13 ม.ค. 2022 เวลา 13:52 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังประสบปัญหาข้าวของแพง
ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้เผชิญกับปัญหาราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อวานนี้ ข้อมูลสถิติของสหรัฐฯ สะท้อนว่าในเดือนธันวาคม อัตราเงินเฟ้อได้ขึ้นสูงถึง 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งนับว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี
ประธานาธิบดีไบเดนพยายามทำตัวใจดีสู้เสือ อธิบายว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศกำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังสภาพล็อคดาวน์ของสองปีที่ผ่านมา แต่เขาก็คงอดหวั่นวิตกไม่ได้กับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อต่อคะแนนนิยมของเขา
Laurel Harbridge-Yong รองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Northwestern University ร่วมกับ Jon Krosnick ที่มหาวิทยาลัย Stanford และ Jeffrey Wooldrige ที่มหาวิทยาลัย Michigan State ได้ร่วมกันวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างค่าน้ำมันกับคะแนนนิยมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างปี 1976 จนถึงปี 2007 และพบว่า เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ความนิยมในประธานาธิบดีก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยโมเดลหนึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อราคาน้ำมันขึ้น 10 เปอร์เซนต์ คะแนนนิยมของประธานาธิบดีก็จะลดลง 0.6 เปอร์เซนต์
ประเด็นที่น่าสนใจคือ นักวิจัยทั้งสามพบว่า ผลกระทบของราคาน้ำมันต่อคะแนนนิยมของประธานาธิบดีนั้น ไม่เกี่ยวโยงกับการรายงานของสื่อเลย โดย Harbridge-Yong ได้วิเคราะห์ว่า ไม่ว่าจะสื่อจะรายงานเรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประชาชนก็เห็นผลกระทบอยู่ดี เพราะจะเห็นราคาน้ำมันที่เปลี่ยนไปทุกครั้งที่เข้าไปเติมน้ำมัน
Harbridge-Young ยอมรับว่า เขาไม่แน่ใจว่าราคาของอาหารที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อความนิยมในตัวประธานาธิบดีเหมือนราคาน้ำมันหรือไม่ แต่ก็มีงานวิจัยอื่น ๆ โดยนักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า ราคาข้าวของอื่น ๆ ที่สูงขึ้น ก็บั่นทอนความนิยมในตัวผู้นำประเทศเช่นกัน
ในปัจจุบัน คะแนนนิยมของประธานาธิบดีไบเดนตกต่ำลงมาก โดยล่าสุดโพลของ Quinnipiac University รายงานว่า คะแนนนิยมของเขาอยู่ที่ 33% ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่เขาขึ้นดำรงตำแหน่ง หากไบเดนยังไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ ก็อาจจะยากที่เขาจะกู้คะแนนนิยมคืนมาให้ทันการเลือกตั้งมิดเทอมในปีนี้
[ติดตามข่าวและประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา กับเพจ 'รัฐศาสตร์สหรัฐฯ': https://www.blockdit.com/pages/61d59e9d8379cbc767578a87']
โฆษณา