21 พ.ย. 2021 เวลา 12:52 • ประวัติศาสตร์
โจรสลัดโซมาเลีย โจรที่เกิดจากความล้มเหลวของรัฐ
ภาพยนตร์เรื่อง Captain Phillips ฉายเมื่อปี 2013 นำแสดงโดยทอม แฮงส์ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยอิงเนื้อหาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในปี 2009 เมื่อเรือสินค้าเมิร์สก์แอละแบมาของบริษัทเมิร์สก์ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีลูกเรือ 20 กว่าคนกำลังเดินทางอยู่ในมหาสมุทรอินเดียเพื่อนำเสบียงอาหารเข้าไปช่วยเหลือชาวโซมาเลียและยูกันดา โจรสลัดโซมาเลีย 4 คนพร้อมอาวุธสงครามบุกขึ้นหมายจะยึดเรือ ลูกเรือต่อสู้ทำให้โจรยึดเรือไม่สำเร็จ แต่สุดท้ายกัปตันฟิลลิป ชาวอเมริกันถูกจับตัวลงไปในเรือชูชีพเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเวลา 5 วัน ก่อนที่กองทัพเรือสหรัฐฯจะบุกเข้าช่วยเหลือและนำตัวกลับมาได้ หนังทำได้สนุกและน่าติดตาม ชวนให้เราคอยลุ้นกับชะตากรรมของพระเอกแม้จะรู้ตอนจบอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร หนังเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ฉันได้รู้จักประเทศโซมาเลีย และโจรสลัดโซมาเลีย
ในปี 2010 ชาวประมงไทยก็เคยถูกโจรสลัดโซมาเลียจับตัวไปเรียกค่าไถ่เช่นกัน และถูกจับไปนานเกือบ 5 ปีเลยทีเดียว เรือประมงของไทย 3 ลำถูกโจรสลัดบุกยึด บนเรือประกอบด้วยคนไทยลำละประมาณ 5 คน ที่เหลือเป็นแรงงานชาวพม่าอีก 10 กว่าคน จากบทสัมภาษณ์ ตัวประกันที่ถูกจับไปเกือบ 5 ปี บอกว่าพวกเขาถูกคุมตัวไว้บนเรือ และถูกหลอกว่าถ้าช่วยนำเรือออกไปปล้นเรือสินค้า จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ปี 2011 เรือไทย 2 ลำที่ถูกโจรสลัดยึดและนำออกไปปล้นเรือสินค้า ได้เผชิญกองกำลังของอินเดียและถูกยิงจมไป 1 ลำ อีก 1 ลำยอมมอบตัว ตัวประกันบนเรือจึงได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศ ส่วนเรือลำที่ 3 โจรขู่ไต้ก๋งเรือให้ขับเรือหนีกลับมาฝั่งโซมาเลียได้ เพราะโจรบนเรือลำที่ถูกจับได้วิทยุไปบอกข่าวก่อน เขาและพวกที่เหลือจึงยังคงต้องเป็นตัวประกันต่อไป โจรจะติดต่อเรียกค่าไถ่จากบริษัทเจ้าของเรือ ถ้าเจ้าของยอมจ่ายก็จะได้เรือพร้อมตัวประกันคืน
ตัวประกันไทยที่เหลือเล่าว่าระหว่างที่ถูกจับตัว พวกเขาถูกคุมตัวอยู่บนเรือ โดยทอดสมออยู่ที่ฝั่ง ช่วงแรกยังมีอาหารในเรือที่เตรียมมาจากไทยก็ยังไม่ลำบากมากนัก แต่ก็มีลูกเรือพม่าและคนไทย 1 คนเกิดป่วยด้วยอาการขับถ่ายไม่ได้ ทำให้ตัวบวมเหมือนคนหนัก 100 กิโลกรัม การป่วยนี้ทำให้ลูกเรือตายไปหลายคน ไม่มีการทำพิธีศพใด ๆ คนตายถูกห่อด้วยผ้าห่มและโยนทิ้งทะเล จากนั้นลูกเรือพม่าได้รับการปล่อยตัวกลับ จึงเหลือคนไทยแค่ 4 คน โชคร้ายที่วันหนึ่งเรือของพวกเขาซึ่งไม่มีน้ำมันและทอดสมออยู่ที่ฝั่งถูกพายุซัดจนเรือกระแทกชายฝั่งเสียหาย ภายหลังเรือแตกพวกเขาถูกโจรคุมตัวไปไว้ในป่าและได้กินเพียงแป้งโรตีและถั่วแดง 3-4 เดือนจึงจะได้กินเนื้อแพะก้อนเล็ก ๆ สักครั้ง มีคนไทย 1 คนเคยพยายามหลบหนีแต่ไม่สำเร็จ เมื่อถูกจับตัวกลับมาได้ก็ถูกซ้อมอย่างหนัก
ระหว่างนี้ทั้ง 4 คนยังเจอเรื่องเฉียดตายอีกหลายครั้งจากการโจมตีเพื่อแย่งชิงตัวประกันจากโจรต่างกลุ่ม การเจรจาต่อรองค่าไถ่จากเจ้าของเรือยังมีอยู่เป็นระยะ แต่พวกเขาก็ไม่กล้าหวังมากนักว่าจะได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากเรือก็แตกไปแล้ว สุดท้ายโจรมาถามว่าจะเรียกค่าไถ่จากใครได้อีก เพราะดูแล้วไม่น่าจะได้เงินค่าไถ่จากเจ้าของเรือแน่ พวกเขาเลยแจ้งไปว่าให้ติดต่อสหประชาชาติ จนกระทั่งปี 2015 UN ช่วยเหลือจ่ายค่าไถ่ให้ พวกเขาจึงได้รับการปล่อยตัวและได้กลับมาหาครอบครัวอีกครั้ง
ภาพโจรสลัดที่เรารู้จักเป็นแบบในหนังอย่าง Pirates of the Caribbean หรือ กัปตันฮุก ในเรื่องปีเตอร์แพน แต่โจรสลัดจริง ๆ สมัยนี้อย่างโจรสลัดโซมาเลีย ใช้เรือสปีดโบ๊ทในการปล้น มีอาวุธสงครามครบมือ มีจรวด RPG และมีกระทั่งโทรศัพท์ดาวเทียม จีพีเอส และระบบโซนาร์ โซมาเลียเป็นประเทศที่มีปฏิบัติการโจรสลัดมากที่สุดของโลก ปี 2009 มีเรือถูกโจมตีจากโจรสลัดประมาณ 300 ลำ ทั้งเรือสินค้า เรือประมง เรือขนส่งอาหารของ UN สร้างความเสียหายให้กับกิจการเดินเรือพาณิชย์อย่างมาก บางบริษัทยอมเดินทางอ้อมเพื่อเลี่ยงโจรสลัด ทำให้ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น รวมถึงเบี้ยประกันภัยสำหรับเรือที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางนี้ก็สูงขึ้นด้วย ปี 2008 UN เรียกร้องให้มีการปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย ซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้ส่งทหารชุดปฏิบัติการพิเศษไปร่วมกับกองเรือประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ประเทศโซมาเลีย ตั้งอยู่บริเวณ Horn of African เดิมเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของแอฟริกาจึงเป็นเป้าหมายของการล่าอาณานิคม เนื่องจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกติดมหาสมุทรอินเดียและทางเหนือก็ติดประเทศเยเมน โดยมีอ่าวเอเดนคั่นอยู่ กำเนิดโจรสลัดโซมาเลียเริ่มขึ้นหลังจากโซมาเลียได้รับเอกราชจากอังกฤษและอิตาลี เมื่อพ.ศ. 2503 รัฐบาลพลเรือนปกครองได้พักหนึ่ง ก็ถูกปฏิวัติยึดอำนาจโดยนายพลโมฮัมเหม็ด ซีอาด บาร์ ระหว่างการปกครองแบบเผด็จการ เกิดกลุ่มต่อต้านขึ้นมากมาย จนในพ.ศ. 2534 ซีอาด บาร์ก็ถูกโค่นอำนาจลง โซมาเลียถูกแยกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มแย่งอำนาจกันเอง เมื่อไม่มีรัฐบาลก็ไม่สามารถรักษาระเบียบของบ้านเมืองไว้ได้ กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ จึงหันมาปล้นเพื่อความอยู่รอด อีกทั้งต่างชาติก็เข้ามาหาประโยชน์โดยการทำประมง และยังมีการลักลอบนำกากกัมมันตรังสีมาทิ้งในน่านน้ำแถบนี้อีกด้วย
โจรสลัดกลายเป็นอาชีพที่คนโซมาเลียให้การยอมรับ เนื่องจากการปล้นหรือเรียกค่าไถ่ได้เงินมาไม่น้อย โจรสลัดโซมาเลียจึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาระดับโลก รัฐบาลโซมาเลียเองก็ไม่เข้มแข็งพอจะปราบปรามกลุ่มโจรสลัดได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากกองกำลังนานาชาติในการยับยั้งปราบปราม แม้จะช่วยลดจำนวนการปล้นลงได้ แต่ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปัจจุบันเรือประมงนานาชาติขนาดใหญ่เข้าไปหาปลาในแถบนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย ชาวประมงท้องถิ่นจับปลาได้น้อย และคงรู้สึกถูกแย่งทรัพยากร
หากจะแก้ปัญหาโจรสลัดให้ได้คงต้องทำให้เกิดความสงบภายในประเทศและแก้ปัญหาความยากจน ความอดอยากให้ได้ก่อน ถ้าเทียบโซมาเลียกับไทยคงเป็นสมัยที่กรุงศรีอยุธยาแตก คนในชาติแบ่งก๊กแบ่งเหล่า หากรวมชาติให้เป็นหนึ่งไม่ได้ก็คงวิบัติไม่แพ้กัน ทุกประเทศก็เช่นกัน พึงระลึกไว้เสมอว่าการแตกความสามัคคีเป็นจุดเริ่มต้นแห่งหายนะ
โฆษณา