2 ม.ค. 2022 เวลา 23:48 • ประวัติศาสตร์
🗡 โศกนาฏกรรมเบื้องหลังภาพ: การปิตุฆาตในตระกูลเชนชีแห่งโรม
ภาพวาดข้างล่างนี้มีชื่อว่า “Judith Beheading Holofernes” วาดโดยศิลปินผู้เลื่องชื่อคือคาราวัจจิโอ (Caravaggio) ซึ่งถ่ายทอดตอนหนึ่งในพระคัมภีร์ไบเบิลที่หญิงม่ายชาวยิวผู้งดงามนามว่า จูดิธ ทำให้นายพลชาวอัสซีเรียนที่กำลังจะทำลายล้างถิ่นฐานบ้านเกิดของนางหลงใหลในตัวนาง จนสามารถเข้าไปในที่พักของเขาแล้วมอมเหล้าเขาจนเมามาย และลงมือสังหารตัดหัวนายพลผู้นี้จนถึงแก่ความตาย
แรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้ของคาราวัจจิโอมาจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญอันโด่งดังและอื้อฉาวในตระกูลชั้นสูงของกรุงโรม คือการปิตุฆาตในตระกูลเชนชี ที่เขาได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานการลงโทษประหารชีวิตหญิงสาวผู้ลงมือสังหารบิดาของเธอ
และภาพที่เราเห็นเบื้องล่างนี้ ก็อาจเป็นจินตนาการที่คาราวัจจิโอนึกภาพเหตุการณ์นั้นแล้วนำมาถ่ายทอดผ่านภาพวาดอันเป็นเรื่องตอนหนึ่งในพระคัมภีร์ไบเบิล
ภาพวาดชื่อว่า Judith Beheading Holofernes วาดโดย Caravaggio เมื่อราวปี 1598–1599 หรืออาจจะเป็นปี 1602 ที่มา: Wikipedia
🗡 การปิตุฆาตแห่งกรุงโรม
ในปี 1598 เกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตของชนชั้นสูงที่อื้อฉาวจนสร้างความตกตะลึงให้แก่ชาวโรมขึ้น เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นขุนนางผู้หนึ่งนามว่า เคานท์ฟรานเชสโก เชนชี (Count Francesco Cenci)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่าท่านเคานท์เชนชีผู้นี้ตกมาจากระเบียงของปราสาทประจำตระกูลเชนชีที่ตั้งอยู่ริมชายเขา ซึ่งปราสาทแห่งนี้อยู่ในเขตหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อว่า ลา เปเตรลล่า เดล ซัลโต (La Petrella del Salto) ในตอนแรกก็ดูเหมือนว่าเป็นอุบัติเหตุธรรมดาทั่วไป
แต่เมื่อคนในหมู่บ้านลงไปเก็บร่างของท่านเคานท์เชนชีขึ้นมา ร่างของเขาเย็นเฉียบแข็งทื่อ ซึ่งแสดงว่าสิ้นลมหายใจนานแล้ว แถมต่อมาชาวบ้านสังเกตเห็นบาดแผลหลายแห่งทั้งบนใบหน้าและศีรษะ ซึ่งบาดแผลเหล่านี้ไม่มีทางเกิดจากการตกลงมาจากระเบียงอย่างแน่นอน
ในไม่ช้า ข่าวก็แพร่กระจายไปทั่วว่าสาเหตุที่ทำให้ท่านเคานท์เชนชีถึงแก่ความตายไม่ใช่อุบัติเหตุ และผู้ที่มีส่วนในการกระทำความผิดนี้ได้เปิดเผยความจริงซึ่งทำให้ชาวโรมรู้สึกสะเทือนขวัญยิ่งกว่าตอนได้รับข่าวการสิ้นชีพแบบปัจจุบันทันด่วนนี้ นั่นคือบุตรสาวของท่านเคานท์เชนชีที่มีนามว่า บีทริทเช เชนชี (Beatrice Cenci) เป็นผู้จัดการสังหารโดยร่วมสมคบคิดลงมือกับสมาชิกทั้งหมดในครอบครัวของท่านเคานท์เชนชี
ภาพวาดที่เชื่อกันว่าเป็นภาพเหมือนของบีทริทเช ที่มา: Wikipedia
🗡ตระกูลเชนชีแห่งโรม
เคานท์เชนชีมีบุตรธิดาทั้งหมด 7 คน ชาย 5 หญิง 2 บีทริทเชเป็นบุตรสาวคนเล็กสุดของเคานท์เชนชีที่ถือกำเนิดเมื่อปี 1577 ที่กรุงโรม อันเป็นช่วงเวลาที่นครแห่งนี้กำลังประสบกับความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ แต่ถึงกระนั้น สังคมของกรุงโรมในเวลานั้นกลับยังมิได้พัฒนาตามศิลปวิทยาการ ยังเป็นสังคมที่บุรุษเป็นใหญ่ในสังคม และมีอำนาจเหนือชีวิตสตรีที่เป็นภรรยาและบุตรสาว หญิงสาวจะต้องเชื่องและเชื่อฟังบิดาและสามี อีกทั้งยังเป็นสังคมที่ชนชั้นสูงมีอภิสิทธิ์เหนือคนธรรมดาทั่วไป
เคานท์เชนชีเป็นขุนนางมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมชั้นสูงเป็นท่านเคานท์ และเป็นทายาทผู้ได้รับมรดกของตระกูลเชนชีอันมหาศาล แต่ชาติกำเนิดอันสูงส่งนี้มิได้ทำให้เคานท์เชนชีมีพฤติกรรมสูงส่ง ตรงกันข้าม เขามีชื่อเสียไปในทางชั่วร้ายมาก เขามีภรรยาหลายคน ทั้งภรรยาตามกฎหมายและภรรยาน้อย มารดาของบีทริทเชเป็นภรรยาคนแรกชื่อว่าเออร์ซิเลีย ซานตาโครเซ (Ersilia Santacroce) ซึ่งเสียชีวิตตอนที่บีทริทเชยังเป็นเด็กมีอายุ 7 ขวบ พอมีภรรยาคนที่สองเขาก็มีภรรยาน้อยพร้อมกันไปด้วย
วีรกรรมอันอัปรีย์ของเคานท์เชนชียาวเหยียดเป็นหางว่าว เช่น
• เขาให้บรรดาหญิงรับใช้ของตนอดอาหารจนเกือบตายแต่หยุดการกระทำนี้เมื่อศาลของสำนักวาติกันสั่งให้เขาให้อาหารแก่หญิงรับใช้เหล่านี้
• เขามีภรรยาน้อยแล้วเฆี่ยนเธอจนกระทั่งเธอยอมทำท่าทางร่วมเพศแบบต่าง ๆ
• ในหลายครั้งหลายคราเขาได้ไปคุกคามทางเพศกับชายหนุ่มหลายคนจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอย่างน้อยก็ 3 ครั้ง
แต่ด้วยความที่เคานท์เชนชีเป็นขุนนางมีบรรดาศักดิ์ เขาจึงมิเคยได้รับการลงโทษรุนแรงแต่อย่างใด ในกรณีที่เขาปฏิบัติต่อภรรยาลับก็ถูกตัดสินเพียงว่าเป็นความชั่วทางเพศที่ผิดธรรมชาติเท่านั้น และในกรณีที่เขาลงมือก่ออาชญากรรมใด ๆ ที่ถ้าเป็นคนยากจนเป็นคนกระทำละก็จะถูกส่งตัวไปประหารชีวิตแล้ว แต่สำหรับเขานั้นเขาเพียงถูกสั่งให้จ่ายค่าปรับเท่านั้นเอง
พฤติกรรมอันชั่วร้ายนี้ยังเผื่อแผ่ไปถึงบุตรธิดาของเขาเองด้วย เคานท์เชนชีมีความผิดในข้อหากระทำการทารุณแก่บุตรและธิดาของตัวเองหลายรูปแบบ ทั้งทางร่างกายและทางเพศ แต่ศาลก็ตัดสินให้เขาพ้นผิดอยู่เป็นประจำเนื่องจากสถานะขุนนางที่เขามี
1
พอโตขึ้น บุตรธิดาของเคานท์เชนชีจึงพยายามหลบลี้หนีออกไปจากบิดาที่มีแต่ความโกรธเกรี้ยวและโหดร้ายผู้นี้ บุตรชายคนโตคือจิอาโคโม (Giacomo) ไม่แม้กระทั่งยอมรับว่าเคานท์เชนชีเป็นพ่อที่แม้จะมั่งคั่งร่ำรวยนี้และออกจากตระกูลไปอย่างไม่ใยดี ส่วนบุตรอีกสองคนดวลดาบจนบาดเจ็บและเสียชีวิต (ให้นึกถึงเรื่องโรมิโอกับจูเลียตที่ตระกูลของสองหนุ่มสาวนี้ทะเลาะเบาะแว้งกันและประลองดาบกันจนบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย)
สำหรับบุตรชาย การแยกออกไปจากครอบครัวเพื่อมีชีวิตที่เป็นอิสระเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่สำหรับบุตรสาวนั้นกลับเป็นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หญิงสาวในตระกูลที่มั่งคั่งจะต้อง(ถูกบังคับ)ให้แต่งงานกับชายที่บิดาเป็นผู้เลือกให้ ผู้หญิงในยุคนั้นมีอำนาจเพียงเล็กน้อยและชีวิตขึ้นอยู่กับความเมตตาปราณีของบุรุษผู้เป็นบิดาหรือพี่ชายและน้องชายหรือญาติที่เป็นลุงเป็นอา
ตึกที่เคยเป็นที่พำนักของตระกูลเชนชีในโรม ที่มา: RISD Global
🗡 สาเหตุแห่งการปิตุฆาต
อันโตนีนาเป็นพี่สาวของบีทริทเชที่พบวิธีหนีออกไปจากความโหดร้ายของบิดา คือทำการร้องเรียนต่อพระสันตะปาปาโดยตรง โดยร้องขอคำอนุญาตให้เธอสามารถแต่งงานได้โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากเคานท์เชนชีผู้เป็นบิดา ซึ่งหากไม่สำเร็จเธอมีแผนสำรองว่าจะบวชเข้าสำนักนางชีเพื่อที่จะหนีจากบิดาไปให้ได้ และเป็นโชคดีที่พระสันตะปาปาอนุญาต และยังสั่งให้เคานท์เชนชีจ่ายค่าสินสมรสด้วย
ในเวลานั้นหญิงชั้นสูงในยุโรปเวลาแต่งงานจะต้องมีสินสมรสติดตัวไปด้วย ซึ่งสินสมรสนี้จะตกเป็นของสามี ดังนั้นในตลาดหาคู่ของยุโรปสตรีที่มีสินสมรสติดตัวมากจะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
พอจ่ายค่าสินสอดสินสมรสแล้วเคานท์เชนชีเลยพาครอบครัวที่เหลือคือภรรยาคนที่สอง ลูกสาว และลูกชายคนเล็กชื่อว่าเบอร์นาร์โด (Bernardo) ย้ายไปให้ไกล ๆ จากกรุงโรม ไปให้พ้นจากสายตาสอดรู้สอดเห็นของผู้คน มิหนำซ้ำเขายังมีปัญหาเรื่องทำผิดกฎหมายที่งอกเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งไม่ต้องการให้บีทริทเชกระทำการตามรอยพี่สาวไปอีกคน เคานท์เชนชีโมโหโกธามากที่ต้องจ่ายค่าสินสมรสก้อนใหญ่ให้แก่ธิดาคนโตตามคำสั่งของสันตะปาปา ดังนั้นการออกไปไกล ๆ จากกรุงโรมจึงเป็นสิ่งที่เขาลงมือกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะเกิดซ้ำรอยเดิมนี้
หมู่บ้าน ลา เปเตรลล่า เดล ซัลโต (Petrella Salto) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโรมไปทางตอนเหนือประมาณ 60 ไมล์คือสถานที่ที่เคานท์เชนชีเลือก ตระกูลเชนชีมีปราสาทที่นั่นซึ่งรายล้อมไปด้วยทิวทัศน์อันงดงามของเทือกเขาอาบรุซซี (Abruzzi)
1
แต่ชีวิตที่ปราสาทนั้นมิได้งดงามดังตัวปราสาทตามที่เห็นภายนอก ในทางตรงกันข้าม ชีวิตของทั้งบีทริทเช พี่น้องผู้ชายที่เหลือ และมารดาเลี้ยงถูกปฏิบัติเฉกเช่นเป็นนักโทษถูกขังไว้ในปราสาท ดังนั้นบีทริทเชจึงติดกับอยู่ในปราสาทที่ห่างไกลไม่อาจหาวิธีหลบหนีไปจากความทารุณโหดร้ายไปได้ เธอเป็นเหมือนนักโทษเป็นหนูติดกับ และความไม่พอใจความโกรธแค้นที่ต้องประสบกับชีวิตเช่นนี้ก็รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
พอพาครอบครัวหนีห่างออกมาจากกรุงโรมเคานท์เชนชียิ่งทำตามอำเภอใจและปฏิบัติต่อบุตรสาวและภรรยาเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะในทางลามกอนาจาร เขาเป็นโรคหิด จึงบังคับให้บีทริทเชขูดขี้กลากขี้เกลื้อนออกจากตัวให้ตั้งแต่หัวจรดเท้า แม้กระทั่งในบริเวณอวัยวะเพศก็ตาม และบังคับให้ทั้งบีทริทเชและมารดาเลี้ยงของเธอต้องนอนร่วมเตียงเดียวกันกับเขาทั้งสองคน และสิ่งที่ตามมาคือเขาข่มขืนลูกสาวของตัวเองเป็นประจำ
1
แน่นอนว่าบีทริทเชย่อมทนกับสภาพเช่นนี้ไม่ได้ เธอจึงเขียนจดหมายไปหาพี่ชายที่กรุงโรมคนที่ออกจากตระกูลไปเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ แต่เคานท์เชนชีมาพบจดหมายเข้าจึงลงโทษลูกสาวอย่างโหดร้ายด้วยการเฆี่ยน เธอจึงร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อีกทางแต่ก็ได้รับเพียงความเพิกเฉยเนื่องจากสถานะของบิดาของเธอ
เมื่อเข้าตาจนและสุดจะทน เธอจึงเลือกทางออกคือความตาย แต่ความตายนี้มิใช่การจบชีวิตตัวเอง แต่บีทริทเชตัดสินใจเลือกหนทางหยิบยื่นความตายให้แก่บิดาของตน
หมู่บ้านลา เปเตรลล่า เดล ซัลโต บนยอดเขาจะมีซากปราสาทที่เรียกว่า La Rocca ของตระกูลเชนชีหลงเหลืออยู่ ที่มา: Wikipedia
🔪 ลงมือกระทำการปิตุฆาต
แต่คนที่ต้องการให้เคานท์เชนชีตายมิได้มีแต่เพียงเธอคนเดียว ทั้งมารดาเลี้ยง พี่ชายคนโต และน้องชายคนเล็ก ต่างก็ต้องการให้เคานท์เชนชีตายเช่นเดียวกัน ทั้งหมดจึงมาวางแผนสังหารเคานท์เชนชีร่วมกันโดยที่คนวางแผนหลักคือบีทริทเช เคานท์เชนชีจะได้ออกจากชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล
แต่การลงมือฆ่าต้องอาศัยผู้ชายที่มีกำลังวังชามาเป็นแนวร่วม เพราะตอนลงมือฆ่าคนรับใช้ต้องมาช่วยหัวหน้าครอบครัวอยู่แล้ว บีทริทเชจึงลงมืออ่อยชายรับใช้คนหนึ่งในปราสาทชื่อว่าโอลิมปิโอ กัลเวตติ จนเขาเป็นพรรคพวกของเธอ จากนั้นเธอจึงไปว่าจ้างผู้สมคบคิดอีกคนชื่อว่ามาร์ซิโอ (Marzio) ให้เป็นผู้ลงมือสังหาร เพราะหญิงสาวอายุ 21 ปีอย่างเธอไม่มีกำลังวังชามากพอที่จะไปลงมือปลิดชีพบิดาด้วยตัวเอง จึงต้องอาศัยชายหนุ่ม 2 คนนี้ลงมือให้เธอ และถ้ามีอะไรผิดพลาดขึ้นมา เช่น บิดาเธอหนีรอดจากการรุมฆ่าได้ เธอไม่ใช่คนที่ลงมือด้วยตัวเองก็จะสามารถหนีความผิดไปได้
เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากบีทริทเชได้รู้จักกับแม่ค้าแห่งความตายผู้ขายเครื่องสำอางผสมยาพิษอย่างกุยลิเอ โทฟานา (Giulia Tofana) การสังหารบิดาของเธอคงจะแนบเนียนกว่านี้ แถมไม่ต้องอาศัยแรงใครเลยด้วย (เรื่องราวของโทฟานากับเครื่องสำอางผสมยาพิษที่ช่วยให้สตรีในคาบสมุทรอิตาลียุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการได้รับอิสรภาพจากสามีผู้โหดร้าย โดยใช้วิธีการวางยาให้ตาย มีให้อ่านในซีรียส์เดียวกันนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ในลำดับที่ 3 ของซีรียส์)
และแล้ววันแห่งการรอคอยก็มาถึง วันที่ 11 กันยายน ปี 1598 ลูเครเชีย (Lucrezia) มารดาเลี้ยงเป็นผู้ลงมือส่งยานอนหลับให้เคานท์เชนชีดื่ม ส่วนโอลิมปิโอกับมาร์ซิโอก็แอบเข้าไปในห้องนอนของท่านเคานท์แล้วจับตัวเขาคว่ำลง จากนั้นก็ใช้ค้อนตอกเหล็กแหลมเข้าไปในศีรษะของเขาเพื่อฆ่าให้ตาย จับเขาแต่งตัว แล้วจับร่างเคานท์เชนชีโยนลงระเบียงไปเพื่อจัดฉากให้ดูเหมือนเป็นอุบัติเหตุ
ชายทั้งสองได้เก็บหลักฐานอย่างเครื่องมือที่ใช้สังหารไปด้วยเมื่อตอนที่หนีออกไปจากปราสาทหลังจากที่ลงมือเสร็จ แต่ด้วยความที่เป็นมือสังหารสมัครเล่นจึงลืมเก็บผ้าปูเตียงที่โชกไปด้วยเลือด ซึ่งแผนสังหารนี้ทำแบบสุกเอาเผากินดังนั้นเจ้าหน้าที่สอบสวนจึงรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็วว่าเคานท์เชนชีไม่ได้ตายเพราะตกจากระเบียงปราสาท เพราะแผลที่ใบหน้าและศีรษะกับผ้าปูเตียงเปื้อนเลือดเป็นตัวบ่งชี้ชั้นดีว่าเขาสิ้นลมหายใจก่อนที่จะตกระเบียงไป
ภาพพิมพ์ไม้แกะสลักแสดงเหตุการณ์ฆาตกรรมเคาท์เชนชี ภาพนี้ทำขึ้นราวปี 1850 ที่มา: Wellcome Collection
🗡 โทษของการปิตุฆาต
พอเจ้าหน้าที่สอบสวนพบหลักฐานเหล่านี้ สมาชิกตระกูลเชนชีจึงถูกตรวจสอบ
ทั้งบีทริเซ มารดาเลี้ยง พี่ชายคนโต และน้องชายคนเล็ก ต่างถูกจับกุมตัวและถูกส่งไปขังไว้ในคุกที่กรุงโรม รวมไปถึงโอลิมปิโอชายรับใช้ ส่วนมาร์ซิโอหลบหนีเข้าภูเขาแต่ถูกลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของเคานท์เชนชีไปตามล่าฆ่าตายได้สำเร็จ
ผู้ที่รับผิดชอบคดีนี้คือพระสันตะปาปา ซึ่งในเวลานั้นคือโป๊บคลีเมนต์ที่ 8 (Pope Clement VIII) ตามทัศนะของผู้นำทางศาสนาที่มีอำนาจทางการเมือง พระองค์เห็นว่าการตายของเคานท์เชนชีเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง และการปิตุฆาตครั้งนี้จะเป็นมูลเหตุที่เป็นตัวอย่างให้เกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นอีก ที่บุตรผู้ถูกกระทำจะเอาความโกรธแค้นไปลงที่บิดามารดาโดยตรง
มีการลงโทษคนในตระกูลเชนชีด้วยการทรมานทั้งครอบครัวรวมถึงผู้รับใช้ โอลิมปิโอถูกทรมานก่อนเพราะเป็นคนชั้นต่ำ ซึ่งเขาไม่ยอมรับสารภาพหรือโบ้ยไปที่บีทริทเซ สุดท้ายเขาก็สิ้นใจในระหว่างการทรมานเพื่อไต่สวน
จากนั้นก็เป็นคิวของคนอื่น ๆ ในตระกูลเชนชี ซึ่งทุกคนยอมรับสารภาพในระหว่างที่ถูกทรมานด้วยเครื่องดึงแขนขาหมดยกเว้นบีทริทเซคนเดียวที่ไม่ยอมรับสารภาพแม้จะถูกทรมานเช่นเดียวกัน ซึ่งคนอื่นต่างบอกตรงกันว่าบีทริทเชคือตัวการ ซึ่งเธอต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกกักขังอันเป็นระยะเวลายาวนานแถมยังถูกใช้เครื่องทรมานดึงแขนขาเจ็บแทบเจียนตาย แต่เธอไม่เคยปริปากสารภาพออกมา บางที ความเจ็บปวดทางร่างกายนี้อาจจะเทียบไม่ได้กับความเจ็บปวดที่เธอได้รับเป็นเวลานับยี่สิบปีจากการอยู่ภายใต้เงื้อมมือของบิดา
จนกระทั่งในปี 1599 พระสันตะปาปาก็ตัดสินให้ประหารชีวิตบีทริทเชด้วยข้อหาปิตุฆาต ซึ่งคดีนี้โด่งดังเรียกได้ว่าเป็นคดีแห่งศตวรรษ เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนทั่วกรุงโรมและต่างเป็นที่สนใจ ผู้คนต่างเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของบีทริทเช ซึ่งพอพระสันตะปาปามีคำตัดสินเช่นนี้ผู้คนในกรุงโรมจึงพากันประท้วง ออกมาตะโกนว่าบีทริทเชสมควรได้รับความเมตตา สมควรแล้วหรือที่เธอต้องถูกประหารจากเหตุที่ฆ่าบิดาที่กระทำทารุณต่อเธอ สมควรแล้วหรือที่เธอต้องถูกลงโทษเช่นนี้ในขณะที่ผ่านมาศาลวาติกันไม่ลงโทษอะไรเลยกับเคานท์เชนชีที่ก่อคดีโหดร้ายมามากมาย
การลงโทษประหารครอบครัวเชนชีจึงถูกเลื่อนออกไประยะหนึ่งเพราะเหตุประท้วง แต่เผด็จการอำนาจก็เป็นเผด็จการอำนาจอยู่วันยังค่ำไม่ว่าจะสวมชุดอะไร แม้กระทั่งชุดนักบวชก็ตาม และแม้ผู้คนทั่วกรุงโรมจะออกมาประท้วงต่อต้านคำตัดสินนี้ก็ตาม ท้ายที่สุด สมาชิกตระกูลเชนชีอันได้แก่บีทริทเช พี่ชายคนโต และมารดาเลี้ยง ถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนน้องชายคนเล็กยังเด็กมีอายุเพียง 12 ปีอยู่จึงรอดพ้นโทษประหารแต่ถูกตัดสินให้เป็นทาสใช้แรงงานอย่างหนักไปตลอดชีวิต
1
ภาพวาดพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 ที่มา: Wikipedia
🗡 วาระสุดท้าย
การลงโทษกระทำขึ้นที่ส่วนที่เป็นสะพานของตัวอาคารที่มีชื่อว่า คาสเทล ซานต์อันเจโล (Castel Sant’Angelo) ซึ่งในอดีตเคยเป็นสถานที่ที่จักรพรรดิโรมันใช้ประทับ แล้วต่อมาถูกใช้เป็นป้อมปราการและปราสาทสำหรับให้เหล่าพระสันตะปาปาพำนักอยู่
ทั้งสามคนถูกประหารชีวิตในวันเดียวกัน โดยที่น้องชายคนเล็กถูกบังคับให้ดูการลงโทษครั้งนี้ด้วย การประหารชีวิตสำหรับสองสาวตระกูลเชนชีใช้วิธีตัดคอโดยเพชฌฆาตใช้ขวานตัดคอ มารดาเลี้ยงเป็นคนแรกที่ถูกลงขวาน ซึ่งเธอกลัวจนเป็นลมสลบไปก่อนที่จะถูกตัดคอ ซึ่งคงเป็นความปราณีสุดท้ายที่เธอได้รับ คนต่อมาคือบีทริทเซผู้วางตัวสงบนิ่งไม่แสดงอาการใด ๆ จนได้รับคำชื่นชมถึงความกล้าหาญของเธอ มิหนำซ้ำผู้คนยังประทับใจในความงดงามของเธออีกด้วย
1
แต่พี่ชายคนโตถูกลงโทษด้วยวิธีที่โหดร้ายกว่าและตายอย่างทรมานกว่ามาก (เพศชายเวลาถูกประหารชีวิตจะโหดกว่าผู้หญิง) ศีรษะเขาถูกทุบ เขาถูกแยกร่างทั้งเป็นและร่างของเขาถูกลากโดยรถม้าไปตามถนนต่าง ๆ ในกรุงโรม
1
พอทั้ง 3 ถูกลงโทษครบแล้ว น้องคนเล็กถูกส่งตัวขึ้นเรือเพื่อเป็นทาสใช้แรงงานบนเรือตลอดชีวิต แต่ในปีถัดมาเขาก็ถูกปล่อยตัว
ร่างของบีทริทเชถูกนำไปฝังไว้ที่โบสถ์ที่มีชื่อว่า ซาน ปิเอโตร อิน มอนโตริโอ (San Pietro in Montorio) ซึ่งอยู่ในกรุงโรม แต่ร่องรอยหรือเครื่องหมายที่ระบุตำแหน่งหลุมฝังศพของเธอถูกทำลายไปในช่วงที่กองทัพฝรั่งเศสบุกเมื่อปี 1789
พระสันตะปาปาเล็งเห็นว่าการไว้ชีวิตบีทริทเชไม่เป็นผลดี เพราะอย่างแรกคือเธอจะกลายเป็นตัวอย่างให้คนอื่นทำตามที่ลงมือฆ่าพ่อของตน แล้วหากชาวโรมประท้วงและพระองค์ไว้ชีวิตเธอก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจลาจลต่อไปอีกหลายครั้งโดยที่ประชาชนจะไม่ยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์
การตัดสินลงโทษเช่นนี้ให้แต่ผลดีแก่พระสันตะปาปา โดยเฉพาะพอสิ้นไร้สมาชิกในตระกูลเชนชีแล้ว สมบัติมหาศาลทั้งหมดทุกชิ้นถูกยึดและนำไปแจกจ่ายให้แก่คนในครอบครัวของพระสันตะปาปากันถ้วนหน้า ซึ่งชาวโรมพากันลือว่านี่คือเหตุผลที่แท้จริงจึงทำให้พระองค์กำจัดครอบครัวนี้ให้สิ้นซากจะได้หาเรื่องฮุบสมบัติ
1
ภาพวาดบีทริทเชในขณะที่ถูกขังในคุก วาดโดย Achille Leonardi เมื่อปี 1866 ที่มา: Artnet.com
Castel Sant'Angelo ในยามค่ำคืน ที่ซึ่งเคยเป็นจุดประหารครอบครัวเชนชี ที่มา: Flickr
🗡 ส่งท้าย
1
ชีวิตของบีทริทเชกลายเป็นตำนาน รวมถึงตำนานในทางวิญญาณด้วย เล่ากันว่า ทุกปีในคืนก่อนที่จะถึงวันครบรอบการประหารชีวิตของเธอ วิญญาณของบีทริทเชจะมาปรากฏกายตรงตำแหน่งที่เธอถูกประหารพร้อมกับถือหัวของตัวเองไว้ในมือ ซึ่งเรื่องเล่านี้มัคคุเทศก์นำเที่ยวไม่พลาดที่จะเล่าเพื่อเพิ่มอรรถรสในการเยี่ยมชมสถานที่อันเป็นจุดประหารชีวิต
เรื่องราวของเธอถูกเล่าขานมาจนถึงปัจจุบันผ่านรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเรื่องเล่า งานเขียนที่เป็นวรรณกรรม เช่นนวนิยาย และบทกวี งานดนตรี งานศิลปะอย่างภาพวาดและรูปปั้นแกะสลัก หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์
ภาพวาดของคาราวัจจิโอก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่เขาเป็นหนึ่งในผู้คนที่ไปดูการประหาร ซึ่งภาพวาดนี้บอกใบ้ความรู้สึกของเขาต่อเหตุการณ์นี้ด้วย เพราะจูดิธลงมือสังหารนายพลอัสซีเรียนที่ใช้อำนาจและความรุนแรงต่อเธอและคนอื่น ๆ ฉันใดก็ฉันนั้น บีทริเชเองแม้จะผิดที่คิดฆ่าบิดาของตัวเองแต่เคานท์เชนชีก็สมควรได้รับสิ่งนี้
เรื่องราวของบีทริทเชเป็นแรงบันดาลใจให้มีงานประติมากรรมหรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ ที่มา: Wikipedia, Athena Film ตามลำดับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา