12 ม.ค. 2022 เวลา 06:37 • ความคิดเห็น
ผู้ให้สุขใจกว่าผู้รับ???
ระวังติดกับดักการให้จนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว
ส่วนตัวคิดว่าทั้งการให้และการรับ จำเป็นต้องใช้ศิลปะและทักษะทั้งคู่ ผู้คนส่วนมากให้ความสำคัญกับการ “เป็นผู้ให้” และคิดว่ามันยิ่งใหญ่กว่าการ “เป็นผู้รับ”
ในความจริงแล้วหากชั่งน้ำหนัก ทั้งสองฝ่ายต่างมีความสำคัญเท่ากันและยึดโยงกัน จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้
สมัยเด็ก ๆ เคยอ่านนิทานธรรมะอยู่เรื่องนึง จำรายละเอียดไม่ชัดทั้งหมด แต่จำสาระของมันได้จนแจ่มชัดทุกวันนนี้
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีคหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งมีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ ชอบทำบุญทำทานอยู่เป็นนิจ วัดซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ใหญ่โต สวยงามอย่างทุกวันนี้ได้ ก็เพราะเงินบริจาคของเขา
เจ้าอาวาสชรา เห็นว่าถึงเวลาต้องแสดงธรรมใหญ่ให้กับคหบดีผู้นี้เพื่อบรรลุธรรมอีกขั้น
ในวันทำบุญใหญ่ของวัด คหบดีผู้ซึ่งจิตใจกำลังพองโต ใบหน้าอิ่มเอิบ เป็นสุขอย่างมาก เพราะกำลังจะสละทรัพย์มหาศาลเพื่อทำบุญต่อยอด คลานเข่าเข้าไปเตรียมถวายปัจจัยและข้าวของมากมายแก่ท่านเจ้าอาวาส เมื่อก้มกราบและถวายเสร็จแล้ว เงยหน้าสบกับสายตาที่เปี่ยมเมตตาของท่านเจ้าอาวาสแล้วจึงนั่งสนทนาธรรมต่อ
“โยมคหบดี เป็นสุขต่อการให้มากหรือไม่”
“เป็นสุขมากขอรับพระคุณเจ้า”
“ผู้ให้ หรือ ผู้รับ สำคัญกว่ากัน”
“ผู้ให้ขอรับพระคุณเจ้า”
“ถ้าไม่มีผู้รับ โยมคหบดีจะเป็นผู้ให้ได้หรือไม่”
คหบดีได้ฟังเพียงเท่านั้น ก็เหมือนมีสายฟ้าฟาดเข้าลงมากลางใจ ก้มลงกราบท่านเจ้าอาวาสด้วยจิตใจที่สว่างไสวขึ้นทวีคูณ น้ำตาแห่งความปิติเอ่อล้น
“เข้าใจแล้วขอรับพระคุณเจ้า”
🤔สารภาพว่าเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน ไม่เคยเข้าใจนิทานประเภทนี้ คือนิทานที่ไม่อธิบาย ไม่สอน ไม่สรุปอะไรให้ชัดเจน เด็กอย่างเราในตอนนั้นมีแต่ความสงสัยว่า คหบดีเกิดความเข้าใจอะไรลึกซึ้งนักหนา ถึงมีจิตใจที่สว่างไสวเป็นทวีคูณจนถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปิติ
จนชีวิตผ่านกาลเวลามาหลายสิบปีนี่แหละถึงพอจะเข้าใจนิทานเรื่องนี้ได้มากขึ้น ท่านเจ้าอาวาส ช่วยปลดกับดักที่คหบดีติดอยู่มานานนั่นเอง
“กับดักการให้” ทำให้ผู้ให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของใจ คนมีใจใหญ่เท่าไหร่ ก็จะยิ่งให้ได้มากเท่านั้น
จนในบางครั้งหลงลืมไปว่า หากปราศจากผู้รับ ความอยากให้ด้วยใจที่ใหญ่แค่ไหนก็ไม่มีค่าใด ๆ เหลือเลย
☝️การได้รับรู้ว่า หากไม่มีผู้นั่งอยู่ที่ไม้กระดกอีกฝั่ง เราก็ไม่มีทางสูงขึ้นได้ เป็นการดึงสติให้เรากลับมาเรียนรู้ศิลปะของการให้อย่างถูกต้องมากขึ้น
เมื่อไหร่ที่เราควรให้? เราให้เพราะผู้รับสำควรได้รับ? เราให้เพราะผู้รับร้องขอ? เราให้เพราะมีเหตุอันควรให้? บางทีเราต้องคิดลึกซึ้งไปมากขึ้นอีกขั้น
🙅🏼‍♀️ทั้งนี้ผู้เขียนจะไม่ขอสรุปว่า ศิลปะแห่งการให้มีอะไรบ้าง เรื่องเหล่านี้ต้องดูเหตุปัจจัยของแต่ละสถานการณ์กันไป แต่จะเล่าสองเรื่องให้ฟัง
☝️เรื่องที่หนึ่ง
คุณตาคุณยายคู่หนึ่งใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาเกินกว่าห้าสิบปีแล้ว กิจวัตรประจำวันในทุกมื้ออาหารเช้า
คุณตาจะปิ้งขนมปังแล้วเลาะเอาขอบขนมปังกรอบ ๆ ให้คุณยายกิน ส่วนตัวเองก็กินเนื้อขนมปังแทน
1
จนวันนี้ที่คุณยายทนไม่ไหวแล้วจึงโพล่งออกไป
“เธอ .... ทำไมถึงให้ฉันกินแต่ขอบขนมปังทุกวันเลย ทีตัวเองได้กินแต่เนื้อนิ่ม ๆ เธอนี่มันเห็นแก่ตัวจริง ๆ ฉันอดทนมามากพอแล้ว ตอนนี้พอกันที”
1
คุณตาได้ฟังแบบนั้นก็ตกใจหน้าถอดสี ระล่ำระลักบอกคุณยายว่า “ที่รัก ขอบขนมปังเป็นส่วนที่ฉันชอบกินมันที่สุด และฉันก็สละให้เธอกินมันตลอดทุกวันนะจ๊ะ”
1
✌️เรื่องที่สองมาจากบทความนี้
เป็นบทความเกี่ยวกับความเข้าใจผิดของคนที่ต้องการมาทำบุญ ให้ของต่าง ๆ ณ สถานสงเคราะห์
บทความช่วงหนึ่งเขียนว่า
จากการทำงาน 20 กว่าปี เราเห็นว่า คนชอบไปบริจาคสิ่งของที่สถานสงเคราะห์ ทั้งที่จริงแล้วเด็กไม่ได้ต้องการวัตถุ แต่พวกเขาต้องการความรู้สึกภาคภูมิใจ และถูกรัก แต่คนกลับเอาของไปให้ หนำซ้ำไปแล้วก็อยากจะแจกให้ถึงมือ ถ่ายรูป ฯลฯ
หรือหากไปเลี้ยงข้าวก็ไปบังคับว่า เด็กต้องกินข้าวให้หมด เด็กเองก็จะถูกสั่งว่า ต้องกินให้หมด แม้อิ่มแค่ไหนก็ต้องกินเพราะเดี๋ยวแขกเสียใจ ด้วยระบบการทำงานแบบนี้ เจ้าหน้าที่หลายคนก็ไม่กล้าปฏิเสธแขก เพราะกลัวแขกเสียใจและรู้สึกไม่ดี
1
การให้เด็กรับของนั้นตอกย้ำการเป็นผู้รับของเด็ก สิ่งนี้ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า พอโตขึ้น ‘การรับของ’ ซึ่งเคยถูกมองว่าน่ารัก คลานเข่าเข้าไปกราบไหว้ผู้ใหญ่ ก็ไม่ได้น่ารักอีกต่อไป ผู้ใหญ่ก็ไปต่อว่าเด็ก ทั้งที่จริงๆ แล้วเราสอนเขามาแบบนั้น
☝️ทั้งสองเรื่องเป็นการเปิดมุมมองของการ เป็นผู้ให้ และผู้รับ ในอีกมุมนึงที่เราอาจจะละเลยและมองข้าม
ถึงได้บอกว่า การให้และรับ นั้นต้องใช้ทั้งทักษะและศิลปะ
เมื่อคุณได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับมายาวนานพอ เมื่อนั้นคุณจะพัฒนาทักษะได้ดีขึ้น จากนั้นก็หยอดศิลปะลงไปเพิ่ม ถึงตอนนั้นมันก็จะสมบูรณ์พร้อมเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา