18 ธ.ค. 2021 เวลา 01:26 • สุขภาพ
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
หมอนรองกระดูกมีส่วนช่วยในการขยับของกระดูกสันหลัง โดยทำหน้าที่เหมือนโช้คอัพของรถยนต์ เปลือกนอกของหมอนรองกระดูกมีลักษณะเป็นเส้นเอ็นหนา ภายในบรรจุเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหนียวนุ่มเหมือนเจลลีเพื่อช่วยในการรองรับแรงกระแทก เมื่อมีน้ำหนักกดทับ หมอนจะป่องออก และเมื่อน้ำหนักกดทับหายไป หมอนก็จะคืนตัวเหมือนเดิม
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทคืออะไร
หมอนรองกระดูกมีส่วนช่วยในการขยับของกระดูกสันหลัง โดยทำหน้าที่เหมือนโช้คอัพของรถยนต์ เปลือกนอกของหมอนรองกระดูกมีลักษณะเป็นเส้นเอ็นหนา ภายในบรรจุเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหนียวนุ่มเหมือนเจลลีเพื่อช่วยในการรองรับแรงกระแทก เมื่อมีน้ำหนักกดทับ หมอนจะป่องออก และเมื่อน้ำหนักกดทับหายไป หมอนก็จะคืนตัวเหมือนเดิม
เมื่อหมอนรองกระดูกเกิดการเสื่อมจะทำให้ความยืดหยุ่นลดน้อยลงเรื่อยๆ หากเปลือกนอกมีการฉีกขาด เนื้อเยื่อของหมอนที่อยู่ข้างในก็จะสามารถเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทที่อยู่รอบข้าง และทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาได้
อาการที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ
อาการที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับมีได้ 3 รูปแบบ คือ อาการปวด อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรืออาการชา
  • 1.
    อาการปวด อาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับนั้นจะแสดงออกที่ขา และจะมีลักษณะร้าวไปตามทางเดินของเส้นประสาทเส้นนั้น ขึ้นกับว่าเส้นประสาทที่โดนกดทับเป็นเส้นใดก็จะมีการปวดเป็นลักษณะเฉพาะของเส้นประสาทเส้นนั้น
  • 2.
    อาการอ่อนแรง เส้นประสาทจากกระดูกสันหลังทำหน้าที่ในการควบคุมการขยับของกล้ามเนื้อ การกดทับของเส้นประสาทส่งผลให้กระแสไฟฟ้าถูกรบกวน ทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขึ้นได้
  • 3.
    อาการเหน็บชา เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับจะทำให้ความสามารถในการรับความรู้สึกเสียไป ทำให้ผิวหนังบริเวณที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นนั้นรับความรู้สึกได้ไม่ดีเท่าเดิม
สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจคือโรคกระดูกสันหลังจะต้องมีอาการปวดหลัง แต่แท้จริงแล้วอาการที่สำคัญกว่าคืออาการที่ขาหรือแขน ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการรบกวนของเส้นประสาทเกิดขึ้นแล้ว
อาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทมีส่วนคล้ายกับโรคโพรงประสาทตีบแคบอยู่มากเนื่องจากเป็นอาการของเส้นประสาทที่โดนกดทับเหมือนกัน ส่วนที่ต่างกันคือ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนมักจะมีอาการปวดเฉียบพลันและรุนแรงกว่า เนื่องจากมีการอักเสบรุนแรงเกิดขึ้นรอบเส้นประสาท ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงมากจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เลย
1
ทางเลือกในการรักษา
อาการปวดที่รุนแรงไม่ได้บ่งชี้ว่าต้องผ่าตัดเสมอไป โดยส่วนใหญ่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ศัลยแพทย์จะตรวจการทำงานของเส้นประสาทอย่างละเอียดเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วย
การรักษามักเริ่มต้นจากการรับประทานยาและการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง หากอาการต่างๆ ยังไม่ทุเลา จึงค่อยทำการรักษาขั้นถัดไปคือ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท ซึ่งตัวยาจะเข้าไปลดการอักเสบโดยตรงที่ต้นเหตุของปัญหา ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น
 
หากการรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด ได้แก่ มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เจ็บปวดเรื้อรังเกิน 3 เดือน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระได้ แพทย์จึงจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อคลายการกดทับของเส้นประสาทเป็นขั้นตอนการรักษาขั้นสุดท้าย
การรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
ด้วยการผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ศัลยแพทย์ต้องตัดเลาะเนื้อเยื่อส่วนที่ดีเพื่อเปิดทางเข้าไปตัดหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก ซึ่งบางครั้งอาจต้องขยายแผลเพื่อให้ได้ทัศนวิสัยที่ดีในการผ่าตัด
การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปนั้นแตกต่างจากการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยศัลยแพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดซึ่งมีขนาดเพียง 7.9 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของเอ็นโดสโคปจะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก
1
สำหรับโรคโพรงประสาทส่วนกลางตีบแคบ ศัลยแพทย์จะใช้กล้องเอ็นโดสโคปที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาเล็กน้อยร่วมกับเครื่องมือผ่าตัดซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพดีที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วยิ่งขึ้น
กล้องเอ็นโดสโคป
กล้องเอ็นโดสโคปเป็น “เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดที่มีขนาดเล็กกว่านิ้วมือของท่าน” กล่าวคือ มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 7.9 มิลลิเมตร มีเลนส์ติดอยู่ที่ปลาย โดยปลายของเลนส์จะมีลักษณะเป็นมุมเอียงเล็กน้อยเพื่อช่วยในการมองเห็นอวัยวะต่างๆ รอบข้าง นอกจากนี้ภายในยังมีใยแก้วนำแสงเพื่อช่วยในการมองเห็น รวมถึงท่อส่งน้ำขนาดเล็กอีกด้วย
ทั้งนี้ เครื่องมือผ่าตัดทั้งหมดจะสอดผ่านท่อขนาดเล็กนี้ จึงทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเพียง 7.9 มิลลิเมตรเท่านั้น
 
ผลดีที่ได้รับจากการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
  • แผลผ่าตัดเล็ก
  • อาการปวดแผลผ่าตัดน้อย
  • ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ
  • ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด
  • ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว สามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ค่าใช้จ่ายน้อยลง
ขั้นตอนการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
หลังจากที่ผู้ป่วยดมยาสลบแล้ว แพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 7.9 มิลลิเมตรเข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับอยู่โดยตรงโดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก กล้องเอ็นโดสโคปจะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทอย่างชัดเจน สามารถเลือกตัดเฉพาะส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออกได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดทับจากหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือการบีบรัดจากกระดูกข้อต่อและเส้นเอ็นก็ตาม ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที จากนั้นผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
โดยทั่วไปการผ่าตัดจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ คือ รักษาด้วยวิธีประคับประคองไม่เป็นผลสำเร็จ หรือมีอาการปวดเรื้อรัง หรือมีอาการอ่อนแรงของขาอย่างชัดเจน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา