20 ม.ค. 2022 เวลา 04:10 • ความคิดเห็น
แน่ใจได้อย่างไรว่าคุณกำลังเป็นตัวของตัวเองจริงๆ
1
“เลิกเป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นคนที่ดีกว่านี้เถอะ” - มิกนอน แมคลาฟลิน
การตัดสินคนอื่นก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับการตัดสินตัวเองและจำกัดตัวตนของตัวเองด้วยความมั่นใจ เราทุกคนล้วนมีค่านิยมที่ยึดถือเอาเองว่าเป็นตัวตนของตัวเองอย่างแท้จริง
ก็ในเมื่อคำพูดว่าให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้รับความนิยมมาก ก็คงไม่แปลกที่ทุกคนพยายามจะจำกัดตัวเองว่า ตัวตนของฉันเป็นเช่นไร
ถ้าคุณมีความเชื่อว่าตัวตนของคุณเป็นแบบไหน คุณก็จะมีค่านิยมที่หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะขัดต่อความเชื่อนี้
หากจะพูดโดยใช้ศัพท์เท่ๆ ก็อาจจะกล่าวได้ว่าบทความนี้กำลังพูดสิ่งที่ใกล้เคียงกับ Fixed Mindset นั่นเอง
โดยตัวตนนั้นมักเกิดมาจากประสบการณ์ของแต่ละคนที่ผ่านมา ด้วยการกระทำแบบซ้ำๆ จนกลายเป็นความเชื่อประจำตัว และเป็นเรื่องยากที่คุณจะตั้งเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยความเชื่อแบบเดิม
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวไว้ว่า “คนที่อยากได้ผลลัพธ์ใหม่แต่ทำสิ่งเดิมๆ คือคนวิกลจริต”
แต่หากจะให้ข้อความนี้สมบูรณ์ขึ้นอีกสักนิดจะได้ว่า
“คนที่อยากได้ผลลัพธ์ใหม่แต่ยังยึดติดกับค่านิยมเดิมๆ คือคนวิกลจริต”
จะเกิดผลลัพธ์อย่างไรหากคุณตั้งเป้าหมายประจำปีเพื่อจะลดน้ำหนัก แต่คุณกลับมีความเชื่อว่าคุณเป็นคนชอบกินของหวานและไม่ชอบออกกำลังกายมาก
นั่นเป็นสาเหตุของยาลดน้ำหนักที่แพร่หลาย เพราะพฤติกรรมใดๆก็ตามที่ขัดแย้งกับค่านิยมและความเชื่อไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป
ในความเป็นจริงตัวตนของเราแปรผันไปตามสิ่งที่เรากระทำซ้ำไปซ้ำมาในอดีต
หากคุณสอบวิชาเลขได้ที่สุดท้ายของห้องมาอย่างต่อเนื่อง คุณก็คงจะมีความคิดฝังหัวไว้แล้วว่า “ฉันเป็นคนไม่เก่งเลข”
หากคุณสูบบุหรี่มาครึ่งชีวิต ก็คงไม่แปลกที่คุณจะคิดว่า “ฉันเป็นคนสูบบุหรี่”
หรือถ้าหากตั้งแต่เด็กจนโตคุณมักทำข้าวของเสียหาย คุณก็คือ “คนซุ่มซ่าม”
แต่ที่สำคัญคือ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันคือตัวตนของคุณจริงๆ ขนาดผลตอบแทนของหุ้นในอดีตยังไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้เลยนะ
ดังนั้นหากคุณต้องการเลิกบุหรี่ลองตรวจสอบ 2 ประโยคนี้ครับ “ฉันกำลังพยายามเลิกบุหรี่” หรือ “ฉันไม่ใช่คนสูบบุหรี่อีกต่อไป”
ประโยคแรกคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุครับ ส่วนประโยคที่สองแก้ไขที่ค่านิยม/ความเชื่อของตัวเอง
ในเมื่อเรารู้แล้วว่าความเชื่อของเราเกิดมาจากการกระทำ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่ดีก็ไม่ควรจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องเริ่มแก้ไขที่ค่านิยมหรือความเชื่อที่มีต่อตัวเอง
แต่ละครั้งที่คุณเริ่มจับกีต้าร์ให้คุณเชื่อว่าคุณคือ “นักดนตรี”
แต่ละครั้งที่คุณเริ่มอ่านหนังสือ คุณคือ “นักปราชญ์”
แต่ละครั้งที่คุณออกกำลังกาย คุณคือ “นักกีฬามืออาชีพ/นายแบบ”
คุณจะเห็นได้ว่าคุณอยากเป็นอะไรก็ได้ที่คุณต้องการ แต่อย่ากำหนดว่าคุณคือใครก่อนที่จะเริ่มลงมือพิสูจน์ตัวเอง
เนิร์ดจึงชอบคำกล่าวที่ว่า “เลิกเป็นตัวของตัวเอง แต่ลองเป็นคนที่ดีกว่านี้เถอะ” เพราะคิดว่ามันเป็นประโยคที่จับใจมากเลยทีเดียว
ก่อนจบบทความนี้เนิร์ดอยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายแล้วค่อยๆซึมซับความเชื่อใหม่ๆ ลงไปในความคิดว่าคุณต้องการเป็นคนแบบใด แล้วบอกกับตัวเองว่า..
[อะไรที่คนประสบความสำเร็จในเป้าหมายนั้นทำ/ไม่ทำบ้าง]
หากคุณอยากรวย อะไรที่คนรวยทำ/ไม่ทำ
หากคุณอยากเป็นนักกีฬา อะไรที่นักกีฬาทำ/ไม่ทำ
เป็นการคัดแยกพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายได้ง่ายๆ เลยครับ
หวังว่าทุกคนจะเป็นตัวของตัวเอง (ในแบบที่ดีขึ้น) นะคร้าบบ🙏🏻🥰
โฆษณา