29 เม.ย. 2022 เวลา 05:00 • ข่าวรอบโลก
ในบทความนี้สโมสรสมองจะพาไปย้อนรอยเรื่องราวที่หลายคนอาจลืมไปแล้วกับเหตุการณ์ปะทุครั้งใหญ่ของน้ำพุร้อนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่ได้นำพา " สิ่งของ " จากอดีตเดินทางข้ามเวลามาสู่อนาคต
น้ำพุร้อนดังกล่าวมีชื่อว่า " เอียร์สปริง ( Ear Spring ) " มันเป็นกรวยน้ำพุร้อนธรรมชาติเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ที่มีอุณหภูมิของน้ำผิวดินสูงกว่าจุดเดือด ส่วนสาเหตุว่าทำไมต้องใช้ชื่อเอียร์สปริงนั่นก็เป็นเพราะมันมีรูปร่างเหมือนใบหูมนุษย์นั่นเอง
1
ย้อนกลับไปในวันที่ 15 กันยายนปี 2018 ได้เกิดเหตุการณ์ฮือฮาเมื่อเอียร์สปริงได้ปลดปล่อยพลังด้วยการพ่นละอองน้ำร้อนและเศษหินจำนวนมหาศาลออกมาสู่ผิวโลกที่ความสูง 20 - 30 ฟุตเป็นเวลาหนึ่งนาทีเต็ม
แล้วเพราะอะไรการปะทุของมันจึงกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น มันควรจะเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปไม่ใช่เหรอ ?
คำตอบคือเพราะเอียร์สปริงเป็นน้ำพุร้อนที่สงบนิ่งมานานกว่า 60 ปีแล้ว โดยการปะทุครั้งใหญ่เกิดขึ้นล่าสุดในปี 1957 หลังจากนั้นก็มีการปะทุตามธรรมชาติเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น
น้ำพุร้อนเอียร์สปริง
กลับมาที่ประเด็นหลักของเราในปี 2018 ผลจากการปะทุครั้งล่าสุดถือเป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เพราะการปะทุของเอียร์สปริงนั้นคาดเดาไม่ได้ แต่โชคยังดีที่โลกเรามีสิ่งที่เรียกว่า " กล้องวิดีโอ " ทำให้ผู้คนทั่วโลกมีโอกาสได้รับชมการปะทุเหมือนกัน
เมื่อดูจากคลิปวิดีโอเราจะเห็นสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความขุ่นมัวจากละอองไอน้ำและไอความร้อนที่กระจายจนมองอะไรไม่ค่อยเห็น แต่ก็เพียงพอจะสัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วเอียร์สปริงได้แอบซ่อนความลับบางอย่างเอาไว้
การปะทุของเอียร์สปริงในปี 2018
หลังจากการปะทุสงบลงก็มีเรื่องให้เจ้าหน้าที่อุทยานและนักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติต้องรู้สึกตกใจไปตามกัน เพราะนอกจากร่องรอยความร้อนระอุและเศษก้อนหินยังมี " กองขยะ " จำนวนมากกระจายเกลื่อนบริเวณโดยรอบ
ยกตัวอย่างขยะที่พบได้แก่เหรียญขนาดเล็กกว่า 100 เหรียญ จุกนมปลอม พื้นยางรองเท้า ถ้วยพลาสติก หลอดดูดน้ำ กระป๋องอะลูมิเนียม ก้นบุหรี่ อิฐบล็อก และขยะอื่นๆ อีกหลายชิ้น
เศษขยะที่พบหลังการปะทุ
ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าขยะทั้งหมดถูกโยนทิ้งลงเอียร์สปริงโดยตรง ( ใช้เป็นถังขยะธรรมชาติ ) หรือถูกทิ้งจากในป่าแล้วโดนลมหรือสัตว์คาบมาแถวนี้อีกที แต่ไม่ว่าจะวิธีไหนจุดเริ่มต้นมันเกิดการทิ้งขยะแบบมั่วๆ ในอุทยาน ส่งผลให้ระบบนิเวศป่าเสื่อมโทรมสร้างผลกระทบเป็นโดมิโนต่อไป
แต่ในเรื่องแย่ๆ ก็พอมีเรื่องดีอยู่บ้างนิดหน่อย เมื่อเจ้าหน้าที่นำขยะไปตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่ามันคือขยะจากสินค้ายุคเก่า ( หลายชิ้นมาจากช่วงปี 1930 ) และแทบไม่มีขยะจากสินค้ายุคใหม่เลย
จึงอาจตีความได้ว่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีมานี้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญในการรณรงค์ทิ้งขยะให้ถูกที่มากขึ้น หรือไม่ก็แค่ยังถูกฝังอยู่ใต้พื้นโลกรอวันปะทุ
เศษขยะที่พบหลังการปะทุ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ เพราะน่าแปลกที่ขยะบางชิ้นยังคงสภาพสมบูรณ์ทั้งที่อยู่ใต้พื้นดินที่มีน้ำพุเดือดระอุตลอดเวลา ส่งผลให้ขยะเหล่านี้เริ่มกลายเป็นของมีค่าจนถูกยกระดับให้กลายเป็นตราประทับของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนตลอด 80 ปีที่ผ่านมา
หนึ่งในนั้นคือ " คอลลีน เคอร์รี ( Colleen Curry ) " ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เยลโลว์สโตน ในมุมมองของเธอคิดว่าการปะทุของเอียร์สปริงเปรียบเสมือน " การฝังแคปซูลเวลา (Time Capsule) " ที่ส่งต่อเรื่องราวของผู้คนจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน จึงมีแผนจะนำไปจัดแสดงในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์
แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความแน่ใจว่าต่อไปเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่อุทยานและผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาร้องขอให้นักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ห้ามใช้พื้นที่อุทยานและบ่อน้ำพุร้อนเป็นถังขยะเด็ดขาด
การปะทุของเอียร์สปริงในปี 2018
สำหรับผมเรื่องนี้เต็มไปด้วยความน่ายินดีและไม่ดีผสมกันไป จนกลายเป็นเรื่องราวที่ให้แง่คิดหลายอย่าง ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองการตีความของคุณผู้อ่าน แต่ผมเชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยกับเรื่องย่อที่ชวนให้นึกถึงการเดินข้ามเวลาจริงๆ แบบในหนังวิทยาศาสตร์เรื่องโปรดยุค 90
สุดท้ายแล้วนับจากวันนั้นล่วงเลยมาจนถึงตอนนี้ เอียร์สปริงได้กลับไปหลับใหลเหมือนเดิมและไม่เคยปะทุอีกเลย ซึ่งผมหวังว่าการปะทุครั้งต่อไป ( เมื่อไหร่ไม่อาจทราบได้ ) จะมีเพียงไอน้ำร้อนธรรมชาติโผล่มาให้เชยชมเท่านั้น ไม่ต้องไปทำแคปซูลเวลาส่งขยะให้ผู้คนในอีก 100 ปีข้างหน้าผมก็พอใจแล้วครับ
รับชมวิดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=aLJlMCNmecs
📌 เรียบเรียงโดย : สโมสรสมอง
** กรุณาแชร์ต่อ ห้ามคัดลอกบทความไปเผยแพร่ซ้ำ
📗 อ่านบน Facebook เพจสโมสรสมอง
แหล่งที่มา
โฆษณา