12 ธ.ค. 2021 เวลา 11:16 • ประวัติศาสตร์
💡 ทะเลทรายขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร? | ทะเลทรายขาว ตอนที่ 2
ต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว ที่เราได้พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอุทยานไวท์แซนด์ (White Sands National Park) และการเกิดทรายยิปซัมไปแบบคร่าวๆ มาในบทความนี้ แอดมินโมโนกาตาริจะมาเล่าถึงต้นกำเนิด และการกำเนิดทะเลทรายและเนินทรายยิปซัม ซึ่งเป็นที่มาของทะเลทรายขาวในปัจจุบันให้ทุกคนอ่านกันค่ะ
  • ทะเลทรายขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ย้อนกลับไปในช่วงยุคเพอร์เมียน (Permian) เมื่อประมาณ 280-250 ล้านปีก่อน ในช่วงเวลานี้ ทวีปทั่วโลกยังคงเป็นปึกแผ่นเดียวกัน หรือที่เรียกว่า มหาทวีปพันเจีย (Pangaea) ในบริเวณพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งตอนใต้ของรัฐนิวเม็กซิโก ถูกปกคลุมด้วยทะเลตื้น ที่เรียกว่า ทะเลเพอร์เมียน (Permian sea)
มหาทวีปพันเจีย ( Pangaea) | Photo credit : https://www.deilataylor.com/pangaea-drifted-for-a-good-reason/
อเมริกาเหนือที่ถูกปกคลุมด้วยทะเลตื้นในยุคเพอร์เมียน | Photo credit : https://images.app.goo.gl/xVPWuFU2jnPV7Ntd7
เมื่อระดับน้ำทะเลลดลง ทำให้พื้นที่ในบริเวณนี้ เต็มไปด้วยตะกอนของแร่ยิปซัม (แคลเซียมซัลเฟต) หรือเกลือจืด ที่ตกตะกอนหลังระดับน้ำทะเลลดลง ซึ่งการตกตะกอนของแร่ยิปซัมในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดทรายยิปซัม
ต่อมาเกิดการแปรสัณฐานเปลือกโลก (Diastrophism) เมื่อ 70 ล้านปีก่อน แผ่นเปลือกโลกเริ่มเคลื่อนตัวเข้าปะทะกัน แรงดันจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก ก่อให้เกิดเป็นเทือกเขาหลายแห่ง รวมทั้งเทือกเขาร็อกกี (Rocky mountains) และภูเขารอบๆ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ตั้งของอุทยานในปัจจุบัน
แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวเข้าปะทะกัน แรงดันจากการมุดตัวทำให้เกิดเป็นเทือกเขา  | Photo credit : https://images.app.goo.gl/GoTTg16LVqqajZrT7
ในเวลาต่อมา เมื่อ 30 ล้านปีก่อน เกิดรอยเลื่อน ทำให้แผ่นดินและเทือกเขาขนาดใหญ่บางส่วนแยกออกจากกัน เกิดเป็นแอ่งตามรอยเลื่อนลึกลงไปหลายพันฟุต
แผ่นดินแยกตัวออกจากกัน | Photo credit : https://images.app.goo.gl/7W2gKbJbpFSxn5LDA
ภูเขาบริเวณนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ เทือกเขาซาคราเมนโต (Sacramento) ทางตะวันออก และซาน อันเดรียส (San Andreas) ทางตะวันตก ก่อเกิดเป็นแอ่งทูลาโรซา (Tularosa basin) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอยแยกแม่น้ำริโอแกรนด์ กินพื้นที่กว่า 6,500 ตารางไมล์ อยู่ระหว่างเทือกเขาทั้งสองลูก
แอ่งทูลาโรซาที่อยู่ระหว่างเทือกเขาซาคราเมนโต และเทือกเขาซาน อันเดรีส
ต่อมาในช่วงประมาณ 2-3 ล้านปีก่อน แม่น้ำริโอแกรนด์ (Rio Grande river) ที่ไหลผ่านแอ่งทูลาโรซาไปทางตอนใต้ ได้พัดพาตะกอนยิปซัม ไหลลงสู่แอ่งทูลาโรซา ซึ่งเป็นแอ่งปิด ไม่มีทางออกสู่ทะเล
เมื่อน้ำในแอ่งทูลาโรซาไหลซึมผ่านชั้นใต้ดินลงสู่ลุ่มน้ำฮูเอโค (Hueco basin) และมีการระเหยสูงอย่างต่อเนื่องจนแห้งสนิท ทำให้เหลือเพียงตะกอนยิปซัม ในรูปแบบผลึก “เซเลไนต์” และสะสมในจุดต่ำสุดของแอ่ง ที่มีพื้นที่กว่า 1600 ตารางไมล์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของแอ่ง เรียกว่าทะเลสาบโอเตโร (Lake Otero)
ทะเลสาบโอเตโร (Lake Otero)  | Photo credit : https://images.app.goo.gl/HyE9ooqGDK1WDvhd9
ต่อมาในช่วงยุคน้ำแข็งไพลสโตซีน เมื่อประมาณ 24,000 - 12,000 ปีก่อน ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปัจจุบัน จนถึงช่วง 11,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง สภาพอากาศอุ่นขึ้น ทำให้น้ำฝนและหิมะละลาย ได้ชะล้างยิปซัมไหลลงมาตามเชิงเขา ลงสู่ทะเลสาบโอเตโร และในเวลาต่อมา น้ำในทะเลสาบโอเตโร มีการระเหยกลายเป็นพลายา (playa) หรือทะเลสาบแห้ง (Dry lake)
เมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ทะเลสาบโอเตโรส่วนใหญ่แห้งเหือด ส่วนที่แห้งของก้นทะเลสาบซึ่งเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ เรียกว่าอัลคาไลแฟลต (Alkali Flat) ถัดมาที่มุมตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่พลายา (playa) ที่ขนาดเล็กกว่า ก่อเกิดเป็นทะเลสาบลูเซโร (Lucero) ในใจกลางของลุ่มน้ำทูลาโรซา
Photo credit : https://images.app.goo.gl/WwH3UyZ8s1pYknH9A
เมื่อน้ำในทะเลสาบโอเตโรแห้งจนหมด เหลือเพียงผลึกเซเลไนต์ ที่ทิ้งไว้บนอัลคาไลแฟลต และเมื่อผ่านไปในระยะเวลานาน ผลึกยิปซัมจะถูกลมกัดกร่อน ทำให้ผลึกยิปซัมแตกตัว เป็นยิปซัมผงละเอียดเท่าเม็ดทราย เกิดเป็นทะเลทรายขาว (white sands desert) ในปัจจุบัน
และในปัจจุบัน ฝน หิมะที่ละลายจากภูเขารอบๆ และน้ำใต้ดินภายในแอ่ง จะเติมน้ำในทะเลสาบลูเซโรที่มียิปซัมละลายอยู่เป็นระยะๆ เมื่อน้ำในทะเลสาบระเหย ผลึกเซเลไนต์ขนาดเล็ก (2 ซม. ถึง 3 ซม.) จะก่อตัวขึ้นบนพื้นผิวทะเลสาบลูเซโร และอัลคาไลแฟลต เกิดเป็นวัฎจักรเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในทะเลสาบโอเตโรในอดีต
การก่อตัวของผลึกส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อน้ำท่วมใหญ่ในทุกๆ 10-14 ปี ลมและน้ำสลายผลึกเหล่านี้ เป็นอนุภาคขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นเม็ดทรายยิปซัมสีขาวละเอียด และฝุ่นละอองในที่สุด
Photo credit : Matt Kieffer
  • เนินทรายขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เนินทรายขาว (white sands dunes) เกิดจากลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพายิปซัมไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เคลื่อนตัวไปข้างหน้าหลายฟุตอย่างต่อเนื่อง สะสมยิปซัมก่อตัวเป็นเนินทรายขนาดใหญ่ จนเกิดเป็นเนินทรายขาวในปัจจุบัน และทุ่งเนินทราย ในทะเลทรายขาว มีการเคลื่อนตัวมากที่สุดในโลก ซึ่งการก่อตัวบางส่วนนั้นเคลื่อนตัวได้มากถึง 100 เมตรต่อปี
เนินทรายขาวแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ โดม (dome) พระจันทร์เสี้ยว (crescent) พาราโบลา (parabolic) และแนวขวาง (transverse) ซึ่งรูปร่างลักษณะของเนินทรายในแต่ละประเภท มีการก่อตัวที่แตกต่างกัน
  • เนินทรายรูปโดม (dome) ก่อตัวขึ้นตามแนวลมของทะเลสาบลูเซโร
  • เนินทรายรูปพระจันทร์เสี้ยว (crescent) ก่อตัวขึ้นในพื้นที่ที่มีลมแรง และเป็นเนินทรายที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดในอุทยานฯ
  • เนินทรายรูปพาราโบลา (parabolic) เป็นเนินที่เคลื่อนที่ช้าที่สุด มักพบตามขอบทุ่งเนินทราย ในบริเวณที่มีทรายน้อยที่สุด
  • เนินทรายรูปแนวขวาง (transverse) ก่อตัวในพื้นที่ที่มีทรายจำนวนมาก ทอดยาวเป็นสันเขายาว และเป็นคลื่น
วัฏจักรการระเหย การกัดกร่อน การเกิดและการก่อตัวของเนินทรายยิปซัม มีอายุย้อนหลังไปถึง 6,500 ปี หลังจากที่ทะเลสาบโอเตโรแห้งไป หลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง ทำให้ทะเลทรายขาวถือว่าเป็นลักษณะทางธรณีวิทยาที่ค่อนข้างใหม่
ในปัจจุบันทุ่งทะเลทรายขาว เป็นทุ่งยิปซัมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีพื้นที่มากกว่า 700 ตารางกิโลเมตร และทุ่งเนินทรายขาวมีการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในอนาคตเนินทะเลทรายขาวจะขยายตัว หรือหดตัว ก็ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด
Photo credit : https://images.app.goo.gl/EMqAhkcNVAHD8qZP8
สรุปได้ว่าทะเลทรายขาว เกิดจากการตกตะกอนหลังน้ำทะเลลดในยุคเพอร์เมียน และถูกชะล้างพัดพา ไหลลงสู่แอ่งปิดทูลาโรซา ต่อมาน้ำระเหยจนหมด ทิ้งไว้เพียงผลึกยิปซัม ไปสะสมในทะเลสาบโอเตโร และเมื่อเวลาผ่านไป ลมได้กัดกร่อนผลึกยิปซัม จนกลายมาเป็นทรายยิปซัม สะสมจนกลายเป็นทะเลทรายยิปซัมที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งอิทธิพลลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาก่อตัวเป็นเนินทะเลทรายขาว อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
เรียบเรียง : monogatari

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา