19 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
The Great Depression หายนะครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ
กลับมาอีกครั้งกับ ซีรีส์ 𝗛𝗼𝘄𝗖𝗿𝗶𝘀𝗶𝘀𝗪𝗼𝗿𝗸𝘀 มาครั้งนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับ วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบมหาศาลต่อภาคเศรษฐกิจและตลาดการเงิน กินระยะเวลายาวนานกว่าสิบปี นั่นก็คือ The Great Depression
The Great Depression มีจุดเริ่มต้นในเดือนตุลาคม ปี 1929 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทิ้งดิ่งอย่างรุนแรงติดต่อกันหลายวัน จากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มอ่อนแอ จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่
มีการประเมินกันว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงมากแม้แต่วิกฤติซับไพรม์ (Subprime Crisis) ในปี 2008 ก็ยังเทียบไม่ได้
ลองนึกเล่น ๆ ว่า 3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1929 เวลาผ่านไปเกือบ 100 ปี เงินจำนวนนั้นจะมีมูลค่าใหญ่โตขนาดไหน ไม่กล้าคิดเลย
🔮 3 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด The Great Depression
1. ภาคเกษตรกรรมขยายตัวสูงมาก นำไปสู่การกู้หนี้ก้อนใหญ่
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เกษตรกรต้องเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อส่งเสบียงอาหารให้กับกองทัพ นำไปสู่การขยายตัวของเกษตรกรรมครั้งใหญ่ เกษตรกรเริ่มขยายที่ดินออกไปอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การใช้เครื่องจักรทางการเกษตรเพื่ออำนวยความสะดวก สุดท้ายเกษตรกรจึงต้องกู้หนี้ก้อนใหญ่เพื่อลงทุน
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง เกษตรกรหลายครอบครัวก็ยังมีหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายคืน แต่ก็แลกมากับที่ดินทำกินขนาดใหญ่ ซึ่งดูเหมือนจะดี แต่สิ่งนี้เองที่นำไปสู่สาเหตุข้อที่ 2
2. ผลผลิตการเกษตรที่มากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ
หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด เป็นไปตามหลักอุปสงค์และอุปทาน เมื่อผู้บริโภคมีจำนวนลดลง ความต้องการสินค้าก็ลดลง แต่ผลผลิตกลับยังมีจำนวนมาก สุดท้ายราคาสินค้าเกษตรจึงตกต่ำลง เพราะทุกคนก็อยากขายสินค้าของตัวเอง เลยพากันลดราคาขายลงนั่นเอง
เคราะห์ซ้ำสอง เพราะนอกจากราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำแล้ว ค่าแรงก็ยังตกต่ำด้วย จากสาเหตุข้อที่ 3
3. แรงงานล้นตลาด ทำให้ค่าแรงลดลง
หลังจบสงครามโลก ทหารจำนวนมหาศาลก็ถูกปลดประจำการ ทำให้ต้องหางานทำใหม่ จึงเทเข้ามาเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ที่ขยายตัวสูงมากในช่วงก่อนหน้านี้
ด้วยแรงงานจำนวนมหาศาลนี้เอง ทำให้ค่าแรงยิ่งตกต่ำลงไปด้วย หนีไม่พ้นหลักอุปสงค์และอุปทาน
🔮 เมื่อนำทั้ง 3 ข้อนี้มารวมกัน ทำให้ในทศวรรษ 1920 ภาคเกษตรกรรมในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความยากลำบากครั้งใหญ่ รายได้ลดลง แต่หนี้ที่ต้องจ่ายยังอยู่เหมือนเดิม สุดท้ายเมื่อจ่ายหนี้ไม่ไหว ก็เกิดเป็นหนี้เสีย เจ้าหนี้ทั้งหลายเลยเข้ามายึดที่ดินและเครื่องมือทำกินไป
หนี้เสียที่เกิดขึ้นมีจำนวนมาก และเริ่มส่งผลกระทบเป็นเหมือนโดมิโนที่ล้มต่อกันไปเรื่อย ๆ
สาเหตุมาจาก ในทศวรรษ 1920 เป็นช่วงที่หลายประเทศต้องการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของตัวเอง หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ปล่อยเงินกู้ได้โดยง่าย เพราะลงทุนอะไรก็เติบโตไปหมด จากรากฐานที่ตกต่ำมากในช่วงสงคราม
📌 แต่เรื่องนี้ก็มีเงื่อนงำจนได้ เพราะแม้ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจทั่วไป แต่เงินส่วนใหญ่กลับไหลเข้าไปสู่การลงทุนในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์
1
🤔 เหตุการณ์คุ้น ๆ มั้ยครับ ? ใช่แล้ว มันคล้ายกับวิกฤติซับไพรม์ หรือวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เคยเล่าไปแล้ว
อ่านได้ที่นี่ www.blockdit.com/posts/61f900ecce9ee4d7f0c161f5
จุดจบของวิกฤตินี้ ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเงินจำนวนมากที่ไหลเข้าตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งทะยานขึ้นมากหลายเท่าตัว เกิดนักลงทุนผู้ร่ำรวยมากมาย ทำให้นักลงทุนต่างเชื่อกันว่าตลาดหุ้น คือความหวังใหม่ที่จะทำให้ทุกคนรวยได้ และยิ่งกู้เงินเพิ่มเพื่อเข้ามาลงทุนอีก
สุดท้ายทุกคนก็ต้องตื่นจากฝัน เหมือนกับฟองสบู่ที่ต้องแตกลงในที่สุด
เพราะช่วงปลายทศวรรษ 1920 สัญญาณเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มแผ่วลง ทั้งยอดการผลิตรถยนต์ที่ชะลอตัว รวมไปถึงมีบ้านสร้างใหม่ลดลงต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลงอย่างรวดเร็ว
ทำให้ราคาหุ้นเริ่มทยอยปรับลดลง จนกระทั่งปลายเดือนตุลาคม 1929 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทิ้งดิ่งอย่างรุนแรงราว 10-12% ต่อวัน เป็นจุดจบของฟองสบู่ในครั้งนี้
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ คือ ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ เราควรเข้าใจกลไกของตลาดหุ้น และรู้ว่าราคาหุ้นเคลื่อนไหวมาจากอะไร
✍️ สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า ในตลาดหุ้นมักมีคำพูดที่ว่า “ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม (This time it’s different)” แต่มันจริงรึเปล่า ? ลองสังเกตดู ทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นมันมักมีจุดร่วมอะไรบางอย่างเสมอ
อ้างอิง
Crash Course
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา