19 ม.ค. 2022 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
ย้อนรอยวิกฤติทิวลิป ฟองสบู่แตกครั้งเก่าแก่ของโลก
ฟองสบู่ที่เราเคยเป่าเล่นตอนเด็ก มักถูกนำมาเทียบกับภาวะการเก็งกำไรที่มากเกินไปในสินทรัพย์บางอย่าง เพราะลักษณะภายนอกของมันจะลอยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยที่ข้างในของมันว่างเปล่า
5
เหมือนกับการเก็งกำไรที่ราคาของของสินทรัพย์หนึ่งจะเพิ่มขึ้นสูงมากโดยที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรมารองรับ ที่น่าเศร้าคือ พอฟองสบู่ลอยขึ้นไปถึงจุดหนึ่งมันก็จะไปต่อไม่ได้ ต้องแตกกลางอากาศและไม่เหลืออะไรทิ้งไว้เลย
1
หนึ่งในกรณีศึกษาที่มักจะถูกยกขึ้นมาพูดมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกรณีฟองสบู่ในตลาดดอกทิวลิปที่เกิดขึ้นในฮอลแลนด์ หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ Tulip Mania
ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ตอนนั้นดอกทิวลิปเป็นสิ่งใหม่ในฮอลแลนด์หรือประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน ความแปลกใหม่นี้ทำให้ทิวลิปกลายเป็นดอกไม้ที่ใช้ประดับสวนเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งของคนรวยในสมัยนั้น
พอทิวลิปเป็นสิ่งที่ในหมู่คนรวยต้องมี หลายคนก็อยากได้มันมาครอบครอง และราคาของมันก็เริ่มที่จะสูงขึ้น โดยเฉพาะดอก “ทิวลิปแตกสี” (Broken Tulip) ที่มีลวดลายสลับสีในดอกเดียวกัน จะยิ่งแพงเป็นพิเศษ
1
แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับปริมาณที่ปลูกได้ เนื่องจากธรรมชาติของดอกทิวลิปถ้าปลูกจากเมล็ดจะใช้เวลาปลูกค่อนข้างนาน ซึ่งอีกวิธีที่จะปลูกได้คือเอาหัวทิวลิปไปปลูกต่อ คนเลยไปจองซื้อหัวทิวลิปกันตั้งแต่มันยังไม่ออกดอก
คนเริ่มซื้อขายหัวทิวลิปผ่านการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ซื้อและขายสิทธิ์ในการซื้อหัวทิวลิป) ยิ่งไปกว่านั้น พอเห็นว่าใคร ๆ ก็อยากได้ทิวลิป คนเลยเริ่มเข้าไปเก็งกำไรในหัวของมัน เพราะคิดว่ายังไงซื้อเก็บไว้ก่อน อนาคตก็คงขายต่อได้ในราคาที่แพงกว่า
และเมื่อทุกคนดูเหมือนจะทำเงินจากมันได้ง่าย ๆ นักเก็งกำไรหน้าใหม่เลยเริ่มสนใจเข้ามาในตลาดเพิ่ม จนดันให้ราคามันสูงขึ้นไปอีก
1
ว่ากันว่า…ในยุคนั้นดอกทิวลิปที่มีราคาสูงสุด คือ Semper Augustus ตอนนั้นราคาพุ่งขึ้นไปสูงจนมีมูลค่าเทียบได้กับราคาของคฤหาสน์บริเวณคลองใจกลางเมืองอัมสเตอร์ดัมเลยทีเดียว !
แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา พอถึงจุดหนึ่งที่ราคามันขึ้นไปสูงมาก ๆ ก็จะไปต่อไม่ได้ ผู้ซื้อเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าราคามันจะขึ้นได้อีก ทำให้ไม่มีคนยอมจ่ายเพื่อซื้อหัวทิวลิปในราคาที่สูงไปกว่านี้ จนราคาของหัวทิวลิปเริ่มลดลง
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาของมันลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีผู้ซื้อบางส่วนซื้อหัวทิวลิปด้วยการกู้ยืม โดยหวังว่าจะเอากำไรจากการขายมาใช้คืนเงินกู้
1
แต่พอราคามันไม่ขึ้นตามที่หวัง ผู้ซื้อก็ไม่สามารถชำระคืนเงินที่กู้มาได้จนถูกบังคับให้เลิกกิจการ และต้องขายหัวทิวลิปออกมาในราคาที่ต่ำลง ทำให้ราคาของมันยิ่งลดลงไปเรื่อย ๆ และไม่กลับมาสู่จุดสูงสุดเดิมอีกเลย
1
หลังจากนั้นมาพอสินทรัพย์ไหนกำลังถูกเก็งกำไรให้ราคาสูงขึ้นไปมาก ๆ คนก็มักจะเอากลับไปเปรียบเทียบกับกรณีฟองสบู่ในดอกทิวลิป
4
แต่พอปรากฏการณ์นี้เริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้น ก็มีข้อมูลใหม่ออกมาบอกว่า เรื่องนี้อาจมีบางส่วนที่เกินความจริง
1
โดยเฉพาะการโต้แย้งว่า ฟองสบู่ในดอกทิวลิปไม่ได้สร้างความเสียหายมากอย่างที่เล่ากันมา การซื้อขายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวงแคบของคนที่รู้จักกัน ความเสียหายจึงเกิดกับแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น อีกทั้งยังไม่พบข้อมูลว่ามีคนที่ได้รับความเสียหายมากจากฟองสบู่นี้
2
ถึงแม้เรื่องฟองสบู่ในดอกทิวลิปยังเป็นที่ถกเถียง แต่บทเรียนจากเรื่องนี้ก็สอนอะไรกับเราได้หลายอย่างเหมือนกัน นักเศรษฐศาสตร์นิยามปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นทฤษฎีไว้ในชื่อ “The Greater Fool Theory” หรือ “ทฤษฎีคนโง่กว่า”
ทฤษฎีนี้บอกไว้ว่าในภาวะฟองสบู่ ราคาและความต้องการของสินทรัพย์ไม่ได้ถูกกำหนดโดยมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ แต่เกิดจากความหวังว่าจะสามารถทำกำไรจากการขายสินทรัพย์ในราคาที่แพงกว่าในอนาคตได้
1
ผู้ซื้อบางคนจึงยอมซื้อในราคาที่สูงมาก เพื่อรอให้มีผู้ซื้อคนอื่นที่คิดเหมือนกันมาซื้อต่อในราคาที่สูงขึ้นไปอีก จนดันให้ราคาสินทรัพย์โดยรวมเพิ่มสูงขึ้นจนเกินกว่าที่ควรจะเป็น
3
แล้วถ้าเกิดหลงเข้าไปในวงจรนี้และออกมาไม่ทัน คนสุดท้ายที่เหลืออยู่ก็จะกลายเป็นคนที่สูญเสียมากที่สุด ทางที่ดีถ้าเห็นสินทรัพย์ไหนที่เกิดการเก็งกำไรมาก ๆ จนไม่ได้มีมูลค่าพื้นฐานมารองรับก็ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องแต่แรก
2
เพราะจากวิกฤติฟองสบู่แตกหลายต่อหลายครั้ง เราทุกคนก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่จะรู้ว่ามีฟองสบู่เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฟองสบู่นั้น...ได้แตกลงไปแล้ว
2
ถ้าใครชอบเรื่องวิกฤติการเงินแบบนี้ อยากให้ติดตามเพจของเราไว้ให้ดี เพราะตอนนี้เรามีซีรีส์ใหม่ที่ชื่อว่า #𝗛𝗼𝘄𝗖𝗿𝗶𝘀𝗶𝘀𝗪𝗼𝗿𝗸𝘀 ที่จะพาทุกคนย้อนเวลากลับไปเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ และในครั้งหน้าถ้าอยากให้เราเล่าวิกฤติเรื่องไหน คอมเมนต์กันมาได้เลยครับ
อ้างอิง
The Conversation
Oxford Business Review
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา