7 ธ.ค. 2021 เวลา 11:56 • สุขภาพ
“การดูแลจังหวะชีวิตให้พอดี”
รับโดยไม่รุก “เปราะบางเกินไป” รุกโดยไม่รับ “แข็งกร้าวเกินไป”
ประโยคในภาพประกอบบทความนี้
ผมได้มาจากนิยายกำลังภายใน
เรื่อง “ธวัชล้ำฟ้า”
ซึ่งผู้เขียนคือ โก้วเล้ง
และแปลโดย น.นพรัตน์
ผู้ที่กล่าวประโยคนี้ในเรื่อง
กำลังแอบบอกเคล็ดลับ “ปรัชญาการต่อสู้”
ให้กับตัวละครเอกของเรื่อง ซึ่งกำลังถูกรุมและตกเป็นฝ่ายตั้งรับ
โดยปรัชญาดังกล่าวสื่อความว่า
-หากตั้งรับเพียงอย่างเดียว ย่อมเปราะบางเกินไป
(ถ้าเอาแต่ตั้งรับ ระวังจะโดนจู่โจมจนไม่มีทางตอบโต้ และแพ้ไป)
-หากจู่โจมเพียงอย่างเดียว ย่อมแข็งกร้าวเกินไป
(ถ้าเอาแต่บุกจู่โจม ระวังจะโดนสวนกลับแบบไม่ทันตั้งตัว และแพ้ไป)
“ทั้งหมดนี้ คือความจริงของชีวิต”
ซึ่งว่าด้วยการหาความพอดีและความสมดุล
เพื่อทำให้ชีวิตของเราไม่ตึงเกินไป
และไม่หย่อนเกินไปครับ
ชีวิตของเรานั้น
จึงหนีไม่พ้นเรื่องของการดูแลจังหวะชีวิต
“การดูแลจังหวะชีวิตให้พอดี”
เป็นความสามารถในการเข้าใจว่า
ในเวลานี้พึงทำอะไรและทำอย่างไร เช่น
-ถึงเวลาพักให้พัก มิใช่หักโหมทำงานโดยไม่หยุด
-ถึงเวลาช้าให้ช้า มิใช่ทำทุกสิ่งแบบรีบเร่งแต่เพียงอย่างเดียว
-ถึงเวลากินให้กิน มิใช่เอาแต่เพลิดเพลินจนหลงลืมเวลากินดื่ม
-ถึงเวลาแพ้ให้แพ้ มิใช่มุ่งแต่การเอาชนะจนทำร้ายตนเองและผู้อื่น
-ถึงเวลาตัดใจพึงตัดใจ มิใช่มัวแต่เกรงใจจนละเลยการทำในสิ่งที่ถูกต้อง
“ทั้งหมดนี้จึงเป็นการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น”
ให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้สอดคล้องกับความเป็นจริง
อีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้ชีวิต
(ลดปัญหาและความทุกข์ใจในชีวิตได้อีกด้วย)
“การรับรู้ถึงความพอดีในตนเอง-ผู้อื่น-สิ่งรอบตัว”
จะนำไปสู่การยอมรับ ความเข้าใจ
และความเอาใจใส่ต่อทุกสรรพสิ่ง
ซึ่งทำให้เราเกิดความนอบน้อม ความขอบคุณ
“เกื้อกูลมากขึ้น กอบโกยน้อยลง”
ความนอบน้อมนี้ย่อมช่วยให้เราเข้าใจว่า
-ไม่มีสิ่งใดอยู่ค้ำฟ้า
-ทุกสิ่งล้วนมีขีดจำกัดในตนเอง
-ความไม่พอดี ย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย
“แทนที่จะเอาแต่ล้างผลาญชีวิต เรายังสามารถดูแลรักษาชีวิตได้”
ดังนั้น
แทนที่เราจะเลือกเอาแต่ด้านใดด้านหนึ่ง
(จนชีวิตเสียความพอดีไป เช่น Work-Life Balance พังพินาศ 5555)
เรายังสามารถกลับมาใคร่ครวญ
เพื่อหาทางจัดวางให้ชีวิตเรานั้น
“ไม่ยึดติดกับด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป”
แล้วเมื่อใดก็ตามที่เราใช้ชีวิตจนเสียความพอดี
ก็มักจะมีสัญญาณบางอย่างเตือนให้เรารับรู้
(ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง)
เช่น
-สุขภาพกาย/สุขภาพใจ เริ่มเจ็บป่วย/ไม่มีความสุข
-ประสิทธิภาพการทำงาน เริ่มลดลง
-ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เริ่มแตกร้าว/ห่างเหิน
-การเงิน รายจ่ายเริ่มมากกว่ารายรับ
-ข้าวของเครื่องใช้ เริ่มติดขัด/ออกอาการรวน
-สิ่งแวดล้อม/ธรรมชาติ เริ่มเสื่อมโทรม/แปรปรวน
“หากเราเอาใจใส่ เราย่อมเห็นสัญญาณเตือนเหล่านี้”
นี่จึงหมายความว่า
ถึงเวลากลับมาดูแลรักษาชีวิตและสิ่งต่าง ๆ แล้ว
“ให้ใช้ชีวิตด้วยความพอดี ไม่ใช้ชีวิตจนเกินพอดี”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา