5 ธ.ค. 2021 เวลา 14:07 • ท่องเที่ยว
วันที่ 8 (นอกลอนดอน) ไปสโตนเฮนจ์ (Stone Hence) ไปทำไม? ไปแล้วจะดูโง่มะ?
วันนี้ตื่นเช้าเป็นพิเศษ เพราะเราจะออกนอกกรุงลอนดอนไปยังสถานที่ซึ่งมีคนบอกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ แถมยังเป็นเที่ยวที่เก่าแก่โบราณที่สุดในทริปนี้ แต่ก็เป็นอะไรที่ตัดสินใจยากเหมือนกันว่าจะไปหรือไม่ นั่นคือสโตนเฮนจ์ (Stone Henge) กองหินขนาดมหึมาที่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์นำมาเรียงกันให้ชวนฉงนว่าเขาทำได้อย่างไรในช่วงที่ไม่มีเทคโนโลยีแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้คุยกับเพื่อนๆที่เคยไปเที่ยวมาแล้วก็พบว่ามันแล้วไม่ง่ายนักในการตัดสินใจว่าควรจะมาดูหรือไม่ เพื่อนบางคนบอกผมว่าไม่มีอะไรที่คุ้มค่ากับการเดินทางไปดูกองหินเปล่าๆ
"อุตส่าห์เสียเวลาเดินทางไปแต่สุดท้ายก็เห็นอยู่แค่นั้น แค่หินกองเดียว หินธรรมดา"
"ไปสโตนเฮนจ์แล้วถ่ายรูปมาไม่กี่รูปก็พอแล้ว คนที่บ้านเขาดูก็รู้สึกเฉยๆ "
"ดูสโตนเฮนจ์แป๊ปเดียว ใช้เวลาที่เหลือไปกับฝูงแกะรอบๆบริเวณนั้น เดินดูลูกแกะยังน่าพิศมัยกว่าเยอะ"
อย่างไรก็ตาม เพื่อนเหล่านั้น (ก็คนเดียวกันนั่นแหละ) กลับบอกให้เราไปเยือนสักครั้งซะเอง งงไหม
ใครบางคนบอกว่า กองหินนี้มันก็เหมือนของบางอย่างที่มีการโปรโมตเอาไว้ ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าก้อนหิน แถมบางคนยังคิดว่าสโตนเฮนจ์เป็นเรื่องหลอกลวงเพื่อที่จะทำเงินจากการท่องเที่ยว แต่กระนั้นก็ยังมีคนยอมเสียเงินเสียเวลาเพื่อจะมาดูพร้อมกับตั้งคำถามมากมายว่ามันคืออะไร มาตั้งอยู่ที่นี่ได้อย่างไร เอาไว้ใช้ทำอะไร และเมื่อมีคำถามที่ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง มันก็ยิ่งสร้างความหมายพิเศษ เป็นสเน่ห์ของความลับที่รอคอยให้ผู้คนมาสร้างเรื่องราว และเมื่อมีเรื่องมีราวก็ยิ่งมีความหมายลึกลับ สิ่งนี้เองที่ยึดโยงคุณค่าของสโตนเฮนจ์เอาไว้
แล้วคุณคิดว่าผมควรจะตัดสินใจมาสโตนเฮนจ์หรือไม่ล่ะ
ไม่ยากเลย คำตอบคือไป รู้แล้วใช่ไหม ไม่งั้นไม่ได้มานั่งเขียนถึงมันตอนนี้หรอก
By Edwin J. Acott, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=30273215
ผมเดินทางโดยซื้อทัวร์จากที่นั่นตอนเช้าแถวใกล้ๆสถานีวิคตอเรีย (Victoria Coach Station) เดินทางไปก็หลับไป ดูพ่อลูกที่นั่งข้างเราตื่นเต้นกับมันมาก เตรียมข้อมูลมาดีแถมยังโหลดแอพนำเที่ยวมาอีก พอเดินทางมาถึงก็มีรถเล็กๆพาไปส่งยังที่หมาย
กองหินขนาดยักษ์โดดเดี่ยวท่ามกลางทุ่งเวิ้งว้างสีเขียวขจี ชวนให้สงสัยว่าเหตุใดหินขนาดมหึมาขนาด 20 กว่าตันหลายก้อนถูกจัดวางอย่างตั้งใจ เป็นรูปวงกลมที่โอบล้อมวงเกือกม้าอีกทีคล้ายกับประติมากรรมจัดวางสมัยใหม่ หินเหล่านี้มีจำนวน 112 ก้อน วางตั้งบ้างนอนบ้าง แถมยังมีทับหลังซึ่งมีขนาดยักษ์อยู่บนแท่งหินตั้งเหล่านั้น ทั้งยังมีการขัดแต่ง มีสลักและเดือย ผู้เชี่ยวชาญได้คาดคะเนว่ากองหินนี้ถูกสร้างขึ้นมาในยุคหินตั้งแต่ 5000 ปีที่แล้ว ก่อนหน้าการกำเนิดของมหาปิรามิดกิซาถึง 500 ปี และมิได้ทำกันทีเดียว แต่ค่อยๆใช้เวลาต่อเนื่องกันมาประมาณ 1,500 ปีจนเสร็จ
ปริศนาของสโตนเฮนจ์นั้นยังคงเป็นความลับ มันถูกสร้างเพื่ออะไร ทำได้อย่างไร ไม่มีใครรู้แน่ ได้แต่สันนิษฐานกันไปต่างๆนานา ผู้ที่สร้างสโตนเฮนจ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหินใหม่จะต้องเป็นอมนุษย์ เป็นยักษ์ปักหลั่นหรือมนุษย์นอกโลกกันแน่
นอกจากนั้น ความยากไม่ใช่เรื่องของขนาดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงระยะทางที่หินเหล่านั้นได้มาจากอีกด้วย หลักฐานที่เพิ่งค้นพบได้ไม่กี่ปีนี้ยืนยันว่าหินบางก้อนมาจากป่าที่ห่างออกไป 25 กม. และบางก้อนมาจากภูเขาไฟในประเทศเวลส์ซึ่งอยู่ห่างออกไป 250 กม. เรียกว่าไกลคนละประเทศไปเลย นั่นยืนยันได้ชัดว่ามนุษย์ต่างดาวเท่านั้นที่จะสร้างสิ่งมหัศจรรย์นี้ได้
หลายต่อหลายคนพยายามอธิบายที่มาของกองหินกองนี้เช่นนั้น แต่ ณ บัดนี้นักวิชาการคาดว่าเกือบจะได้คำตอบแล้วแต่ก็ยังไม่มีใครรู้ชัดเจนเสียทีเดียว
By Lucas de Heere - Corte Beschryvinghe van England, Scotland ende Irland, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4779058
สโตนเฮนจ์นั้นถูกตั้งชื่อโดยชาวแซกซัน แปลว่าหินที่แขวนอยู่ แต่ในสมัยกลางตั้งชื่อมันว่า“ยักษ์เริงระบำ” นั่นขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ละกลุ่มคน ครั้งหนึ่งเคยมีคนคิดว่ามันคือซากปรักหักพังของวิหารโรมัน แต่หลังจากนั้นก็มีคนคิดว่ามันถูกใช้ในพิธีบูชาพระอาทิตย์และบูชายัญมนุษย์ บ้างก็คิดว่ามันสร้างขึ้นเพื่อศึกษาด้านดาราศาสตร์ เนื่องจากแนวการวางหินมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวดาว และบางคนก็ว่าที่นี่เป็นที่ประกอบพิธีฝังศพ
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญพยายามค้นหาคำตอบเพิ่มอธิบายวิธีการสร้างมันขึ้นมา สิ่งที่พวกเขาได้พบก็คือจำนวนคนและกาลเวลานั้นเองที่เป็นทรัพยากรสำคัญ การสร้างสิ่งมหํศจรรย์นี้จะดูแปลกน้อยลงหากทราบได้ว่า การสร้างกองหินเหล่านี้ใช้เวลายาวนานมาก มีการก่อสร้างจากคนต่างๆถึง 3 รุ่นและแต่ละรุ่นก็เป็นคนละชนเผ่ากัน โดยชนเผ่าแรกทำการขุดคูน้ำทำคันดินและปักไม้ลงไป
By Blaeu, J - Atlas van Loon, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5520872
สโตนเฮนจ์เริ่มต้นจากการเป็นคูน้ำที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมักถือเป็นช่วงแรกของการก่อสร้างหรือสโตนเฮนจ์ที่ 1 ที่นั่น นักโบราณคดีได้ค้นพบเครื่องเซ่นไหว้ เครื่องมือหิน และกระดูกสัตว์
https://owlcation.com/humanities/The-Origins-of-Stonehenge
มนุษย์ยุคหินใหม่เคยใช้เขากวางเพื่อขุดคูน้ำทรงกลมประมาณ 320 ฟุตและลึก 20 ฟุต นอกจากนี้ ศิลาทางเข้าสองก้อนถูกสร้างขึ้นที่ส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของวงกลม มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้และได้รับการขนานนามว่า “หินสังหาร” สโตนเฮนจ์ระยะแรกนี้มีการใช้งานมาประมาณ 500 ปี
นอกจากนั้นก็มีบางคนบอกว่ามันถูกใช้งานทางดาราศาสตร์เนื่องจากตำแหน่งของมันสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงดาวอย่างมาก เช่น ในช่วงเวลาที่กลางวันยาวที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงยอดหินก้อนสำคัญชื่อ Heel Stone พอดี อีกทั้งยังสามารถใช้แท่งหินบางแท่งมาใช้ในการสังเกตดวงดาวได้ โดยเฉพาะวันสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของฤดูกาล นั้นหมายความว่าสโตนเฮนจ์คือปฎิทินทางดาราศาสตร์ในยุคหินนั่นเอง
CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=195581
ข้อสันนิษฐานอีกอันคือการใช้มันเป็นสถานที่แสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตฮอลล์ (ว้าว เป็นไปได้อย่างไรนี่) นักวิทยาศาสตร์พบว่าถ้าหากนักดนตรีสองคนมาเล่นดนตรี ผู้ฟังจะได้ยินเสียงที่แปลกกว่าปกติเพราะการวางตั้งของหินจะสร้างเอฟเฟกต์เสียงแปลกๆและมีระบบอะคูสติคที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีเสียงสะท้อนเหมือนอยู่ในมหาวิหาร
งานคอนเสิร์ตในสโตนเฮนจ์ https://www.huffpost.com/archive/ca/entry/stonehenge-first-rock-concert-venue_n_4377984
และท้ายสุด มีคนให้ความเห็นว่าสโตนเฮนจ์นั้น ถูกสร้างมาเพื่อให้เกิดการสร้างเท่านั้นละ งงไหม ขยายความอีกก็ได้คือ มันสร้างขึ้นมาไม่ได้มุ่งหวังเพื่อต้องใช้ทำอะไร แต่สร้างเพราะอยากจะสร้าง (โอ๊ย กวนตีนไปไหม) ขอขยายความอีกรอบว่า มีคนคิดว่าการสร้างสโตนเฮนจ์นั้นเป็นกิจกรรมเพื่อให้ชุมชนหมู่ชนนับพันได้มารวมตัวกัน เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีกัน และได้ผลสุดท้ายเป็นอนุสาวรีย์แห่งกิจกรรมนั้นซึ่งก็คือสโตนเฮนจ์
By Salix alba at en.wikipedia, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4611783
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องแปลกๆปนตลกอีก อย่างเช่นการขุดพบเศษภาชนะ เหรียญ เพชร พลอย ของชาวโรมันที่นี้ คาดว่าคงเอาไว้ใช้เซ่นไหว้สโตนเฮนจ์ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคหิน อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือเคยมีการบูรณะสโตนเฮนจ์ครั้งใหญ่ในปี 1950-1964 เพราะมีหินบางก้อนล้มลง เลยได้โอกาสขุดค้นศึกษาร่องรอยและทำการบูรณะไปด้วย แต่ในตอนหลังมีคนเอาภาพไปโพสต์เพื่อหลอกว่านี่คือหลักฐานแสดงว่าสโตนเฮนจ์ถูกประกอบสร้างขึ้นมาในยุคนี้เอง ตลกดีที่มีบางคนเชื่อด้วย
https://www.bbc.com/news/uk-england-wiltshire-53580339
สรุปแล้ว ในปัจจุบันนี้เราพอหาคำตอบของมันได้บ้างแล้ว แต่ในคำตอบนั้นก็มีคำถามซ่อนอยู่ รอคอยการค้นหาความจริงที่พิสูจน์ได้ชัดเจนต่อไป
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สโตนเฮนจ์ถูกสร้างความหมายเรียบร้อยไปแล้ว สิ่งที่ดึงดูดเขามาไม่ใช่การได้เห็นสิ่งสวยงาม แต่เป็นการได้รู้ว่ามันเป็นบางสิ่งที่มีความหมาย
และด้วยเหตุนี้ แต่ละปีจึงได้มีนักท่องเที่ยวนับหมื่นคนแห่เข้ามาชมดวงอาทิตย์ขึ้นในวันครีษมายัน ซึ่งเป็นวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี
Photograph: Ben Birchall/PA https://www.theguardian.com/uk-news/2019/jun/21/sunrise-stonehenge-visible-around-world-live-feed-solstice
วันนี้ผมมาอยู่ที่นี่เพื่อที่จะมาชมและอยู่ใกล้ๆกองหิน กลางท้องทุ่งและฝูงแกะ ผู้คนเรียงหน้าเข้ามาดู สโตนเฮนจ์อย่างต่อเนื่อง พวกเขามาถ่ายรูปมากกว่าที่จะมาเดินชมหรือสังเกตความงาม อีกทั้งยังมีรั้วกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใกล้ชิดมากไปกว่านั้นได้ แม้ผมจะพยายามจินตนาการภาพของมนุษย์ยุคหินที่มาทำพิธีกรรมก็นึกภาพไม่ค่อยออกเพราะถูกรบกวนจากผู้คนที่กำลังถ่ายรูปเซลฟี่กันอย่างคึกคัก และยังทรมานจากลมหนาวแสนหนาวอีกด้วย
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Stonehenge_-_Sheep_-_geograph.org.uk_-_1823241.jpg
เดินออกไปจากสโตนเฮนจ์เพื่อไปดูฝูงแกะ มีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มถ่ายรูปคู่กับแกะเป็นของแถม
เมื่อถึงเวลา ผมกลับมาที่จุดสำนักงานท่องเที่ยวของสโตนเฮนจ์เพื่อดูนิทรรศการสักระยะหนึ่ง ถ้าจะให้เลือกจะขอใช้เวลาไปกับนิทรรศการมากกว่าเวลาที่ไปดูกองหินด้วยซ้ำ มันมีทั้ง “เรื่องราว” และ “ความหมาย” ที่ชวนสนใจมากทีเดียว
โฆษณา