่งมีเฉพาะในผึ้งงานเท่านั้นส่วนผึ้งตัวผู้และผึ้งนางพญาไม่มีอวัยวะนี้ เพราะไม่ต้องออกไปหาอาหาร
นอกจากนี้ผึ้งยังมีถุงลมใหญ่มากอยู่ภายในลำตัว ช่วยพยุงตัวขณะที่ผึ้งบิน ทำให้ผึ้งสามารถบินเร็วและบินได้ไกลด้วย
ขนตามลำตัวของผึ้งมีจำนวนมากเป็นขนละเอียดปุกปุย มีเส้นประสาทรับความรู้สึกและรับสัมผัส เช่น ส่วนขนบริเวณหน้าใช้รับความรู้สึก การเคลื่อนไหว และทิศทางลม
ผึ้งมักจะบินทวนลมไปยังที่ตั้งของแหล่งอาหาร ขนที่ติดกับอกและท้องของผึ้งสามารถรับความรู้สึกเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก ทำให้สามารถบอกความสูงต่ำได้ในขณะที่บิน
นอกจากนั้นขนยังรับสัมผัสการเคลื่อนไหวของศัตรู และ รับสัมผัสอาหาร คือ เกสรและน้ำหวานจากพืชได้อีกด้วย
Pollen basket คือส่วนที่วงกลมล้อมรอบเป็นอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการเก็บเกสรดอกไม้ ดัดแปลงจาก: https://www.nps.gov/articles/000/alaska-bees.htm
ผ.ผึ้งทำรัง🐝
เช่นเดียวกับมนุษย์ผึ้งต้องการอาหารและที่พักในการดำรงชีวิต บ้านของผึ้งหรือที่เราเรียกว่ารังผึ้ง (hive) นอกจากจะเป็นที่พักแล้วยังเป็นที่เก็บน้ำผึ้งด้วย
และไม่ต่างกับคนเราที่ก็อยากจะตกแต่งบ้านให้สวยงาม น่าอยู่และสะดวกสบาย โดยหากสังเกตรังผึ้งจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นโครงสร้างรูปหกเหลี่ยมหน้าเท่าอัดกันแน่นซึ่งนับว่าเหมาะสมกับ life style ของผึ้งอย่างมาก แต่ทำไมถึงไม่เป็น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมหรือวงกลมนะ?
ภายในรังผึ้งที่มีลักษณะจากการเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยหกเหลี่ยมด้านเท่าเชื่อมต่อกันแน่น ที่มา: https://news.microsoft.com/europe/2019/10/10/bee-ing-innovative-we4bee-combines-nature-and-technology-to-create-ai-powered-beehives/
ถ้าหากลองสวมบทบาทเป็น “สถาปนึกผึ้ง” ที่ออกแบบบ้านของคุณผึ้ง เดาว่าคงจะได้รับบรีฟจากลูกค้าประมาณว่า
“ขอบ้านใหญ่ๆ ที่จุสมาชิกได้เป็นพันเป็นหมื่นชีวิตเลยยิ่งดี แล้วก็ขอ working space สำหรับเก็บน้ำหวานได้เยอะๆ ด้วยนะคะ”🍯
สถาปนึกผึ้งก็เลยออกแบบให้เป็นห้องเก็บของเล็กๆ ต่อๆ กัน แต่ก็ต้องไม่ให้เล็กจนเกินไป ต้องให้ใหญ่พอที่คุณผึ้งจะเข้าไปเก็บน้ำหวานได้ด้วย
ส่วนวัสดุก็ใช้เป็น 'ขี้ผึ้ง' หรือ 'wax' ที่คุณผึ้งกับครอบครัวเค้าสร้างเองได้ แต่ความจริงก็เป็นวัสดุที่ราคาสูงใช่ย่อยเพราะขี้ผึ้ง 1 ออนซ์ต้องใช้พลังงานในการผลิตสูงมากทีเดียว
ดังนั้น โจทย์ของงานดีไซน์รังผึ้งก็คือ "ห้องที่เก็บน้ำผึ้งให้ได้มากที่สุดและใช้ขี้ผึ้งให้น้อยที่สุด"
และจากรูปทรงเลขาคณิตทั้งหลายนั้นรูปทรงที่ตอบโจทย์ดังกล่าวมากที่สุดก็คือ "หกเหลี่ยม” นั่นเอง
เมื่อคำนวณแล้วหกเหลี่ยมก็ให้พื้นที่มากที่สุดจริงๆ แถมยังมีลักษณะใกล้เคียงกับวงกลมและเมื่อต่อกันก็ไม่มีช่องว่างอย่างที่เกิดขึ้นกับการต่อวงกลมอีกด้วย ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=QEzlsjAqADA
ซึ่งกว่าจะได้รูปแบบรังอย่างทุกวันนี้ก็คงจะลองผิดลองถูกผ่านประวัติศาสตร์ของการวิวัฒนาการเป็นเวลานาน จนได้เป็นรังผึ้งที่ปลอดภัยและใช้งานได้ดีไม่แพ้งานสถาปนิกของมนุษย์เลยนะ
แต่ละ cell หรือแต่ละห้องที่มีหน้าตัดรูปหกเหลี่ยมนั้นอาจเรียกว่า ‘หลอดรวง’
ซึ่งภายในหลอดจะเป็นที่เจริญเติบโตของตัวอ่อน ที่ผึ้งนางพญามาวางไข่เอาไว้ ต่อมาไข่พัฒนาขึ้นเป็นตัวอ่อนจนเข้าดักแด้และลอกคราบกลายเป็นผึ้งงานตัวเต็มวัย
แผนภาพแสดงลักษณะของหลอดรวง https://www.trueplookpanya.com/blog/content/59707/
ในรังผึ้งรังนึง มีขนาดของหลอดรวงผึ้งแต่ละประเภทที่ไม่เท่ากัน เช่น หลอดรวงของผึ้งงานจะมีขนาดเล็กที่สุด โดยในรังผึ้งโพรงไทยหลอดรวงผึ้งงานกว้าง 0.18 นิ้ว ส่วนหลอดรวงผึ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าคือ กว้าง 0.21 นิ้ว
ในขณะที่ หลอดรวงของผึ้งนางพญามีลักษณะพิเศษ คือ หลอดรวงจะใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวง ในลักษณะที่ห้อยหัวลง
โดยผึ้งที่โตเต็มวัยแล้วจะไม่เข้าไปอยู่ในหลอดรวงอีก แต่จะปล่อยให้หลอดรวงเป็นที่เจริญเติบโตของผึ้งรุ่นต่อไปรวมถึงเป็นที่เก็บน้ำผึ้ง และเกสรโดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บาน
ปกติหลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เราเรียกว่า หัวรวง หรือหัวน้ำผึ้ง ต่ำลงมาเป็นหลอดรวงเก็บเกสร และหลอดรวงตัวอ่อน
อยู่บ้านนี้ต้องมีทีมเวิร์ค
บ้าน (รัง) ของผึ้งนั้นใหญ่มากมีสมาชิกอยู่นับหมื่นชีวิต จนอาจจะเรียกว่าเป็นอาณาจักรเลยก็ว่าได้ อาณาจักรผึ้งมีระบบสังคมที่ซับซ้อนแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะการทำงานเป็นทีมและการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และแม้จะมีผึ้งนางพญาแต่ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ปกครองผึ้งในรัง
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับผึ้งตามหน้าที่ในรังกันก่อน เริ่มจาก
"ผึ้งนางพญา" ซึ่งเป็นผึ้งที่ตัวใหญ่ที่สุด ไม่ได้มีหน้าที่ปกครองแต่มีหน้าที่ในการออกไข่และผลิตนมผึ้งให้กับตัวอ่อน โดยไข่จะถูกผสมโดยผึ้งตัวผู้ ผึ้งนางพญาเป็นผึ้งที่สำคัญที่สุดในรัง ไม่ใช่เพราะนางพญามีหน้าที่ปกครองรังแต่เป็นเพราะนางพญาเป็นผึ้งตัวเดียวที่วางไข่ได้ จึงเป็นผู้ให้กำเนิดผึ้งทุกตัวในรังและยังสามารถผลิตฟีโรโมนชนิดพิเศษที่ส่งผลต่ออารมณ์ให้กับผึ้งทั้งรังอีกด้วย ในแต่ละรังนางพญาผึ้งสามารถวางไข่ได้ถึงวันละ 2,000 ฟอง /วัน
"ผึ้งตัวผู้" เกิดมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม มีขนาดตัวใหญ่ ไม่มีเหล็กใน ไม่ต้องออกไปหาอาหาร มีหน้าที่อย่างเดียวคือผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา แต่ผึ้งตัวผู้ก็จะมีอายุไม่ยืนนัก และจะตายหลังจากผสมพันธุ์แล้ว
"ผึ้งงาน" เป็นผึ้งตัวเมีย แต่ไม่สามารถออกไข่ได้เหมือนผึ้งนางพญา โดยผึ้งงานจะฟักออกมาจากไข่ที่ผสมแล้ว นับเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาณาจักรผึ้ง ทำหน้าที่สากกระเบือยันเรือรบ ตั้งแต่ สร้างรัง ซ่อมรัง เก็บไข่ ปกป้องรัง รักษาอุณหภูมิของรัง ทำความสะอาดและหาอาหาร
ผึ้งงานนั้นหลังลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัยก็ทำงานทันที งานแรกของผึ้งงานคือทำความสะอาดหลอดรวงที่เคยอยู่เพื่อให้หลอดรวงนั้นว่างพร้อมสำหรับการวางไข่ใบใหม่ จากนั้นผึ้งงานก็จะทำงานไปรอบรัง เช่น การผลิตขี้ผึ้ง เก็บเกสรและน้ำหวาน สร้างรวงผึ้ง เฝ้าระวังทางเข้า
จนเมื่ออายุครบ 20 วัน จะเริ่มออกบินไปหาอาหารนอกรัง ทั้งการหาเกสร น้ำหวาน เรซินของต้นไม้เพื่อทำเป็นยางผึ้ง
ผึ้งใช้เวลา 21 วันพัฒนาจากไข่เป็นผึ้งงานตัวเต็มวัย และเริ่มทำงานในรัง จนเมื่ออายุได้ 20 วันจึงออกจากรังไปหาอาหาร ที่มา: https://dickinsoncountyconservationboard.com/2017/05/17/see-the-larva-inside-the-indoor-bee-hive/
ฆ่าผึ้ง = ฆ่าตัวตาย
เอ๊ะแต่ถ้าผึ้งตั้งท่าจะทำรังในบ้านเราแล้วเราเอาไฟไปสุมเอายาไปฉีดแบบนี้ก็เท่ากับฆ่าตัวตายแล้วเหรอ?
ความจริงแล้ว การฆ่าผึ้งที่ว่านี้หมายถึงการทำเกษตรเคมีในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการมุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของประชากรที่มากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งการใช้ยาฆ่าแมลงของมนุษย์กำลังคุกคามผึ้งและทำให้เกิดการล่มสลายของโคโลนีผึ้ง (colony collapse disorder) อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนและชนอดของผึ้งในปัจจุบันลดลงอย่างน่าใจหาย ทั้งปริมาณของผึ้งและความหลากหลายของผึ้ง
“การฆ่าผึ้งนั้นไม่ต่างกับการฆ่าตัวตายเลย” เพราะ 3 ใน 4 ของผลิตผลทางการเกษตรทั่วโลกขึ้นอยู่กับการมีอยู่ของผึ้งเหล่านี้
ดังนั้น ผึ้งจึงมีความสำคัญทั้งในแง่ของความมั่นคงทางอาหาร การสร้างงานและรายได้ในระบบการผลิตและส่งออกสินค้าทางการเกษตรให้กับประชากรทั่วโลกนับล้านคนคิดเป็นมูลค่ามหาศาลต่อปี
ปัจจุบัน แม้หลายประเทศทั่วโลกจะมีการเลี้ยงผึ้งมากขึ้นแต่ก็ไม่อาจทดแทนความหลากหลายของผึ้งตามธรรมชาติที่สูญเสียไปอยู่ดี ดังนั้น หากยั่งมุ่งเน้นการเกษตรแบบเข้มข้นแทนที่การเกษตรแบบยั่งยืน ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะเจอชะตากรรมอย่างที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้เมื่อกว่าร้อยปีว่า...
“หากผึ้งสูญพันธุ์ไปจากโลก มนุษย์ก็จะสิ้นเผ่าพันธุ์ตามไปภายในอีก 4 ปี เพราะไม่มีผึ้งก็ไม่มีการผสมเกสร ไม่มีพืช (ให้สัตว์กิน) ไม่มีสัตว์ (เพราะไม่มีพืชเป็นอาหาร) ไม่มีมนุษย์”
ที่มา: https://www.azquotes.com/quote/484269
อ้างอิง
โฆษณา