5 ธ.ค. 2021 เวลา 09:33 • ปรัชญา
หลวงพ่อชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร)
สอนพระฝรั่งยังไง ให้บรรลุธรรม ปัจจุบันได้เป็นพระอาจารย์ฝรั่งหลายรูป ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา
1
รูปภาพจากหนังสือธรรมะ อุปลมณี หน้า 375
ช่วงนี้บ้านเราวงการพระสงฆ์มีการเคลื่อนไหวที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตามที่ทุกคนได้รับรู้กันไปบ้างแล้ว บทความนี้ผู้เขียนจึงอยากขอเล่าเกี่ยวกับพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือ หลวงพ่อชา ซึ่งปรับทัศนคติให้ชาวตะวันตกหันมาเข้าถึงวิถีความเป็นตะวันออกแบบพุทธศาสนาได้
ตามที่เราทราบๆกันเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มหันจากวิถีดั้งเดิมความเป็นตะวันออกไปเข้าหาความเป็นตะวันตกมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ลองคิดตามกันดูครับ
หลวงพ่อชาเป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน หนึ่งในลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระวิปัสสนาที่สำคัญ ต้นแบบพระป่าสายวิปัสสนาที่ศึกษาธรรมอย่างจริงจัง เพื่อค้นหาแก่นธรรมของพระพุทธเจ้า
หลวงพ่อชาเป็นพระผู้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี วัดป่าต้นแบบที่มีสาขาในต่างประเทศจำนวนมาก
ถึงท่านมรณภาพไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2535 แต่ยังได้รับการยกย่องจากนานาชาติให้เป็นต้นแบบของพระป่าสายวิปัสสนา สร้างพระลูกศิษย์จำนวนมากทั้งไทยและเทศช่วยสร้างคุณูปการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
ทั้งที่ท่านเป็นเพียงพระป่าขนานแท้ แทบพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ทำไมจึงมีลูกศิษย์ฝรั่งบินมาขอบวชปฏิบัติธรรมกับท่านจำนวนมาก โดยเรียนรู้ตามหลักปฏิบัติของท่านคือ การทำวัตรประจำวันเริ่มจากตื่นตีสาม ฉันมื้อเดียว นอนบนเสื่อกกผืนบางๆ ยึดถือพระวินัยเคร่งครัด มุ่งแสวงหาความสงบภายใจจิตใจของตน
วิธีการสอนของท่านแก่ลูกศิษย์ฝรั่งคือ การใช้ประโยคสั้นๆเพียงประโยคเดียว แต่ทำให้กลับมาทบทวนได้อย่างมากมาย หรือจะเรียกว่า “ง่ายแต่ตรงเข้าแทงใจให้คิด” เป็นวิธีการสอนที่ใช้ความลึกซึ้งแต่มีความหมายซ่อนอยู่อย่างพรั่งพรู เหมือนกับวิถีเซน
1
หลวงพ่อชาแทบจะไม่สอนใช้ภาษาบาลียากๆ ท่านใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย แต่มีความแหลมคมแอบแฝงเหมือนปริศนาธรรม ใครได้ฟังจะรู้สึกเหมือนโดนทุบหัวหรือแทงใจ ทำให้ได้คิดและเกิดปัญญาขึ้นด้วยตนเอง
1
ผู้เขียนขอยกเรื่องเล่าบางเรื่องจากความทรงจำของพระฝรั่งบางรูป ในรูปแบบนิทานเซนเป็นตอนๆจากหนังสืออุปลมณี ดังนี้
1
“ใช้ภาษาอะไร?”
1
หลวงพ่อชา ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ชาวต่างชาติเกิดความเลื่อมใสศรัทธาออกบวชปฏิบัติกับท่านมากมายด้วยปฏิภาณไหวพริบที่เฉียบแหลม
4
ในช่วงแรกนั้น สำหรับชาวบ้านที่มาเห็นพระฝรั่งในวัดหนองป่าพง เขาเหล่านั้นต่างรู้สึกทึ่งที่เห็นว่าพระฝรั่งชาวต่างชาติปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดเคียงข้างกับพระชาวไทย จึงเกิดความสงสัยว่าหลวงพ่อชาท่านสอนพระฝรั่งได้อย่างไร? เพราะตัวหลวงพ่อชาเองท่านเป็นพระป่าที่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษมาก่อน ท่านรู้จักแต่ภาษาบาลีภาษาพระพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนทางฝ่ายลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยกับภาษาไทย บางคนอดสงสัยไม่ได้จนถึงกับถามเอาความจากท่าน ท่านก็ย้อนถามโยมท่านนั้นว่า
1
“ที่บ้านมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า? อย่างหมา อย่างแมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาฝึกหัดมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม?”
หลวงพ่อก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า “ไม่ยากหรอก ดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นล่ะ”
"ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลยเชื่อ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้นนะ ทำจริงๆนั่นแหละ สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา”
## ถอดความหมายจากคติธรรมอันนี้ ##
เราสามารถสอนคนอื่นได้โดยการลงมือกระทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีและให้เค้าได้คิดตามเองจนเกิดเป็นความเชื่อ เป็นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษามาก
1
“สุเมโธ ยอมแล้วบ่”
1
พระอาจารย์สุเมโธ พระฝรั่งรูปแรกที่มาอยู่ที่วัดหนองป่าพงเป็นอดีตนายทหารหน่วยเสนารักษ์แห่งกองเรือสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลี หลังจากที่นายทหารผู้นี้ได้ฟังกิตติศัพท์เกี่ยวกับการปฏิบัติอันเคร่งครัดของหลวงพ่อชาแล้วก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก จึงเดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ซึ่งหลวงพ่อก็เมตตารับไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก และท่านจะต้องทำตามระเบียบเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำกัน
2
ท่านเล่าว่าทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาตจะมีพระเณรหลายรูปไปรอที่ศาลาเพื่อคอยล้างเท้าท่าน ระยะแรกที่ท่านได้เห็นกิจวัตรอันนี้ทีไรก็ได้แต่นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ ล้างเท้าท่านรูปเดียวสองรูปก็พอทำไมต้องไปกันมากมาย แต่พออยู่นานเข้าท่านก็ชักจะเป็นไปด้วย แล้วก็มีอยู่เช้าวันหนึ่ง ก่อนที่จะรู้ตัวว่าอะไรเป็นอะไร ท่านก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรรูปอื่นๆเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่านอยู่ก็ได้ยินเสียงนุ่มๆเย็นๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อพูดอยู่บนหัวท่านว่า
1
“สุเมโธ ยอมแล้วบ่?”
1
## ถอดความหมายจากคติธรรมอันนี้ ##
2
เกี่ยวกับคำว่า “ทิฐิมานะ” ถ้าเป็นความหมายทางธรรม
ทิฐิ คือ ความเห็นผิด (มิจฉาทิฐิ) ถ้าความเห็นของแต่ละคนคลาดเคลื่อนไป ผิดไป ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทุกอย่างก็จะผิดไปด้วย โดยที่สิ่งที่ผิดก็จะเห็นว่าถูก สิ่งที่ถูกก็จะเห็นว่าผิด ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ เลยทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น
มานะ คือ ความสำคัญตน ถือตน การขัดเกลามานะและอกุศลต่างๆนั้น จะต้องอาศัยการสะสมสิ่งที่ดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
“อาจารย์ที่แท้จริง”
ครั้งหนึ่งท่านพระอาจารย์ชาคโร (พระชาวต่างชาติ) ถูกหลวงพ่อชาส่งให้ไปอยู่ประจำวัดสาขาแห่งหนึ่ง เมื่อมีโอกาสหลวงพ่อท่านได้เดินทางไปเยี่ยม หลวงพ่อถามว่า
1
“ท่านชาคโรเป็นอย่างไร? ทำไมผอมอย่างนี้ล่ะ?” พระอาจารย์ชาคโรกราบเรียนโดยไม่อ้อมค้อมว่า
1
“เป็นทุกข์ครับหลวงพ่อ ไม่สบายเลย” หลวงพ่อซักไซ้ต่อว่า
1
“เป็นทุกข์เรื่องอะไร? ทำไมจึงไม่สบาย?” พระอาจารย์ชาคโรเผยความในใจว่า
“เป็นทุกข์เพราะอยู่ห่างไกลครูบาอาจารย์ครับ” หลวงพ่อท่านจึงท้วงขึ้นในทันทีว่า
“มีอาจารย์อยู่ด้วยตั้ง 6 องค์ ยังไม่พอรึ? มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละเป็นอาจารย์ของเรา ฟังให้ดี ดูให้ดี เขาจะสอนเราให้เกิดปัญญา”
2
## ถอดความหมายจากคติธรรมอันนี้ ##
ความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจเราเอง ไม่ใช่เกิดจากสิ่งเร้าหรือสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ทำให้เราทุกข์
หนทางพ้นทุกข์คือการก่อเกิดปัญญา โดยใช้เครื่องมือหรือที่เรียกว่าอาจารย์ ซึ่งอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว คือ ประสาทสัมผัส
3
“ปล่อยวางผิดทาง”
ลูกศิษย์หลวงพ่อท่านหนึ่งกำลังสนใจฝึกที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นตามแนวทางของ "ท่านเว่ยหล่าง” (สังฆปรินายกองค์ที่ 6 ของจีน) ท่านพักอาศัยอยู่ในกุฏิหลังคามุงแฝกหลังหนึ่งภายในวัดหนองป่าพง ในฤดูฝนนั้นฝนตกชุก และวันหนึ่งพายุก็พัดเอาหลังคาโหว่ไปครึ่งหนึ่ง ท่านก็ไม่ขวนขวายที่จะมุงมันใหม่ จึงปล่อยให้ฝนรั่วอยู่อย่างนั้น หลายวันผ่านไปหลวงพ่อท่านได้ถามถึงกุฏิของท่านเข้า ลูกศิษย์ท่านนั้นก็ตอบว่า
“ผมกำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ ขอรับ”
หลวงพ่อท่านก็ตอบสวนกลับไปว่า
“นั้นเป็นการไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ใช้หัวสมอง มันก็เกือบจะเหมือนกับความวางเฉยของควาย ถ้าท่านมีความเป็นอยู่ดีและเป็นอยู่ง่ายๆ ถ้าท่านอดทนและไม่เห็นแก่ตัวนั้นแหละถึงจะเข้าใจความไม่ยึดมั่นถือมั่นของท่านเว่ยหล่างได้”
1
## ถอดความหมายจากคติธรรมอันนี้ ##
การทรมาน การทำร้ายตัวเอง เป็นความเห็นแก่ตัว ขนาดตัวเราเองยังไม่ให้คุณค่า แล้วเราจะไปเห็นคุณค่าของผู้อื่นได้อย่างไร
1
การยึดมั่นที่ถูกวิธี ต้องเดินบนวิธีที่ใช้ความคิดแบบไม่ประมาท
“ผิดคาด”
พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งอีกรูปหนึ่งเล่าว่า หลวงพ่อท่านไม่สอนอะไรมาก ท่านจะพูดเพียง 2-3 คำให้เราเก็บเอาไปคิดพิจารณา อย่างเช่นครั้งหนึ่งท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่ หลวงพ่อท่านผ่านมาก็ถามว่า
1
“ช้อน สบายดีไหม?” ชื่อเดิมของท่านคือ ฌอน (Shaun) หลวงพ่อก็เรียกว่า ช้อน ท่านก็กราบเรียนหลวงพ่อว่า
“สบายดีครับ หลวงพ่อ” หลวงพ่อท่านก็ถามต่อเหมือนกับย้ำว่า
“สบายดีไหม?” ท่านก็กราบเรียนยืนยันเช่นเดิมว่า
“สบายดีครับ” หลวงพ่อท่านกลับพูดว่า
“สบายดี ไม่ดี”
แล้วหลวงพ่อท่านก็เดินจากไป ปล่อยให้ท่านชยสาโรยืนงงอยู่อย่างนั้น
## ถอดความหมายจากคติธรรมอันนี้ ##
การที่เรายังสบายดีจนเกินไปแปลว่ายังยึดติดอยู่กับกิเลสทางโลก ท่านจึงสื่อถึงว่าเรายังไม่หลุดพ้นเข้าสู่ทางธรรมนั่นเอง
1
“Good morning”
พระอาจารย์ญาณธมฺโม ชาวออสเตรเลียศิษย์รุ่นเดียวกับพระอาจารย์ชยสาโร ดูเหมือนจะประทับใจในบทเรียนแบบเฉียบพลันที่ได้รับจากหลวงพ่อยิ่งนัก ท่านเล่าว่าวันหนึ่งท่านมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธหงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาตก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินสวนทางกับหลวงพ่อ ท่ายิ้มและทักอาตมาเป็นภาษาอังกฤษว่า
“Good morning”
เพียงเท่านี้ก็ทำให้อารมณ์ของท่านเปลี่ยนทันที ที่กำลังขุ่นมัวหงุดหงิดกลับเบิกบาน ปลื้มปีติที่หลวงพ่อทักทาย
เสร็จกลับกุฏิ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ถึงหกโมงเย็นก็คิดว่า เดี๋ยวจะไปกุฏิหลวงพ่อชา เข้าไปกราบท่าน ขอนวดเท้าท่านเพราะเราเคยฝึกนวดเท้า บางครั้งท่านจะให้เราไปนวด วันนั้นพระเณรก็เยอะ ประมาณหนึ่งทุ่มเขาตีระฆัง ท่านก็ไล่พระเณรขึ้นโบสถ์หมด พระเณรประมาณ 70 รูป ท่านบอกว่า ท่านญาณอยู่นี่ ก็นั่งสองต่อสองกับท่าน ก็จับเท้าท่านไว้ ท่านก็ไม่ได้พูด ท่านนั่งหลับตาภาวนา เราก็นวดเท้าท่าน อากาศเย็นสบายช่วงฤดูหนาว
พระเจ็ดสิบรูปเริ่มสวดมนต์ทำวัตรเย็น เราฟังพระสวดเจ็ดสิบรูป เหมือนเทวดา เหมือนเทพกำลังจะโปรดเรา เราก็กำลังนั่งคิด เรากำลังนั่งกับพระอรหันต์ กำลังสร้างบุญสร้างกุศลถวายการนวดแก่พระอรหันต์อยู่ เทวดากำลังสวดอนุโมทนาด้วย จิตใจขึ้นสวรรค์เลย พอดีจิตใจ ขึ้นสวรรค์ หลวงพ่อใช้เท้าถีบหน้าอกอาตมาจนหงายหลังหัวกระแทกพื้น เราก็ช็อคอยู่ งงเลย หลวงพ่อชี้หน้าและสอนว่า “อย่าฝากหัวใจไว้กับคำพูดของคนอื่น เพราะเราจะผิดหวัง ต้องฝากหัวใจไว้กับพระธรรม”
2
## ถอดความหมายจากคติธรรมอันนี้ ##
อย่าไปดีใจเสียใจกับคำพูดคนอื่น อย่าไปฝากใจไว้กับคนอื่น ต้องฝากหัวใจไว้กับหลักธรรม การเป็นทุกข์เปรียบเหมือนตกนรก เพราะคำพูดของคนอื่น แค่คำพูดจากท่าน “กูดมอนิ่ง” เหมือนดึงขึ้นสวรรค์ แต่ขึ้นสวรรค์แล้วก็ต้องถีบลงมาถึงแผ่นดิน เพราะเทวดาสอนธรรมไม่ได้ ต้องเป็นมนุษย์หรือตัวเราเอง เพื่อให้จดจำไว้
3
พระอาจารย์ฝรั่ง ลูกศิษย์หลวงพ่อชา เครดิตภาพ: https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/167243.html
พระอาจารย์ฝรั่ง ลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา 4 รูปสำคัญ เรียงจากซ้ายไปขวา
1. พระเทพญาณวิเทศ วิ. (สุเมโธภิกขุ) ชาวอเมริกา เป็นพระลูกศิษย์ชาวต่างชาติรูปแรกของหลวงพ่อชา
2. พระราชโพธิวิเทศ วิ. (ปสนฺโนภิกขุ) ชาวแคนาดา
3. พระราชพุทธิวรคุณ วิ. (อมโรภิกขุ) ชาวอังกฤษ
4. พระราชพัชรมานิต วิ. (ชยสาโรภิกขุ) ชาวอังกฤษ
[สรุปวิธีการสอนของหลวงพ่อชา:]
ทุกคนล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยในตัวเอง หลวงพ่อชามีปัญญาหลักแหลมเข้าใจจิตใจลูกศิษย์แต่ละคนจากพฤติกรรมและพื้นหลังของเค้า
ลูกศิษย์ฝรั่งชาติตะวันตกจะมีจุดเด่นเรื่องความสงสัยและเป็นคนชอบหาสาเหตุเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ท่านก็เน้นตั้งคำถามให้คิดอยู่บ่อยๆนั่นเอง
2
ส่วนจุดด้อยชาวตะวันตกจะมีแนวคิดยึดติดกับความมีตัวตนหรือ “อัตตา” ท่านก็ต้องพยายามเปลี่ยนแนวคิดให้เข้าใจคำว่า “อนัตตา”
1
วิธีการสอนลูกศิษย์พระไทยกับพระฝรั่งของหลวงพ่อชามีต่างกันเล็กน้อย เนื่องด้วยภูมิหลังที่ต่างกัน พระไทยส่วนใหญ่มาจากชาวบ้านที่มีการศึกษาไม่สูงมากนัก มาบวชด้วยศรัทธา บวชตามประเพณีบ้าง ส่วนมากมีศรัทธาอยู่แล้วสั่งสอนง่าย มีความรักและเกรงกลัวหลวงพ่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงลดมานะทิฏฐิได้ง่ายกว่า ไม่มีข้อโต้แย้งมากนัก ประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาการปรับตัว หลวงพ่อชาจึงเน้นที่ข้อวัตรปฏิบัติ
1
ส่วนพระฝรั่งนั้น มาบวชด้วยศรัทธาในการปฏิบัติจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางมีการศึกษา มีประสบการณ์ทางโลกสูง ช่างคิดปรุงแต่ง เนื่องด้วยความสนใจในการทำสมาธิ การฝึกจิตให้สงบ ซึ่งศาสนาของตัวเองไม่มี และเชื่อว่าศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้เชื่องมงาย แต่สอนวิธีปฏิบัติให้พิสูจน์ด้วยตนเอง เหมือนกับหลักวิทยาศาสตร์อันเป็นวิถีชีวิตที่คุ้นเคย ไม่ค่อยเชื่อเรื่องอะไรง่ายๆ เคยชินกับการใช้ความคิด ความฟุ้งซ่านจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จิตใจสงบได้ยาก หลวงพ่อชาจึงใช้วิธีสอนโดยให้ ธรรมะชั้นสูงสุด เพื่อกระตุ้นให้ใช้ความคิดด้วยตนเอง และใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องแก้ หรือผ่อนคลายความตึงเครียด
เมื่อพูดถึงเรื่องจิตของชาวตะวันออกกับชาวตะวันตก หลวงพ่อชาเคยพูดไว้ว่า
“…โดยพื้นฐานแล้วไม่แตกต่างกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นสิ่งภายนอกและภาษาที่ใช้อาจดูต่างกัน แต่ความรู้สึก (จิต) ของมนุษย์นั้น มีลักษณะเฉพาะตามธรรมชาติ ซึ่งเหมือนกันหมดไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ความโลภและความเกลียดก็เหมือนกัน ทั้งในจิตใจของชาวตะวันตกหรือตะวันออก ความทุกข์และการดับแห่งทุกข์ก็เหมือนกัน”
1
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านและได้ทบทวนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ได้นำมาคิด ทำให้เกิดปัญญาด้วยตนเอง ตามวิธีการสอนพระฝรั่งของหลวงพ่อชา
อ้างอิง:
หนังสือธรรมะ อุปลมณี จากเว็บไซท์ศูนย์เผยแผ่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) https://www.ajahnchah.memorial/
หนังสือ “เดินตามรอย” โดย ญาณธัมโมภิกขุ (นามเดิม ฟิลลิป จอห์น โรเบิร์ต ชาวออสเตรเลีย ศิษย์หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานี
โฆษณา