30 พ.ย. 2021 เวลา 13:48 • ประวัติศาสตร์
#ทริปอยุธยา No.5 วัดใหญ่ชัยมงคล
วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนต้น ผ่านประวัติศาสตร์ช่วงสมเด็จพระนเรศวร
ไฮไลท์ชมเจดีย์สูงที่สุดในอยุธยา
1
เจดีย์ชัยมงคล สูงที่สุดในอยุธยา
คนท้องที่เรียกกันว่า “วัดใหญ่”
เดิมชื่อ “วัดป่าแก้ว” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับวัดพนัญเชิง ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา
1
จุดเด่นของวัดนี้คือเจดีย์องค์ใหญ่ (สูงที่สุดในอยุธยา) อยู่ตรงกลางบริเวณวัดชื่อ “เจดีย์ชัยมงคล” ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ ส่วนภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานชื่อ พระพุทธชัยมงคล และด้านหลังของเจดีย์ในบริเวณใกล้ๆกันมีตำหนักและศาลของสมเด็จพระนเรศวร
1
[ประวัติวัดนี้ตามยุคสมัย:]
### สมัยอยุธยา ###
พ.ศ. 1900 วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทองพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชื่อคือ วัดป่าแก้ว สถาปนาเป็นพระอารามหลวงฝ่ายอรัญวาสี
3
พ.ศ. 2092 สมเด็จพระมหาจักพรรดิ์ (พระเฑียรราชา) เสด็จมาเสี่ยงเทียนในพระอุโบสถก่อนเสวยราชย์
1
พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างขยายและปฏิสังขรณ์พระอุโบสถกว้างใหญ่ออกไปอีก (ยังเหลือซากผนังให้เห็นอยู่บางส่วน) เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศและเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพระองค์ ในศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชแห่งพม่า ที่ ต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรี และเป็นที่มาของชื่อเจดีย์ชัยมงคล
2
พ.ศ. 2309 พระอุโบสถถูกข้าศึกทำลาย และเป็นวัดร้างมาแต่ตอนนั้นในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2
### ยุคฟื้นฟูถึงปัจจุบัน ###
พ.ศ. 2500 พระครูภาวนาพิริยคุณ (เปลื้อง วิสฏฺโฐ) เจ้าอาวาส วัดยม อ.บางบาล ได้นำคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และแม่ชี หักร้างถางพง ฟื้นฟูวัดแห่งนี้จนได้รับการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดราษฎร์ที่มีพระภิกษุจำพรรษา และได้ชื่อว่า วัดใหญ่ชัยมงคล ตามชื่อเจดีย์ ส่วนพระครูภาวนาพิริยคุณ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนารังสี
2
พ.ศ. 2522 พระครูภาวนารังสี เจ้าอาวาส สร้างพระอุโบสถใหม่บนซากเดิม โดยย่อส่วนให้เล็กลง เพื่อรักษาโบราณสถานไว้ โดยกรมศิลปากรออกแบบแปลนให้
พ.ศ. 2536 หลังจากที่พระครูภาวนารังสีได้มรณภาพ พระปลัดแก่น ปุญฺญสมฺปนฺโน หรือปัจจุบันเป็นพระครูพิสุทธิ์บุญสาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และได้ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และแม่ชี พัฒนาวัดใหญ่ชัยมงคล จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น และสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ 3
เรียบเรียงข้อมูล โดย Right SaRa
ป้ายทางเข้าวัดในปัจจุบัน
พระพุทธรูปบริเวณฐานเจดีย์ชัยมงคล
พระพุทธรูปบริเวณฐานเจดีย์ชัยมงคล
[จุดสำคัญภายในบริเวณวัด:]
• วิหารพระนอน พอเดินเข้ามาจะอยู่ปีกทางซ้ายของบริเวณวัด ใกล้ๆกับพระอุโบสถ เป็นพระนอนที่ยังคงเห็นความสมบูรณ์อยู่ แต่ตัววิหารเห็นเป็นซากอิฐหมดแล้วไม่มีเพดานเหลืออยู่ มีคนมาสักการะไหว้กัน และตรงพระบาทมีคนนำเหรียญใส่ที่ช่องหรือรูเป็นการบูชา
1
วิหารพระนอน
ด้านในวิหารเป็นที่บูชาพระปรางไสยาสย์ (พระนอน)
คนที่มาไหว้พระนอนนำเหรียญใส่รูบนพระบาท
• พระอุโบสถ อย่างที่เล่าไปข้างบน เป็นการบูรณะใหม่บนซากเดิม ดังนั้นยังมีร่องรอยอิฐโบราณให้เห็นอยู่ ไม่เทปูนทับ
1
พระอุโบสถเก่าแก่ ฉากหลังเป็นเจดีย์ชัยมงคล
ประวัติพระอุโบสถ
พระประธานในพระอุโบสถ
• เจดีย์ชัยมงคล สูงตระหง่านเลยกลางวัด จากประวัติแต่เดิมตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น วัดนี้เป็นสำนักสงฆ์ของกลุ่มมหาเถระจากศรีลังกา ดังนั้นเจดีย์หลักของวัดรูปทรงแบบระฆังคว่ำคล้ายๆกับที่องค์พระปฐมเจดีย์
2
จดีย์ชัยมงคล สูงตระหง่านกลางวัด
นักท่องเที่ยวเดินขึ้นเจดีย์ชัยมงคล
เดินขึ้นไปด้านบนสุดเป็นห้องด้านในเจดีย์ มีพระพุทธรูปอยู่ล้อมรอบด้านในกำแพงอีกที และมีช่องตรงกลางเหมือนเป็นบ่อลึกลงไปด้านล่างใจกลางเจดีย์ คนส่วนใหญ่จะหย่อนเหรียญลงไปในช่องนี้เพื่อให้ลงตรงช่องตรงกลางฐานด้านล่าง
หย่อนเหรียญลงไปในช่องตรงกลางของเจดีย์
มองจากด้านบนเจดีย์ลงมา
บริเวณวัดมองจากด้านบนเจดีย์ลงมา
• ตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ด้านหลัง (ผมไม่ได้แวะเข้าไป เลยไม่มีรูป)
### สรุป ###
วัดใหญ่ชัยมงคลถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย และเป็นวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมมามากด้วยจากการโปรโมทของจังหวัดเองในสื่อต่างๆและบริษัททัวร์ จึงเห็นนักท่องเที่ยวได้ทั้ง จีน-ญี่ปุ่น-ฝรั่ง
ด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ชมเจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยา ทำให้มีผู้นับถือศรัทธาเข้ามากราบไหว้ นอกจากนี้ บริเวณ รอบๆยังมีมีสวนหย่อมที่สวยงามให้พักผ่อนอีกด้วย ใครชอบมาเที่ยววัดโบราณหรือดูร่องรอยโบราณสถานและชอบเรื่องประวัติศาสตร์ ที่นี่ไม่ควรพลาดครับ มีลานจอดรถเยอะอยู่ ทั้งฝั่งด้านหน้าและด้านหลัง
1
# คนไทย เข้าฟรี
1
# นักท่องเที่ยวต่างชาติ เสียค่าเข้า (จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ครับ)
ปล 1: รูปทั้งหมดในบทความนี้ ผมเป็นคนถ่ายรูปไว้เองกับมือโดยใช้กล้องมือถือ
1
ปล 2: ผมเคยเขียนรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวไว้ที่ platform ชื่อดังแห่งหนึ่งของไทย ดังนั้นข้อความต่างๆในบทความนี้จึงมีรูปแบบและเนื้อหาการเขียนเหมือนกัน ซึ่งเป็นผลงานของผมเช่นกัน ไม่ได้ก๊อปมาครับ
1
โฆษณา