28 ธ.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 52] Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1-1” ของภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
**หมายเหตุ**
บทความนี้เป็น Customer Review (CR) ที่เจ้าของบล็อกไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว หรือได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากทางภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร แต่เป็น Review ในฐานะที่เจ้าของบล็อกสมัครลงทะเบียนเรียนเอง
เนื่องจากช่วงปลายปีนี้ ผมได้ไปสมัครลงคอร์สเรียนออนไลน์ภาษาเยอรมันพื้นฐาน (สำหรับผู้ไม่มีพื้นฐานมาก่อน) จากมหาวิทยาลัยในไทย เลยเขียน Review หลังจบคอร์สสักหน่อยครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านได้เลยครับ
ทางภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ได้เปิดคอร์สเรียนภาษาเยอรมันพื้นฐานสำหรับบุคคลภายนอก (แบบเรียนออนไลน์) เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน - ธันวาคม ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าของบล็อกก็มีโอกาสสมัครลงเรียน สำหรับเนื้อหาตอนนี้จึงจะกล่าวถึง “คอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1-1” ที่ทางภาควิชาภาษาเยอรมันเปิดคอร์สในตอนนั้นเพียงระดับเดียวครับ
ประกาศรับสมัครคอร์สเรียนภาษาเยอรมันพื้นฐานสำหรับบุคคลภายนอก (แบบออนไลน์ ระดับ A1-1)ในเพจของภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
1) จำนวนคนเรียนในคอร์ส :
จำนวนคนเรียนประมาณ 25 คน
2) อาจารย์ผู้สอนและภาษาที่ใช้ในการสอน :
อาจารย์ผู้สอนในคอร์สนี้เป็นอาจารย์คนไทย และใช้ภาษาไทยในการสอน
3) โปรแกรมที่ใช้เรียนออนไลน์ : ใช้โปรแกรม Zoom และอาจารย์ผู้สอนจะอัดวีดีโอระหว่างการเรียนการสอนให้ดูย้อนหลัง ซึ่งวีดีโอดังกล่าวจะมีวันหมดอายุ หากขาดเรียนจะต้องย้อนมาดูภายในช่วงไม่กี่วันจากวันที่มีคาบเรียนนั้น
ช่วงคาบเรียนในคอร์สเรียนออนไลน์ "ภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1-1"
4) ขอบเขตของเนื้อหาของคอร์ส เทียบกับการสอบประกาศนียบัตร Goethe-Zertifikat เพื่อวัดระดับภาษาเยอรมัน :
เนื้อหาในคอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1-1 ของภาควิชาภาษาเยอรมัน ม.ศิลปากร จะยังไม่ครอบคลุมการสอบ Goethe-Zertifikat ระดับ A1 ทั้งหมด โดยมีเพียงครึ่งแรกเท่านั้น หากต้องการให้ครอบคลุมระดับ A1 ควรลงคอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1-2 ที่ทางภาควิชาภาษาเยอรมัน ม.ศิลปากร จะเปิดต่อไปในอนาคต
5) เอกสารหรือหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียน :
คอร์สนี้มีหนังสือแบบเรียนที่ใช้โดยเฉพาะ เป็นตำราเรียนชุด Menschen ระดับ A1 (ใช้ได้ทั้งคอร์สระดับ A1-1 และ A1-2) หากผู้เรียนต้องการสั่งซื้อกับทางภาควิชา จะมีค่าหนังสือรวมกับค่าส่ง 1,170 บาท แยกจากค่าเรียน
ตำราเรียนภาษาเยอรมันชุด Menschen ระดับ A1 ที่ใช้ในคอร์ส โดยมีเล่มบทเรียน (Kursbuch เล่มซ้าย) และเล่มแบบฝึกหัด (Arbeitsbuch เล่มขวา)
6) เนื้อหาที่เรียนในคอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1-1 :
บทที่ 1
- คำสรรพนามบุรุษที่ 1-2-3
- เพศทางไวยากรณ์ของคำนาม
- คำแสดงคำถาม (ทำนองเดียวกับ wh-question ในภาษาอกฤษ)
- คำกริยา kommen (to come), heißen (to name) และ sein (verb to be ในภาษาเยอรมัน) และการผันคำกริยาตามสรรพนามบุรุษต่าง ๆ หรือคำนามเพศต่าง ๆ
- การถาม-ตอบ เกี่ยวกับชื่อ ภูมิลำเนา
- การแนะนำตัวผู้อื่น (บุคคลที่ 3 ที่เข้าร่วมวงสนทนา)
- การถามความรู้สึก และการขอให้พูดทวนซ้ำ
- การสะกดคำและการออกเสียงพยัญชนะเดี่ยว พยัญชนะประสม สระเดี่ยว กับสระประสม
บทที่ 2
- เพิ่มคำสรรพนามบุรุษแบบพหูพจน์ : wir, ihr
- คำกริยา machen (to make), arbeiten (to work), haben (to have), sein (verb to be ในภาษาเยอรมัน), wohnen (to live)
- คำบุพบท als & bei (ใช้คู่กับกริยา arbeiten) และ in
- คำนามชื่ออาชีพและการผันคำตามเพศ
- การสร้างประโยคปฏิเสธด้วยคำ nicht
- การสื่อสารเพื่อระบุถึงอาขีพกับข้อมูลส่วนบุคคล (ชื่อ สกุล ประเทศภูมิลำเนา เมืองที่อยู่ อาชีพ อายุ สถานะครอบครัว บุตร)
บทที่ 3
- คำแสดงความเป็นเจ้าของ mein/dein และการผันคำตามเพศและพจน์ของคำนาม
- Verb to be ในภาษาเยอรมัน ในประโยคคำถามแบบ Ja-/Nein-Frage (Yes-No question), ประโยคคำถามแบบ W-Frage (มีคำแสดงคำถามพวกที่ขึ้นต้นด้วย W) และประโยคบอกเล่า
- Ja / Nein / Doch (Yes/No ในภาษาเยอรมัน)
- คำกริยา sprechen (to speak)
- การพูดเกี่ยวกับครอบครัว
- การถามตอบเกี่ยวกับภาษาที่พูดได้
- Small Talk ฝึกการแนะนำตัวในภาษาเยอรมัน
บทที่ 4
- คำศัพท์จำพวกเฟอร์นิเจอร์ (die Möbel)
- ตัวเลขช่วง 100 - 1.000.000 และการใช้ , สลับกับจุดในการแบ่งหลักตัวเลขกับทศนิยมในภาษาเยอรมัน
- คำกำกับนามแบบชี้เฉพาะ (definiter Artikel) Der-Das-Die สำหรับคำนามทั้ง 3 เพศในภาษาเยอรมัน
- คำบุรุษสรรพนาม (Personalpronomen)
- ประโยคสำหรับบทสนทนาระหว่างการซื้อของ
- การแสดงความเห็นประเมินค่าต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- สระเสียงสั้น/สระเสียงยาว
บทที่ 5
- คำศัพท์เกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน คุณลักษณะของสิ่งของ (วัสดุ รูปทรง สี)
- คำกำกับนาม (Artikel) แบบไม่ชี้เฉพาะในประโยคปฏิเสธที่ผันตามเพศของคำนาม : kein - kein - keine
- การถามว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร? สะกดคำอย่างไร? และการขอให้พูดตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำ
- การตอบรับคำขอบคุณ – การบรรยายถึงคุณลักษณะของวัตถุ
บทที่ 6
- คำศัพท์เกี่ยวกับอุปกรณ์ทำงานในสำนักงาน
- การผันคำกำกับนาม เมื่อคำนามนั้นอยู่ในรูปพหูพจน์
- การผันคำนามให้อยู่ในรูปพหูพจน์
- คำพูดช่วงรับสายและวางสายโทรศัพท์
- การผันคำกำกับนาม เมื่อคำนามนั้นมีการกแบบ "กรรมการก" (accusative case - คำนามทำหน้าที่เป็นกรรมตรงของประโยค)
บทที่ 7
- คำศัพท์เกี่ยวกับงานอดิเรก
- คำกริยาช่วย können (to be able) และการผันกริยาตามประธาน
- รูปประโยค Satzklammer เมื่อมีคำกริยา können
- การกล่าวคำชมและขอบคุณ
- การบอกระดับทักษะความสามารถ
- การพูดคุยเกี่ยวกับงานอดิเรก และคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
- การกล่าวขออะไรบางอย่าง
บทที่ 8
- คำศัพท์เกี่ยวกับสถานที่
- คำบุพบทบอกเวลา am & um
- การสลับตำแหน่งคำตรงต้นกับท้ายประโยค โดยมีคำกริยาอยู่ตรงกลางที่เดิม
- การนัดหมาย และคำศัพท์เกี่ยวกับสถานที่
- การบอกข้อเสนอและการตอบรับ
- การบอกยกเลิกนัดหมาย
- การระบุเวลา (รวมถึงเวลาในการนัดหมาย)
บทที่ 9
- คำศัพท์เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม
- คำกริยา mögen (like) และ möchte (want) และการผันคำกริยาตามประธาน
- การสร้างคำนามประสมจากคำนาม 2 คำ
- วลีและประโยคเพื่อสนทนาเกี่ยวกับอาหาร พฤติกรรมการกิน และช่วงระหว่างทานอาหาร
บทที่ 10
- คำศัพท์เกี่ยวกับการเดินทาง
- คำกริยาแบบแยกได้ (trennbare Verben) ทั้งกรณีประโยคบอกเล่าและประโยคคำถาม
- บทสนทนาตอนขึ้นลงพาหนะโดยสาร
- การให้ข้อมูลที่สถานีรถไฟ
- คำพูดปิดท้ายบทสนทนาทางโทรศัพท์
บทที่ 11
- คำศัพท์เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน
- คำบุพบทบอกเวลา von…bis และ ab
- การใช้คำกริยาช่วย haben กับคำกริยาที่ไม่มีสภาพเคลื่อนที่
- รูปประโยคเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดเสร็จสิ้นไปแล้ว (Perfekt) ในประโยคบอกเล่าและประโยคคำถาม
- การพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต
บทที่ 12
- คำศัพท์เกี่ยวกับเดือนและฤดูกาล
- ตัวอย่างเทศกาลในรอบปีของเยอรมนี
- คำบุพบท im
- รูปประโยคเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดเสร็จสิ้นไปแล้ว (Perfekt) ที่ใช้คำกริยา sein (Verb to be ในภาษาเยอรมัน)
- การพูดคุยถึงการเดินทางและเทศกาล
 
7) สิ่งที่เจ้าของบล็อกชอบในคอร์สภาษาเยอรมันคอร์สนี้ :
- อาจารย์ผู้สอนมีจังหวะให้ผู้เรียนฝึกออกเสียงภาษาเยอรมัน
- อาจารย์ผู้สอนแทรกเนื้อหาเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และประสบการณ์ในเยอรมนีระหว่างที่สอนภาษาอยู่ตลอด
- อาจารย์ผู้สอนพยายามหาเอกสาร เกม หรือสื่อแบบอื่นมาประกอบการเรียนการสอน นอกเหนือจากในตำรา
- อาจารย์ผู้สอนอัดวีดีโอระหว่างการเรียนการสอนให้ดูย้อนหลัง เนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งอาจขาดเรียนบางคาบเนื่องจากติดงาน
8) สิ่งที่เจ้าของบล็อกอยากให้มีการปรับปรุงหรือแนะนำคนสนใจ :
- ช่วงเวลาที่เรียนต่อสัปดาห์ของ Section ที่เจ้าของบล็อกลง เป็น Section ที่เรียนสัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 5 ชั่วโมง อาจทำให้ผู้เรียนล้าเกินไป (ควรลง Section ที่เรียนสัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 2 ชั่วโมง)
- อยากให้มีเอกสาร “ประมวลรายวิชา” (Course syllabus) เพื่อให้ผู้เรียนรับทราบในช่วงต้นของคอร์สว่าจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง จบแต่ละคาบหรือจบคอร์สแล้วควรผ่านเนื้อหาภาษาเยอรมันตรงไหนบ้าง
9) คะแนนของผู้เรียน การวัดผลการเรียนในคอร์ส และใบประกาศนียบัตร :
มีคะแนนการเข้าเรียน (50%) การมีส่วนร่วมในคาบเรียน (30%) และการสอบท้ายคอร์ส (20%) ทางภาควิชาภาษาเยอรมัน ม.ศิลปากร จะส่งใบประกาศนียบัตรหลังจบคอร์สแก่ผู้เรียนทางไปรษณีย์ (เฉพาะผู้มีคะแนนรวมผ่านเกณฑ์ 60%)
10) จำนวนชั่วโมงและค่าเรียน :
50 ชั่วโมง 2,700 บาท (ซึ่งเป็นค่าเรียนที่เจ้าของบล็อกคิดว่าคุ้มค่ามาก)
หวังว่า Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1-1” ของภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจมองหาคอร์สเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ในช่วงนอกเวลาทำงานครับ
สำหรับเพจ Facebook ของภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ที่จะมีประกาศและรายละเอียดคอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐานสำหรับบุคคลภายนอกต่อไป สามารถดูได้ที่ https://www.facebook.com/GermanArtsSu
โฆษณา