6 ธ.ค. 2021 เวลา 08:05 • ประวัติศาสตร์
โรคภัยไข้เจ็บในสมัยอยุธยา ตอนที่ 1
สมัยนี้ Covid-19 แล้วสมัยโน้นเค้าเจอโรคระบาดอะไร
รูปภาพจาก สมุดภาพปฤษณาธรรม สมุดข่อยโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 มีเหตุการณ์โรคระบาดเกิดขึ้นตามปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา คือ “โรคห่า” กับ “ไข้ทรพิษ”
3
โรคห่า ครั้งสำคัญเกิดในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ส่งผลกระทบโดยตรงให้มีการย้ายที่ตั้งเมืองจากบริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ไปยังจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำลพบุรี (คลองเมืองอยุธยา)
3
ไข้ทรพิษ มีเหตุการณ์ระบาดครั้งแรกๆ ตามพระราชพงศาวดาร อยู่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เกิดระบาดหนักจนผู้คนล้มตายมาก ถึงจะไม่ต้องย้ายเมืองหนีเหมือนตอนโรคห่า แต่ส่งผลให้มีการจัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการป้องกันและรักษาโรคขึ้นในระบบศักดินาของราชการอยุธยา (คล้ายๆกับกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน)
2
ข้อแตกต่างในวิธีจัดการของทั้ง 2 รัชสมัย ได้ถูกกล่าวถึงในแง่ที่ว่าการแพทย์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นกว่าในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงไม่ต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองหนีโรคเหมือนอย่างในอดีต
แต่อาจด้วยโรคระบาดที่เกิดใน 2 ยุค เป็นคนละโรคกัน ระดับความรุนแรงและขอบเขตการระบาดอาจต่างกันด้วย อาจทำให้สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจัดการได้ง่ายกว่า
2
“โรคห่า” เป็นโรคที่คร่าชีวิตของไพร่ราษฎร ในขณะที่ชนชั้นสูงได้รับการปกป้องอย่างดี ซึ่งไม่จริงเสมอไป เพราะพบข้อมูลว่า โรคห่าที่ระบาดในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นั้น ได้ลุกลามทำให้พระโอรส เช่น เจ้าแก้วเจ้าไทสิ้นพระชนม์ด้วยเช่นกัน
2
ช่วงต้นอยุธยาหลักฐานที่ระบุเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บทั่วไปมีน้อยมาก จะเน้นแต่โรคระบาดครั้งใหญ่ ต้องรอจนถึงศตวรรษที่ 17 จึงได้ปรากฏการรวบรวมบันทึกทางประวัติศาสตร์การแพทย์ที่เรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์
3
[โรคของพระราชาและชนชั้นสูง]
ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ กล่าวถึงโรคที่น่าจะเป็นกันมากในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางไว้ ซึ่งเกิดกับเฉพาะบางชนชั้น คือกามโรค สำหรับชนชั้นสูงยังมีโรคระบาดชนิดหนึ่งที่มักมีหลักฐานปรากฏว่าเป็นกันมาก คือโรคคุดทะราด ลักษณะคล้าย “ซิฟิลิส” แต่ไม่ใช่โรคเดียวกัน จนสับสนกัน
1
การรักษาโรคซิฟิลิสของฝรั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือ การขับเหงื่อออกจากร่างกายผู้ป่วย สูดดมยา จี้ด้วยเหล็กร้อนตามร่างกาย เครดิตภาพ: CC BY 4.0, Wellcome Library
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เจ้านายวังหน้า ที่ป่วยเป็นโรคลักษณะนี้ (ระหว่างคุดทะราด หรือซิฟิลิส) จนทำให้ไม่สามารถเข้าเฝ้าและร่วมราชกิจเป็นเวลา 3 ปี และได้หายป่วยหลังจากนั้น แต่พระวรกายกลับไม่เป็นปกติเหมือนเดิม ต้องเดินหลังโก่งงอ จนผู้คนตั้งสมญาว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง”
1
หลักฐานการมีอยู่ของโรคซิฟิลิสที่ชัดที่สุดในสมัยอยุธยา คือมีโครงกระดูกหนึ่งซึ่งขุดค้นพบที่บ้านโปรตุเกส ที่สามารถสันนิษฐานถึงสาเหตุการเสียชีวิตได้ว่ามาจากโรคซิฟิลิส
ชาวตะวันตกถูกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้นำเข้ากามโรคมาให้แก่ชาวพื้นเมือง ตามที่มีเขียนไว้ในเอกสารเช่น ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม (เขียนโดย ตุรแปง) ที่กล่าวถึง “โรคที่เกิดเพราะความประพฤติเสเพล (กามโรค) ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในกรุงสยาม โรคเหล่านั้นเป็นของชั่วร้ายที่ชาวสยามได้รับจากชาวยุโรปเสเพล” ซึ่งเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัว เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น
1
ซิฟิลิสถึงแม้จะแพร่ระบาดอยู่ตลอด แต่ระดับความร้ายแรงและขอบเขตอยู่จำกัดเฉพาะบุคคล ไม่ได้ติดต่อกันง่ายเหมือนโรคอื่นๆ
[โรคห่า โรคระบาดร้ายแรงสมัยอยุธยา]
“ห่า” เป็นคำโบราณใช้นิยามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปริมาณมากภายในระยะเวลาอันสั้น เช่น ใช้เรียกฝนที่ตกลงมามากว่า “ฝนห่า” หรือ “ห่าฝน” แต่ถ้านำไปใช้เป็นคำด่า มีความหมายแง่ลบอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้ว
รูปโปรโมทภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ผีห่าอโยธยา”
ภาพยนตร์เรื่อง “ผีห่าอโยธยา” เขียนบทและกำกับโดยหม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล (คุณชายอดัม) ที่นำเสนอแนวคิดแหวกแนวที่ว่า “โรคห่า” และ “ผีห่า” นั่นคือ “ซอมบี้” เป็นโรคที่เข้ามาพร้อมกับเรือของชาวโปรตุเกส แต่ดูเพื่อความบันเทิงเท่านั้นพอ ไม่มีข้อมูลหลักฐานใดๆอ้างอิงทั้งสิ้น
ความหมายของคำว่า “โรคห่า” คือ โรคที่มีผู้ป่วยล้มตายเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกัน โรคอะไรก็ได้ที่เข้าข่ายก็จะถูกเรียกชื่อนี้ได้ทั้งนั้น เป็นการเรียกโรคระบาดในสมัยอยุธยา ไม่ใช่ชื่อเฉพาะเจาะจงลงไปอย่าง อหิวาตกโรค วัณโรค หวัด หรือ Covid-19
2
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงสงสัยว่าแล้วโรคห่าที่ระบาดในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 คือโรคอะไรกันแน่ ใช่ไหมครับ ทำไมร้ายแรงถึงกับต้องย้ายเมืองกันเลยทีเดียว
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่องนิทานโบราณคดี ทรงเห็นว่าเป็นอหิวาตกโรค แต่เมี่อมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้ทราบว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มิได้ย้ายมาจากเมืองอู่ทอง หากแต่มาจากเมืองอโยธยาเดิมที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักเก่า และอหิวาตกโรคก็ไม่น่าใช่สาเหตุที่ทำให้มีการอพยพหนีไปสร้างเมืองใหม่
1
ถึงแม้อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อผ่านทางเดินอาหารและน้ำ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เนื้อตัวผู้ป่วยเกิดแผลอักเสบเรื้อรัง ฉะนั้นการที่ไม่แตะต้องศพในสมัยนั้น (กลัวติดเชื้อจากแผลพุพอง) ก็อาจเป็นเบาะแสได้ว่าโรคห่าสมัยนั้นไม่ใช่อหิวาตกโรค
1
อีกข้อสังเกตหนึ่งที่เป็นประจักษ์คือ กรณีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าแก้วเจ้าไท อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สิ้นพระชนม์จากโรคระบาด แต่ทว่ากลับไม่มีการทำพิธีศพให้แก่พระองค์ ซ้ำยังฝังพระศพไว้ ณ ที่สิ้นพระชนม์นั้น ต้องรอเวลาภายหลังจึงจะขุดพระศพขึ้นมาทำพิธีและสถาปนาวัดป่าแก้วขึ้นที่บริเวณดังกล่าว ปัจจุบันคือที่ตั้งของ วัดใหญ่ชัยมงคล
2
ภาพถ่ายวัดใหญ่ชัยมงคล ที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่า สร้างขึ้น ณ ที่ปลงศพเจ้าแก้วเจ้าไทที่เป็นโรคระบาดตาย เครดิตภาพ: https://www.silpa-mag.com/history/article_47392
ในทางวัฒนธรรมการไม่ทำพิธีศพ เป็นการไม่ให้เกียรติเหมือนการไม่เผาผี ยิ่งเป็นพระโอรสของกษัตริย์ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีเหตุอันจำเป็น ดังนั้นถ้าโรคห่าคืออหิวาตกโรคจริง ทำไมถึงไม่ทำพิธีศพให้ทันที จึงเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะลักษณะของโรคที่เป็นสาเหตุการตายนั่นเอง
1
โรคที่ห้ามไม่ให้แตะเนื้อต้องตัวผู้ป่วย เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดการแพร่เชื้อ และมีคนล้มป่วยตายเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันสั้น ยังมีความเป็นไปได้อีกอย่างว่าจะเป็น “กาฬโรค” ซึ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นโรคที่ระบาดอย่างหนักในตะวันตกและจีน ซึ่งไม่แปลกที่อยุธยาในสมัยนั้นอาจจะได้รับโรคติดต่อผ่านการติดต่อค้าขายกับจีนและชาติยุโรปที่เข้ามาอยู่ตลอดนั่นเอง
1
ดังนั้นตามที่ได้เขียนไว้ด้านบน Covid-19 จะเรียกว่าเป็น โรคห่า ตามนิยามของคนสมัยอยุธยาได้ก็ไม่ผิดเพี้ยนอะไรครับ
2
ติดตามตอนต่อไป…
เกี่ยวกับมาตรการคุมโรคระบาดในสมัยอยุธยา และวิถี New Normal ที่เกิดขึ้นกับคนในสมัยนั้น
อ้างอิง:
ประทีป ชุมพล, ประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย: การศึกษาจากเอกสารตำรายา (กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541) หน้า 27-28
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553) หน้า 41
ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต และวิเชียร จีรวงศ์, คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา 5 ธันวาคม 2542 หน้า 115-132
ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย ปอล ซาเวียร์ (กรุงเทพฯ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2539) หน้า 5-6
สุจิตต์ วงษ์เทศ, อยุธยายศยิ่งฟ้า (กรุงเทพฯ: มติชน, 2544) หน้า 13-14
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, นิทานโบราณคดี (กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2544) หน้า 267
โฆษณา