3 ม.ค. 2022 เวลา 11:30 • สุขภาพ
“ความรักและความคาดหวัง”
ความรัก “เกื้อกูล” ความคาดหวัง “ก้าวก่าย”
ประโยคในภาพประกอบบทความนี้
ผมดัดแปลงมาจากอาจารย์ของผมอีกทีครับ
ซึ่งท่านได้พูดเอาไว้ในการบรรยายว่า
“ความรัก คือ การเกื้อกูลไม่ก้าวก่าย”
สั้น ๆ ง่าย ๆ และมีความหมายลึกซึ้งอย่างยิ่งครับ
เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มก้าวก่ายหรือล้ำเส้นใครสักคน
นั่นย่อมแปลว่า
“ใจของเราถูกครอบงำด้วยความคาดหวังเสียแล้ว”
ส่วนเราจะขัดเกลาตนเองอย่างไร
ให้รักมากขึ้น และคาดหวังน้อยลง
ผมขอชวนทุกท่านมาเรียนรู้ไปด้วยกันครับ ^^
“ความรัก กับ ความคาดหวัง”
ทั้งสองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
มิหนำซ้ำยังเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้อีกด้วย
แต่บางครั้งคนเรากลับเข้าใจผิด
จนเผลอเอาความคาดหวังมาใช้แทนความรัก
(เนื้อในคือความคาดหวัง
ที่หุ้มเปลือกด้วยคำว่า ความรัก)
“ความคาดหวัง”
มักตั้งต้นด้วยข้อสรุปบางอย่างที่ตายตัว
แล้วยังเสริมมาด้วยการประเมินตัดสิน
การเหยียดหยาม การก้าวก่าย
การควบคุมบงการ และบีบคั้นบังคับ
(ผ่านคำว่า ต้อง-ควร-น่าจะ)
ซึ่งถ้าเปรียบความคาดหวังเป็นอาวุธ
เจ้าศาสตราวุธชนิดนี้สามารถทิ่มแทงได้ทั้งตนเองและผู้อื่น
“คาดหวังในตนเอง บีบคั้นตนเอง
คาดหวังในผู้อื่น บีบคั้นผู้อื่น”
ยิ่งในชนิดที่แนบเนียน
มันก็ชอบพ่วงเงื่อนไข/คำขอร้องมาด้วย
เช่น
-ฉันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ฉันจะได้เป็นคนที่เก่งซะที
(ฉันต้องไม่ผิดพลาด ฉันต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ ถึงจะเรียกว่าเก่ง)
-ลูกต้องเป็นข้าราชการให้ได้นะ ลูกจะได้สบาย/พ่อแม่จะได้หมดห่วง
(ลูกที่ดีต้องไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง)
-พวกเอ็งเป็นลูกน้องมีอะไรก็ควรเก็บไว้ในใจ อย่าไปพูดให้เจ้านายเค้าได้ยิน
(เจ้านายถูกเสมอ/ห้ามทำให้เจ้านายเสียหน้า)
เป็นต้น
หากเรามองความคาดหวังอย่างผิวเผิน
มันคล้ายกับว่า
-เป็นสิ่งกระตุ้น/เป็นแรงผลักดันที่น่าสนับสนุน
-เป็นเป้าหมาย/เป็นแผนการที่ดีงาม
-เป็นการปกป้อง/เป็นความห่วงใยที่บริสุทธิ์ใจ
-เป็นสิ่งที่ดีที่สุด/เป็นสิ่งที่พึงกระทำที่สุด
(เมื่อคาดหวังแล้ว ต้องทำให้ได้อย่างที่คาดหวัง)
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ความคาดหวังมักลืมเลือนที่สุด ก็คือ
“ลืมนึกถึงชีวิตจิตใจของคนที่มันคาดหวัง”
เจ้าความคาดหวังนี้เอง
จึงชอบยัดเยียดบางสิ่งให้ตนเอง-ผู้อื่น-สิ่งรอบตัว
“ยัดเยียดให้อย่างไม่ยั้งคิด”
(คาดหวังไว้ก่อน เหมาะมั๊ยไม่รู้ 555)
ผลที่ตามมาก็คือ
ผู้ที่ถูกจองจำไว้ในความคาดหวัง
กลับต้องแบกรับแรงกดดันอันมหาศาลนี้ไว้
(ยิ่งแบกยิ่งรู้สึกไร้อิสระ และยิ่งสูญเสียความสุขไปทีละน้อย)
“ความคาดหวังนั้นลงมืออย่างไร้ไมตรี”
มันจึงเป็นภาวะที่โหดเหี้ยมอำมหิต
ซึ่งชื่นชอบการทำลายอิสรภาพ และบั่นทอนความสุข
“ชอบกดดันตนเอง ผู้อื่น และสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ดั่งใจ”
มันไม่ค่อยยอมรับในสิ่งที่อยู่นอกเหนือแผนการ
แล้วมันยังปฏิเสธความจริงที่ไม่ตรงกับใจ
“ใจที่คาดหวังจึงคับแคบ ขุ่นมัว และก้าวก่าย”
ทั้งหมดนี้คืออานุภาพของความคาดหวัง
ที่เชือดเฉือนหัวใจมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย
“ความรัก” มีอานุภาพอย่างไร ?
รักนั้นเป็นภาวะที่เอื้อเฟื้อให้ใจของเราเกิดพื้นที่ว่าง
โดยความว่างอันไร้ขอบเขตที่เกิดขึ้นนั้น
ยังประกอบไปด้วยสมรรถนะพิเศษชนิดหนึ่ง
ซึ่งสามารถต้อนรับความเป็นจริงของชีวิตทุกรูปแบบ
(ไม่ปฏิเสธในสิ่งที่เข้ามา-ไม่ฉุดรั้งในสิ่งที่จำต้องจากไป)
เมื่อใจของเรา
เกิดเป็นพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลเช่นนี้ขึ้นแล้ว
เราย่อมสามารถสังเกตสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างเอาใจใส่
และเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นอย่างตรงตามความจริง
(ทั้งเข้าใจตนเอง/ผู้อื่น/สิ่งอื่น/เหตุการณ์)
ความเข้าใจอันลึกซึ้งที่เกิดขึ้น ย่อมช่วยให้เรารู้ว่า
-จะปรับตัวอย่างไรให้สมดุล
-จะดูแลผู้คนและสิ่งที่อยู่เคียงข้างอย่างไรให้พอดี
-จะทำงานอย่างไรให้ผลงานออกมางอกงามและลุล่วง
เป็นต้น
กล่าวคือ
“เมื่อใจเรามีความรัก ใจเราย่อมมีพื้นที่ว่าง”
สำหรับปรับเปลี่ยนแผนการชีวิต
ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง
เช่น
-ใครสักคนที่ทำผิดพลาด แล้วไม่ตัดสินซ้ำเติมตัวเอง
(คนเราถึงแม้จะผิดพลาด ก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้)
-พ่อแม่ที่ให้อิสระกับลูก ในการเลือกอนาคตของตัวเอง
(ลูกมีวิถีชีวิตและเส้นทางของตัวเอง)
-เจ้านายที่ยินดีรับฟังลูกน้อง เพื่อรับรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่เคยรู้
(เจ้านายกับลูกน้องล้วนเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน)
“ความรักนั้นพร้อมเข้าใจ ให้อิสระ และยินดีเกื้อกูล”
“ความรักและความคาดหวัง”
ล้วนสอนให้เรารู้ว่า
-พึงเข้าใจ มิใช่ตัดสิน
-ให้เกื้อกูล มิใช่ก้าวก่าย
-มอบอิสรภาพ มิใช่ควบคุมบงการ
“ความรัก ทำให้ใจกว้างขวาง
ความคาดหวัง ทำให้ใจคับแคบ” ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา