7 พ.ย. 2022 เวลา 01:10 • ประวัติศาสตร์
💀ซากกะโหลกมนุษย์ปริศนา ณ หลังบ้านของเซอร์เดวิด แอทเทนเบรอะ
1
จากความตั้งใจที่จะขยายสวนหลังบ้านให้เป็นที่พักพิงของสัตว์และพืช จนลงทุนซื้อพื้นที่บริเวณผับเก่าที่ถูกทิ้งร้างติดหลังบ้านในราคา 1 ล้านปอนด์ และนำมาซึ่งการพบกะโหลกมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับคดีฆาตกรรมให้อดีต
💀ข่าวการค้นพบกะโหลกมนุษย์
ในปี 2009 เซอร์เดวิด แอทเทนเบรอะ (Sir David Attenborough) นักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก มีความตั้งใจอยากจะขยายสวนหลังบ้านของเขาที่ตั้งอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของลอนดอนให้กว้างขวางขึ้น ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจซื้อที่ดินที่ติดกับหลังบ้านของเขา
ในช่วงปี 2010 เขาจ้างผู้รับเหมามาปรับปรุงพื้นที่ แต่แล้วก็เกิดสิ่งที่ทำให้เขาช็อกและสยดสยองขึ้น เมื่อคนงานขุดเจอซากกะโหลกมนุษย์ในที่ดินผืนนั้นโดยบังเอิญ เห็นได้ชัดว่าโครงกะโหลกชิ้นนี้ถูกฝังมาเป็นเวลานานมากแล้ว
เพื่อไขปริศนา กะโหลกชิ้นนี้จึงถูกส่งไปตรวจสอบอายุโดยวิธีการหาค่าคาร์บอน จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าของกะโหลกชิ้นนี้มีชีวิตอยู่ในราวระหว่างช่วงปี 1650-1880 อายุน่าจะอยู่ในช่วงวัย 50 ปี และดูเหมือนว่าน่าจะเป็นสตรีผิวขาวที่อยู่ในวัยช่วงหมดประจำเดือน แถมฟันยังหายไปอีกด้วย
สิ่งที่ช่วยจำกัดวงให้แคบลงคือตำแหน่งที่ค้นพบกะโหลกชิ้นนี้นั้นอยู่เหนือกระเบื้องในยุควิกตอเรีย สตรีผู้นี้มีชีวิตอยู่ในช่วงวิกตอเรียอย่างแน่นอน แต่ข้อมูลส่วนนี้ก็ยังให้ร่องรอยเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอที่จะทำให้ทราบว่าเจ้าของกะโหลกชิ้นนี้คือใคร
ทีมเจ้าหน้าที่สืบสวนใช้วิธีระบุตัวตนของเจ้าของกะโหลกนี้โดยใช้ร่องรอยจากข้อมูลประชากรและบันทึกคดีสอบสวนและพบว่า เจ้าของกะโหลกนี้น่าจะเป็นเหยื่อฆาตกรรมที่พบจุดจบสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปี 1879 เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพระบุสาเหตุของการตายว่าขาดอากาศหายใจและการบาดเจ็บที่ศีรษะ และยืนยันว่ากะโหลกชิ้นนี้คือ จูเลีย มาร์ธา โทมัส (Julia Martha Thomas)
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1800 สถานที่ตรงตำแหน่งนี้เคยเป็นผับที่ถูกทิ้งร้างไว้ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าหญิงที่ชื่อ เคท เว็บสเตอร์ (Kate Webster) นำหัวนายจ้างที่เธอตัดคอมาฝังซ่อนไว้ที่ผับร้างแห่งนี้
กะโหลกที่ถูกพบที่บริเวณพื้นที่ขยายบ้านของเซอร์เดวิด แอทเทนเบรอะ (ภาพ: BBC)
ภาพบ้านที่เคยเป็นสถานที่เกิดเหตุที่ยังมีอยู่ถึงทุกวันนี้ ด้านซ้ายคือส่วนที่คุณนายโทมัสเคยอยู่ ตรงกลางที่มีต้นไม้บังคือบ้านของเซอร์เดวิด แอทเทนเบรอะ และด้านขวาคือส่วนที่เคยเป็นผับที่กะโหลกถูกนำมาฝัง (ภาพ: Wikipedia)
💀ข่าวการพบชิ้นส่วนมนุษย์ในยุควิกตอเรีย
เช้าของวันที่ 5 มีนาคม ปี 1879 เวลาประมาณ 6.45 น. เฮนรี วิกลีย์ (Henry Wigley) ชายผู้มีอาชีพส่งถ่านหินประจำบ้านที่ลอนดอน มองเห็นกล่องลอยอยู่บนแม่น้ำเทมส์ ช่วงเวลานั้นกระแสน้ำลด จึงเห็นกล่องลอยโผล่พ้นน้ำมาครึ่งหนึ่งใกล้ ๆ แนวชายฝั่งแม่น้ำเทมส์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำที่ชื่อ Barnes Railway Bridge ตรงแถบริชมอนด์ (Richmond)
1
กล่องใบนี้น่าจะเป็นกล่องสำหรับใช้ใส่หมวกหรือหมวกที่สตรีสวมโดยมีริบบิ้นผูกไว้ใต้คาง วิกลีย์เตะมันขึ้นมา เขาพบว่ากล่องใบนี้มีอะไรอยู่ข้างใน มันหนัก เมื่อเปิดออกมาภายในมีบางสิ่งบางอย่างบรรจุอยู่ ซึ่งเขาให้ปากคำกับศาลในเวลาต่อมาว่ามันเหมือนกับ “เนื้อที่ถูกต้มแล้ว”
ห้าวันต่อมา คนรับใช้คนหนึ่งกำลังเริ่มต้นที่จะทำงานโดยโกยกองของเสียออกจากบ้านของนายจ้าง สถานที่ตรงนี้ห่างจากจุดที่พบกล่องประมาณ 7 กิโลเมตร เขาตั้งใจขุดอย่างต่อเนื่องและเข็นของเสียออกไป ในระหว่างที่ขุดเขาขุดไปโดนบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ข้างใน สิ่งที่เขาพบคือเท้าข้างหนึ่ง ถูกตัดออกมาตรงข้อเท้า และดูเหมือนว่าเพิ่งถูกตัดมาได้ไม่นานนัก
เรื่องราวการค้นพบชิ้นส่วนของมนุษย์กลายเป็นข่าวแพร่สะพัดไปทั่ว รายละเอียดอันน่าสยดสยองนี้กลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ และถูกเรียกว่าเป็น “คดีปริศนาที่บาร์นส์” หรือ “การฆาตกรรมที่ริชมอนด์” ตามชื่อสถานที่ที่มีการพบเศษชิ้นส่วนมนุษย์ และกลายเป็นหนึ่งในคดีที่เลวทรามที่สุดของยุควิกตอเรียอังกฤษ
เกิดคำถามตามมามากมาย เช่น “ชิ้นส่วนมนุษย์ที่ถูกพบนี้เป็นของคนคนเดียวกันหรือไม่” “ชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นของใคร” “เหยื่อถูกใครฆ่า และถูกฆ่าอย่างไร” เป็นต้น และในบรรดาชิ้นส่วนของศพที่ถูกพบนั้น ส่วนที่เป็นศีรษะหายไป
แทบไม่น่าเชื่อว่าในอีก 131 ปีต่อมา คดีนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวข่าวอีกครั้ง เมื่อมีการพบกะโหลกมนุษย์ในสวนของเซอร์เดวิด แอทเทนเบรอะ
บ้านของเซอร์เดวิด แอทเทนเบรอะ และอดีตผับที่ถูกทิ้งร้าง (ภาพ: Standard.co.uk)
ภาพริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ใต้สะพาน Barnes Railway Bridge (ภาพ: Wikipedia)
💀แม่บ้านมือสังหาร
ภายในเดือนเดียวกันกับที่พบชิ้นส่วนมนุษย์ เคท เว็บสเตอร์ถูกจับกุมตัวที่ไอร์แลนด์จากข้อหาสังหารโหดนายจ้างของตัวเองที่ชื่อจูเลีย มาร์ธา โทมัส
ในส่วนของฆาตกร เว็บสเตอร์มีพื้นเพเป็นหญิงสาวชาวไอริชอายุ 30 ปี ชื่อนามสกุลเดิมคือแคทเธอรีน ลอว์เลอร์ (Catherine Lawler) เธออ้างว่าเธอนั้นแต่งงานกับกัปตันเรือทะเลนามสกุลเว็บสเตอร์ และมีลูกด้วยกัน 4 คน แต่ทั้งลูกทั้งสามีเสียชีวิตไปหมดโดยแต่ละคนตายไปในเวลาใกล้เคียงกัน
เธอมีประวัติพูดโป้ปดมดเท็จและก่ออาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ มายาวนานแล้ว เธอจึงเข้า ๆ ออก ๆ คุกมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น แต่วีรกรรมที่ก่อในอดีตนั้นเล็กน้อยมากจนห่างไกลจากการก่อคดีฆาตกรรมที่จะทำให้เธอถูกตัดสินโทษด้วยการประหารชีวิต เพราะคดีที่เธอเคยก่อเป็นจำพวกลักขโมยและปล้นข้าวของ
เว็บสเตอร์เคยติดคุกทั้งที่บ้านเกิดและติดคุกเมื่อเดินทางมาอยู่ที่อังกฤษด้วย เมื่ออยู่อังกฤษ เธอใช้ชื่อปลอมสารพัดชื่อและมักแต่งเรื่องการเกิดโศกนาฏกรรมการตายต่าง ๆ ของคนในครอบครัวเพื่อเรียกความสงสารจากผู้คน
ที่อังกฤษเธอคลอดลูกชายมา 1 คน ซึ่งไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นพ่อ เพราะเธอบอกชื่อพ่อของลูกไม่ตรงกันสักครั้ง และในช่วงเวลาที่เธอเข้าคุกเพราะลักเล็กขโมยน้อย ก็จะมีเพื่อนที่มีอาชีพเป็นแม่บ้านรับจ้างทำความสะอาดบ้านแบบไม่ประจำคอยช่วยดูแลลูกชายให้
1
เว็บสเตอร์เข้ามาเป็นแม่บ้านของคุณนายโทมัสได้เพียง 2 เดือนก่อนที่จะก่อเหตุฆาตกรรม คุณนายโทมัสจ้างเธอเมื่อปลายเดือนมกราคม ปี 1879 ซึ่งคนแนะนำเธอให้ก็คือนายจ้างของเพื่อนที่ช่วยดูแลลูกของเธอซึ่งเป็นคนรู้จักของคุณนายโทมัส
แต่พอทำงานไปฝ่ายนายจ้างเห็นว่าเธอปราศจากทักษะในการเป็นแม่บ้าน มีนิสัยชอบดื่มเหล้า จึงแจ้งว่าจะเลิกจ้างเธอในเดือนต่อมาคือวันที่ 28 เดือนกุมภาพันธ์ แต่เว็บสเตอร์ขอร้องนายจ้างให้เธออยู่ในบ้านต่อไปอีกสัก 2-3 วันจนถึงวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งคุณนายโทมัสก็ตกลงยินยอม
โฉมหน้าเคท เว็บสเตอร์ มือฆาตกรฆ่าหั่นศพแห่งยุควิกตอเรีย (ภาพ: Wikipedia)
💀 นายจ้างเหยื่อสังหาร
คุณนายโทมัสเป็นอดีตครู และเป็นแม่ม่ายสามีตาย นางผ่านการแต่งงานมา 2 ครั้ง สามีคนที่สองของนางเสียชีวิตเมื่อปี 1873 นางจึงอาศัยอยู่ที่บ้านคนเดียวในแถบริชมอนด์ที่อยู่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของลอนดอน
นางเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง จึงไม่จัดว่าเป็นคนร่ำรวย แต่นางชอบแต่งตัวและสวมเครื่องประดับเพื่อแสดงฐานะว่าร่ำรวย อีกทั้งยังนิยมจ้างคนรับใช้แบบมาอาศัยอยู่ด้วยแบบประจำ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะแสดงฐานะว่ามั่งคั่ง
คุณนายโทมัสขึ้นชื่อเรื่องการเป็นนายจ้างที่โหดร้าย นางผ่านการจ้างหญิงรับใช้มาเป็นจำนวนหลายครั้ง แต่ละคนอยู่กับนางได้ไม่นาน นางมีนิสัยที่อารมณ์ “ขึ้น” ได้ง่าย และเพื่อนบ้านบอกว่าเธอเป็นคนประหลาด นางชอบเดินทางอยู่บ่อย ๆ และหายไปเป็นหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนโดยที่เพื่อน ๆ และญาติ ๆ ไม่รู้ว่า ณ เวลานั้นนางอยู่แห่งหนไหน
นางได้ว่าจ้างให้เว็บสเตอร์มาเป็นหญิงรับใช้แทนที่คนเก่าในปลายเดือนมกราคม ปี 1879 ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นไปได้ไม่ดี เว็บสเตอร์ไม่พอใจนายจ้างของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ
ฝ่ายเว็บสเตอร์หญิงรับใช้ให้การว่าในตอนแรกนึกว่านายจ้างจะเป็นหญิงมีอายุที่จิตใจดี แต่พอทำงานไปแล้วพบว่านางเป็นคนที่น่ารำคาญจนสุดจะทนทาน นางทำหลายอย่างเพื่อรบกวนเธอเวลาทำงาน พอเธอเสร็จงานในการทำความสะอาดห้องต่าง ๆ แล้วนางจะไปดูที่ห้องเหล่านั้นแล้วพูดว่ามีจุดต่าง ๆ หลายที่ที่เธอยังไม่ได้ทำความสะอาด
ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจึงตึงเครียด ตัวคุณนายโทมัสก็ไม่ชอบอยู่ตามลำพังกับหญิงรับใช้อย่างเว็บสเตอร์ นางพยายามชวนเพื่อนฝูงให้มาพักกับนางอยู่ตลอด สุดท้ายจึงนำมาซึ่งการยุติการจ้างงานทั้ง ๆ ที่เพิ่งจ้างได้เพียงเดือนเดียว
ภาพมือสังหารและเหยื่อสังหาร จากการรายงานข่าวของ Illustrated Police News (ภาพ: Wikipedia)
💀เหตุการณ์สังหาร
ในวันที่การจ้างงานสิ้นสุดลงเป็นวันอาทิตย์ ในช่วงบ่ายเว็บสเตอร์ได้หยุดครึ่งวันจึงออกไปดื่มที่ผับแถวนั้นไม่ไกลจากบ้านนายจ้าง และต้องกลับบ้านมาช่วยคุณนายโทมัสเตรียมตัวไปโบสถ์ช่วงค่ำ แต่เธอมาช้าไม่ตรงเวลาเกินไป จึงทำให้คุณนายโทมัสไปโบสถ์สายและรู้สึกหัวเสียมาก ซึ่งนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาวบ้านจะได้พบนางแบบที่ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อคุณนายกลับเข้าบ้านมาจากโบสถ์ นางเดินขึ้นบันใดไป เว็บสเตอร์ตามนายจ้างขึ้นไปชั้นบน จากนั้นทั้งคู่ก็ทะเลาะมีปากเสียงกัน เว็บสเตอร์เกิดอารมณ์เดือดดาลจนบันดาลโทสะผลักคุณนายโทมัสให้ตกบันใดจากชั้นบนสุดจนหล่นลงไปถึงพื้นชั้นล่าง คุณนายโทมัสหล่นลงจากบันใดเสียงดังหนักมากและบาดเจ็บ แต่คุณนายโทมัสยังไม่เสียชีวิต เว็บสเตอร์รู้สึกตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงสูญเสียสติและการควบคุมตัวเอง
เพื่อปิดปากคุณนายโทมัสให้สนิทไม่ให้กรีดร้องและเอาเรื่องเธอในภายหลัง เว็บสเตอร์จึงบีบคอนายจ้าง คุณนายโทมัสพยายามต่อสู้ในขณะเดียวกับที่สำลักขาดอากาศหายใจไม่ออก เว็บสเตอร์โยนคุณนายโทมัสไปที่พื้น เพื่อนบ้านที่อยู่อาคารติดกันได้ยินเสียงดังตึงตังแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจเพราะไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องอะไร
เพื่อทำลายหลักฐาน จากนั้นเว็บสเตอร์ก็ชำแหละร่างนายจ้างแยกเป็นชิ้นส่วน เว็บสเตอร์นำร่างที่แยกชิ้นส่วนนี้มาใส่ในหม้อซักผ้าทองแดง แล้วลงมือต้มส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคุณนายโทมัสเพื่อไม่ให้ใครรู้ตัวตนศพ เธอนำส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไปทิ้งไว้หลายที่ แต่ชิ้นส่วนที่เป็นลำตัวส่วนใหญ่แล้วเธอนำไปโยนทิ้งลงแม่น้ำเทมส์ ซึ่งจะถูกพบในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา
1
แต่ส่วนศีรษะของคุณนายโทมัสบรรจุใส่ภาชนะหรือกล่องใด ๆ เพื่อลอบนำไปทิ้งไม่ได้ เว็บสเตอร์จึงนำส่วนนี้ไปฝังไว้ที่ผับที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านคุณนายโทมัส
ลักษณะหม้อต้มแบบเดียวกับที่เว็บสเตอร์ใช้ต้มชิ้นส่วนร่างของคุณนายโทมัส (ภาพ: Wikipedia)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นคำสารภาพจากปากของเว็บสเตอร์เอง และจากการชันสูตรกะโหลกในอีกร้อยกว่าปีต่อมา เจ้าหน้าที่สืบสวนระบุว่าเว็บสเตอร์ใช้มีดโกนและใช้เลื่อยเพื่อตัดหัว และใช้มีดชำแหละร่างคุณนายโทมัสเพื่อแยกส่วน
แต่ที่สยดสยองไปกว่านั้น คือในระหว่างการดำเนินคดีที่ศาลมีการกล่าวหาว่าเว็บสเตอร์เร่เอาไขมันจากร่างคุณนายโทมัสไปขายให้เพื่อนบ้านด้วย โดยอ้างว่าเป็นมันหมู และนำน้ำจากหม้อต้มเนื้อคุณนายโทมัสนี้ไปให้เด็กตามถนนกินด้วย แต่คำกล่าวหานี้ค่อนไปทางไม่ใช่ เพราะไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่
หลายสัปดาห์ต่อมาภายหลังจากสังหารนายจ้างของตัวเอง เว็บสเตอร์ก็สวมรอยปลอมตัวเป็นคุณนายโทมัสกับคนที่เธอไปติดต่อซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่าเจ้าของบ้านตัวจริงตายแล้ว และในขณะเดียวกันนั้นก็อาศัยอยู่ในบ้านนายจ้างเพื่อพยายามกำจัดศพ และเพื่อนบ้านก็ได้กลิ่นเหม็น
เธอขโมยทั้งเงิน เสื้อผ้า เครื่องประดับ และแม้กระทั่งฟันปลอมของนายจ้าง (ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมกะโหลกที่พบในอีกร้อยกว่าปีต่อมาไม่มีฟัน) นอกจากนี้เธอยังนำข้าวของในบ้านไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือนและเสื้อผ้าไปขายให้กับเจ้าของผับ เพื่อนบ้านใกล้เคียงเห็นรถม้าเทียวมาขนข้าวขนของกลับไปกลับมาและไม่เห็นเงาเจ้าของบ้านก็รู้สึกกังวลสงสัยมากขึ้น
หญิงที่เป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเพื่อนบ้านจึงได้มาสอบถามเว็บสเตอร์หญิงรับใช้ว่านายจ้างไปไหนและทำไมมีการเคลื่อนย้ายข้าวของ แต่เธอไม่ได้ให้คำตอบใด ๆ นอกจากมีท่าทางกระสับกระส่ายลุกลี้ลุกลน สีหน้าชักเกร็ง และแทบจะไม่ยอมพูดอะไรด้วย
จนกระทั่งความสงสัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อนบ้านจึงถามชายที่มาขนข้าวของไปโดยเขาบอกว่าเขาซื้อมาจากคุณนายโทมัสโดยชี้ไปที่เว็บสเตอร์ เมื่อเห็นว่าความแตกเธอจึงหอบลูกชายหนีไปไอร์แลนด์ และหนีไปหลบที่บ้านลุง
1
ตำรวจมาตรวจสอบดูบ้านคุณนายโทมัสจึงพบว่ามีคราบเลือดบนผนัง กระดูกที่เผาไหม้จนดำ และกองไขมันสะสมอยู่ใต้หม้อซักผ้าทองแดง พร้อมกับพบด้ามจับที่เข้ากันพอดิบพอดีกับส่วนที่หายไปจากด้ามเปิดกล่องที่บรรจุเนื้อที่พบในแม่น้ำเทมส์
ที่พำนักของจูเลีย มาร์ธา โทมัส ส่วนที่นางอาศัยอยู่เป็นด้านซ้ายมือส่วนที่สอง (ภาพ: Wikipedia)
💀จุดจบมือสังหาร
เว็บสเตอร์ถูกจับตัวได้ที่บ้านเกิดของตัวเองที่ไอร์แลนด์ และถูกส่งตัวกลับลอนดอนท่ามกลางสื่อที่กระหน่ำรายงานข่าว ทั้งประวัติอาชญากรรมในอดีตของเธอ ความคิดของคณะลูกขุน ไปจนคำตัดสินความผิดและโทษประหารชีวิต
การไต่สวนใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน มีสื่อรายงานว่าผู้พิพากษาถามเว็บสเตอร์ว่ามีอะไรจะพูดไหมเกี่ยวกับคำตัดสิน เธอตอบว่าเธอไม่ได้ทำผิด เธอไม่ได้ฆ่า และไม่เคยฆ่าใคร อีกทั้งยังโบ้ยความผิดให้กับคนอื่น เช่น พ่อของลูกว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิด เจ้าของผับที่มารับซื้อข้าวของ หรือแม้กระทั่งชายผู้ไม่รู้เรื่องรู้ราวที่มาช่วยเธอลากกระเป๋าที่บรรจุชิ้นส่วนร่างคุณนายโทมัส และเพื่อถ่วงเวลาโทษประหารในวินาทีสุดท้าย เธออ้างว่าเธอนั้นตั้งท้อง แต่ถูกตัดสินว่าไม่เป็นความจริง
ลูกชายของเธอไม่มีญาติคนใดรับไปอยู่ด้วย ทางการจึงเข้ามาดูแลโดยนำตัวไปอยู่ที่สถานพักพิงเด็กไม่มีบ้านและทำงานแลกที่พักและอาหาร
สุดท้ายเธอรับสารภาพทั้งหมดในก่อนวาระสุดท้ายมาถึงต่อหน้านักบวช และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเมื่อเช้าวันอังคารเวลา 9 โมงของวันที่ 29 กรกฎาคม ปี 1879 ที่เรือนจำวานด์สเวิร์ธ (Wandsworth Prison) ซึ่งเธอเป็นคนที่สองที่ถูกตัดสินประหารชีวิตที่นั่น ในเวลานั้นการที่ผู้หญิงถูกประหารชีวิตนั้นหายากมาก แต่ความผิดของเธอเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายมาก ศพของเธอถูกนำไปฝังไว้ที่หลุมฝังศพที่ไม่มีป้ายระบุในบริเวณเรือนจำ
ผู้คนให้ความสนใจคดีนี้มาก ทั้งแห่แหนมาดูเว็บสเตอร์ทั้งตอนที่ถูกคุมตัวกลับลอนดอน ตอนถูกไต่สวน และตอนถูกแขวนคอ แม้กระทั่งเจ้าชายรัชทายาทของสวีเดนในตอนนั้นยังเสด็จมาทอดพระเนตรการไต่สวน แม้กระทั่งหลังจากฆาตกรโดนแขวนคอไปแล้ว บ้านคุณนายโทมัสกลายเป็นที่ที่คนแห่แหนมาดู และเด็ดกิ่งไม้หรือแม้กระทั่งเก็บก้อนกรวดกลับไปเป็นที่ระลึก มาดามทุสโซ่ก็ปั้นหุ่นขึ้ผึ้งของเว็บสเตอร์มาจัดแสดงร่วมกับฆาตรกรคนอื่น ๆ
ส่วนข้าวของของคุณนายโทมัสก็ถูกนำออกมาขาย แม้กระทั่งหม้อต้มที่ใช้ต้มร่างของนางก็ยังขายได้ในราคา 5 ชิลลิ่ง รวมไปถึงมีดที่ใช้หั่นร่างของนางก็ถูกรับซื้อไปด้วย แต่บ้านส่วนของคุณนายโทมัสอยู่ไม่มีใครมาอาศัยอยู่ต่อ
แต่เรื่องราวของเธอไม่ได้ยุติแค่นั้น ในอีกร้อยกว่าปีต่อมาคดีสังหารของเธอก็กลายเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อคนงานที่มาปรับปรุงพื้นที่ส่วนหลังบ้านของเซอร์เดวิด แอทเทนเบรอะ และทำการขุดพื้นที่ที่เคยเป็นผับสังเกตเห็นวัตถุที่กลม ๆ สีดำ ซึ่งก็คือกะโหลกของมนุษย์
ผู้สืบสวนหวังว่าจะทำพิธีฝังคุณนายโทมัสให้สมบูรณ์ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีบันทึกใดที่ระบุว่าได้นำซากศพของนางไปไว้ที่ใด และไม่มีการระบุชื่อญาติโกโหติกาคนใดของนาง
สุดท้าย กะโหลกของคุณนายโทมัสถูกไปฝังไว้ในหลุมฝังศพที่ไม่ระบุที่ฝัง ที่สุสานริชมอนด์ (Richmond Cemetery)
ภาพวาดข่าวรายงานประหารชีวิตเคท เว็บสเตอร์ (ภาพ: Wikipedia)
เรือนจำวานด์สเวิร์ธ สถานที่ประหารชีวิตเคท เว็บสเตอร์ (ภาพ: Wikipedia)
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา