29 พ.ย. 2021 เวลา 01:08 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 9: "ม ม้า" 🐴คึกคัก ฮี่ๆ
🕛 ระยะเวลาการอ่าน 8-10 นาที
มาทำความรู้จักกับหนึ่งในสัตว์ที่แสนจะสง่างามซึ่งซ่อนอยู่ในตัวอักษรไทย สัตว์ตัวนี้นับเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านานแต่ความจริงแล้วถิ่นกำเนิดของเค้าไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแต่อย่างใด สัตว์ตัวนั้นก็คือ ม. ม้า คึกคัก🐎นั่นเอง
ม้าสีหมอกม้าคู่ใจของขุนแผน ม้านิลมังกรพาหนะสุดแฟนตาซีของสุดสาคร รวมถึงม้าที่เรามักเห็นปรากฎตัวในฉากต่อสู้ย้อนยุค ดังนั้นแม้ม้าจะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในเมืองไทยแต่เราก็คุ้นเคยกับสัตว์ชนิดนี้มาช้านาน
ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยไม่มีม้าป่าในธรรมชาตินั้นก็เพราะลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของม้าตามธรรมชาติ
เพราะในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยเป็นป่าทึบ จึงไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของม้าตามธรรมชาติที่ชอบอยู่ในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ นอกจากนี้หญ้าที่เจริญเติบโตในพื้นที่เขตร้อนชื้นแบบประเทศไทยจะมีการสะสมแร่ธาตุเอาไว้ได้น้อยและแร่ธาตุที่มีก็ไม่เหมาะสมต่อร่างกายม้า
ดังนั้น ม้าในไทยจะมีก็เพียงแต่ม้าที่ถูกนำเข้ามาเพื่อเป็นยานพาหนะขนส่งสินค้า ใช้ในการศึกสงคราม ใช้เป็นเครื่องบรรณาการหรือนำมาขายให้ผู้คนได้นำไปใช้งานกันตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงการขนส่งซื้อขายม้าบินข้ามประเทศอย่างในปัจจุบัน
🤎🐴ม้าและการวิวัฒนาการกว่า 50 ล้านปี
หากศึกษาวิวัฒนาการม้าจะพบว่ากว่าจะเป็นม้าในปัจจุบันนั้นม้าได้ผ่านการวิวัฒนาการมากว่า 50 ล้านปี จากบรรพบุรุษที่มีนิ้วเท้าหน้า 4 นิ้ว นิ้วขาหลัง 3 นิ้ว ขนาดตัวเท่าหมาบางแก้วของไทย เงยหน้ากินพวกยอดไม้อ่อนๆ หรือที่เรียกว่า Browser กินอาหารแบบก้มกินที่พื้น (Grazer) เพราะในอดีตอาศัยอยู่ในพื้นที่พรุ
จนมาเป็นม้าปัจจุบันที่มีการวิวัฒนาการที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตในพื้นที่โล่ง โดยม้าในปัจจุบันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Equus caballus มีนิ้วเหลือเพียง 1 นิ้ว (กีบ) ขนาดตัวมีความหลากหลากทั้งม้าขนาดเล็ก (pony) ไปจนถึงม้าขนาดใหญ่ที่สูงกว่า 180 cm กินอาหารแบบก้มกินที่พื้น (Grazer) โดยมีหญ้าเป็นอาหารหลักตามรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าเปิดโล่ง
วิวัฒนาการของม้าในช่วงเวลากว่า 50 ล้านปี via: https://zooonesiri.com/2018/03/18/horse-evolution/
สำหรับการนำม้ามาเลี้ยงเพื่อใช้งานเกิดขึ้นเมื่อ 5,000 ปีก่อน โดยชาวจีนเป็นชนชาติแรกของโลกที่นำม้ามาเลี้ยงเพื่อการใช้งานทั่วไป หลังจากนั้นด้วยความแข็งแกร่งของม้า จึงได้มีการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ม้าศึก ม้าส่งข่าว ม้าพิธีการ รวมทั้งนำม้ามาใช้เพื่องานอเนกประสงค์ต่าง ๆ จนกระทั่งเป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงในตำนาน ซึ่งมีความผูกพันกับชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล
🤎🐴ม้าป่าที่ยังหลงเหลือในธรรมชาติ
ในปัจจุบันโลกของเรามีม้ามากกว่า 400 สายพันธุ์ ขนาดแตกต่างกันไป ตั้งแต่ม้าแคระ หรือที่เรียกกันว่า Miniature ที่มีขนาดเล็กกว่าหมาบางพันธุ์ จนถึงม้าในกลุ่ม Draft horse ที่สูงกว่า 180 เซนติเมตร หนักเป็นตันๆ
ซึ่งม้าส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยนั้นเป็นม้าที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้ม้าที่มีลักษณะตามความต้องการของมนุษย์ ดังนั้น % ม้าป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจึงมีอยู่น้อยมาก
โดยม้าตามธรรมชาติหรือม้าป่าที่ยังหลงเหลืออยู่ทั้งม้าพื้นเมืองตามถิ่นกำเนิดดั้งเดิมและม้าที่ถูกนำเข้าไปและยังรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ได้ อาทิ
🐎ม้ามัสแตง (Mustang) เป็นสายพันธุ์ม้าป่าพื้นเมืองที่แข็งแกร่งและใช้ชีวิตอย่างอิสระอยู่ทางตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา ม้าที่ได้ชื่อว่าเคียงคู่ชาวคาวบอย (ม้าที่เป็นที่มาของรถหรูยี่ห้อ Mustang ซึ่งมีโลโก้เป็นรูปม้านั่นเอง) ซึ่งบรรพบุรุษของม้าพันธุ์นี้นั้นมาจากม้าพันธุ์สเปนที่ถูกนำเข้าไปยังอเมริกาโดยนักสำรวจชาวสเปนในศตวรรษที่ 16
🐴ม้าป่ามองโกลหรือม้าป่าเปรวาสกี (Przewalski) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในแอ่งจุ่นก๋าเอ่อร์ (Junggar) ของเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนและฝั่งตะวันตกของมองโกเลีย แต่ม้าพันธุ์นี้ครั้งหนึ่งได้เคยสูญพันธุ์จากถิ่นกำเนิดไปแล้วเนื่องจากการถูกล่าโดยมนุษย์และปัจจัยอื่นๆ
ต่อมาจีนได้มีความพยายามที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้อีกครั้งโดยความพยายามกว่า 20 ปี เริ่มจากการนำเข้าม้าป่าเปรวาสกี 11 ตัวจากต่างประเทศมาฟื้นฟูและใช้การผสมเทียมจนทำให้ประชากรม้าป่าชนิดนี้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนสามารถปล่อยกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิดและสามารถปรับตัวรวมทั้งขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ จนใน ค.ศ. 2020 พบว่ามีจำนวนประชากรม้าป่าเปรวาสกีในธรรมชาติเพิ่มขึ้นมากถึง 274 ตัวแล้ว
🦓ม้าลาย (zebra) เป็นหนึ่งในสัตว์สัญลักษณ์ของทวีปแอฟริกาจัดเป็นม้าขนาดเล็กพบทั่วไปในทวีปแอฟริกาแถบที่ราบโล่งทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา เป็นสัตว์ที่ดื้อ ฝึกยากและมีอารมณ์ฉุนเฉียวรวมถึงมีขนาดตัวเล็กทำให้มนุษย์ไม่นิยมนำม้าลายมาใช้ประโยชน์เท่าไหร่
🤎🐴‘ม้าไทย’ (Thai pony) ผู้สืบทอด DNA ของม้าพื้นบ้านมองโกล
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเข้าม้าเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ มาเป็นเวลานานหลายศตวรรษดังนั้น “สายพันธุ์” ของม้าไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันนอกจากจะมี "คุณค่า" ในแง่ของการเป็นม้าจากธรรมชาติแท้ๆ ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์แล้วยังมีคุณค่าที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของคนและม้าที่ผูกพันกันมายาวนานอีกด้วย
โดยจากการศึกษาที่สำคัญของมูลนิธิม้าลำปางพบว่า "ม้าไทย" ที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ ของลำปาลหรืออาจเรียกว่า “ม้าลำปาง” (ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ คือม้าเขลางค์นคร ม้าไทยเขลางค์) เป็นม้าพื้นเมืองไทยที่มี DNA อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับม้าพื้นบ้านมองโกล (Domestic Horses)
ซึ่งม้าสายพันธุ์มองโกเลียก็เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ม้าที่มีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ม้าทั่วโลกดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมองโกเลียเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการเลี้ยงม้ามาช้านาน ที่โดดเด่นก็ตั้งแต่ยุคสมัยเจงกิสข่านที่ใช้กองทัพทหารม้าในการแผ่ขยายอาณาเขต
โดยม้าในมองโกเลียมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มม้าป่าเปรวาสกี (Przewalski) ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้และกลุ่มม้าพื้นบ้านมองโกลซึ่งเป็นม้าบ้าน ซึ่งกลุ่มนี้เองเป็นกลุ่มที่นำมาเทียบ DNA กับม้าไทย
โดยจุดกำเนิดการค้นพบที่สำคัญนี้เริ่มจากทางทีมวิจัยมูลนิธิม้าลำปางสังเกตว่าลักษณะภายนอก (phenotype) ของม้าพื้นเมืองไทยในลำปางมีความใกล้เคียงกับม้ามองโกลเลีย ได้แก่ ความสูงซึ่งอยู่ระหว่าง 120-140 เซนติเมตร โครงสร้างที่แข็งแรง กล้ามเนื้อหนา กีบแข็ง ทนทาน และมีรูปร่างรวมถึงสีที่ตรงกับเอกลักษณ์ของม้าโบราณ
และเมื่อเก็บตัวอย่าง DNA เพื่อเทียบเคียงกับ DNA ของม้าสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลก ปรากฎว่า DNA ของม้าที่เก็บจากตัวอย่างม้าในชุมชนจังหวัดลำปาง แตกต่างจากม้าที่ผสมพันธุ์โดยมนุษย์ และน่าจะเป็น DNA ของม้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมากกว่า
อย่างไรก็ตาม DNA ที่ว่านั่นก็พบอยู่เพียง 20% ของม้าพื้นเมืองไทยเท่านั้นอันเนื่องจากความนิยมในการเอาม้าพื้นเมืองไปผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะและคุณสมบัติม้าที่ต้องการ ซึ่งเป็นการทำลาย DNA ตามธรรมชาติของม้าดั้งเดิมไป
🤎🐴ทำไมต้องรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ในเมื่อมนุษย์สามารถ breed สายพันธุ์ม้าได้เยอะแยะแล้ว
ธรรมชาติไม่ได้ออกแบบมาให้ม้าอยู่ในพื้นที่ใกล้เขตเส้นศูนย์สูตรอย่างไทย ดังนั้น ม้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าม้ามานั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก นอกจากการดูแลทั่วไป เช่น สถานที่เลี้ยง ชนิดอาหาร ที่เหมาะสมแล้ว ความแข็งแรงตามสายพันธุ์ของม้าก็มีส่วนสำคัญในการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตของม้าด้วย
ปัจจุบันม้าแทบทุกชนิดในโลกที่เรารู้จักเป็นม้าสายพันธุ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการใช้งาน แต่ก็มีผลพวงตามมาต่อสุขภาพของม้า เช่น ความต้านทานโรคน้อย ติดลูกยาก
ในขณะที่ม้าพื้นเมืองหรือม้าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่รอดภายใต้ความท้าทายของภูมิอากาศและภูมิประเทศ
มีความแข็งแกร่งด้านสุขภาพร่างกาย มีโครงสร้างกล้ามเนื้อค่อนข้างแข็งแรงซึ่งทำให้มีกำลังที่จะลากสิ่งของได้ดีกว่าพันธุ์ลูกผสม มีโครงสร้างกีบที่ทนทานสามารถเดินขึ้นภูเขาหรือเหยียบพื้นที่แข็งมาก ๆ ได้ดีกว่าม้าเทศหรือม้าพันธุ์ผสม
ดังนั้น หนึ่งในวิธีการที่จะอนุรักษ์สายพันธุ์ม้าไทยเอาก็คือการขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์พื้นเมืองไทย ซึ่งจากข้อมูลของสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ นอกจากม้าลำปางแล้วยังมีม้าพื้นเมืองอื่น ๆ ได้ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์พื้นเมืองไทย ได้แก่ ม้าไทย ม้าไทยเมืองแพร่และม้าไทยอยุธยา
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์พื้นเมืองประจำถิ่นเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์ การเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมของทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์
นอกจากการขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์พื้นเมืองในระดับประเทศแล้วการศึกษาวิจัยเพื่อผลักดันให้มีการจดทะเบียนม้าไทยให้เป็นสายพันธุ์ในระดับสากลก็มีความสำคัญ
เพราะจะนำไปสู่การขยายผลในการเพาะขยายสายพันธุ์และกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มจำนวนของกลุ่มผู้เลี้ยงในอนาคต ซึ่งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเหมาะสมจะนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืนเพื่อรักษามรดกทางธรรมชาติที่เหลืออยู่นี้เอาไว้
อ้างอิง
โฆษณา