18 ธ.ค. 2021 เวลา 07:21 • การเมือง
ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในยุค 70-80 ในสหรัฐอเมริกา
ผ่านมินิซีรีส์ Mrs.America
ท่ามกลางการแบ่งแยกของอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม ผู้นำขบวนการสตรีนิยมยังคงต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมต่อไป
Mrs.America (2020)
ผู้เขียนจะพาทุกคนย้อนกลับไปในปี 1972….
ERA คือ Equal Rights Amendment (ERA) ขบวนการแก้กฎหมายสิทธิเท่าเทียม
สิทธิความเท่าเทียมภายใต้กฏหมายที่จะไม่ถูกยกเว้นในรัฐใด ไม่ว่าสถานะเพศใด
ถูกก่อตั้งในปี 1923 มีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 1972 ข้อบัญญัตินี้จะต้องถูกรับรองใน38รัฐภายในเจ็ดปี ถึงแม้บัญญัตินี้จะมีอายุถึง 10 ปีก็ตาม อันที่จริง ERA จะได้รับการยอมรับในสภานิติบัญญัติแล้ว แต่การต่อต้านอันรุนแรงจากองค์กรทางศาสนาและฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ทำให้ ERA ต้องหยุดชะงักลง โดยความคิดเห็นของฝ่ายค้านส่วนมากเห็นว่า เกรงว่าผู้หญิงจะสูญเสียสิทธิพิเศษจากการคุ้มครองจากรัฐ เช่น การเกณฑ์ทหาร การสนับสนุนการเงินจากสามี
องค์กรสิทธิสตรีแห่งชาติ (NOW) ผู้เขียนบัญญัติ ERA นั้นได้กล่าวว่ากฎหมายของรัฐบาลกลางมีนโยบายกีดกันทางเพศหลายฉบับ ทำให้เกิดภาวะการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจในหมู่ผู้หญิงจำนวนมาก กฎหมายที่กำหนดให้การเลี้ยงดูบุตรและโอกาสในการทำงานควรได้รับการออกแบบสำหรับปัจเจกบุคคลมากกว่าเจาะจงเพศ ทางผู้สนับสนุน ERAส่วนมากได้กล่าวว่า ความล้มเหลวในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ทำให้ผู้หญิงสูญเสียสิทธิประโยชน์มากมาย แต่ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดมุมมองทางลบต่อศาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับประเด็นสตรีนิยมเช่นกัน
ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้นั้นมีทั้งหมด 9 ตอน ได้กล่าวถึงช่วง70-80 ของการเคลื่อนไหว การต่อสู้ และโต้วาทีทางการเมือง ของ ERA (Equal.Rights.Amendment)
ในสหรัฐอเมริกา โดยในซีรีส์ก็จะมีการอ้างอิงบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่จริงมากมาย เช่น ฟิลลิส ชลาฟลีย์,เบลล่า แอฟซัค,เบตตี้ ฟรีแดน,กลอเรีย สไตเนม,เชอร์ลีย์ ชีสโฮล์ม และอีกมากมาย ในการเล่าของทั้งซีรีส์นั้นจะบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองตัวละครต่างๆ โดยตัวละครนั้นก็จะเป็นตัวละครนำของตอนนั้นไปเลย
  • คำเตือน เนื้อหาส่วนหลักที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงในซีรีส์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่เนื้อหาบางส่วนในซีรีส์นั้นก็มีการแต่งเติมเพื่อเพิ่มอรรถรสให้ผู้ชม ดังนั้นผู้เขียนจะกล่าวถึงการกระทำของแต่ละคนในฐานะตัวละครภายในซีรีส์เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอยู่จริงแต่อย่างใด
  • ต่อไปนี้อาจจะมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์
ในตอนแรกจะเป็นการเล่าจากมุมมองของฟิลลิส ชลาฟลี่ย์ (แสดงโดย Cate Blanchett) ผู้นำฝ่ายค้าน ERA ก่อนเป็นคนแรก ในปี 1972 จะเห็นว่าฟิลิสนั้นเป็นคนที่สนใจด้านการเมืองมาตั้งแต่เรียนเธอค่อนข้างสนใจในเรื่องสงครามและการเมืองเป็นพิเศษ เธอต้องการที่จะเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง แต่ฟิลลิสเองก็มีปัญหาที่ตัวเองและคนรอบข้างนั้นเผชิญอยู่ เช่น แม่ของเธอมีเงินเก็บและค่าประกันสังคมที่เคยสะสมไว้ของเธอไม่พอที่จะจ่ายค่าบิล ซื้อเสื้อผ้าต่างๆที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยต่อการให้ผู้หญิงมีอายุทำงาน
ตัวของเธอเองที่อยากจะเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง ก็ไม่สามารถทำได้อย่างใจเพราะสามีและสภาพสังคมในขณะนั้นไม่ได้ไว้วางใจให้ผู้หญิงได้นั่งตำแหน่งทางการเมืองซักเท่าไหร่ถึงมีก็น้อยเหลือเกิน กับการกระทำที่ค่อนข้าง Sexist(การเหยียดเพศ) Misogyny(ความเกลียดชังผู้หญิง)ที่ฟิลิสมีต่อผู้หญิงผู้ที่สนับสนุน ERA และที่ฟิลิสเป็นฝ่ายโดนซะเอง ถึงกระนั้นคำพูดของเธอเองจะเล่าออกมาว่าเธอนั้นมีมุมมองที่ลบต่อการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเท่าเทียมในตอนนั้นอยู่ดี และเมื่อกล่าวถึงการเมืองแล้ว ทางพรรคการเมืองก็จะมีการใช้การต่อต้านและการสนับสนุนบัญญัตินี้ในการเรียกคะแนนเสียงจากผู้สนับสนุนในฝ่ายนั้นๆ ทำให้ฟิลิสเห็นช่องทางในการเรียกคะแนนเสียงของแม่บ้านที่สนับสนุนแนวคิดของเธอ ให้เธอก้าวเข้าสู่การเมืองอย่างเต็มที่
ในขณะที่การส่งบัญญัติเพื่อโหวตเข้าสภา การเลือกตั้งก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ พรรค democratic
ส่งเชอร์ลีย์ ชิโซล์ม( แสดงโดย Uzo Aduba )ผู้สนับสนุนองค์สิทธิสตรีแห่งชาติ (NOW) เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทาง NOW พยายามจะดึงการแก้กฏหมายของ ERA เสนอต่อจอร์จ แมคโกเวินผู้เข้าชิงตำแหน่งประธาธิบดีเช่นกันเพื่อให้เขาจะได้นำเรื่องนี้เข้าสภาได้ ทางฝั่งของฟิลลิสก็ได้แต่งตั้งโฆษกประจำกลุ่มของเธอเช่นกัน เธอคือ โรสแมรี่ ทอมสัน นักเคลื่อนไหวผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทางกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ได้เริ่มขยายตัวขึ้นจากทางจดหมายข่าวที่ฟิลลิสเขียนและการโทรศัพท์หาคนที่ตนเองรู้จักเพื่อชักชวนให้โหวต NO ต่อการแก้กฏหมายนี้ อีกทั้งได้นำเสนอลงในสื่อหลักของอิลลินอยส์
ฟิลลิสได้กล่าวถึงบัญญัติของ ERAในรายการที่เธอได้ไปสัมภาษณ์ ว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การแก้กฎหมายที่จะทำให้ผู้หญิงต้องเท่ากับผู้ชายทั้งหมด และผู้หญิงจะต้องใช้ห้องน้ำรวม การสร้างเผด็จการสตรีมันกำลังจะเกิดจากข้อกฎหมายเล็กๆที่ERAนั้นต้องการเปลี่ยนนี่แหละ ที่รัฐอิลลินอยส์ที่ฟิลลิสอาศัยอยู่ก็กำลังจะมีการโหวตร่างกฎหมายนี้ในเวลาอันใกล้แล้ว
เธอจึงได้รวบรวมแม่บ้านหรือผู้หญิงที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมเข้าไปประท้วงและแสดงจุดยืนในสภาที่ทำการโหวต
กลอเรีย สไตเนม(แสดงโดย Rose Byrne) นักสิทธิสตรีเจ้าของนิตยสาร Ms.และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเธอได้ถูกยกย่องในฐานะผู้หญิง Working Woman ที่ไม่แต่งงาน เป็นโสดไม่มีลูก แต่เธอก็มีความสุขได้โดยไม่ได้พึ่งพาใครในหนังสือที่เขียนโดย เบ็ตตี้ ฟรีแดน เธอได้ถูกลงเสนอชื่อเพื่อโหวตเป็นโฆษกประจำการเคลื่อนไหวเพื่อการแก้กฎหมายนี้ สำนักพิมพ์ที่จ่ายหน่ายนิตยสารของเธอพิจารณาเรื่องนำเชอร์ลีย์ ชิโซล์มลงปกล่าสุด เพราะทางสำนักพิมพ์เกรงว่าจะได้ยอดขายน้อยลง ก็มีการถกเถียงกันว่าให้เอา “Wonder Woman”ขึ้นแทน เพราะเป็นฮีโร่สาว และอาจจะได้ยอดขายที่ดี
แต่กลอเรียไม่เห็นด้วยนักเพราะเป็นตัวละคร ในครั้งนี้เธออยากจะนำเสนอฮีโร่ที่มีตัวตนอยู่จริงมากกว่า ตอนนี้เธอได้สนับสนุนเรื่องการทำแท้งเสรีให้กับวุฒิสมาชิกแมคโกเวิน แต่เขาก็ไม่ได้สนใจมันนัก
กลอเรียเลยเปลี่ยนเป็นคำว่า “เสรีภาพทั่วไปในการสืบพันธุ์” เพราะจะได้ดูเป็นควาวมยุติธรรมต่อทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แมคโกเวินเลยตกลงที่จะพูดคุยเรื่องนี้ด้วย แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้โทรมา
ถัดมาในรัฐอิลลินอยส์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ชัยชนะในการโหวต NO ในที่สุดด้วยวิธีที่ค่อนข้างเป็นที่แปลกใจคือ เหล่าแม่บ้านจะแจกขนมปังเพื่อให้ผู้ที่ได้รับโหวต NO กลอเรียได้กล่าวว่าพวกเราไม่ได้บังคับให้พวกแม่บ้านหยุดอบขนมปังซะหน่อยทำไมพวกเขาถึงได้ต่อต้านบัญญัตินี้
จิลล์ รัคเคิลเชาส์(แสดงโดย Elizabeth Banks) 1 ในคณะกรรมการของ ERA ได้กล่าวว่า ต้องระวังคำพูดของพวกเราให้มากกว่านี้ เพราะเรานั้นไม่ได้ต่อต้านการกระทำของพวกแม่บ้าน
คำพูดนั้นได้กล่าวว่า “การแต่งงานเปรียบเสมือนการขายตัวแลกเงิน และค่าเลี้ยงดูก็เหมือนค่าปฏิกรรมสงคราม” คำพูดนี้ทำให้แม่บ้านหลายคนเปลี่ยนใจไปเข้าข้างอนุรักษ์นิยมทันที
แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังมีการขัดแย้งกันเองภายใน ERA เมื่อ เบลล่า แอพซัค(แสดงโดย Margo Martindale) ประธานกรรมการ ERA ยังไม่เห็นด้วยที่จะนำ ERA เข้าสื่อหลักเพราะการเลือกตั้งยังไม่จบลง เธอเองอยากให้รอนำจอร์จ แมคโกเวิน(แสดงโดย John Bourgeois)เข้าสภาก่อน จึงค่อยทำการเคลื่อนไหวต่อไป
“อีกนานแค่ไหน 1 ปี 2ปี หรืออีกนานเป็นสิบปี ผู้หญิงอีกกี่คนจะต้องตายจากการทำแท้งเถื่อน ขณะที่เรารอให้ผู้ชายรู้สึกสบายใจกับการที่เราควบคุมร่างกายของตัวเองได้ ผู้หญิงอีกกี่คนจะต้องถูกบังคับให้คลอดลูกเพื่อรอให้พวกแม่บ้านที่ไม่รู้การทำงานหาเช้ากินค่ำมารู้สึกสบายใจที่เห็นว่าผู้หญิงมีอำนาจ เราต้องรอให้ผู้คนปรับตัวอีกนานแค่ไหน หรือฉันเป็นคนเดียวที่เหนื่อยเหลือเกินกับการรอคอยนี้”
กลอเรีย สไตเนม ( Mrs. America 2020)
เชอร์ลีย์ ชีโซล์ม เป็นผู้หญิงแอฟริกันอเมริกันคนแรกรับเลือกเข้าสู่รัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา เธอได้รับการสนับสนุนในสื่อมวลชนอย่างมากทั้ง และการสนับสนุนจากชุมชนแอฟริกันอเมริกัน อีกทั้งเธอก็ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสตรีแห่งชาติอีกด้วย เธอได้ทำการปราศรัยหาเสียงไปยังไมอามี่ แน่นอนว่ามีผู้สนับสนุนก็ต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เบลล่าไม่เห็นด้วยที่เธอจะลงตำแหน่งนี้ชิงกับแมคโกเวิน
เพราะเบลล่านั้นคิดว่าแมคโกเวินมีโอกาสชนะมากกว่าอย่างมาก และเกรงว่าเชอร์ลีย์ทำไปเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์เท่านั้น ซึ่งอาจจะเสียทั้งชัยชนะทั้งโอกาสในการเอา ERA เข้าสภา อีกทั้งการประกาศของเชอร์ลี่ย์ว่าเธอจะลงตำแหน่งประธาณาธิบดีนั้น เธอไม่ได้บอกและปรึกษากับเบลล่าเลย หลังจากนั้นจะสังเกตุได้ว่าโรงแรมที่เชอร์ลีย์พักอยู่ถูกตัดสายโทรศัพท์ทิ้งทั้งๆที่มีบอดี้การ์ดที่ทางรัฐบาลส่งมาติดตามอยู่แท้ๆ เหมือนเป็นการตัดโอกาสด้านการสื่อสารของเชอร์ลีย์ทิ้งไปเลย
“เบลล่าบอกว่าฉันทำไปเพื่อสนองอัตตา กลอเรียก็ไม่เลือกซักทาง ทำไมถึงเป็นฉันคนเดียวในที่ประชุมที่คิดว่าผู้หญิงผิวสีสมควรชิงตำแหน่งประธาณาธิบดี”
เชอร์ลีย์ ชีสโฮล์ม (Mrs.America 2020)
ทางด้านฟิลลิสที่ตอนนี้กำลังระดมแม่บ้านหัวอนุรักษ์มาปราศรัยและปรึกษาการเป็นตัวแทนกรรมการประจำรัฐในการต่อต้าน ERA แทนที่ฟิลลิสจะเป็นผู้นำในการประชุมแต่เธอกลับวุ่นอยู่กับการแก้ไขประกาศที่นายพลให้เธอเป็นคนแก้ มีสมาชิกผู้แทนคนหนึ่งชื่อ แมรี่ ฟรานเซส พฤติกรรมการพูดและปราศรัยของเธอได้กล่าวว่า
“เราต้องหยุดพวกเลสเบี้ยนหัวรุนแรงไม่ให้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา ไม่งั้นมีจลาจลแน่ๆ ถ้าไม่หยุด ERA สถาบันครอบครัวเราจะถูกทำลาย พระเจ้าสร้างพวกเราให้แตกต่างกัน ทั้งหญิงชาย และผิวสี เราอยากให้เพศมาผสมปนเปกันเหมือนชาติพันธุ์มั้ย?”
การปราศรัยนี้ทำให้เสียงของฝั่งอนุรักษ์นิยมค่อนข้างแตก เพราะบางคนแค่อยากหยุด ERA แต่ก็ไม่ได้อยากให้แยกชาติพันธุ์ ฟิลิสเลยเข้าไปขัดจังหวะก่อนที่เธอจะพูดต่อ อลิซ มาเครย์เพื่อนสนิทและคนที่ทำให้ฟิลลิสเข้าสู่การต่อต้าน ERA ไม่เห็นด้วยอย่างมาก เธอปรึกษากับฟิลลิสเพื่อไล่แม่รี่ออก แต่ฟิลลิสก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากนั้นเพื่อเป็นการปรับทัศนคติ เพราะแมรี่ขู่ว่าเธอจะลาออกจากการเป็นผู้แทน ถ้าหากกล่าวหากับเธอเช่นนี้
ตัดมาที่กลอเรียและเบลล่าที่พยายามจะโน้มน้าวตัวแทนแมคโกเวินเรื่องนำบัญญัติ ERA แมคโกเวินยังขาดคะแนนเสียงการโหวตของเขาอีก100เสียง จึงได้มีข้อตกลงระหว่างกลอเรีย และตัวแทนของแมคโกเวินว่า กลอเรียจะต้องสละที่นั่งการโหวตให้เขา 100 เสียง และเขาจะโหวต YES ให้กับ ERA เพื่อเป็นการตอบแทน แต่เขานั้นไม่ต้องการได้ยินคำว่า “ผู้หญิงขึ้นเขียงผ่าตัด” อีกกลอเรียตกลง ทางด้านของเชอร์ลีย์เองเธอนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนคนผิวสีอีกแล้ว
เพราะพวกเขามองว่าเชอร์ลีย์อาจจะให้การสนับสนุนสิทธิสตรีมากกว่าผิวสีของเธอเองและไปสนับสนุนแมคโกเวินแทน ทำให้เธอขาดคะแนนเสียงไปมาก
เชอร์ลีย์ต้องจำยอมปล่อยเสียงตัวแทนไป ทางฝั่งกลอเรียที่กำลังทำการนับผลคะแนนโหวตเธอได้ถูกตัวแทนของแมคโกเวินเรียกที่นั่งคืน ทำให้ 100 ที่นั่งที่เธอยอมแลกไป ไม่ได้อะไรกลับมาเลย บัญญัติสิทธิทำแท้งก็ถูกปัดตกไปโดยปริยาย
“ฉันนับถือการต่อต้านทำแท้งต่อผู้มีจริยธรรมนะคะ แต่ฉันไม่เชื่อว่าพวกเขานั้นมีสิทธิ์ที่จะลิดรอนสิทธิ์การทำแท้งของผู้อื่น”
“การทำแท้งอาจทำได้อย่างถูกกฎหมาย แต่มันก็ยังผิดจริยธรรม”
การโต้วาทีระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายหนุนสิทธิ์การทำแท้งถูก
กฎหมายจากฟุตเทจจริงที่ถูกฉายใน Mrs.America
เบ็ตตี้ ฟรีแดน(แสดงโดยTracey Ullman) นักเขียนเฟมมินิสต์ชื่อดังที่มีชื่อเสียงจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเขียนหนังสือ ‘Feminine Mystique’ ได้ประกาศศึกการโต้วาทีระหว่างเธอและฟิลลิส ชลาฟลีย์กลางรายการสดที่เธอถูกรับเชิญต้องการที่จะเปิดโปงความร้ายกาจของฟิลลิส ซึ่งแน่นอน กลอเรีย เบลล่า จิล และคนอื่นๆไม่เห็นด้วยเพราะอาจจะเป็นผลดีต่อฝ่ายต่อต้านที่พวกเขาได้มีที่ยืนบนสื่อหลัก แต่ก็แน่นอน ฟิลลิสยินดีมากที่เธอจะได้ขึ้นบนสื่อหลักร่วมกับผู้มีชื่อเสียงอย่างเบ็ตตี้ การโต้วาทีเริ่มขึ้นอย่างดุเดือด ผู้เขียนอาจจะบรรยายออกมาได้ไม่หมด ดังนั้นแนะให้ต้องดูเองค่ะฉากนี้
“คุณน่ะเอาแต่พูดถึงไม่อยากให้ลูกสาวเกณฑ์ทหาร แล้วผู้ชายล่ะจะรู้สึกยังไง ฉันเองก็มีลูกชาย ไม่อยากให้ลูกชายเป็นทหารไปมากกว่าลูกสาวเหมือนกันแล้วถ้าไม่ต้องส่งลูกๆของเราไปสงครามเลยล่ะเป็นไง ”
เบ็ตตี้ ฟรีแดน (Mrs.America 2020)
“มีคนมากมายพูดแบบนั้นหลังสงครามเกาหลีจบ ว่าเราจะไม่ไปยุ่งกับสงครามฝั่งเอเชียอีก แต่โชคร้าย ฉันยังไม่เคยรู้จักใครที่สามารถหยุดสงครามได้เลย”
ฟิลลิส ชลาฟลีย์ (Mrs.America 2020)
มากาเร็ตหนึ่งในในทีมของกลอเรียกล่าวถึงปัญหาโทเคนิสซึมในที่ทำงาน นั้นคือชนกลุ่มน้อยนั้นได้รับเป็นผู้ตัดสินความคิดเห็นของชนกลุ่มของตัวเองทั้งหมด แต่ดูเหมือนปัญหาของเธอนั้นถูกยกขึ้นมาแต่สุดท้ายก็ถูกเมินเฉย ทำให้กำลังใจในการอยู่ทีมนี้ของเธอค่อยๆน้อยลง ทางนิตยสาร ms.เองในความเป็นจริงพวกเขานั้นมีปัญหาเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องชนกลุ่มน้อย กลอเรียได้รับข่าวหนังสือพิมพ์ที่เขียนถึงเธอ ปรากฎว่ามันคือ Harassing Campaign จาก อัล โกลสตีน นิตยสาร Screw ที่มีแคมเปญโทรศัพท์เข้าไปเพื่อคุกคามทางเพศในสำนักงาน Ms. อีกทั้งการเขียนข่าวโจมตี การใส่รูปนู้ดที่เจตนาไม่ดีแก่กลอเรีย มากาเร็ตตัดสินใจแยกตัวจากทีมของกลอเรียไปเข้าร่วมสมาคมสิทธิสตรีผิวดำแห่งชาติโดยมีเชอร์ลีย์ ชิสโฮล์มเป็นผู้แทน
“เราไม่ได้เป็นคนตัดสินใจว่าแนวรบของเราอยู่ตรงไหน หรือว่าสื่อผู้ชายพูดถึงพวกเราว่ายังไง ”
กลอเรีย สไตเนม Mrs.America กล่าวหลังจากฟังเบ็ตตี้โต้วาทีกับฟิลลิส
เบรนด้า ฟีเกน-ฟาสโตประกาศโต้วาทีกับฟิลลิสบนโทรทัศน์ในหัวข้อที่ขบวนการแก้บัญญัติสิทธิความเท่าเทียม(ERA) ว่าฟิลิสกล่าวอ้างสิ่งที่อุกอาจ ก่อนการเลือกตั้งที่สปริงฟิลด์เพื่อโจมตีกลับ
เบรนด้าเองก็มีปัญหาเรื่องรสนิยมทางเพศของเธอ เธอมีความสัมพันธ์แบบ sexual experimentation กับช่างภาพสาว ’จูลซ์’ ในขณะที่เธอก็มีสามีและแต่งงานกันแล้ว ในการโต้วาทีออกถ่ายทอดสดเบรนด้าและมาร์คสามีของเธอต้องโตวาทีเป็นคู่ ทางชลาฟลีย์ก็มาเป็นคู่เช่นกัน
ฟิลิสได้ประท้วงพรรครีพับลิกันของเธอเองเนื่องจากมีนโยบายสนับสนุนขบวนการแก้ไขสิทธิเท่าเทียม อีกทั้ง มีจิลล์ รัคเคิลเชาส์หนึ่งในกรรมการองค์กรสตรีแห่งชาติเป็นผู้ช่วยพิเศษในทำเนียบขาว ฟิลลิสเริ่มการประท้วงอย่างเต็มกำลังโดยมีการสนับสนุนจากเรแกนโดยมีข้อแม้ว่า จะยกเว้น ERA ไว้ได้ แต่ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนนั่นคือ ต้องยกเลิกการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ยังไงเสียผลสรุปก็คือปีนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้ไปในไม่กี่คะแนน
มิดจ์ ได้ถูกแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยประธาณาธิบดีคนใหม่ในทำเนียบขาวได้ขอให้จิมมี่ คาร์เตอร์ชุบชีวิตการประชุมสตรีแห่งชาติให้กลับมาจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เบลล่า แอฟซัค ได้รับตำแหน่งเป็นผู้นำในการควบคุมงานประชุมสตรีระดับชาติครั้งแรกที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่ฮิวสตัน การประชุมนี้จะเป็นการหารือลงมติต่างๆที่เคยได้ร่างไว้เช่น เสรีภาพในการสืบพันธุ์ รสนิยมทางเพศ ปัญหาข่มขืน ทหารหญิง หญิงวัยชราและอีกมากมาย ซึ่งจะเชิญผู้หญิงทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการลงมติ มีผู้เข้าร่วมมากกว่าสองหมื่นคนนั้นรวมถึงฝั่ง “ Schlafly’s Eagle” หรือกลุ่มแม่บ้านอนุรักษ์นิยมของชลาฟลีย์ก็ได้รับเชิญมาด้วยเช่นกัน
ก่อนการประชุมเบลล่าได้เชิญฟิลลิสไปโต้วาทีโดยที่เบลล่าได้เดินทางไปที่อิลลินอยส์ด้วยตนเอง แต่ฟิลลิสไม่ได้ไปงานนั้น และโต้ตอบกลับด้วยคลิปเสียงตัดต่อ ทำให้เบลล่าและกลอเรียเสียชื่อเสียง อลิซไม่เห็นด้วย แต่ผลเสียคือคลิปเสียงนั้นทำให้เบลล่าเกรงกลัวว่าอาจจะมีผู้ที่ต่อต้านแอบลอบเข้ามาสร้างความวุ่นวายในงานและอาจจะทำให้มีผู้บาดเจ็บ เลยอาจจะยกเลิกให้มีมติรสนิยมทางเพศ บวกกับตอนนั้นมีกลุ่มหลายกลุ่มทางการเมืองที่ต้องการแทรกแซงการประชุม ทั้งกลุ่มชลาฟลีย์ เดอะแคลน และกลุ่มผู้ศรัทธาศาสนาที่หัวรุนแรง แต่ภายหลังที่เบลล่าได้พูดคุยกับเบ็ตตี้เรื่องการเชิญเธอเป็นตัวแทนผู้มีความหลากหลาย เธอก็เปลี่ยนใจให้มีมติรสนิยมทางเพศเช่นเดิม
“ซักกี่ร้อยปีกันที่ผู้หญิงจะรวมตัวกันได้เยอะมากขนาดนี้”
เบ็ตตี้ ฟรีแดน Mrs.America 2020
รู้จักกับ “The Klu Klux Klan” และกลุ่ม John Birch
กลุ่มนี้มีประวัติยาวนานเรื่องการใช้ความรุนแรงที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกา เดิมนั้นมีเป้าหมายที่ต่อต้านคนผิวดำแต่ก็รวมถึงการโจมตีทำร้ายชาวยิว ผู้อพยพเข้าเมือง คนรักร่วมเพศ และผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
ในขณะที่กลุ่มของฟิลลิส ชลาฟลีย์ เริ่มได้รับความสนใจจากกลุ่มคริสเตียน ก็มีข่าวลือหนาหูว่าพวกกลุ่มสามกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกัน แต่ฟิลลิสปฏิเสธว่าไม่มีการเชื่อมโยงใดๆกับกลุ่มข้างต้น
งานประชุมสตรีระดับชาติครั้งที่ 1 ตอนนี้ถูกเล่าผ่านตัวละคร Original ที่ทางผู้เขียนบทแต่งขึ้น คือ อลิซ มาเครย์ เพื่อนสนิทของฟิลิสผู้รวบรวมข้อมูลต่างๆที่ทำให้ฟิลลิสเข้าสู่วงการ และพาเมล่าเธอได้รับมอบหมายงานพิเศษงานหนึ่งคือ ถ้าพวกเธอเจอกลอเรียให้เธอเข้าไปหาและด่าเธอซะ
โดยเธอปรากฏตัวตั้งแต่ตอนแรกและมีบทบาทในการสนับสนุนฟิลลิสตลอด แต่การสนับสนุนของเธอนั้นมีรากฐานจากอะไรกันแน่ ในฐานะเพื่อนสนิท ฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์ หรือเป็นเพราะเธอกลัวฟิลลิส เพราะเวลาที่เธอไม่ได้เห็นด้วยกับแผนการบางแผนการที่ไม่เป็นธรรมเธอก็ไม่ได้กล่าวห้ามอะไรมาก แต่ก็แสดงออกมาว่าเธอไม่พอใจ อลิซไม่สามารถกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้านักข่าวได้ทำให้โรสแมรี่ไม่พอใจเธออย่างมาก เธอได้ตำหนิอลิซและคิดว่าเธอไม่เป็นที่ต้องการ อลิซที่หลงทางภายในงานประชุมเธอได้เข้าไปในนิทรรศการที่แสดงภายในงานต่างๆ ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงงานหนังสือ หรืองานมอเตอร์โชว์ที่แสดงกิจกรรมและให้ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วม เหมือนเป็นเปิดโลกใหม่ให้เธอได้เห็นสิ่งที่ขบวนการสิทธิสตรีเรียกร้องด้วยตัวเองเองครั้งแรกโดยที่ไม่มีฟิลลิสคอยคุมเธอ ทั้งเพลงที่เธอร้องเป็นประจำ This Land is Your Land เธอเองก็มารู้ครั้งแรกว่ามันเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยมมาร์กซิส
ก่อนหน้านั้นเธอกับพาเมล่าติดโปสเตอร์โจมตี กลุ่มรักร่วมเพศภายในงานที่เขียนว่า
[ “แม่คะ โตขึ้นหนูอยากเป็นเลสเบี้ยน!”หากท่านคิดว่าแนวคิดนี้น่าตกใจ จงปกป้องลูกของเราจากแนวคิดเช่นนี้ ]
มิดจ์ที่เป็นเลสเบี้ยนและทีมของเธอเป็นคนเก็บมันได้เธอเสียใจกับสิ่งที่เขียนว่าเป็นการโจมตีอย่างหยาบคายจากฝ่ายต่อต้านอย่างชัดเจน อลิซคิดมาตลอดว่าเธอนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะโจมตีทำร้ายจิตใจใคร แต่เมื่อเธอเห็นคนที่เจ็บปวดกับมันจริงๆ อลิซเองก็เพิ่งมาคิดได้กับสิ่งที่มันเขียนเอาไว้เช่นกัน
หลังจากอลิซกลับมาที่ห้องเธอได้พบกลอเรียโดยบังเอิญขณะที่กลอเรียเข้ามาประชุมเรื่องภาคผนวกในแต่ละส่วนของหัวข้อมติกับออเดรย์และทีมของเธอ อลิซได้สังเกตุวิธีการทำงานของกลอเรียที่เธอจะมีการโหวตตลอดที่จะจบการประชุมหัวข้อนั้นๆว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ในขณะที่ฟิลลิสได้เคยกล่าวว่าถ้าหากมีการโหวตทุกครั้งมันก็เสียเวลาที่จะไปข้อต่อไป
อลิซได้เข้าไปเผชิญหน้ากลุ่มแม่บ้านหัวอนุรักษ์ฝ่ายของเธอเองและถามถึงเจตนาจริงของการต่อต้าน ERA
“ฉันแค่อยากจะถามว่าทำไมเราต้องคัดค้านข้อเสนอทุกอย่างของพวกสตรีนิยมด้วย เราไม่ได้ต่อต้านการจ้างงาน หรือผู้หญิงเสียงข้างน้อย ฉันไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรสู้ในสิ่งที่เราเชื่อนะ แต่เรามาหาข้อตกลงร่วมกันไม่ดีกว่าหรอ”
อลิซ มาเครย์ Mrs.America 2020
ที่ไม่ได้กล่าวถึง ฟิลลิสเลยเพราะเธอจะอยู่เบื้องหลังด้วยเหตุผลทางการเมือง โรสแมรี่ ทอมสัน จะเป็นผู้นำในการรับผิดชอบของผู้แทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการประชุม ในฐานะหัวหน้าของ Eagle Forum ในรัฐอิลลินอยส์และผู้แทนรัฐอิลลินอยส์ ทอมสัน เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการประชุม ซึ่งเธอช่วยเขียนวิธีแก้ปัญหาต่อต้านERAและดังที่แสดงไว้ในตอนนี้ ฝ่ายต่อต้านERA ควรได้รับอนุญาตให้พูดได้ ตัวแทนต่อต้านERAรวมทั้งทอมสันอ้างว่าพวกเขาถูกปิดไมค์ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในซีรีส์ เบลล่า แอพซัค ได้ออกมาปกป้องทอมสันโดยกล่าวว่าชนกลุ่มน้อยก็มีสิทธิ์พูดเช่นกัน สำหรับคำพูดต่อต้านการทำแท้งของ ทอมสัน เราไม่พบบันทึกประวัติศาสตร์ใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในที่สุดทอมสันแสดงความตั้งใจที่จะเขียนหนังสือเรื่อง The Price of Liberty ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายนถัดมา
เบ็ตตี้ ฟรีแดน ยืนหยัดต่อสิทธิรสนิยมทางเพศ
“ฉันเป็นที่รู้จักว่า เป็นผู้ต่อต้านเรื่องเลสเบี้ยนอย่างรุนแรง และในฐานะผู้ที่อาจจะรักผู้ชายมากเกินไป แต่ฉันเชื่อว่าเราต้องช่วยผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนให้ได้รับการปกป้องภายใต้สิทธิพลเมือง”
ตามคำบอกของนักประวัติศาสตร์ Doreen J. Mattingly การเฉลิมฉลองที่ในตอนท้ายเป็นที่กล่าวถึงจนทุกวันนี้ที่ว่า “ลูกโป่งหลายร้อยใบสลักด้วยคำว่า 'We Are Everywhere' ถูกปล่อยออกมาด้วยความปีติยินดี”
นักประวัติศาสตร์ Marjorie Spruill Wheeler เล่าถึงช่วงเวลาแห่งความสุขในทำนองเดียวกัน โดยอธิบายถึงฝูงชนที่ร้องเพลงออกมา ในขณะที่กล้องหมุน ผู้ร่วมประชุมก็ลุกขึ้น จับมือกัน และเริ่มร้องเพลง 'We Shall Overcome' ร่วมกัน ในท้ายที่สุด มติการประชุมสตรีแห่งชาติก็ถูกยุติลงเพราะฟิลลิสและล็อตตี้ได้รวบรวมกำลังแม่บ้านและผู้ต่อต้านทั้งหมดสองหมื่นคนเข้าคัดค้าน
ตอนสุดท้ายของ Mrs. America ได้กล่าวถึงชะตากรรมอันซับซ้อนของขบวนการสิทธิสตรีในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และรุ่งอรุณของยุคเรแกน ในตอนจบ เบลล่า แอพซัค, กลอเรีย สไตเนม และจิลล์ รัคเคลส์เชาส์ใช้ประโยชน์จากพลังของพวกเธอ โน้มน้าวในขณะที่การบริหารของคาร์เตอร์กำลังเสื่อมถอย ในขณะเดียวกัน ฟิลลิสพยายามสร้างรายได้จากการประสบความสำเร็จของเธอซึ่งมาจากขัดขวางการแก้ไขสิทธิที่เท่าเทียม
ในตอนต้น เราพบว่า เบลล่า และสมาชิกคนอื่นๆ ของคณะกรรมการที่ปรึกษาสตรีแห่งชาติกำลังเตรียมการประชุมกับประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาได้ยินว่าประธานาธิบดีตกลงที่จะประชุมเพียง 15 นาทีเท่านั้น พวกเขาจึงตัดสินใจยกเลิก โดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น บทความของ New York Times ในปี 1979 ยืนยันว่าคณะกรรมการได้ยกเลิกการประชุมครั้งแรกกับ คาร์เตอร์ “เมื่อพวกค้นพบว่ามีเวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้นที่ได้รับการจัดสรรเวลาตามกำหนดการของประธานาธิบดี” เช่นเดียวกับในซีรีส์ โดยพวกเขาได้ตกลงกันว่าจะมีการประชุมที่ยาวนานขึ้นในภายหลัง
ภายหลัง เบลล่าถูกไล่ออกก่อให้เกิดการตอบโต้ของเหล่าคณะกรรมการขบวนการแก้กฎหมายต่อประธาณาบดี คาร์เมนผู้เป็นประธานร่วมกับเบลล่า (แสดงโดย Andrea Navedo) ประกาศลาออกตามเบลล่าเช่นเดียวกับผู้หญิงอีก 22 คน มี เป็นกรรมการร่วมอีก39คน ซึ่งทุกคนประท้วงการไล่ออก ในตอนนี้ซีรีส์แสดงให้เห็นในรูปแบบที่ดูเป็นฮอลลีวูดมาก โดยผู้หญิงแต่ละคนเดินเข้าไปในสำนักงานของแฮมิลตัน จอร์แดนทีละคนและยื่นใบลาออกให้เขา ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า แต่ผู้หญิงหลายคนแสดงความโกรธเคืองต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดีอย่างเปิดเผยและรุนแรง รวมถึงกลอเรีย สไตเนม ที่ตั้งคำถามต่อการแสดงออกเช่นนี้ของประธาณาธิบดี
ความสัมพันธ์ของฟิลลิสและเรแกน
การสนับสนุนแบบอนุรักษ์นิยมของเรแกนเพิ่มมากขึ้น ฟิลลิส ชลาฟลีย์ จึงประกาศการสนับสนุนของเธอต่อผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเธอรณรงค์โดยปักเข็มกลัดสนับสนุนของเรแกน 1980 ไว้ที่ปกเสื้อของเธอที่อ่านว่า "Let’s Make America Great Again" เป็นสโลแกนที่ทรัมป์ยืมไปหาเสียงในปี 2016 ในซีรีส์ ฟิลลิส เชื่อว่าความพยายามทั้งหมดของเธอในการสนับสนุนนี้จะทำให้เธอได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติภายใต้การบริหารของเรแกน แต่มันก็เป็นความเชื่อที่นำไปสู่ความผิดหวังในที่สุด
เพราะเบลล่าเพิ่งถูกไล่ออกไป ทำให้เกิดคำถามมากมายจากฝ่ายเสรีนิยมและเฟมมินิสต์ที่มีต่อเขา และถ้ายิ่งรับฟิลลิสมาเข้าอยู่ในตำแหน่งก็จะยิ่งมีผู้ต่อต้านจากเสรีนิยมมากขึ้น แต่ฟิลลิสก็ไม่ได้ยอมแพ้เธอพยายามแต่งตั้งตัวเองให้เป็นผู้หญิงคนแรกในศาลฎีกาแทน แต่ในที่สุด ตำแหน่งนั้นก็ไปตกที่ผู้หญิงอีกคน เช่นเดียวกับตำแหน่งเอกอัครราชทูต U.N.
ซึ่งได้ผู้พิพากษา Sandra Day O'Connor ที่เธอก็สนับสนุน ERA รับตำแหน่งนี้ไป
แนวคิดผู้เขียน
หลังจากที่ได้ดูซีรีส์นี้ทั้งหมด 9 ตอนผู้เขียนได้มุมมองหลายอย่างทั้งในฐานะคนยุคปัจจุบัน และฐานะคนยุค 1970 หากมองในฐานะผู้หญิงยุคนั้น บทบาทของผู้หญิงค่อนข้างด้อยกว่า ส่วนใหญ่การตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆก็เป็นผู้ชายเขียน แต่ถ้าในปัจจุบันก็เป็นการสะท้อนสังคมอย่างหนึ่งว่าเมื่อมีลูกสาว ลูกสาวก็จะเป็นสมบัติของพ่อ เมื่อมีสามีภรรยาเป็นสิทธิขาดของสามี จะมองว่าผู้หญิงคือสมบัติชนิดหนึ่ง ผู้หญิงนั้นไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่แปลกนักในยุคนั้นเพราะยุคนั้นเพิ่งผ่านสงครามมาหมาดๆทั้งสงครามเกาหลี เวียดนาม ผู้ที่มีบทบาทมากๆก็คือผู้ชายนี่เอง และเหล่าแม่บ้านอนุรักษ์นิยมก็หวาดกลัวที่จะเสียสิทธิคุ้มครองต่างๆ เช่นเงินค่าเลี้ยงดู และกลัวที่จะได้เกณฑ์ทหาร มองแบบให้ความเป็นธรรมคือ สภาพสังคมในสมัยนั้นถือว่าผู้หญิงเนี่ยมีบทบาทมากแล้วถ้าเทียบกับอดีตที่เก่ากว่านั้น แต่ผู้เขียนไม่ได้บอกว่ามันจะดีกว่านี้ไม่ได้
ในการที่มีตัวละครหลักอย่างฟิลลิสผู้นำฝ่ายค้านนั้นแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นไม่เกี่ยวจะชายหรือหญิงเลย เพราะว่ากฎบางข้อก็มีผู้หญิงเป็นฝ่ายเขียนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนผ่านย่อมมีผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ การเรียกร้องเพื่อสิทธิเท่าเทียมและเพื่อชนกลุ่มน้อยอื่นๆก็ยังคงมีต่อไปดังที่ซีรีส์ได้กล่าวไว้
ม่า : เขียน/เรียบเรียง
-p ปิง : งานศิลป์
โฆษณา