2 ก.ค. 2022 เวลา 08:35 • การศึกษา
[ตอนที่ 71] Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1.2” ของภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
**หมายเหตุ**
บทความนี้เป็น Customer Review (CR) ที่เจ้าของบล็อกไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว หรือได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากทางภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร แต่เป็น Review ในฐานะที่เจ้าของบล็อกสมัครลงทะเบียนเรียนเอง
เนื่องจากช่วงต้นปีนี้ ผมได้ไปสมัครลงคอร์สเรียนออนไลน์ภาษาเยอรมันพื้นฐานจากมหาวิทยาลัยในไทย เลยเขียน Review หลังจบคอร์สสักหน่อยครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านได้เลยครับ
ทางภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ได้เปิดคอร์สเรียนภาษาเยอรมันพื้นฐานสำหรับบุคคลภายนอก (แบบเรียนออนไลน์) รอบที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ค.ศ.2022 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าของบล็อกก็มีโอกาสสมัครลงเรียน สำหรับเนื้อหาตอนนี้จึงจะกล่าวถึง “คอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1.2” ที่ทางภาควิชาภาษาเยอรมันเปิดคอร์สในตอนนั้นเพียงระดับเดียวครับ
ประกาศรับสมัครคอร์สเรียนภาษาเยอรมันพื้นฐานสำหรับบุคคลทั่วไป ในเพจของภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
1) จำนวนคนเรียนในคอร์ส :
จำนวนคนเรียนประมาณ 30 คน
2) อาจารย์ผู้สอนและภาษาที่ใช้ในการสอน :
อาจารย์ผู้สอนในคอร์สนี้เป็นอาจารย์คนไทย และใช้ภาษาไทยในการสอน
3) โปรแกรมที่ใช้เรียนออนไลน์ : ใช้โปรแกรม Zoom และอาจารย์ผู้สอนจะอัดวีดีโอระหว่างการเรียนการสอนให้ดูย้อนหลัง ซึ่งวีดีโอดังกล่าวจะมีวันหมดอายุ หากขาดเรียนจะต้องย้อนมาดูภายในช่วงไม่กี่วันจากวันที่มีคาบเรียนนั้น
ช่วงคาบเรียนในคอร์สเรียนออนไลน์ "ภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1.2"
4) ขอบเขตเนื้อหาของคอร์ส เทียบกับการสอบประกาศนียบัตร Goethe-Zertifikat เพื่อวัดระดับภาษาเยอรมัน :
เนื้อหาในคอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1.2 ของภาควิชาภาษาเยอรมัน ม.ศิลปากร จะไม่ครอบคลุมการสอบ Goethe-Zertifikat ระดับ A1 ทั้งหมด โดยมีเพียงครึ่งหลังเท่านั้น หากต้องการให้ครอบคลุมระดับ A1 ควรลงคอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1.1 มาก่อนหน้า ที่ทางภาควิชาภาษาเยอรมัน ม.ศิลปากร จะเปิดสอนเรื่อย ๆ
5) เอกสารหรือหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียน :
คอร์สนี้มีหนังสือแบบเรียนที่ใช้โดยเฉพาะ เป็นตำราเรียนชุด Menschen ระดับ A1 (ใช้ได้ทั้งคอร์สระดับ A1.1 และ A1.2) หากผู้เรียนต้องการสั่งซื้อกับทางภาควิชา จะมีค่าหนังสือรวมกับค่าส่ง 1,170 บาท แยกจากค่าเรียน
ตำราเรียนภาษาเยอรมันชุด Menschen ระดับ A1 ที่ใช้ในคอร์ส โดยมีเล่มแบบเรียน (Kursbuch - เล่มซ้าย) และเล่มแบบฝึกหัด (Arbeitsbuch - เล่มขวา)
6) เนื้อหาที่เรียนในคอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1.2 :
บทที่ 13
- Präposition (คำบุพบทบอกตำแหน่ง)
- คำกริยา helfen (to help) และการผันกริยาคำนี้ตามประธานในประโยคบอกเล่าปัจจุบันกาล
- รูปประโยคคำถาม กรณีถามตำแหน่งสถานที่
- การบอกตำแหน่งสถานที่ โดยใช้บุพบทบอกตำแหน่ง + คำนามของสถานที่ในรูป Dativ
- บทสนทนาขอความช่วยเหลือ ถามทาง ขอบคุณ ตอบรับคำขอบคุณ บอกทาง และกรณีไม่รู้ทางที่อีกฝ่ายถาม
บทที่ 14
- สระประสม ei, eu, au
- คำศัพท์เกี่ยวกับบ้าน (พื้นที่ในเขตบ้าน ห้องและชั้นต่าง ๆ)
- คำนามในสัมพันธการก (Genitiv - คำนามที่ผันมีหน้าที่เป็นเจ้าของ) ในกรณีที่คำนั้นเป็นชื่อเฉพาะ
- Possessivartikel (คำกำกับคำนามที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของ)
- สำนวนการพูดและเขียนบรรยายถึงคุณลักษณะของบ้าน/ที่อยู่อาศัย (เช่น ขนาด ประเภทห้อง ค่าเช่า วันที่สามารถย้ายเข้าอยู่ได้)
บทที่ 15
- คำบุรุษสรรพนาม (Personalpronomen) ที่ผันในแบบสัมปทานการก (Dativ - คำที่ผันมีหน้าที่เป็นกรรมรอง)
- คำกริยาที่ใช้กับคำที่เป็น Dativ
- สำนวนในการให้ความเห็นเกี่ยวกับย่านหนึ่งของเมืองที่อยู่อาศัย
- การถามตอบเกี่ยวกับสถานที่อำนวยความสะดวกในเมือง (เช่น ตลาด ร้านค้า โรงเรียน หอสมุด โรงหนัง ร้านอาหาร)
บทที่ 16
- สถานการณ์ที่มีสิ่งของหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าเสีย แล้วขอความช่วยเหลือ
- คำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งของ/อุปกรณ์ไฟฟ้า และสิ่งของในห้องพักโรงแรม
- ตัวอย่างการขอนัดหมาย/ยกเลิกนัด/เลื่อนนัด
- คำบุพบทบอกเวลา in, vor/nach & für
- การตอบสนองต่อคำแก้ตัว
- ฝึกแยกเสียงสระ o กับ u
บทที่ 17
- ลองแต่งประโยคบอกเล่าในภาษาเยอรมันว่าอยากทำ/ไม่อยากทำอะไรอีก
- Modalverben (คำกริยาช่วย) เช่น wollen (ต้องการ) ไปจนถึงการผันกริยาตามประธาน บริบทการใช้งานคำกริยาช่วยเหล่านี้ และโครงสร้างประโยคบอกเล่าเมื่อมีกริยาช่วย
- ลองฝึกการเขียน "Elfchen" บทกลอนภาษาเยอรมันที่ใช้คำเพียง 11 คำ
- คำบุพบท ohne (without) และ mit (with)
- สำนวนพูดเพื่อบอกความปรารถนาหรือแผนการ
บทที่ 18
- คำศัพท์เกี่ยวกับความเจ็บป่วย และอวัยวะ
- การผันกริยาในรูป Imperativ (คำสั่ง/ขอร้อง)
- คำกริยาช่วย sollen (ควรจะ... / คำที่ใช้เมื่อนำคำพูดคนอื่นมาบอกต่อ)
- ฝึกเขียนประโยคที่มีเนื้อความเชิงให้คำแนะนำเรื่องการรักษาสุขภาพ (ใช้กริยารูป imperativ)
- รูปสำนวนเพื่อใช้ถาม/ตอบ/บรรยาย/ให้ความคิดเห็นถึงความเจ็บป่วย, การขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษา/ลดอาการเจ็บป่วย, การให้คำแนะนำ (ใช้คำกริยารูปคำสั่ง/ขอร้อง)
บทที่ 19
- คำศัพท์และการบรรยายเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกและนิสัยของคน
- ทบทวนคำกริยารูปอดีตแบบ Präsens Präteritum
- การผันคำกริยา haben และ sein ในรูปอดีตแบบ Präteritum
- คำกริยาแยกไม่ได้ (nicht trennbare Verben) ในรูปอดีตแบบ Perfekt
- การผันคำกริยาแยกได้-คำกริยาแยกไม่ได้ แบบ Partizip และ Infinitiv
- คำอุทานแสดงความประหลาดใจระหว่างการสนทนา
- คำคุณศัพท์ที่มีความหมายตรงกันข้าม (อย่างการเติม prefix "un-")
- ฝึกตั้งคำถามด้วยคำแสดงคำถาม (Fragewörter) : Wer, Was, Woher, Wie & Wo
บทที่ 20
- คำศัพท์เกี่ยวกับงานบ้าน
- คำกริยาในการก Imperativ (รูปคำสั่ง/ขอร้อง) เมื่อใช้กับบุรุษสรรพนาม du และ ihr
- สำนวนการขอร้องและเรียกร้อง ที่ใช้การก Imperativ
- ตะลุยส่วนไวยากรณ์ (อย่างคำบุรุษสรรพนามในการก Akkusativ & Dativ) และไวยากรณ์ของบทก่อน ๆ
- รูปแบบการเขียน e-mail เพื่อตอบรับคนที่มองหาเพื่อนร่วมห้องมาเช่าห้องร่วมกัน
- คำบุรุษสรรพนามในการก Akkusativ
บทที่ 21
- คำศัพท์เกี่ยวกับกฏระเบียบ ข้อห้ามและข้ออนุญาตในการใช้สถานที่ (เช่น ถนน สวนสาธารณะ ร้านค้า ฯลฯ)
- คำกริยา müssen (ต้องทำ) กับ dürfen (อนุญาตให้ทำ) ที่ผันตามประธาน และตำแหน่งกริยาช่วย
- สำนวนที่ใช้ตอบอีกฝ่าย เพื่อให้ความเห็นว่าทำกริยานั้นแล้วจะดีหรือไม่
- สำนวนที่ใช้พูดเกี่ยวกับกฏระเบียบต่าง ๆ และความคิดเห็นของตนเอง
บทที่ 22
- คำศัพท์เกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย
- การผันคำเพื่อเปรียบเทียบในรูปขั้นกว่า (Komparativ) และขั้นที่สุด (Superlativ)
- คำบุพบทที่ใช้ในการเปรียบเทียบ : als & wie
- การพูดถึงเรื่องเสื้อผ้า-เครื่องแต่งกาย
- คำในภาษาพูดที่ใช้เน้นย้ำคุณลักษณะให้เด่นชัดขึ้น (ประมาณ "มาก ๆ" "โคตร..." "สุด ๆ" "จริง ๆ" ในภาษาไทย)
บทที่ 23
- คำศัพท์เกี่ยวกับสภาพอากาศ การบอกอุณหภูมิ และทิศทั้งสี่
- การเปลี่ยนคำนามเรื่องสภาพอากาศให้เป็นคำกริยาเกี่ยวกับสภาพอากาศนั้น
- Suffix -los ใช้ตามหลังคำนาม (หมายถึง "ปราศจาก..." หรือ "ไม่มี...")
- คำเชื่อมประโยค denn (เพราะว่า...)
- สำนวนพูดในการให้เหตุผล
- สำนวนพูดเกี่ยวกับสภาพอากาศ
บทที่ 24
- คำศัพท์เกี่ยวกับเทศกาลและงานฉลองในโอกาสต่าง ๆ
- สำนวนคำอวยพรหรือแสดงความยินดีในงานฉลองหรือเทศกาล
- สำนวนใช้พูดถึงความปรารถนาว่าอยากทำอะไร?
- ตัวเลขลำดับที่ การอ่านวันที่-เดือน
- คำบุพบทระบุช่วง/ระยะเวลา
- คำกริยาช่วยที่ใช้บอกความปรารถนา (Wünsche) ของผู้พูดที่ผันตามประธาน และมี V2 order
7) สิ่งที่เจ้าของบล็อกชอบในคอร์สภาษาเยอรมันคอร์สนี้ :
- อาจารย์ผู้สอนมีจังหวะให้ผู้เรียนฝึกออกเสียงภาษาเยอรมัน
- อาจารย์ผู้สอนแทรกเนื้อหาเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และประสบการณ์ในเยอรมนีระหว่างที่สอนภาษาอยู่ตลอด
- อาจารย์ผู้สอนพยายามหาเอกสาร เกม หรือสื่อแบบอื่นมาประกอบการเรียนการสอน นอกเหนือจากในตำรา
- อาจารย์ผู้สอนอัดวีดีโอระหว่างการเรียนการสอนให้ดูย้อนหลัง เนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งอาจขาดเรียนบางคาบเนื่องจากติดงาน
8) คะแนนของผู้เรียน การวัดผลการเรียนในคอร์ส และใบประกาศนียบัตร :
มีคะแนนการเข้าเรียน (50%) การมีส่วนร่วมในคาบเรียน (30%) และการสอบท้ายคอร์ส (20%) ทางภาควิชาภาษาเยอรมัน ม.ศิลปากร จะส่งใบประกาศนียบัตรหลังจบคอร์สแก่ผู้เรียนทางไปรษณีย์ (เฉพาะผู้มีคะแนนรวมผ่านเกณฑ์ 60%)
9) จำนวนชั่วโมงและค่าเรียน :
50 ชั่วโมง 2,700 บาท (ซึ่งเป็นค่าเรียนที่เจ้าของบล็อกคิดว่าคุ้มค่ามาก)
สำหรับราคาคอร์สในปัจจุบัน หลังจากรอบที่เจ้าของบล็อกสมัครเรียนขึ้นเป็น 3,000 บาทแล้ว
หวังว่า Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาเยอรมันพื้นฐาน ระดับ A1.2” ของภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจมองหาคอร์สเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ในช่วงนอกเวลาทำงานครับ
สำหรับเพจ Facebook ของภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ที่จะมีประกาศและรายละเอียดคอร์สภาษาเยอรมันพื้นฐานสำหรับบุคคลภายนอกต่อไป สามารถดูได้ที่ https://www.facebook.com/GermanArtsSu
โฆษณา