2 ม.ค. 2022 เวลา 04:38 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
EP.1 สะบัดฮันบก…ส่องวังโชซอน : ไขรหัสปริศนาของรัชทายาทซาโดใน The Red Sleeve
(ขอความกรุณาไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำเนื้อหาในบทความต่อไปนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หากต้องการนำเนื้อหาไปใช้รบกวนอ้างอิง หรือให้เครดิตหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ)
2
ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ดูละครย้อนยุค พีเรียดของเกาหลีด้วยกันทั้งหมด 3 เรื่อง คือ Lover of Red Sky (2021) King affection (2021) และ The Red Sleeve (2021) แล้วรู้สึกว่าแต่ละเรื่องมี between the line เชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจซ่อนอยู่ แต่วินาทีที่เขียนบทความนี้ คงต้องยกให้ The Red sleeve เพราะเป็นเรื่องที่ชอบมากที่สุด และเพิ่งเดินทางมาถึงตอนจบหมาด ๆ
The Red Sleeve(บน) / Lover of Red Sky(ซ้ายล่าง) / The King Affection(ขวาล่าง)
คุณผู้อ่านที่กำลังดู หรือไม่ได้ดู The Red sleeve ไม่ต้องกังวลว่าเนื้อหาในบทความที่กำลังจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นสปอยล์ส่วนสำคัญที่จะทำให้เสียอรรถรสในการรับชม เพราะประเด็นที่เราหยิบมาเม้ามอยนั้นไม่ใช่พาร์ทสำคัญ หรือเป็นจุด climax ของเนื้อเรื่อง แต่เป็นเหตุการณ์สั้น ๆ ที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง EP.11-12 ซึ่งละครเองไม่ได้อธิบายหรือพูดถึงละเอียดมากนัก แต่เป็นการเล่าผ่านโดยเร็วเสียมากกว่า จนบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจ
วันนี้เราขอสวมบทต๊อกอิม นางเอกของเรื่อง พาผู้อ่านทุกท่านมาถอดรหัสปริศนา ขยี้ความนัยของที่ซ่อนหนังสือลับระหว่างพระเจ้ายองโจ กษัตริย์องค์ที่ 21 ในสมัยโชซอนกับองค์รัชทายาทซาโด พระราชโอรสของพระองค์ในละครกันค่ะ...
(แอบกระซิบว่าต๊อกอิมเป็นตัวละครที่ชอบมากที่สุดในเรื่อง เพราะเธอมีความฝันเดียวกับเราเลยค่ะ เธออยากเป็นนางในที่เขียนอักษรและหนังสือได้งดงาม นับเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่และน่าประทับใจทันทีที่ได้ยินเธอกล่าว... การจะเขียนตัวอักษรหรือหนังสือได้ดี เธอจะต้องอ่านหนังสือจำนวนมาก มิเช่นนั้นคงไม่สามารถเขียนออกมาได้ นอกจากเธอจะเป็น "นักอ่าน" "นักเขียน" แล้วในเรื่องเธอยังเป็น "นักเล่าเรื่อง" ที่ตรึงใจผู้ฟังให้อยากติดตามเรื่องต่อด้วย สกิลการอ่าน การเขียน การเล่าของต๊อกอิมจะนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญอะไรในเรื่อง แล้วเธอจะใช้มันฟันฝ่าอุปสรรคได้อย่างไร ขอหยุดเม้าถึงตรงนี้ ให้ผู้อ่านไปรับชมต่อในละคร...)
1
เกาหลีในสมัยก่อนมีเอกสารฉบับหนึ่งที่เขียนส่งต่อถึงลูกหลานของตัวเองเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นความลับหรือความไม่ยุติธรรมบางอย่าง เอกสารนี้เรียกว่า “คึมดึงจีซา” 금등지사(金縢之詞) คำว่า "คึมดึง" แปลว่าหีบเหล็ก หรือกล่องที่ปิดผนึกด้วยเหล็ก มีที่มาจาก…พระเจ้าโจวอู่แห่งราชวงศ์โจวของจีน(1046 BC – 256 BC) ที่กำลังป่วย โจวกงหวัง ผู้เป็นพระอนุชา ได้เขียนคำอวยพรถึงสวรรค์ใส่ลงไปในกล่องเหล็กว่าจะขอตายแทนพี่ชายตัวเอง ถัดมาเมื่อพระเจ้าโจวอู่สวรรคต พระเจ้าโจวเฉิง พระราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน ส่วนโจวกงหวังได้รับตำแหน่งอุปราช ทว่ากลับถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนวางยาพิษฆ่าพระเจ้าโจวอู่ โจวกงหวังจึงต้องลี้ภัยไปซ่อนตัว ภายหลังพระเจ้าโจวเฉิงไปเจอเอกสารที่ซ่อนอยู่ในกล่องเหล็ก ทำให้โจวกงหวังพ้นโทษ และกลายเป็นผู้บริสุทธิ์
1
Sungkyunkwan Scandal (2010)
ในนิยายหรือละครเกาหลีจึงมักหยิบ “คึมดึงจีซา” มาใช้เป็นพระราชหัตถเลขา (จดหมาย) ของพระเจ้ายองโจที่บอกเล่ารายละเอียดการสิ้นพระชนม์ของรัชทายาทซาโด เช่น ในเรื่อง Sungkyunkwan Scandal หรือบัณฑิตหน้าใส หัวใจว้าวุ่น ซึ่งออกอากาศในปี 2010 ถ้าเราจำกันได้ตัวเอกที่เป็นกลุ่มบัณฑิตทั้ง 4 คนต้องออกเดินทางตามหาคึมดึงจีซา ตามพระบรมราชโองการ (คำสั่ง) ของพระเจ้าชองโจ (อี-ซาน) พระราชโอรสของรัชทายาทซาโด เพื่อไขความลับบางอย่าง ในThe Red sleeve คึมดึงจีซาก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งผลต่อชะตากรรมของพระเอกอีซานของเราเหมือนกันค่ะ แล้วเอกสารฉบับนี้จะช่วยพระเอกให้รอดจากวิกฤตเหมือนกับโจวกงหวังหรือไม่ ต้องไปติดตามดูต่อเองในละครนะคะ ^^
ในทางประวัติศาสตร์ ผู้เขียนบทความยังไม่แน่ชัดว่าพระเจ้ายองโจ (ปู่ของอีซาน) ได้ทรงพระราชหัตถเลขาลับนี้ขึ้นมาจริงหรือไม่ และหากเขียนขึ้นมา พระเจ้ายองโจทรงเก็บซ่อนไว้ที่ใด ก็ยังไม่ทราบ ทีนี้มาดูกันว่านักเขียนบท The Red Sleeve คุณชองเฮรี ได้จินตนาการ สร้างที่ซ่อนของหนังสือลับนี้ไว้ที่ใด ต้องขอชมว่าเป็นไอเดียที่บรรเจิด และว้าวซ่า มาก ๆ เลยค่ะ
ขอบคุณภาพจาก VIU - The Red Sleeve ตอนที่ 11
(…เนื้อความในย่อหน้านี้มีสปอยล์เนื้อเรื่อง The Red sleeve EP11 เล็กน้อย แต่ไม่ใช่เนื้อหาส่วนสำคัญค่ะ และไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวม หรือตอนจบของเรื่องค่ะ…ใครที่ไม่เคยดูเรื่องนี้ ก็สามารถสวมบทนักสืบตามผู้เขียน มาอ่านเล่นๆ ได้นะคะ….) รหัสลับที่จะนำไปสู่ที่ซ่อนของคึมดึงจีซาซึ่งรัชทายาทซาโดทรงทิ้งไว้คือตัวอักษรจีน 3 ตัวได้แก่ 明 五 และ 峯 แปลว่า สว่างไสว ห้า และยอดเขา ตามลำดับ
….ต้องขอเล่าแทรกก่อนว่าในสมัยโชซอน ถึงแม้จะมีตัวอักษรฮันกึล (한글) หรือตัวอักษรเกาหลีที่ใช้ในปัจจุบันแล้วก็ตาม แต่ไม่นิยมใช้ เพราะถือว่าเป็นตัวอักษรของชาวบ้านและผู้หญิง ชนชั้นสูงส่วนใหญ่จะนิยมใช้ตัวอักษรจีน หรือที่เรียกว่า “ฮันจา” (한자, 漢字) จึงไม่แปลกที่นักเขียนบทจะวางคาแรคเตอร์ และสร้างให้ต๊อกอิมของเรานั้นเป็นนางในที่ฉลาดกว่าใครเพื่อน เพราะเธอสามารถอ่านตัวฮันจาได้
ขอบคุณภาพจาก VIU - The Red Sleeve EP11
ถ้าผู้อ่านที่ดู the red sleeve ใน VIU อาจจะงงซับไตเติล ในตอนต๊อกอิมหั่นตัวอักษร 明 ออกเป็น 日 月 แล้วขึ้นคำแปล “Day month” ในโหมดภาษาอังกฤษ และ “เดือน ปี” ในโหมดภาษาไทย ส่วนอีกสองตัวอักษรไม่ใช่ปัญหา เพราะ ในซับแปลว่า five / เบญจ และ peak / สิงขร (ภูเขา) แวบแรกที่ดูฉากนี้ บอกตรง ๆ ว่างงกับคำแปลมากค่ะ ต๊อกอิมเกต แต่นี่ไม่เกตตามเลย 555+ พอภาพไปตัดที่ท้องพระโรง ถึงได้บางอ้อตามต๊อกอิมค่ะ
日 และ 月 ถ้าจะให้แปลตามตัวฮันจาที่ยืมมาใช้ในภาษาเกาหลีจริง ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทในเนื้อเรื่อง ต้องแปลว่า “พระอาทิตย์” และ “พระจันทร์” ค่ะ ซับอังกฤษอาจจะอ่านดูเข้าเค้าที่สุดเพราะตัว 日(날, 일) มี 2 ความหมายคือ วัน และพระอาทิตย์ ส่วน 月(달,월) มีความหมายว่าพระจันทร์ (ภาษาไทยคำว่า "เดือน" เป็นคำพ้องความหมายของคำว่า "พระจันทร์")
เมื่อนำคำว่า พระอาทิตย์(日/일) พระจันทร์(月/월) ห้า(五/오) และยอดเขา (峰/봉우리) มาวางด้วยกันด๊อกอิมเลยนึกถึงอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากฉากพับภาพพระอาทิตย์ พระจันทร์ และยอดเขา 5 ลูก ในท้องพระโรง หรือที่เรียกในภาษาเกาหลีว่า 일월오봉도(日月五峰圖) “อิล-วอล-โอ-บง-โด” หรืออ่านแบบเชื่อมเสียงว่า “อิ-รวอ-โร-บง-โด” แปลตามตัวอักษรได้ว่าภาพวาด พระอาทิตย์ พระจันทร์ และยอดเขา 5 ลูกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ แสดงถึงธรรมชาติอันนิจนิรันดร์ที่คอยปกปักดูแลพระมหากษัตริย์ในสมัยโชซอน บ้างก็กล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเกียรติและอำนาจของกษัตริย์ ภาพวาดนี้นับเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของเกาหลีในยุคโชซอนที่ไม่มีปรากฏในประเทศอื่น
ขอบคุณภาพจากคลิป KOR PD's Pick: RE: gacy ep.4
ฉากพับดังกล่าวปรากฏในละคร ซีรีส์ย้อนยุค พีเรียดเกาหลียุคโชซอนเกือบทุกเรื่องที่มีตัวละครกษัตริย์โลดแล่น เช่น Kingdom (2019) หรือถ้าใครเคยไปเที่ยวพระราชวังคยองบก หรือที่คนไทยเรียกเคียงบก พระราชวังชังด๊อก พระราชวังชังกยองที่กรุงโซล แล้วมีโอกาสได้มองเข้าไปท้องพระโรงที่มีบัลลังก์ตั้งอยู่ก็จะเจอฉากพับที่ว่าค่ะ ฉากพับนี้จะถูกจัดวางทุกที่ที่กษัตริย์เสด็จไปพำนัก ไม่เว้นแม้แต่ตอนที่เสด็จประพาสนอกวัง และถูกสร้างให้เป็นตัวแทนของกษัตริย์ในงานศิลปะอีกด้วยค่ะ
ธนบัตรมูลค่า 10,000 วอนของเกาหลีใต้
ถ้าเราลองสังเกตบนธนบัตรมูลค่าหนึ่งหมื่นวอนของเกาหลี ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าเซจงมหาราช ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรฮันกึล เราก็จะพบ อิ-รวอ-โร-บง-โด อยู่ที่ด้านซ้ายของพระพักตร์
มีหนังสือเกาหลีเล่มหนึ่งกล่าวว่าภาพวาดเป็นหน้าต่างที่ฉายให้เห็นความคิดของผู้คน (Traditional painting: Window on the Korean Mind) ภาพอิล-วอล-โอ-บง-โด มีความคิดอะไรซ่อนอยู่ วันนี้ผู้เขียนจะมาชวนทุกคนเม้าสไตล์เกา(หลี) ไปด้วยกันค่ะ
แนวคิด “หยินหยางและธาตุทั้งห้า” 음양오행설(陰陽五行說)
ต้องเท้าความก่อนว่าเกาหลีเป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากจีนโดยตรง มีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงเรื่อยมา โดย “ลัทธิขงจื๊อ” เข้ามามีอิทธิพลทางความคิดในสังคม โดยเฉพาะระบบการปกครอง ฉากพับเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นอิทธิพลดังกล่าวผ่านแนวคิด “หยินหยางและธาตุทั้งห้า” 음양오행설 [อึม-ยา-โง- แฮง-ซอล] (陰陽五行說) มาไล่ดูทีละองค์ประกอบในภาพกันค่ะ
บัลลังก์ และฉากพับ อิ รวอ โร บง ที่พระราชวังคยองบก
  • 1.
    พระอาทิตย์บนท้องฟ้าทางขวามือ แสดงถึงกษัตริย์ (ผู้ชาย) ที่เป็นด้าน "หยาง" 양(陽) - ขั้วบวก
  • 2.
    พระจันทร์บนท้องฟ้าทางซ้ายมือ แสดงถึงพระราชินี (ผู้หญิง) ที่เป็นด้าน "หยิน" 음(陰) - ขั้วลบ
พระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นตัวแทนของพลังสองด้านที่ทำให้จักรวาลดำเนินไปด้วยพลังของตัวเองอย่างไม่หยุดพัก คล้ายกับตำแหน่งของกษัตริย์และพระราชินี อนึ่งการเลือกให้กษัตริย์นั่งบนบัลลังก์ที่มีฉากหลังในตำแหน่งระหว่างพระจันทร์กับพระอาทิตย์นั้น ในแนวคิดจักรวาลเชิงการเมืองอาจสื่อว่าพระองค์ทรงได้รับสิทธิธรรมและการคุ้มครองจากสวรรค์
เพดานบนท้องพระโรง พระราชวังคยองบก
หลักความสมดุลของหยิน-หยาง หรือการมีอยู่คู่กันของชาย-หญิง กลางวัน-กลางคืน ยังเห็นได้จากบนเพดานของท้องพระโรงพระราชวังคยองบก จะมีรูปสลักมังกรคู่อยู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนกษัตริย์และราชินีของโชซอนนั่นเอง...
ยอดเขา 5 ลูก
3. ยอดเขา 5 ลูกที่เป็นทิวทัศน์หลักของภาพ แสดงถึงธาตุและทิศทั้งห้าตามแนวคิด “หยินหยางและธาตุทั้งห้า” ดังนี้ ทิศตะวันออก (ธาตุไม้) ทิศตะวันตก (ธาตุเหล็ก) ทิศใต้ (ธาตุไฟ) ทิศเหนือ (ธาตุน้ำ) และทิศกลาง (ธาตุดิน) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทั้งสี่ทิศ เปรียบได้กับศูนย์กลางของสวรรค์และจักรวาลทั้งหมด
ขอเม้ามอยกรุบกริบเพิ่มนิดหนึ่งว่าทิศทั้งห้าตามความเชื่อของเอเชียตะวันออกนั้นมีสัตว์มงคลในตำนานประจำทิศสถิตอยู่ ถ้าให้เห็นภาพมากขึ้นเราจะพาไปดูเพดาน โค้งประตูทั้งสี่ทิศของพระราชวังคยองบกกันค่ะ
มังกรฟ้า (청룡)
ประตูทิศตะวันออก "คอนชุ่น" (건춘문) : มังกรฟ้า (청룡) สัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ คุณงามความดี ความสงบสุขของบ้านเมือง
พยัคฆ์ขาว (백호)
ประตูทิศตะวันตก "ยองชู่" (영추문) : พยัคฆ์ขาว (백호) สัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วง การรบและทหาร ราชาแห่งขุนเขาผู้ขับไล่ปีศาจร้าย ถ้าใครที่ดูละครเรื่อง Lover of the Red Sky จะจำได้ว่ามีตัวละครพยัคฆีสีขาวคอยออกมาช่วยเหลือ ปกป้องนางเอกจากพญามารตลอด ตัวนี้แหละค่ะ แต่ในเรื่องชื่อตัวละครโฮ-รยอง (호령) มาจากคำว่า 호령하다 [โฮ-รยอง-ฮา-ดา] แปลว่าแผดเสียงคำราม
ตัวละคร พยัคฆี (호령) ในเรื่อง Lover of the Red Sky
เพดานรูปวิหคเพลิงคู่ (주작) บนซุ้มประตูโค้งทางทิศใต้ (광화문) ของพระราชวังคยองบก อยู่ตรงข้ามกับจัตุรัสควางฮวามุน ถ้ารอบหน้าใครไปเที่ยวอย่าลืมแหงนดูกันนะคะ ^^
ประตูทิศใต้ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ และเป็นจัตุรัสสำคัญอยู่หน้าพระราชวังคยองบก "ควางฮวา" (광화문) : วิหคเพลิง (주작) สัญลักษณ์ของฤดูร้อน ความรอบรู้ และสิริมงคล
เต่าดำ (현무)
ประตูทิศเหนือ "ชินมู" (신무문) : เต่าดำ (현무) สัญลักษณ์ของฤดูหนาว อายุที่ยืนยาว และความศรัทธา
ยอดเขา 5 ลูก ยังอาจสื่อถึงภูเขาที่มีชื่อเสียงของเกาหลี(ในที่นี้หมายถึงเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้) ได้อีกด้วยค่ะ
ทิศกลาง สื่อถึงภูเขาพูคัน (북한산) ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านหลังพระราชวังคยองบกในกรุงโซล ในสมัยโชซอนใช้เป็นป้อมปราการทางธรรมชาติ ป้องกันการบุกรุกจากข้าศึกทางตอนเหนือของฮันยาง (한양) ชื่อในอดีตของกรุงโซล
ขอเม้าเพิ่มอีกนิดกับตำแหน่งฮวงจุ้ย (풍수) ของวังคยองบก (경복궁) เป็นฮวงจุ้ยที่ด้านหน้าเป็นแม่น้ำฮัน (한강) และด้านหลังเป็นภูเขาพูคัน (북한산) เราเรียกฮวงจุ้ยแบบนี้ว่า "แพ-ซา-นิม-ซู" 배산임수 (背山臨水) ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่หันหน้าเข้าหาน้ำและด้านหลังพิงภูเขา ต่างจากที่อาณาจักรอยุธยาของไทยในอดีตที่มีภูมิศาสตร์เป็นแม่น้ำล้อมเป็นเกาะ
ทิศตะวันออก : ภูเขาคึมกัง (금강산) ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดคังวอนโด ประเทศเกาหลีเหนือ เป็นภูเขาที่ว่ากันว่าเป็นจุดชมวิวใบไม้เปลี่ยนสีที่สวยที่สุด ถึงขนาดมีสำนวนที่ว่า "แม้ว่าจะเป็นภูเขาคึมซานก็ต้องชมหลังกินอาหาร" (금강산도 식후경이다) หรือที่คนไทยเรามีสำนวนว่า "กองทัพต้องเดินด้วยท้อง"
ทิศตะวันตก : ภูเขามโย-ฮยัง (묘향산) ตั้งอยู่ในจังหวัดพยองอันเหนือ ประเทศเกาหลีเหนือ
ทิศใต้ : ภูเขาชิรี (지리산) ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดช็อลลาใต้ ช็อลลาเหนือ และคย็องซังใต ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในปีนี้ก็มีละครเรื่อง Jirisan (2021) ที่ใช้ภูเขานี้เป็นฉากหลักในการดำเนินเรื่องอยู่ค่ะ
ละครเรื่อง Jirisan (2021) ซีรีส์แนวลึกลับ เรื่องราวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่พยายามช่วยชีวิตคนที่หายสาบสูญจากการปีนเขาชิรี
Kapook. (2561) เขาเพ็กตู ประเทศเกาหลีเหนือ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งทะเลสาบแห่งสรวงสวรรค์ https://travel.kapook.com/view192448.html
ทิศเหนือ : ภูเขาแพ็คดู (백두산) เป็นภูเขาไฟตั้งอยู่บนชายแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในคาบสมุทรเกาหลีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ชาวเกาหลีให้ความสำคัญกับภูเขาแพ็คดูในฐานะที่เป็นจิตวิญญาณของประเทศเลยค่ะ ถ้าได้เคยฟังเพลงชาติของเกาหลีใต้ (애국가) จะได้ยินท่อนเปิดเพลงว่า "ตราบทะเลบูรพาแห้งเหือดไป ขุนเขาแพ็คดูทลายสิ้น เทวาจักพิทักษ์แผ่นดินเรานิรันดร์" ส่วนที่เกาหลีเหนือยกให้เขาแพ็คดูเป็นถิ่นกำเนิดของอดีตผู้นำคิมจองอิล เปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของการปฏิวัติ ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือหลายรุ่นต้องมาเยือนที่นี่บ่อยครั้ง
กลับมาที่องค์ประกอบในภาพพระอาทิตย์ พระจันทร์ และยอดเขา 5 ลูกของเราต่อนะคะ... (ใกล้จะเม้าจบแล้ว ^^)
4. น้ำตกที่ไหลจากภูเขา 2 ฝั่งในภาพ แสดงถึงการปกครองโลกของกษัตริย์ด้วยหลักสมดุลของหยิน-หยาง หรือเป็นตัวแทนของคุณธรรม คุณงามความดีของกษัตริย์โชชอน
5. คลื่นน้ำที่ไหลคดไปมาหน้ายอดเขา 5 ลูก แสดงถึงท้องพระโรง หรือราชสำนัก เพราะเสียงของตัวฮันจา 潮 ที่แปลว่าน้ำทะเล ไปพ้องกับเสียง 朝 ที่แปลว่าท้องพระโรง คลื่นน้ำที่ไหลคดไปมายังอาจเปรียบได้กับเหล่าขุนนาง เสนาบดีที่เข้ามาประชุม หารือกิจการบ้านเมืองหน้าบัลลังก์กษัตริย์ในยุคโชซอนได้อีกด้วย
ภาพแสดงการประชุมในราชสำนักของขุนนางกับกษัตริย์ ขอบคุณภาพจาก VIU - The Red Sleeve EP.13
6. ต้นไม้สีออกแดง ที่อยู่ด้านหน้าสายน้ำ แสดงถึงต้นสน (소나무) ในบรรดาต้นสน สนแดง 적송(赤松) ถือเป็นต้นสนที่ศักดิ์สิทธิ์และล้ำค่า ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นสถานที่ของสรรพสิ่งบนโลก
พอจะเห็นภาพรวม และความหมายที่ลึกซึ้งฉากพับนี้แล้วใช่มั้ยคะ? ว่าทำไมละครซีรีส์ พีเรียด ย้อนยุคเกาหลีในยุคโชซอนที่มีฉากหลักในพระราชวัง มักจะปรากฏภาพวาด พระอาทิตย์ พระจันทร์ และยอดเขา 5 ลูกในที่ประทับของกษัตริย์เสมอ
ผู้เขียนขอจบBlog แบบแหวกขนบสปอยล์ ชวนเม้าสไตล์เกาตรงนี้ว่าให้ผู้อ่านและแฟน ๆ ละคร The red sleeve ไปคิดต่อว่าการที่พระเจ้ายองโจทำสัญญากับรัชทายาซาโดแล้วซ่อนเอกสารลับคึมดึงจีซาไว้ที่ฉากพับนี้ สื่อถึง และมีนัยต่อองค์รัชทายาท อีซาน พระเอกพิฝ่า(บาท) อย่างไร? ส่วนเนื้อหาในคิมดึงจีซาเขียนไว้ว่าอะไรนั้น หนังสือลับจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เรื่องเดินไปทางไหน ต้องไปติดตามดูต่อใน The Red sleeve ซับไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ทางแอปพลิเคชัน VIU ค่ะ
วันนี้ซอ ขอลาไปก่อน แล้วมาพบกันใน Ep.2 นะคะ อยากให้ซอเขียนเม้ามอยซีรีส์เรื่องไหน ประเด็นเกา ๆ อะไร คอมเมนต์ได้เลยค่ะ ฝากเพจที่เพิ่งเปิดตัวด้วยนะคะ
2022년 1월 2일 - 서지혜 쓴 글.
References
Special Thank to …. ไกด์ชาวเกาหลี (ลืมชื่อแล้ว ขออภัยด้วยค่ะ) และอีจีฮเย ซอนแซงนิมที่พาไปทัศนศึกษาพระราชวังคยองบก ช่วงฤดูร้อนในปี 2017 ความรู้ที่ทั้งสองคนบรรยายช่วยเติมเต็มเนื้อหาในบทความนี้มาก ๆ เลยค่ะ อยากย้อนกลับไปฟังบรรยายอีกครั้ง
ภาษาอังกฤษ
• Korea Public Diplomacy. (2021). KOR PD’s Pick: RE:gacy ep.4 | Explaining the Ilwolobongdo. [Video clip]. Facebook. https://fb.watch/agYlnWqGMH/
• Language Education Institute Seoul National University. (2016). Useful Chinese Characters for Learners of Korean. Darakwon.
• ShaoLan Hsueh. (2019). Chinese Everyday: The World of Chinese Character. Thame & Hudson.
ภาษาเกาหลี
• 금등지사. [n.d.] https://bit.ly/3EQH9yF
• 일월오봉도. [n.d.] https://bit.ly/3ELnyA7
• 연구위원 장선렬. (2009). 일월오봉도. https://bit.ly/3HjHhbQ
โฆษณา