13 ม.ค. 2022 เวลา 14:12 • ไลฟ์สไตล์
“พวกเธอจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ร้อนใจ ในภายหลังเลย ..”
“ภิกษุ ท.! โยคกรรม (การปฏิบัติอันเป็นแบบแผน มีความเพียรความตั้งใจ)
อันเธอพึงกระทำ เพื่อให้รู้ว่า
"นี้คือทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้คือความดับสนิทแห่งทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์"
นิพพานเราได้แสดงแล้ว ทางให้ถึงนิพพานเราก็ได้แสดงแล้ว แก่เธอทั้งหลาย
กิจใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ
นั่น โคนไม้ นั่น เรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเผากิเลส
อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ร้อนใจ ในภายหลังเลย
นี่แหละวาจาเครื่องพร่ำสอนของเรา แก่เธอทั้งหลาย”
1
คำตรัสที่ดูง่ายๆ ฟังเข้าใจแต่เชื่อไหมว่าหลายคนไม่เข้าใจ เถียงกันไม่จบ เพราะคำจากพระโอษฐ์ ทุกเนื้อคำมีความหมายทั้งหมด ลองมาดูกัน
เอาแค่ส่วนเดียว ‘นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ร้อนใจ ในภายหลังเลย’ ในมรรคข้อที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ หนึ่งในนั้นคือ เนกขัมมะสังกัปปะ คือดำริในการออกจากกาม
‘นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง’ ท่านให้เราพรากออกจากกาม ที่เราเมาหมกอยู่ เราจึงจะเห็นโทษของมัน คนเสพยาเวลาอยากยาก็เสพ อยากยาก็เสพ เขาจะไม่เห็นโทษจนกว่ายาจะไม่สามารถตอบสนองความอยากได้อีก ซึ่งนั่นแปลว่ายา จะพบความวิบัติอย่างแน่นอน
แต่เมื่อพรากออกจากสิ่งที่เคยคุ้น สิ่งที่เห็นคือความอยาก กระวนกระวาย เบื่อ ร้อนใจอยากกลับไปได้อย่างเดิมๆ อีก ถึงตรงนี้จะเริ่มทุกข์ล่ะ จุดนี้สำคัญมาก นี่คือรอยต่อสำคัญที่เข้าใจกันผิด แต่ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับจะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ จึงแสวงหาสิ่งเสพติดเพื่อสนองความอยากเหมือนคนติดยา หลังจากตอบสนองอยากแล้วได้พบความสุข(สุก)
ดังนั้นไม่ควรทุกข์นะ (ถ้าอนาคตล่ะก็ใช่) ก็มาตีความเหมาเอาว่าปฏิบัติธรรมแล้วทุกข์นั่นปฏิบัติผิดแล้ว อย่าไปฝืนมากเพราะมันคือทุกข์ ความจริงที่ท่านให้พรากออกมาจากกามก็เพื่อให้เห็นว่าการ หลงติดอยู่นั่นเป็นทุกข์ การไม่ตอบสนองตัณหานั้น ตัณหาจะส่งนิวรณ์ ๕ มาทำให้เราเร่าร้อนทนไม่ได้
สุดท้ายก็ต้องไปหาสิ่งมาตอบสนองเขาในที่สุด แต่การไม่ตอบสนองด้วยความอดทน(ขันติ) นั่นกลับทำให้กิเลสอ่อนกำลังลงเพราะถูกไฟเดียวกันนั่นล่ะเผา ทีนี้มันอยู่ที่ว่าไฟนั้นที่กำลังเผาอยู่ ใครแน่กว่ากัน
ถ้าเราอินทรีย์แก่ ไฟนั้นจะไปเผากิเลสด้วยความอดทนไม่ยอม ในที่สุดเมื่อกิเลสโดนเผาบ่อยๆ เราจะเห็นว่า ต่อไปเราจะเอาก็ได้ไม่เอาก็ได้ ซื้อก็ได้ไม่ซื้อก็ได้ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ ไม่เดือด(เนื้อ)ร้อน(ใจ) สถานการณ์จะเปลี่ยน คือถ้าจะซื้อก็ไม่ได้ซื้อตามอำนาจของตัณหาความอยาก เพราะมันเผาเราบีบเราไม่ได้ กลายเป็นการตัดสินใจจะซื้อหรือไม่ซื้ออยู่ที่สติปัญญาเหตุผล ถ้าต้องซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อก็เดินไปเลย ไม่หวนคิดอีก เพราะไม่มีตัณหา
เห็นรึยังว่า คำสอนนี้ต่างกันนิดเดียวตรงจุดเปลี่ยน เมื่อพรากแล้วเห็น เช่นไปปฏิบัติธรรมแล้วเบื่อ เมื่อเบื่ออยากกลับบ้าน เมื่อได้กลับบ้านแล้วมีความสุข สภาวะมันเกิดตรงนี้ที่คนเราไม่เห็นอริยสัจ
ไปปฏิบัติธรรมแล้วเบื่อ(อกุศลเกิด) เมื่อเบื่ออยากกลับบ้าน(ตัณหาเกิด) เมื่อได้กลับบ้านแล้วมีความสุข(ตอบสนองตัณหา คือเติมอาหารให้อวิชชา) แล้วจะออกจากตัณหาอย่างไร
เพราะเติมอาหารให้มันตลอด เปลี่ยนเนื้อเรื่องเป็นอะไรก็ได้ เสื้อผ้าสวยๆ ส้มตำ เที่ยวห้างฯลฯ แล้วตกลงไม่ต้องซื้อต้องใช้อะไรกันเลยใช่ไหม แหมน่า..จริงๆ เห็นไหมว่าถ้าเราฝึกแล้วหากจะต้องซื้ออะไร ทำอะไร เราก็จะซื้อจะทำด้วยสติปัญญาไม่ใช่จากการเผารนของกิเลสเท่านั้นเอง ประเด็นของเนกขัมมะและขันติอยู่ตรงนี้ล่ะ
ลองดูตัวอย่างจะเข้าใจง่ายขึ้น มีเด็ก 2 คนใส่เสื้อสีขาวคนหนึ่งกับเสื้อสีดำ คนหนึ่ง(รู้นะคิดอะไรอยู่) กองไฟอยู่ตรงกลาง ถ้าเด็กเสื้อขาวอินทรีย์แก่อดทนได้มาก อดทนได้นาน เด็กเสื้อดำซึ่งก็ร้อนเหมือนกันก็ถูกเผาเหมือนกัน เกมนี้มันอยู่ที่ใครจะอดทนกว่ากัน ใครจะพูดว่ายอมแพ้ก่อนหรือเดินหนีออกไปก่อน
แต่ส่วนใหญ่เราทำไงรู้ไหม เดินออกไปหาผ้าเย็นพร้อมถังน้ำมาดับไฟแล้วเอาผ้าเย็นมาเช็ดตัวให้เด็กเสื้อดำด้วยกลัวมันจะร้อน ...เฮ้อ ทีนี้เมื่อลุยมาได้ถึงตรงนี้ในช่วงที่ยังไม่สำเร็จ ยังเผากันไม่จบยังหาผู้แพ้ผู้ชนะไม่ได้
เพื่อให้เราไม่พลาดพลั้งหรือเดินหนีไปก่อน พระพุทธเจ้าจึงให้สัมมาวายามะไว้ ความเพียรชอบ จงยังความพอใจให้เกิดขึ้น ต้องพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ แล้วละอกุศลที่กำลังเกิด แล้วมาเจริญกุศล เป็นที่หลบภัยเป็นที่พักไปด้วย เป็นการฝึกกำลังไปด้วย
ระหว่างนั้นการเจริญสติไว้เรื่อยๆ จิตจะท่องไปใน กาย เวทนา จิต ธรรม จะเห็นความจริงไปด้วยปัญญาจะเริ่มเกิด เกิดอะไร?
เกิดไปเห็นว่าสรรพสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา จะเริ่มเบื่อหน่ายคลายจางเพราะไปโง่ยึดมันไว้เป็นที่พึ่งที่อาศัย เมื่อทุกสิ่งเกิด-ดับๆ จะเข้าใจเองว่ามันไหลเรื่อยไปตามเหตุตามปัจจัยไม่มีตัวตนอะไรให้เรายึด
เมื่อเห็นว่ามันไม่มีตัวตนจิตจะรู้เลยว่ามันว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน เริ่มพบความว่างที่เป็นสุญญตา จากนั้นจิตเห็นว่าอะไรๆ ก็ว่างไปหมด แม้นจิตเองคือตัวจิตเองก็ไม่มีเหมือนกัน วิญญาณดับ ไร้อารมณ์(อย่าคิดเองนะ รับรองไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะคิดในกรอบ..กู)
ไร้เรา ไร้เจตนา ไปเห็นเหตุเกิดของวิญญาณ คือสังขารเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันมาเรื่อย พอเท่านี้ก่อน จึงสลัดคืนสู่ธรรมชาติในที่สุด หมดเรื่อง หมดเชื้อกันที
..พูดมาไกลเลย กลับมาที่เดิมก่อน..
เมื่อก่อนเราเห็นว่าเมื่ออยากได้อะไร แล้วไม่ได้ เป็นทุกข์ ซื้อแล้วเป็นสุข นี่คือปุถุชน
เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ จะเห็นว่า พอตากระทบรูป(ของที่เราจะซื้อ) ใจไหวแว้บชอบ เกิดความอยาก กระวนกระวาย ต้องการเป็นเจ้าของ ความทุกข์เกิดขึ้นบีบคั้นตรงนี้ ตรงนี้เริ่มเป็นกัลยาณชนผู้สดับแล้ว เห็นทุกข์แล้วใช่ไหม เห็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้วใช่ไหม นิโรธ-ความดับยังไม่เกิดนะ แต่ตอนนี้เห็นฝ่ายเกิดทุกข์แล้ว
ถ้าไม่หยุดกระบวนการจะเห็นไหม ในเมื่อป้อนอาหารมันตลอด แต่ถ้าใครแก่กล้าแล้ว ขณะที่ไปเห็นสมุทัยแล้วมันดับวับไปเลย นั่นนิโรธแจ้งขึ้นมาแล้ว
ตกลงนิโรธมาจากไหน นิโรธมาจากการละสมุทัยนั่นเอง แล้วแจ้งนิโรธตามความดับว่างขึ้นมาได้ไง ก็เพราะเราเจริญมรรคมาไม่ใช่หรือ
ภิกษุ ท.! โยคกรรม (การปฏิบัติอันเป็นแบบแผน มีความเพียรความตั้งใจ)
อันเธอพึงกระทำ เพื่อให้รู้ว่า
"นี้คือทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้คือความดับสนิทแห่งทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์"
นิพพานเราได้แสดงแล้ว ทางให้ถึงนิพพานเราก็ได้แสดงแล้ว แก่เธอทั้งหลาย
กิจใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ
นั่น โคนไม้ นั่น เรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเผากิเลส
อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ร้อนใจ ในภายหลังเลย
นี่แหละวาจาเครื่องพร่ำสอนของเรา แก่เธอทั้งหลาย
‘อย่าเป็นผู้ร้อนใจ ในภายหลังเลย’ จะต้องเวียนเกิดเวียนตายประสบทุกข์ไปอีกเท่าไหร่ ข้างหน้ากับตอนนี้มันเหมือนกัน เข้าใจรึยัง ขนลุกซู่ น้ำตาซึม แทบจะก้มลงกราบพระบาทของพระองค์เลยล่ะ
ในการทอล์คธรรม ที่เธียเตอร์ ยุวพุทธศูนย์๑ นายกยุวพุทธถามว่า เราจะวางจิตใจอย่างไรหรือทำอย่างไรในภาวะความขัดแย้งแตกแยก ในการทอล์คธรรมะวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ค. 53 นายกยุวพุทธ คุณอนุรุธ ว่องวานิช ถามคำถามเด็ดมากเลย ต่อผู้คนนับร้อย ทุกคนคงอยากฟังคำตอบว่าจะทำอย่างไรกันดี เพราะทุกข์เหลือเกิน
คำตอบวันนั้นคือ เรานักปฏิบัติต้องเข้าใจความจริงใน 2 ส่วนก่อนคือ ส่วนแรกเป็นชั้นเรื่องราวที่พวกเราอยู่กัน ก็คือเนื้อเรื่อง เช่นคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ฉันรักชาติคนนั้นทำลายชาติ ฉันออกมาประท้วงเพราะฉันรักชาติบ้านเมือง ฉันออกมาประท้วงพวกที่ออกมาประท้วงเพื่อให้รู้ว่าพวกที่มาประท้วงนั้นทำให้บ้านเมืองเสียหาย ถ้าไม่ช่วยกันออกมาก็จะไม่แสดงความรักชาติ ดังนี้เป็นต้น
ในส่วนที่ 2 คือชั้นของความจริงแท้ที่ไม่แปรเปลี่ยนไปตามเรื่องราว
เปรียบง่ายๆ ว่าส่วนแรกเป็นน้ำ ส่วนที่ 2 เป็นน้ำมัน น้ำจะจมอยู่ในส่วนล่าง ส่วนน้ำมันลอยอยู่ข้างบนจะได้เห็นภาพชัดหน่อย
ส่วนของน้ำนั้น ก็ว่ากันไปตามเหตุผลสารพัดตามแต่ข้อมูลข่าวสารของแต่ละคนที่ได้รับมา รวมถึงอุปนิสัยที่สั่งสมมาด้วย
อาทิเช่น ครั้งหนึ่งกุฏิหลวงพ่อคูนโดนโจรงัดและขโมยเงินทำบุญไป 200,000 บาท ตำรวจมาสืบสวนแต่หลวงพ่อคูณบอกว่าไม่เอาเรื่องยกโทษให้ไม่เอาความใดๆ นี่คือในส่วนของท่าน
ส่วนคนอื่นก็จะใช้เหตุผลของตนว่า ความจริงที่หลวงพ่อทำนั้นไม่ถูก ถ้าอย่างนี้โจรก็จะย่ามใจต่อไปมันก็จะเที่ยวขโมยอีกหรือไม่ก็จะกลับมางัดกุฏิวัดอื่นๆ อีก แล้วอย่างไหนถูกล่ะทีนี้
ดั้งนั้นจะเห็นว่าในชั้นของน้ำ หรือ เรื่องราวนั้นจะไม่มีวันจบหรอกเพราะการตีความของคน อาศัยกรอบความคิดและข้อมูลส่วนตัวและอยู่ภายใต้สังขารการปรุงแต่งโดยมี อวิชชา เป็นหัวโจก
แล้วในชั้นของน้ำมันจะเป็นอย่างไร
ในชั้นของน้ำมันจะตัดสินใจหรือทำการใดๆ ภายใต้จิตว่าง (ว่างจากกิเลสในเบื้องต้น ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนในเบื้องปลาย)
เมื่อพูดถึงจิตว่างก็เริ่มงง เอาเป็นว่าตัดสินด้วยสติปัญญาโดยไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปเกี่ยว
เช่น ผู้พิพากษาตัดสินประหารชีวิตโจรปล้นฆ่าข่มขืน 3 รายซ้อนโดยไม่มีการสำนึกผิด หากผู้พิพากษาคนแรกเห็นว่าโทษของคนผิดลักษณะนี้เข้าข่ายการประหารโดยดูจากสำนวนแล้วเชื่อได้ว่าเป็นความจริงแล้วตัดสินประหาร กับผู้พิพากษาอีกท่านเคยส่งคนร้ายคนนี้เข้าคุกมา 2 รอบแล้วไม่รู้จักเข็ดหลาบ จึงเกิดอารมณ์ในการตัดสิน มีความโกรธความพยาบาทปนเข้าไปในการตัดสินด้วย
ตรงนี้จะเห็นความต่างกันในรายละเอียดของผู้ตัดสินแต่ดูเหมือนกันในผลที่เกิด เพราะคนผิดได้รับผลที่เขาทำมาเองไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ปัญหาคือผู้พิพากษาล่ะทีนี้ คนแรกกระทำด้วยจิตว่างจากกิเลส คือไม่มีความโกรธในการตัดสิน ไม่มีความโลภความอยากที่จะให้เขาตายไปซะ ไม่มีความหลงในการกระทำตรวจสอบสำนวนอย่างละเอียด ดังนั้นการกระทำของผู้พิพากษาคนแรกไม่เป็นกรรมจึงไม่มีวิบากต้องรับ
ส่วนผู้พิพากษาคนที่ 2 นั้น การตัดสินมีโทสะคือความโกรธเข้าไปด้วย จึงเกิดเป็นกรรมเพราะมีกิเลสประกอบจิต จึงส่งผลเป็นวิบากที่ต้องรับ
กลับมาที่คำถามได้แล้ว คำตอบ คือ ใครคิดจะทำอะไรก็คงยากที่จะไปบอกไปสอนเพราะสารพัดเหตุผลที่คนจะยกขึ้นมาสนับสนุนความคิดตนเอง ดังนั้นก็แค่ฝากว่า จะออกไปชุมชุนไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม ก็ให้ทำด้วยการปราศจากอารมณ์จึงจะไม่มีกรรม (พูดเล่นรึเปล่าเนี่ยะ) จะทำอย่างไร ?
เคยกดเปลี่ยนช่องทีวีแล้วเผอิญไปเจอฟุตบอลคู่ที่เราไม่รู้จักทั้ง 2 ทีมไหม จะนั่งเชียร์ฝ่ายไหนหรือจะเสียเวลาดูไหมล่ะ ต่อให้เราไม่ดูแต่เชื่อเหอะว่าคนดูเต็มสนามเสมอ
ผมไม่ทราบหรอกว่านิยามของคำว่า รักชาติ ของแต่ละคนเป็นอย่างไร แต่ผมใส่เสื้อสีขาว ไม่เอาแล้วชาติ ชรา มรณะ เดินทางชี้หนทางแห่งการพ้นทุกข์ให้ทุกคน(ทุกสี) เพราะเมื่อมีสีก็มี ทุกข์ เดินตามคำสอนของพระศาสดาไม่มีว้อกแว้ก
ใครอยากทำอะไรคงห้ามไม่ได้ แต่ขอให้ รู้ทุกข์ ละสมุทัย เมื่อละสมุทัยแจ้งนิโรธทันที
ย้ำคำว่าแจ้งนิโรธทันทีนะ
จะถึงทั้งหมดที่พูดมาก็ด้วยการเจริญมรรคที่พระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นเครื่องขนสรรพสัตว์ที่มีความทุกข์ข้ามพ้นจากวัฏฏะทุกข์ไปได้
.
โดย ท่านอาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
25 ก.พ. 54
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา