15 ธ.ค. 2021 เวลา 04:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ในทางเศรษฐศาสตร์ เหรียญคริปโต ‘จะเก็บรักษามูลค่า’ ได้ดีกว่าเงินกระดาษ หรือไม่ ?
The Serious - Can crypto keep its value ?
อันที่จริงคริปโตเคอเรนซี (เหรียญคริปโตฯ) มีความเป็น ‘ของ’ ที่ค่อนข้างแปลกในตัวเองในระดับหนึ่ง กล่าวคือ แม้ว่าโดยชื่อจะถูกเรียกเป็น ‘เงิน’ หรือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้เหรียญคริปโตยังถูกมองเป็น ‘สิ่งของหรือทรัพย์สิน’ เพื่อการลงทุนเป็นหลัก
แต่เมื่อมองลงไปในมุมของการลงทุนอีกขั้นหนึ่งจะพบว่า มีนักลงทุนในเหรียญคริปโตฯ บางกลุ่ม มีความเชื่อว่า ‘ทรัพย์สินชนิดนี้’ จะถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในอนาคตอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าของเหรียญคริปโตฯ นั้น ๆ สูงขึ้นตามไปด้วย
โดยมองว่า หนึ่งปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนความนิยมในเหรียญคริปโตฯ ในอนาคตคือ ‘การออกแบบให้มีระบบการควบคุมปริมาณเหรียญ’ (Pre-determined & algorithmically created) ซึ่งแตกต่างจากระบบเงินกระดาษ (Fiat currency) ในปัจจุบันที่ปริมาณเงินจะถูกควบคุมโดยแบงค์ชาติของประเทศนั้น ๆ
ด้วยเหตุนี้จึงมองได้ว่า เหรียญคริปโต ‘น่าจะ’ มีคุณสมบัติในการเก็บรักษามูลค่า (Store of value) ได้ดีกว่าเงินกระดาษโดยสาเหตุจากการมีอุปทาน (Supply) ที่จำกัด (เช่น บิทคอย์นที่กำหนดเหรียญสูงสุดไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ) และจะกลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในที่สุด
ใครที่อาจจะงง ๆ เราสรุปหลักการสั้น ๆ คือ
“อุปทานที่จำกัด > เก็บรักษามูลค่า สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน”
ซึ่งหากจะมองในมุมเศรษฐศาสตร์ก็คงต้องตอบว่า เหตุผลการมีอุปทานที่จำกัด ‘มีน้ำหนักน้อยเกินไป’ ที่จะทำให้เหรียญคริปโตฯ เก็บรักษามูลค่าได้ดีกว่าเงินกระดาษ (และจะกลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน) เนื่องจาก
1. การที่เหรียญคริปโตจะรักษามูลค่าได้ จะต้องเกิดจากการได้รับการยอมรับให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Effective facilitator of exchange) ซึ่งการมีอุปทานที่จำกัดเพียงข้อเดียวไม่ได้ทำให้เหรียญนั้น ๆ มีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าเงินกระดาษแบบเดิม
2. แม้หากเหรียญคริปโตจะกลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแล้ว ปริมาณเหรียญคริปโตหมุนเวียนในเศรษฐกิจ ย่อมมากกว่าปริมาณเหรียญคริปโตฯ ที่กำหนดไว้ (เช่น 21 ล้านเหรียญ) โดยในทางเศรษฐศาสตร์เรียกคุณสมบัตินี้ว่า Money multiplier (เช่น นาย ก. ฝากเหรียญไว้แล้วตัวกลางนำไปปล่อยกู้ต่อ เป็นต้น) ซึ่งย่อมกระทบต่อมูลค่าของเหรียญในที่สุด
3. การที่มีปริมาณเหรียญฯ จำกัด อาจทำให้ ‘ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเหรียญนั้นๆ’ ไม่มีเครื่องมือทางการเงินทั้งเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามขาลง และเพื่อลดความร้อนแรงในเศรษฐกิจขาขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะเงินฝืด (ราคาตกต่ำ) /เงินเฟ้อ (ราคาสูงขึ้นเร็ว) ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อเสถียรภาพจนเกิดการล่มสลายของระบบเงินเหรียญนั้น ๆ ได้อยู่ดี
4. เช่นเดียวกับการล่มสลายของระบบทองคำ/เงิน (Gold Standard รูปแบบต่าง ๆ) ก็เกิดขึ้นจากสาเหตุที่ปริมาณทองคำ/เงินมีไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจโตมากขึ้นย่อมมีปริมาณการหมุนเวียนสินค้า/บริการมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีปริมาณเงิน (ในที่นี้คือเหรียญ) เพิ่มขึ้น ดังนั้น การมีปริมาณเหรียญที่จำกัดย่อมไม่ตอบสนองต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโต จนนำมาสู่การล่มสลายของระบบเหรียญอยู่ดี
ดังนั้น เราจึงไม่อาจสรุปได้ (อย่างน้อยในตอนนี้) ว่า เหรียญคริปโตจะสามารถเก็บรักษามูลค่าได้ดีกว่าเงินกระดาษ เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมายที่จะทำให้เหรียญคริปโต ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ดีได้ และคงมีหนทางเดียวที่จะพิสูจน์เรื่องนี้ได้...
นั่นคือ เวลา... นั่นเอง
(มนุษย์มีการใช้ระบบสื่อกลางการแลกเปลี่ยน/เงิน มายาวนานกว่า 5,000 ปี ในหลายครั้งการเกิดขึ้น/การล่มสลายของระบบนั้น ๆ มักมีเงื่อนไขที่มากกว่าปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคมไปจนถึงประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น เหตุผลข้างต้นจึงเป็นเพียงการให้เหตุผลในอีกมุมมองหนึ่งเท่านั้น Counter argument)
#เดอะซีเรียส #เจาะลึกเศรษฐศาสตร์
#Tokenomics #เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเหรียญ
โฆษณา