9 ธ.ค. 2021 เวลา 01:15 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์และความล่มสลายของราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายแห่งพม่า
เราจะมาทำความรู้จักกับราชวงศ์คองบอง หรือ ราชวงศ์โก้นบอง หรือ ที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งตามชื่อผู้ก่อตั้งราชวงศ์ว่า ราชวงศ์อลองพญา ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองพม่าก่อนจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและได้รับเอกราชจนกลายเป็น สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อย่างที่เป็นในปัจจุบัน
เอาไปเป็นว่าเราจะเล่าประวัติศาสตร์พม่าโบราณให้ฟังไปจนถึงยุคสิ้นสุดของราชวงศ์สุดท้ายเลยก็แล้วกันครับ คุณผู้อ่านก็อาจจะพอสรุปได้ด้วยตนเองว่า ความล่มสลายของราชวงศ์คองบองและการตกเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ มีปัจจัยอะไรกอปรกันขึ้นมาให้เป็นเช่นนั้นบ้าง และอาจจะทำให้พวกเราเข้าใจความเป็นคนพม่า คนมอญ คนกะเหรี่ยง คนฉาน คนคะฉิ่น คนยะไข่ ซึ่งอยู่ร่วมกันเป็นสาธารณรัฐสหภาพพม่าในปัจจุบัน
ในวังวนแห่งประวัติศาสตร์พม่าโบราณ ใครจะยืนหนึ่งแถวนั้นได้ ต้องเป็นนักรบตัวจริง ประวัติศาสตร์พม่าเป็นประวัติศาสตร์ของชนเผ่าและแต่ละชนเผ่าก็ล้วนแต่รบเก่งในแบบของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นการจะบอกว่าใครเป็น “หนึ่งในตองอู” ตามในนิยายนั้น เรียกว่าเป็นการสิโรราบขั้นสูงสุดกันแล้ว
ดินแดนที่เราเรียกกันว่าพม่าในปัจจุบัน จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังคงประกอบไปด้วยชนเผ่าต่าง ๆ มากมาย ประวัติศาสตร์พม่าอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ชนเผ่า ประกอบไปด้วยชาวบะหม่า หรือ ชาวพม่า ซึ่งเป็นเผ่าที่ใหญ่ที่สุด แล้วก็มี ชาวมอญ ชาวฉาน ชาวชิน ชาวอาระกัน ชาวกะเหรี่ยง ชาวคะฉิ่น และเผ่าเล็กเผ่าน้อยที่มักไม่ค่อยได้ยินชื่ออีกมากมาย
ชาวบะหม่าตามคำบอกเล่าถูกเรียกว่าเป็นนักรบบนหลังม้า อพยพมาจากดินแดนที่เป็นยูนนานในปัจจุบันลงมาสู่ลุ่มน้ำอิระวดีตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 และได้ก่อตั้งอาณาจักรพุกามอันยิ่งใหญ่ (Pagan Dynasty) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1044 ถึงราวปี ค.ศ. 1297 ความยิ่งใหญ่ที่ว่านี้หมายความว่า อาณาจักรพุกามสามารถแผ่ขยายอิทธิพลเหนือพื้นที่เกือบจะเทียบเท่าพื้นที่ของประเทศพม่าในปัจจุบัน สามารถรวบรวมดินแดนของชนเผ่าใหญ่อื่น ๆ เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิ ทั้งอาณาจักรของชาวมอญบริเวณปากแม่น้ำอิระวดี อาณาจักรของชาวอาระกันทางตะวันตก ชาวชินทางตะวันตกเฉียงเหนือ และ ชาวฉานทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน
2
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433
ขอบพระคุณมากๆครับ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433 ขอบพระคุณมากๆครับ
ในช่วงคริสตศักราชที่ 12 อาณาจักรพุกามได้รับการยอมรับว่ามีอิทธิพลยิ่งใหญ่ในระดับเดียวกันกับอาณาจักรขอมตามเอกสารของราชวงศ์ซ่งของจีนและราชวงศ์โชลาของอินเดีย กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พุกาม คือ พระเจ้าอนอระทามังช่อ (Anowrahta Minsaw) ได้รับการเชิดชูให้เป็นหนึ่งในสามกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์พม่า เป็นหนึ่งในสามกษัตริย์ของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์อันโด่งดังในกรุงเนปิดอว์ปัจจุบัน
1
จักรวรรดิพุกามปกครองดินแดนพม่าปัจจุบันอยู่ราว 250 ปี มีการขยายพื้นที่การเกษตรโดยการชลประทาน มีการตราประมวลกฎหมายในภาษาพม่าซึ่งเป็นภาษาของประชาชนทั่วไป มีการกำหนดมาตราชั่งตวงวัดเพื่อความสะดวกในการทำการค้า
อาณาจักรพุกามล่มสลายลงเพราะรบแพ้จักรวรรดิมองโกลผู้รุกรานในปลายศตวรรษที่ 13 ความล่มสลายนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับการถือกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัยทางตอนกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ อาณาจักรพุกามที่เคยเป็นปึกแผ่นก็แยกออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ได้แก่ อังวะ ของชาวบะหม่า / หงสาวดี ของ ชาวมอญ / มเยาะอู อาณาจักริมทะเลในรัฐยะไข่ปัจจุบัน และรัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือ
1
ปี ค.ศ. 1510 ราชวงศ์ตองอู รวบรวมแผ่นดินได้อีกครั้ง กษัตริย์ต้นราชวงศ์ก็มีชื่อที่คนไทยคุ้นเคยคือพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ เมื่อเอาชนะชาวมอญสำเร็จกษัตริย์ตะเบงชะเวตี้ก็ได้ย้ายเมืองหลวงมาที่พะโค หรือ หงสาวดี ในยุคนี้เองที่เกิดสงครามพม่า-อยุธยาเป็นครั้งแรก ในการรบไม่มีฝ่ายใดชนะขาดแต่จบด้วยการที่พม่าถอยทัพกลับไปโดยแลกการเดินทัพกลับอย่างปลอดภัยกับการปล่อยเชลย คือ พระราชวงศ์ระดับสูงของอยุธยา 2 พระองค์คืน
1
เมื่อเราพูดถึงรัฐโบราณ การรวบรวมแผ่นดินได้นั้นก็หมายความถึงการมีอิทธิพลเหนือกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญอื่น ๆ ทั้ง มอญ ฉาน อาระกัน คะฉิ่น
เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้สิ้นพระชนม์ กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์ต่อมาก็คือพระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา คนนี้คนไทยยิ่งคุ้นชื่อกว่าเดิม เพราะนี่ก็คือผู้ชนะสิบทิศในนิยายอันโด่งดัง และบุเรงนองก็เป็นกษัตริย์พม่าที่ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์สามกษัตริย์แห่งกรุงเนปิดอว์เช่นเดียวกัน
ในยุคของกษัตริย์บุเรงนอง จักรวรรดิตองอูแผ่ไพศาลไปไกลมาก รบชนะอังวะทางเหนือ อาระกันทางตะวันตก รัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือ อาณาจักรอยุธยาในสงครามช้างเผือก ซึ่งอยุธยาต้องตกเป็นรัฐบรรณาการของตองอู อีกไม่กี่ปีต่อมาจึงเสียกรุงครั้งที่ 1 ตกเป็นประเทศราชโดยสิ้นเชิง นอกจากอยุธยาแล้ว ล้านนาและล้านช้างก็ยังถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรด้วย เป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคนั้นเลย อย่างไรก็ตาม เพราะว่าใหญ่มากนี่แหละ เลยดูแลไม่ไหว หลังจากสิ้นกษัตริย์บุเรงนองแล้ว อาณาจักรใต้อาณัติต่าง ๆ ก็พากันประกาศเอกราชไม่ขึ้นต่อตองอูอีก ซึ่งก็รวมถึงสมเด็จพระนเรศวรแห่งอยุธยาด้วย จึงประกาศเอกราชไม่ขึ้นกับราชวงศ์ตองอูอีกต่อไปหลังจากที่กษัตริย์บุเรงนองสิ้นพระชนม์ได้ 3 ปี
1
กษัตริย์ตองอูพระองค์ต่อ ๆ มาจึงปรับเปลี่ยนไปที่การมีอาณาเขตเล็กลง แต่ทรงประสิทธิภาพในการปกครองมากขึ้น เก็บภาษีได้มากขึ้น
ราวปี 1635 มีการทำสำมะโนประชากรโดยรัฐบาลตองอูเป็นครั้งแรก ปรากฎว่าอาณาจักรตองอูที่สองนี้มีประชากรราว 2 ล้านคน แต่มรดกทางการเมืองการปกครองที่กษัตริย์ราชวงศ์ตองอูได้สถาปนาเอาไว้และได้ถูกถ่ายทอดต่อมาอย่างยาวนานถึงราชวงค์คองบองด้วยก็คือ ระบบกฎหมายและการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากส่วนกลาง ยกเลิกระบบเจ้าเมืองที่สืบทอดผ่านสายเลือด เปลี่ยนเป็นระบบผู้ว่าราชการที่ส่งจากส่วนกลาง มีการปฎิรูประบบภาษี โดยเฉพาะการจำกัดความร่ำรวยของศาสนจักร เพราะวัดหรือศาสนจักรนี่รวยมากไม่ต้องเสียภาษีด้วย เลยมีการจัดการเรื่องปฏิรูปเรื่องนี้เป็นผลให้เก็บภาษีได้อีกมากมาย การบริหารแบบส่งเสริมการค้าในสไตล์รัฐฆราวาสมากขึ้นทำให้อาณาจักรตองอูในช่วงที่ 2 มีความเจริญรุ่งเรืองและมีความสงบพอสมควรต่อมาอีกถึง 80 ปี
ราชวงศ์ตองอูปกครองอยู่ 266 ปีก็ถึงแก่การล่มสลาย อาณาจักรดั้งเดิมต่าง ๆ เริ่มแยกตัวประกาศเอกราช ไม่ว่าจะเป็นหงสาวดีของชาวมอญ หรือ ล้านนา ในที่สุดหงสาวดีก็ยกทัพขึ้นมาตีกรุงอังวะแตก เป็นอันสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์ตองอูในปี 1752
1
กรุงอังวะแตกและหงสาวดีของมอญรวบรวมอำนาจอยู่ได้ไม่นานนัก กษัตริย์นักรบพระองค์ใหม่ก็ได้ก้าวขึ้นสู่เวทีแห่งอำนาจ นั่นก็คือกษัตริย์อลองพญา ผู้ก่อตั้งราชวงศ์คองบองขึ้นที่เมืองชเวโบทางภาคเหนือตอนกลางของพม่าในปัจจุบัน และพระเจ้าอลองพญานี้เองคือกษัตริย์องค์ที่ 3 ของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่กรุงเนปิดอว์
2
ราชวงศ์คองบองนี้ต้องยกให้ว่าเป็นครอบครัวของนักรบอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะรวบรวมแผ่นดินอย่างยิ่งใหญ่เป็นรองเพียงกษัตริย์บุเรงนอง แต่ราชวงศ์คองบองนี้ยังผ่านการศึกสงครามกับราชวงศ์ชิงถึง 4 ครั้ง และ 4 ครั้งนี้คือไม่เคยแพ้เลย และยังได้รับการบันทึกว่าเป็นสงครามชายแดนที่สร้างความเสียหน้าย่อยยับอย่างมาก เป็นรอยด่างพร้อยสุด ๆ อันหนึ่งของกองทัพชิงเลยทีเดียว และการรบกับราชวงศ์ชิงนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินของจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งถือว่าเป็นฮ่องเต้ที่ยิ่งใหญ่ ที่อยู่นานและโด่งดังมาก ๆ ในยุคนั้นราชวงศ์ชิงได้ทำการศึกสงครามแผ่ขยายอิทธิพลไปจนแผ่นดินภายใต้ราชวงศ์ชิงกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ไม่เคยรบชนะราชวงศ์คองบองของพม่าเลย
2
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433
ขอบพระคุณมากๆครับ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433 ขอบพระคุณมากๆครับ
ราชวงศ์อลองพญาเป็นชาวบะหม่า ตามตำนานว่ากันว่ากษัตริย์อลองพญาเป็นนายพรานมือฉมังมาก่อนที่จะเป็นนักรบ เริ่มต้นจากการรวบรวมผู้คนแล้วปราบปรามชาวมอญ ในปี ค.ศ. 1759 คือเพียง 7 ปีหลังกรุงอังวะแตก กษัตริย์อลองพญาก็ได้รวบรวมแผ่นดินพม่าสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง จัดการกับอาณาจักรมอญหงสาวดีอย่างเด็ดดขาด ขับไล่ชาวฝรั่งเศสและอังกฤษที่ค้าอาวุธให้ชาวมอญออกไปทั้งหมด หลังจากนั้นก็มาทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากชาวมอญจากหงสาวดีมักหนีมาอยู่อยุธยาและราชวงศ์ของอยุธยาก็ใช้ชาวมอญเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการบ่อนทำลายความมั่นคงของผู้ปกครองพม่าอยู่เสมอ
1
ในระหว่างสงครามกลางเมืองหลังอาณาจักรตองอูล่มสลาย อยุธยาก็ได้ยึดเอาพื้นที่เขตตะนาวศรีและเมาะตะมะกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของตน เมื่อจัดการหงสาวดีเรียบร้อยแล้วราชวงศ์อลองพญาโดยกษัตริย์มังระก็ได้ส่งกองทัพมาทวงคืนเมาะตะมะและตะนาวศรี จนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังจากกำชัยเหนืออยุธยาแล้ว กองทัพพม่าโดยเนเมียวสีหบดีก็ต้องรีบยกทัพกลับไปรับศึกราชวงศ์ชิงต่อ ไม่ได้อยู่เฝ้าหรือตามไปปราบปรามนักรบอยุธยาที่แตกทัพหนีไป ขณะที่รบกับราชวงศ์ชิงแบบมา ๆ ไปๆ อยู่ ราชวงศ์อลองพญาก็ยังคงพยายามกลับมารบกับสยามอยู่เสมอ ๆ ในสมัยกรุงธนบุรี เพราะเจ้าตากสินก็ทำสงครามแย่งล้านนากลับมาจากการปกครองของพม่า และต่อมาราชวงศ์คองบองก็ยังส่งทหารมาโจมตีรัตนโกสินทร์อีกครั้งในสงครามที่เรียกว่าสงคราม 9 ทัพ ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จ การขยายอาณาเขตมาทางตอนใต้ คือ กับรัตนโกสินทร์ และ ตอนเหนือ คือ ยูนนาน จึงต้องหยุดลง
2
ราชวงศ์คองบองต้องมองการขยายดินแดนไปทางตะวันตกซึ่งก็คือคืออินเดียมากขึ้น และดินแดนที่เป็นอินเดียในปัจจุบันก็ถูกอังกฤษเข้ามายึดครองทีละส่วน จนเกือบหมดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาแล้ว อังกฤษที่ว่านี้ไม่ใช่รัฐบาลอังกฤษ แต่เป็นบริษัทอีสท์ อินเดีย คอมพานี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนมีหุ้นส่วนนี่แหละ แต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ มีกองกำลังของตัวเองที่ใหญ่มากและถือสิทธิในการเก็บภาษีจากชาวท้องถิ่นด้วย เรียกว่าเป็นบริษัทที่ทำตัวเป็นรัฐนั่นแหละ
1
พระเจ้าปดุง กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์คองบองเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง มีการขยายอาณาเขตของอาณาจักรพม่าจนกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นรองก็เฉพาะในสมัยกษัตริย์บุเรงนองเท่านั้น กษัตริย์ปดุงได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปทางตะวันตก ผนวกดินแดนมณีปุระ (Manipur) รัฐอาระกัน รัฐอัสสัม และ พื้นที่ตะนาวศรีด้วย สงคราม 9 ทัพที่มาตีรัตนโกสินทร์ก็มีบางช่วงเกิดในรัชสมัยของพระองค์ นอกจากความยิ่งใหญ่ของอาณาเขตแล้ว อาณาจักรคองบองยังร่ำรวยและมีอัตราการรู้หนังสือของประชากรอยู่ในระดับสูงมากอย่างน่าทึ่งอีกด้วย
1
การเข้าไปผนวกดินแดนทางตะวันตกไม่ว่าจะเป็น มณีปุระ หรือ อัสสัม ซึ่งติดต่อกับพรมแดนอาณานิคมของบริษัทอีสต์อินเดีย หรือบางแห่งก็เป็นรัฐในการอารักขาของบริษัทอังกฤษ รัฐเหล่านี้ใช้วิธีต่อต้านพม่าที่มายึดครองโดยการโจมตีพม่าแล้วหนีเข้าไปอยู่ในเขตปกครองของอังกฤษ โดยบริษัทอินเดียตะวันออกเองก็ใช้วิธีสนับสนุนชาวพื้นเมืองต่อต้านราชสำนักอังวะด้วยการสนับสนุนอาวุธและที่พักพิง ซึ่งก็เป็นอะไรที่สมเหตุสมผลในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ เพราะยังไงอังกฤษก็ไม่อยากจะชนกับราชวงศ์คองบองตรง ๆ เพราะหากจะเปิดสงครามกันมันสิ้นเปลือง
1
รัชกาลต่อมา กษัตริย์จักกายแมง หรือบาจีดอ เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง ทรงรับสืบทอดราชสมบัติในยุครุ่งเรืองสูงสุดของราชวงศ์เลยก็ว่าได้ สงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์นี้ และสำหรับสงครามครั้งแรก เรียกว่ากว่าจะชนะได้ ก็ทำเอาอังกฤษลมแทบจับเหมือนกัน เพราะตลอด 2 ปีที่การสู้รบยืดเยื้ออังกฤษ สูญเสียกำลังพลและเงินค่าทำสงครามมากที่สุดเมื่อเทียบกับสงครามการล่าอาณานิคมในอินเดียทั้งหมด กองทัพของบริษัทอินเดียตะวันออกสูญเสียกำลังพลทั้งชาวอังกฤษและชาวอินเดียไป 15,000 นาย และ ใช้เงินไปกว่า 13 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
1
หลังจากที่มีความตึงเครียดกันมานานในเรื่องสถานการณ์ชายแดน สงครามเริ่มต้นจากการที่กษัตริย์จักกายแมงตัดสินใจสั่งให้กองทัพบุกเข้าไปใน คาชาร์ และ เจนเทีย ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้อารักขาของอังกฤษในเดือนมกราคม 1824 สงครามระหว่างราชสำนักอังวะกับบริษัทอีสท์อินเดียก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในการสู้รบที่รัฐอาระกันในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นเอง
1
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433
ขอบพระคุณมากๆครับ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433 ขอบพระคุณมากๆครับ
กษัตริย์จักกายแมงทรงแต่งตั้งมหาพันธุละ ซึ่งเป็นทหารนักรบคู่บุญราชสำนักคองบอง รับใช้กษัตริย์ในราชวงศ์นี้มาหลายพระองค์ มหาพันธุละนี่คือนักรบที่ยิ่งใหญ่มาก
1
ในช่วงต้นของสงคราม พม่าได้เปรียบอังกฤษอย่างมากเพราะนอกจากจะรบเก่งแล้วยังเชี่ยวชาญพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงและป่าทึบทางตะวันตกเฉียงเหนืออีกด้วย มหาพันธุละ แบ่งการบุกเป็น 2 ด้านคือเมืองจิตตะกองทางรัฐอาระกันด้านตะวันตก อีกด้านหนึ่งคือทาง คาชาร์ และ เจนเทียทางภาคเหนือ นำโดยมหาอุจนา นายทหารคู่ใจ ในปีนั้น กองทัพพม่าบุกเอาชนะกองทัพอังกฤษหลายครั้งจนเข้าไปถึงเมือง Cox’s Bazaar (ซึ่งอยู่ในบังคลาเทศปัจจุบัน) แต่ด้วยความที่ไม่อยากเสี่ยง มหาพันธุละจึงไม่บุกต่อเข้าไปยังจิตตากองและกัลกัตตา ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับพม่า เนื่องจากจริง ๆ แล้ว จิตตะกองนั้นแทบจะไม่มีทหารดูแลอยู่เลย ถ้าได้จิตตะกองและเข้าใกล้กัลกัตตาซึ่งเป็นเมืองหลวงของบริษัทอินเดียตะวันออกในขณะนั้น ราชสำนักอังวะน่าจะมีแต้มต่อในการเจรจากับอังกฤษมากขึ้นอีกพอสมควร
อย่างไรก็ตาม อังกฤษก็ได้ตัดสินใจไม่สู้กับพม่าในพื้นที่ที่ตนเองเสียเปรียบอีกต่อไปและใช้กองเรือพร้อมทั้งกำลังพล 10,000 นาย ยกพลเข้าจู่โจมย่างกุ้งแบบไม่ให้ทันตั้งตัว
พม่าตัดสินใจทิ้งเมืองย่างกุ้งและถอยร่นขึ้นไปทางเหนือ กษัตริย์จักกายแมงทรงเรียกทหารเกือบทั้งหมดกลับจากสนามรบทางเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่ามหาพันธุละจะทำได้อย่างงดงาม เพราะมันไกลมากเส้นทางเป็นภูเขาสูงกับป่าทึบ ทั้งอาระกันโยมา ทางตะวันตกและเทือกเขาอัสสัมทางเหนือ และที่โหดสุด ๆ กว่านั้นก็คือ มันเป็นฤดูมรสุม ทั้งมหาพันธุละ และ มหาอุจนาก็บริหารจนเอาทหารหลักหมื่นนายเดินทางกลับมาถึงย่างกุ้งจนได้ งานนี้กษัตริย์จักกายแมงทรงยกย่องแม่ทัพทั้งสองเป็นอันมาก ได้อวยยศเป็น อัครมหาเสนบดีกันเลยทีเดียว และก็มารบกับอังกฤษต่อเลย
ในเดือนพฤศจิกายน 1824 มหาพันธุละรวบรวมทหาร 30,000 นาย เตรียมเข้าสู่สนามรบกับอังกฤษซึ่งมีเพียง 10,000 นาย แม้ว่าจากทหารพม่า 30,000 นายจะมีปืนยาวเพียง 15,000 กระบอกและปืนใหญ่ของพม่ายิงลูกเหล็กเท่านั้นไม่ได้ยิงลูกปืนเหมือนของอังกฤษ มหาพันธุละก็ยังเชื่อว่าสามารถเอาชนะอังกฤษได้ แต่สิ่งเดียวที่มหาพันธุละไม่รู้ และไปรู้เอาหน้างานก็คือ กองทัพของบริษัทอินเดียตะวันออกเพิ่งจะได้รับอาวุธชนิดใหม่ล่าสุดที่กองทัพพม่าไม่เคยเห็นมาก่อนเลย นั่นก็คือ จรวดคอนเกรฟ (Congreve Rockets) ซึ่งเป็นจรวดที่อังกฤษพัฒนามาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 และถูกใช้ในสงครามใหญ่ ๆ เช่น สงครามนโปเลียน มาก่อน
1
จรวดคอนเกรฟทำให้กองทัพพม่าเสียขวัญมาก เพราะสามารถล้มช้างซึ่งเป็นอาวุธสำคัญของกองทัพพม่าได้ จรวดคอนเกรฟขนาดกลางมีวิถีการยิงได้ราว ๆ 1 กิโลเมตรซึ่งก็ไกลมากสำหรับสมัยนั้นถ้าคนเราไม่เคยเห็นจรวดเลยในชีวิต ภายในเวลาเพียง 15 วัน กองทัพพม่าอันเกรียงไกรต้องเสียกำลังพลจนเกือบหมด มหาพันธุละก็เสียพื้นที่ตั้งทัพทั้งหมด และเหลือทหารเพียง 7,000 พันนาย
4
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433
ขอบพระคุณมากๆครับ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433 ขอบพระคุณมากๆครับ
มหาพันธุละล่าถอยขึ้นไปตั้งหลักที่เมืองเล็กๆ ไม่ไกลจากย่างกุ้งชื่อ ดนุ บยู (Danubyu) รวบรวมทหารได้ราว ๆ 10,000 นาย แต่ก็มีคุณภาพแตกต่างกันอยู่มาก มีทั้งทหารระดับท็อป แกร่ง ผ่านศึกสงครามมาโชคโชนและทหารใหม่ที่เพิ่งเกณฑ์มาสด ๆ ยังไม่รู้เหนือรู้ใต้ แต่อย่างไรก็ตาม มหาพันธุละให้สร้างป้อมปราการด้วยไม้สักต้นยักษ์ไปตามริมแม่น้ำยาวเกือบ 2 กิโลเมตร สูงเกือบ 5 เมตร ทหารอังกฤษ 4,000 นายมาพร้อมเรือปืนแต่ก็ไม่สามารถตีป้อมนี้ให้แตกได้ มหาพันธุละได้นำทหารบุกโต้กลับ ทั้งทหารราบ ทหารม้า และช้างศึก 17 เชือก แต่ก็ไม่สามารถตีกองทัพอังกฤษให้แตกพ่ายไปได้เช่นกันเพราะทหารม้าและช้างไม่สามารถฝ่าห่าฝนจรวดและปืนใหญ่ที่กองทัพอังกฤษระดมยิงไม่ขาดสาย
ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 1824 อังกฤษระดมยิงปืนใหญ่และจรวดอีกครั้ง มหาพันธุละเสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่อังกฤษ เมื่อแม่ทัพเสียชีวิตทัพพม่าก็ถอยออกจาก ดนุ บยู ไปในที่สุด ราชสำนักอังวะจึงจำต้องยอมรับความพ่ายแพ้ เจรจาสงบศึกและยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายอังกฤษทั้งหมด ในปี ค.ศ. 1826 สงครามที่กินเวลานานถึงเกือบสองปี สร้างความเสียหายให้กับกองทัพบริษัทอินเดียตะวันออก โดยทหารฝ่ายอังกฤษเสียชีวิตมากมายถึง 15,000 นายและเสียเงินไปถึง 13 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงก์ หรือถ้าคิดเป็นเงินปอนด์ปัจจุบันก็คือ 1.1 พันล้านปอนด์
1
สรุปว่า ราชสำนักอังวะต้องยอมยกดินแดนที่ไปตีมาได้ทั้งหมดให้อังกฤษ ได้แก่ ยะไข่ อัสสัม และดินแดนแนวเขาตะนาวศรีซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่เชื่อมต่อกับเส้นท่างเดินเรือไปปีนังและสิงคโปร์ พร้อมกันนั้นยังต้องเสียค่าปฎิกรรมสงครามเป็นเงิน 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งถือว่ามหาศาลสำหรับสมัยนั้นแม้แต่ในยุโรปเอง นอกจากนี้ราชสำนักอังวะยังต้องยกเลิกการผูกขาดทางการค้าและเปิดการค้าเสรีด้วย
1
ห้วงเวลาที่เกิดสิ่งเหล่านี้ ราชสำนักรัตนโกสินทร์อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงนั้นก็มีการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ เปิดการค้าขายกับบริษัทอินเดียตะวันออก ในปี 1826 นายเฮนรี่ เบอร์นี่ นี่แหละ ที่ถูกส่งมาเป็นทูตการค้าคนแรกของราชสำนักอังวะ ในปี 1830 และกองกำลังของบริษัทอินเดียตะวันออกก็ยังคงตั้งอยู่ในกรุงอังวะจนได้รับเงินค่าปฎิกรรมสงครามทั้งสองงวด ซึ่งก็ใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควร
อังกฤษกับพม่ารบกันอีก 2 ครั้ง ครั้งต่อจากรัชสมัยกษัตริย์จักกายแมง เว้นมาถึง 28 ปี คือในปี 1852 และ ครั้งสุดท้ายที่เป็นจุดสิ้นสุดอย่างเป็นทางการก็คือปี 1885 หรืออีก 33 ปีหลังจากสงครามครั้งที่ 2 รวมแล้วหลังจากการแพ้สงครามครั้งแรก จนสิ้นสุดราชวงศ์คองบองก็ใช้เวลาถึง 61 ปีเลยทีเดียว
กลับมาที่กษัตริย์จักกายแมง ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวในประเทศอื่นๆ แถวๆนี้ ที่ชาติเจ้าอาณานิคมจะเข้ามามีอิทธิพลในการปกครองบ้านเมืองอยู่เสมอ ในปี ค.ศ.1837 เกิดความวุ่นวายในราชสำนัก กษัตริย์จักกายแมงร่างกายอ่อนแอและสติไม่ดี (เค้าบันทึกไว้แบบนี้ กันเสมอเลยนะครับ เวลาจะเปลี่ยนกษัตริย์กันแต่ละที เป็นบ้าอยู่เรื่อยเลย) พระราชินีและน้องเขยของกษัตัริย์ ก็จับเจ้าชายซึ่งเป็นน้องชายของกษตริย์เอาไว้ เจ้าชายก็หนีไปได้ก็รวบรวมกำลังพลมาทำสงคราม เฮนรี่ เบอร์นี่ ทูตการค้าเจ้าเก่าได้รับหน้าที่ไกล่เกลี่ยเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด /เจ้าชายองค์นี้สุดท้ายชนะ ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์แสรกแมง ซึ่งงานประเดิมของแกก็คือจับพระราชินีและน้องชายประหารชีวิตเสีย และขังพี่ชายอดีตกัษตริย์เอาไว้
1
ด้วยความที่พระเจ้าแสรกแมงเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ร่วมทำสงครามกับอังกฤษและเป็นแม่ทัพไม่กี่คนที่สนับสนุนให้เจรจา ก็พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมเบอร์นี่ถึงยอมเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ก็อาจจะหวังว่าพระเจ้าแสรกแมงจะเข้าพวกกับอังกฤษมากกว่าสมาชิกราชวงศ์อื่น ๆ แต่ดันคิดผิด พระเจ้าแสรกแมงยังคงเป็นกษัตริย์นักรบ พระองค์ได้จัดซื้ออาวุธสมัยใหม่เป็นจำนวนมาก ทำให้นายเบอร์นี่ไม่พอใจ และฝ่ายอังวะก็มองว่าอังกฤษยังพยายามใช้สยามให้เข้ามารุกรานเชียงตุง เมื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้นสำนักทูตอังกฤษในอังวะก็ปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1840
ในอีกไม่กี่ปีเท่านั้น คือในปี 1846 ก็มีการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองอีกรอบ โดยคราวนี้บอกว่าพระเจ้าแสรกแมง สติไม่ดี (อีกแล้ว) โดนลูกชายของพระองค์คือกษัตริย์พุกามแมง ยึดอำนาจและขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อมา ณ ช่วงเวลานั้นคือช่วงหลังสงครามฝิ่นครั้งแรก อังกฤษรบกับราชวงศ์ชิง และบังคับให้เปิดการค้า ชาติยุโรปต่างๆ และสหรัฐอเมริกา แข่งกันเปิดตลาดใหม่ในจีน เส้นทางเดินเรือในอ่าวเบงกอลมีความสำคัญมากขึ้นอย่างชัดเจน เมืองย่างกุ้งและพื้นที่ภาคใต้อันอุดมสมบูรณ์เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเหมาะจะปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหล่าเจ้าอาณานิคมต้องการเพื่อไว้เลี้ยงแรงงานมากมายของตัวเองในอาณานิคมต่างๆ ทำเลทองตรงนี้ยังไม่ได้เป็นของอังกฤษและที่สำคัญอาณาจักรคองบองยังผูกขาดการทำการค้ากับต่างประเทศ พ่อค้าอังกฤษทั้งหลายก็เริ่มจะไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในปี 1852 ลอร์ด ดาลูซี่ ข้าหลวงใหญ่แห่งอาณานิคมอินเดียได้ส่งกัปตัน จอร์จ แลมเบิร์ต มาเจรจากับราชสำนักอังวะเกี่ยวกับปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายอย่างในสนธิสัญญาเดิม ซึ่งครั้งนี้ราชสำนักก็รีบโอนอ่อนผ่อนตาม เช่น การยอมเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการย่างกุ้ง ซึ่งเป็นคนที่มีปัญหากับอังกฤษเยอะ จอร์จ แลมเบิร์ต เอาเรือรบมาปิดอ่าวเมาะตะมะ และยังยึดเรือพระที่นั่งของพระเจ้าพุกามแมงไว้อีกต่างหาก แล้วอังกฤษก็เรียกร้องค่าเสียหายที่เล่นใหญ่มากๆ คือต้องการคำขอโทษจากกษัตริย์และเงินค่าปรับ 1 แสนปอนด์สเตอร์ลิง ฝ่าย พระเจ้าพุกามแมงไม่ตอบรับ อังกฤษรอคำตอบอยู่ไม่กี่วัน ก็ประกาศสงครามทันที เราเรียกว่า “สงครามอังกฤษและพม่าครั้งที่ 2” (Second Anglo-Burmese War)
กองทัพเรือของอังกฤษใช้เวลาไม่นานก็ยึดเมืองสำคัญไว้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ย่างกุ้ง พะสิม พะโค เมืองแปร และเข้ามาถึงอมรปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงได้ในปีต่อมา น้องชายต่างมารดาของพระเจ้าพุกามแมง ก็ได้ทำการยึดอำนาจและขึ้นเป็นกษัตริย์ ชื่อว่า “พระเจ้ามินดง” และนำการเจรจาสงบศึก คราวนี้ไม่มีสนธิสัญญาใดๆ ลอร์ดดาลูซีข้าหลวงใหญ่อาณานิคมอินเดียได้แจ้งกับกษัตริย์มินดงว่าพะโคจะเป็นแคว้นที่สามที่อังกฤษจะปกครองเอง ทำให้อาณาจักรคองบองไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นของตัวเองอีกต่อไป
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433
ขอบพระคุณมากๆครับ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433 ขอบพระคุณมากๆครับ
พระเจ้ามินดง เป็นกษัตริย์ที่ชาวพม่าในปัจจุบันให้ความเคารพมาก เพราะในสมัยของพระองค์ได้ปฎิรูปประเทศให้มีความทันสมัยเพื่อต่อสู้กับการล่าอาณานิคม เดินหน้าสู่การทูตสมัยใหม่เพื่อการยอมรับจากต่างชาติ มีทั้งการก่อตั้งโรงกษาปณ์ เปิดบริษัทเดินเรืออิระวดี เพื่อเชื่อมต่อกับบริษัทเดินเรือของอังกฤษในลุ่มแม่น้ำ พัฒนาโทรเลขจนมีการแปลภาษาพม่าเป็นรหัสมอร์ส มีการให้ทุนการศึกษา รับที่ปรึกษาจากยุโรปมาแนะนำเรื่องอุตสหกรรมเหมืองและป่าไม้ เลิกการกินเมืองและระบบเจ้าเมือง เริ่มระบบราชการรวมศูนย์แบบใหม่ที่จ่ายเงินเดือนแทนการกินเมืองและมีการเก็บภาษีแบบใหม่ด้วย
2
การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้ามินดงนั้นไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะนอกจากจะต้องเจรจาสงบศึกกับอังกฤษโดยด่วนแล้ว ยังถูกสยามส่งกองทัพมาโจมตีหวังจะยึดเมืองเชียงตุงด้วย ซึ่งสยามก็ได้พยายามเข้ายึดอยู่ 2 ครั้งในปี 1853 และ 1854 แต่ไม่สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง ในทางการเมืองก็ยอมรับสนธิสัญญาเปิดการค้าขายกับอังกฤษ เลิกการผูกขาดในระดับหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1862 และ 1867 ทรงส่งทูตไปเข้าเฝ้าราชินีวิคตอเรียถึงลอนดอน ผูกมิตรไมตรีกับมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรปเพื่อพยายามคานอำนาจอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสหรืออิตาลี ช่วงนี้คลองซุเอสเปิดใช้งานในปี ค.ศ.1869 ปลุกเส้นทางการค้าในเอเชียให้การแข่งขั้นสูงขึ้นอีก การค้าของอังกฤษในดินแดนพม่าเติบโตถึง 5 เท่า
ค.ศ. 1857 อังกฤษก็ประกาศยุบบริษัทอีสต์อินเดีย ให้อาณานิคมต่างๆ ขึ้นตรงกับรัฐบาลอังกฤษโดยตรงเรียกว่าบริติชราช ผ่านกระทรวงอินเดียนับว่าให้ความสำคัญต่ออินเดียมากกว่าอาณานิคมอื่นๆ มากทีเดียว
ตลอด 25 ปีของการครองราชย์สมัยกษัตริย์มินดงค่อนข้างสงบสุข แต่ 33 ปีหลังสงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่สอง ก็เกิดสงครามครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายขึ้นมาจนได้ ค.ศ.1878 พระเจ้ามินดงประชวรหนัก เกิดการแย่งชิงอำนาจกันอีกรอบและคราวนี้นองเลือดแบบโหดร้ายมากๆ พระโอรสองค์โต เจ้าชายนยองยาน ซึ่งได้รับการศึกษาในยุโรปและสนิทสนมกับชาวอังกฤษ ถูกเหล่าราชสำนักฝ่ายตรงข้ามซึ่งนำโดยมเหสีรองวางแผนยึดอำนาจโดยให้ลูกสาวของมเหสีรองสมรสกับเจ้าชายธีบอ ซึ่งเป็นโอรสของมเหสีอีกองค์หนึ่งที่ถูกเนรเทศจากวัง เจ้าชายธีบอไม่ได้อยู่ในสายสืบราชสมบัติ แต่มเหสีรองก็ได้ทำการวางแผนสังหารหมู่ทั้งเจ้าชาย เจ้าหญิงและพระญาติเป็นจำนวนมากเพื่อกรุยทางให้เจ้าชายธีบอได้ขึ้นครองราชย์พร้อมกับพระมเหสี คือพระนางศุภยลัต เจ้าชายนยองยานลี้ภัยไปอินเดียและพระเจ้าธีบอก็ได้เริ่มรัชสมัยของพระองค์แบบเทา ๆ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า กษัตริย์ธีบอทรงต้องการที่จะได้ดินแดนที่อังกฤษเคยยึดเอาไปคืนมา ความต้องการที่ดูจะไม่ค่อยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงสักเท่าไหร่นี้ ให้เดาเอาแบบการเมืองในครอบครัวก็ต้องสงสัยว่าอาจจะเกิดจากความรู้สึกต่อต้านนโยบายโอนอ่อนต่อมหาอำนาจของกษัตริย์มินดงผู้เป็นบิดา และในราชสำนักพม่า ณ เวลานั้นน่าจะเหลือแต่คนที่เห็นด้วย หรือ อย่างน้อยก็แสดงทีท่าเห็นด้วยกับนโยบายแข็งกร้าวต่ออังกฤษ เจ้าชายนยองยานซึ่งสนิทกับอังกฤษก็โดนขับออกไปแล้ว ญาติเป็นจำนวนมากก็ถูกประหารไปหมดแล้ว พระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี และ แม่ของพระมเหสีจะเอาอย่างไรก็คงไม่มีใครกล้าขัด
ในทศวรรษที่ 1880 ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักมัณฑะเลย์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษก็เลวร้ายลงไปอีก เมื่ออังกฤษมีความรู้สึกว่ากษัตริย์ธีบอทรงทำตัวสนิทสนมกับฝรั่งเศสมากจนเกินไป มีการทะเลาะกันทางการทูตที่เป็นเรื่องเป็นราวก็คือคณะทูตอังกฤษปฏิเสธที่จะถอดรองเท้าเมื่อเข้าสู่พระราชวังและถูกไล่ออกไปในที่สุด
ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ที่ลุ่มแม่น้ำโขงฝรั่งเศสที่ยึดดินแดนเวียดนามตอนใต้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1862 และเดินหน้าเข้าครอบครองดินแดนเวียดนามทั้งหมดในปี ค.ศ. 1883 ก็เป็นอีกหนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่ทำให้อังกฤษร้อนรนเพราะกลัวว่าฝรั่งเศสจะเข้ามาในดินแดนพม่าตอนเหนือ ที่สมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และเหมืองทับทิม
ในปี 1885 กษัตริย์ธีบอได้เรียกร้องให้ประชาชน “ปลดปล่อย” พม่าตอนล่างที่อังกฤษยึดครองอยู่ อังกฤษก็ได้โอกาสประกาศสงคราม โดยยกกองทัพจำนวน 11,000 นายล่องเรือขึ้นมาตามแม่น้ำอิรวดี ใช้เวลาเพียง 11 วันก็เดินทางเข้าสู่กรุงมัณฑะเลย์อย่างค่อนข้างง่ายดาย
กษัตริย์ธีบอ พระราชินีศุภยลัต พระธิดา และพระญาติที่เหลืออยู่ถูกอังกฤษเนรเทศออกจากพม่าให้ไปประทับอยู่ที่เมืองรัตนคีรีในอินเดียจนสิ้นพระชนม์ในปี 1916
2
อังกฤษยึดพม่าทั้งหมดและผนวกพม่าเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชราช หรือ อินเดียของอังกฤษใน ค.ศ. 1886 และ นำคนอินเดียเป็นจำนวนมากเข้ามารับราชการเนื่องจากคนพม่ายังไม่ยอมอังกฤษ ยังทำสงครามกองโจรกับอังกฤษต่อมาอีกหลายปี มาสงบลงก็ประมาณปี 1890 เพราะอังกฤษใช้นโยบายรุนแรง มีการเผาไล่ที่ชาวบ้านตามหมู่บ้านตำบลอำเภอที่ไม่ยอมศิโรราบต่อเจ้าอาณานิคม และ คนเชื้อสายบะหม่าทั้งหมดถูกตัดออกจากระบบราชการโดยเฉพาะราชการทหาร
พม่าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียและอาณานิคมของอังกฤษจนได้รับเอกราชในปี 1948 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและกลายมาเป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ ไม่ได้มีกษัตริย์อีกต่อไปจนถึงทุกวันนี้
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433
ขอบพระคุณมากๆครับ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ทางบัญชี กสิกรไทย 0193426433 ขอบพระคุณมากๆครับ
โฆษณา