31 ธ.ค. 2021 เวลา 17:04 • อาหาร
おせち料理 : โอเซจิเรียวริ วิถีการกินต้อนรับปีใหม่
เครดิตภาพ : Oisix
ธรรมเนียมปฏิบัติช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในญี่ปุ่นมีมากมายหลายอย่าง อาทิเช่น การทำความสะอาดครั้งใหญ่ (大掃除), การส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ (年賀状), การกินโซบะข้ามปี (年越しそば), การไปวัดหรือศาลเจ้าในวันขึ้นปีใหม่ (初詣で) นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งธรรมเนียมที่คนญี่ปุ่นมักนิยมจัดเตรียมไว้ก่อนขึ้นปีใหม่ก็คือการเตรียมอาหารสำหรับปีใหม่ที่เรียกว่า โอเซจิเรียวริ (おせち料理)
2
คะกะมิโมจิ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเทศกาลปีใหม่ เครดิตภาพ : SHINGA FARM
อาหารสำหรับพระเจ้า
คำว่า "โอเซจิ" "おせち” เป็นคำที่กล่าวถึงวันที่ตรงกับช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งเขียนด้วยอักษรคันจิ 節 โดยในยุคยาโยอิ (弥生時代, 300 ปีก่อนคริสตกาล) ญี่ปุ่นได้รับเอาความเชื่อเรื่องการบูชาพระเจ้ามาจากประเทศจีน โดยทำการถวายอาหารซึ่งปรุงจากพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ตามฤดูกาลเพื่อเป็นการขอบคุณพระเจ้า ต่อมาในยุคเฮอัน (平安時代、 ค.ศ.794-1185) ราชสำนักได้จัดพิธีเทศกาลทั้งห้า (五節会) ซึ่งประกอบไปด้วยเทศกาล 1 มกราคม (元日), 7 มกราคม (白馬), 16 มกราคม (踏歌), 5 พฤษภาคม (端午), 11 พฤศจิกายน (豊明) โดยที่วัตถุประสงค์ยังคงสืบต่อมาจากยุคยาโยอิ อาหารมักปรุงจากพืขผลที่เก็บเกี่ยวได้ตามฤดูกาล, เต้าหู้, คอนยัคขุ, สาหร่ายคมบุ เป็นต้น
3
เครดิตภาพ : SOGAYA
เมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ (江戸時代、 ค.ศ. 1603-1868) รัฐบาลได้ทำการเปลี่ยนวันจัดเทศกาลทั้งห้า (五節会) เป็นเดือนมกราคม (人日), เดือนมีนาคม (上巳), เดือนพฤษภาคม (端午), เดือนกรกฎาคม (七夕), เดือนกันยายน (重陽) ธรรมเนียมปฏบัติดังกล่าวได้กระจายไปสู่ประชาชนทั่วไป จึงเริ่มจัดสำรับอาหารเพื่อบูชาพระเจ้าตามช่วงเวลาที่รัฐบาลกำหนด ปลายยุคเอโดะการเตรียมโอเซจิเรียวริได้เปลี่ยนเป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในปัจจุบัน และหันมาจัดสำรับโดยใช้อาหารที่มีความหมายดีเป็นมงคลบรรจุลงในกล่องใส่อาหารเรียงเป็นชั้นที่เรียกว่า จูบาโคะ (重箱) แฝงความหมายให้ความโชคดีและความเป็นสิริมงคลซ้อนทับกันไปเรื่อย ๆ
3
กล่องใส่อาหารจูบาโคะ เครดิตภาพ : kamaboko
ปัจจุบันนิยมจัดโอเซจิเรียวริเป็นกล่องสามชั้น โดยอาหารที่อยู่ในชั้นบนสุด (一の重) จะเป็นประเภทอาหารเรียกน้ำย่อย มีรสชาติหวาน อย่าง
2
คามะโบโกะ (かまぼこ) ชั้นนอกเป็นสีแดงสีแห่งความยินดีและการเฉลิมฉลอง ชั้นในเป็นสีขาวแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และสะอาดบริสุทธิ์ ด้วยรูปร่างครึ่งวงกลมเปรียบได้กับพระอาทิตย์ยามโผล่พ้นขอบฟ้าในวันแรกของปี เชื่อว่าจะนำความโชคดีมาให้
2
ดาเตะมากิ (伊達巻) มีรูปลักษณ์ขดม้วนเหมือนกับหนังสือที่เขียนบนกระดาษม้วนในอดีต สื่อถึงการมีเชาว์ปัญญา ฉลาดหลักแหลม และวัตถุดิบในการทำดาเตะมากิคือไข่ไก่และเนื้อปลา ยังสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัว มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองอีกด้วย
3
คุโระมาเมะ (黒豆) ถั่วดำ ซึ่งเป็นคำพ้องเสียง (มาเมะ, 忠実) มีความหมายถึงความขยันขันแข็งและสุขภาพดี อีกทั้งสีดำของถั่วยังแสดงถึงความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่ว่าช่วยปกป้องสิ่งไม่ดีทั้งหลายและภยันตรายทั้งปวง
3
คมบุมากิ (昆布巻き) พ้องเสียงกับคำว่า 喜ぶ หมายถึง ความยินดี
2
คามะโบโกะ, ดาเตะมากิ, คุโระมาเมะ, คมบุมากิ เครดิตภาพ : Kanro
คุริคิงตง (栗きんとん) ทำจากมันเทศและเกาลัด มีสีเหลืองทอง คิงตงก็เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า 金団 หมายถึง ฟูกที่นอนที่เป็นทอง คล้ายกับการนอนบนกองเงินกองทอง คนญี่ปุ่นยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า หากรับประทานคุริคิงตงตั้งแต่วันแรกของปี จะทำให้ทำการค้าขายเจริญรุ่งเรือง เงินทองไหลมาเทมา
2
คุริคิงตง เครดิตภาพ : Kanro
ชั้นที่สองซึ่งอยู่ตรงกลาง (二の重) มักนิยมจัดเป็นเมนูหลักโดยใช้สัตว์ทะเลประกอบอาหารเพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นปลาไท (鯛) ลักษณะคล้ายปลากระพง พ้องเสียงกับคำที่มีความหมายถึงความเป็นสิริมงคล กุ้ง (海老) เมื่อนำมาผ่านความร้อนกุ้งจะตัวงอ เปรียบได้ถึงการมีชีวิตยืนยาวอยู่จนหลังงอเป็นคนแก่ ปลาบุรี (ぶり) เป็นปลาที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเมื่อโตขึ้น เปรียบได้กับความเจริญรุ่งเรือง เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
2
เครดิตภาพ : Kanro
ชั้นที่สามคือชั้นล่างสุด (三の重) นิยมจัดอาหารที่ทำจากวัตถุดิบที่มีอยู่ตามภูเขา สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์บนพื้นดิน เช่น รากบัว (れんこん) มีรูมากมายสื่อความหมายถึงการทำอะไรก็สะดวกโยธิน ไม่มีสิ่งใดมาบดบัง เผือก (里芋) ลักษณะของหัวเผือกที่มีผลมากมาย แสดงความหมายถึงความบริบูรณ์ในครอบครัว มีลูกหลานมากมาย โกะโบ (ごぼう) ผักจำพวกรากสื่อความหมายถึงการขยายวงศ์ตระกูลต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
2
เครดิตภาพ : Kufura
โอเซจิในปัจจุบันนี้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบผสมผสานกับอาหารจีนอย่างการใช้กุ้งมังกร, หอยเป๋าฮื้อ หรือรูปแบบอาหารตะวันตกอย่างการใช้กุ้งล็อบสเตอร์, เนื้อวัวย่าง, ไข่ปลาคาเวียร์ เป็นต้น อย่างเช่นในปี 2021 ซึ่งมีเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิดไปทั่วโลก แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยว หรือใช้เงินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ร้านค้าต่าง ๆ ได้จัดทำกล่องโอเซจิเรียวริที่ใช้วัตถุดิบหรูหราวางขาย เป็นการตอบโจทย์ให้กับผู้คนที่ต้องการทานอาหารพิเศษเพื่อเยียวยาจิตใจ
2
โอเซจิเรียวริมูลค่า 400,000 เยน เครดิตภาพ : Tokyo web
โอเซจิเรียวริ จากอาหารที่ถูกจัดขึ้นเพื่อขอบคุณพระเจ้า จนกลายมาเป็นเมนูสุดพิเศษที่รับประทานกันเฉพาะในวันปีใหม่ของคนญี่ปุ่น เพื่อเฉลิมฉลองให้กับวันสำคัญที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ความหมายที่แฝงอยู่ในอาหารแต่ละประเภทในกล่องโอเซจิเรียวริก็เป็นอีกหนึ่งความพิเศษที่ทำให้การรับประทานอาหารร่วมกันในวันปีใหม่มีความหมายมากยิ่งขึ้น
2
โฆษณา