13 มิ.ย. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มหาวิกฤติเงินเฟ้อสหรัฐฯ สู่เศรษฐกิจถดถอย 2 รอบติด
‘เงินเฟ้อ’ ใครก็รู้ว่าเกิดจากราคาข้าวของแพงขึ้น
แต่ถ้าเงินเฟ้อยังขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ จนเป็นเลข 2 หลัก มันจะเกิดอะไรขึ้น ?
ล่าสุดเงินเฟ้อไทย +7.10% YoY สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วนเงินเฟ้อสหรัฐฯ +8.30% YoY สูงสุดในรอบ 40 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิ.ย. 65)
แต่นี่เป็นเพียงเลขค่าเฉลี่ย ถ้าเราไปดูไส้ในจะเห็นว่าราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง) +37.24% และอาหาร +6.18%
นั่นแปลว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นไปรอก่อนแล้ว แต่เงินเดือนจะปรับตามทัน หรือจะปรับขึ้นรึเปล่าก็ยังไม่รู้ แล้วทิศทางของเงินเฟ้อจะเป็นยังไงต่อ นี่จึงเป็นคำถามที่ตอบยาก
แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้เริ่มมีเสียงจากนักลงทุนระดับโลกอย่าง Ray Dalio ที่ออกมาเตือนแล้วว่าสหรัฐฯ อาจกำลังเข้าสู่มหาวิกฤติเงินเฟ้อ (The Great Inflation) เหมือนในช่วงทศวรรษ 1970
1
นั่นคือช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับเงินเฟ้อในระดับสูงต่อเนื่องหลายปี โดยอยู่ระดับสูงสุดที่ 14.80% เมื่อต้นปี 1980 ซึ่งผลกระทบของมันไม่ใช่แค่เรื่องราคาสินค้าแพงขึ้น แต่ยังนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 2 รอบติดกัน (Double-Dip Recession)
วิกฤติในตอนนั้นมีที่มาที่ไปยังไง เรามาดูไปพร้อมกัน
💎 3 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด ‘มหาวิกฤติเงินเฟ้อสหรัฐฯ’
🖋 1. สหรัฐฯ กู้เงินจำนวนมหาศาล
ในปี 1963-1969 สมัย ปธน. Lyndon B. Johnson
ได้ดำเนินนโยบายหลายอย่างที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ นโยบาย ‘The Great Society’ ที่มุ่งกำจัดความยากจนในประเทศ ด้วยการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และสิทธิพลเมืองในการออกเสียง
นอกจากนั้นยังมีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากเข้าร่วม ‘สงครามเวียดนาม’ เพื่อขัดขวางลัทธิคอมมิวนิสต์อีกด้วย
นโยบายเหล่านี้นำไปสู่การใช้จ่ายที่เกินตัวของภาครัฐ สุดท้ายจึงทำให้สหรัฐฯ ต้องกู้เงินเพิ่มจำนวนมหาศาล
📜 เงินเฟ้อในช่วงปี 1965-1969
ไต่ระดับจาก 1.20% สู่ 5.80% ดูแค่นี้ก็เหมือนจะยังไม่น่าตื่นเต้นอะไร แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น
🖋 2. สหรัฐฯ ยกเลิกระบบ Bretton Wood และใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไป
ในปี 1969-1974 สมัยของ ปธน. Richard Nixon
เดิมทีโลกเรามีระบบการเงิน Bretton Wood ที่หวังว่าจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกมีเสถียรภาพ ไม่มีการปั่นค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านการค้า
โดยให้นานาประเทศทั่วโลก ผูกสกุลเงินตัวเองไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าคงที่ค่าหนึ่ง และสหรัฐฯ จะยอมให้เอาเงิน 35 ดอลลาร์ มาแลกกับทองคำ 1 ออนซ์ได้ตลอดเวลา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการถือดอลลาร์สหรัฐ ก็เหมือนการถือทองคำ
แต่ด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐที่เกินตัวในยุคก่อนหน้านี้ ทำให้ทองคำที่สหรัฐฯ ถืออยู่ไม่สอดคล้องกับเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ
สุดท้าย ปธน. Nixon ก็ประกาศยกเลิกการแลกเงินดอลลาร์กับทองคำ ทำให้ความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์สหรัฐทิ้งดิ่งลงทันที
เงินดอลลาร์ยังถูกซ้ำเติมอีก หลัง ปธน. Nixon เข้าไปแทรกแซงธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้อัดฉีดเงินเข้าระบบมากขึ้น และควบคุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ
📜 เงินเฟ้อในช่วงปี 1970-1974
เงินเฟ้อยังไปต่อจาก 6.30% สู่ 8.30% ทีนี้หลายอย่างเริ่มดูไม่ดีแล้ว ด้วยการปล่อยให้เงินเฟ้อค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นทีละน้อย เป็นเวลานานหลายปี ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าเงินเฟ้อน่าจะไม่ใช่เรื่องชั่วคราว และอาจเรื้อรังต่อไปเรื่อย ๆ
📜 นำไปสู่วงจรอุบาทว์ (Vicious Cycle)
เมื่อราคาสินค้าปรับตัวขึ้นยาวนานต่อเนื่อง ด้านแรงงานก็อยู่ไม่ได้ เพราะรายได้ไม่ได้ปรับขึ้นตาม สุดท้ายต้องไปกดดันสหภาพแรงงานให้ขึ้นค่าแรง
ทีนี้เมื่อบริษัทมีต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ก็เลยปรับราคาสินค้าขึ้นอีก แรงงานจึงอยู่ไม่ได้อีกแล้ว และขั้นตอนทุกอย่างก็จะวนไปเรื่อย ๆ แบบนี้ไม่รู้จบ
🖋 3. OPEC หยุดขายน้ำมันดิบให้สหรัฐฯ (OPEC Oil Embargo)
เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วง 1973-1974
ผลลัพธ์ คือ สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งในสหรัฐฯ ไม่มีน้ำมันขาย ผู้คนต้องต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอการเติมน้ำมันที่ไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นราว 4 เท่า เพราะในตอนนั้นสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก
2
หลังจากนั้นราคาน้ำมันก็ยังไม่มีทีท่าจะกลับมาในระดับช่วงก่อนหน้านี้ได้เลย แม้เหตุการณ์นี้จะจบลงไปแล้วก็ตาม
1
📜 เงินเฟ้อในช่วงปี 1975-1980
เงินเฟ้อยังวิ่งขึ้นไปต่อแบบไม่เหนื่อย จาก 9.10% สู่ 12.40% แต่ระหว่างนั้นเงินเฟ้อเคยขึ้นไปแตะที่ระดับ 14.80% ด้วย
💎 Fed งัดยาแรงยับยั้งมหาวิกฤติเงินเฟ้อ
ในปี 1979-1987 สมัยเมื่อ Paul Volcker เป็นประธาน Fed
Volker ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 10.9% ในเดือนสิงหาคม 1979 เป็น 17.6% ในอีก 8 เดือนต่อมา ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
หลังจากนั้นมหาวิกฤติเงินเฟ้อก็จบลงในที่สุด แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขนาดนี้ทำให้ทั้งผู้คนและธุรกิจต่างก็แย่ไปตามกัน อัตราการว่างงานสูงขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว
💎 ‘เจ็บแต่เกือบไม่จบ’
Fed ยังต้องรักษาดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเกือบ 20.0% ต่อเนื่องไปจนถึงกรกฎาคม 1981 เพื่อให้แน่ใจว่าควบคุมเงินเฟ้อได้อย่างแน่นอน
นี่เองที่นำพาสหรัฐฯ ไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 2 รอบติดกัน (Double-Dip Recession)
‘Double-Dip Recession’ คือ เมื่อเศรษฐกิจหดตัว (GDP ติดลบ) หลังจากนั้นไม่นานก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว (GDP เป็นบวก) แต่สุดท้ายก็กลับมาหดตัวอีกครั้ง (GDP ติดลบ) ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จึงมีชื่อเล่นว่า ‘การฟื้นตัวแบบ W-Shaped’
📜 GDP สหรัฐฯ
ปี 1979 ขยายตัว 3.2%
ปี 1980 หดตัว 0.2%
ปี 1981 ขยายตัว 2.6%
ปี 1982 หดตัว 1.9%
ดูแค่นี้เหมือนจะหดตัวไม่มาก แต่จริง ๆ แล้ว GDP สหรัฐฯ ตอนนั้นแทบจะเคลื่อนไหวเหมือนคลื่นไฟฟ้าหัวใจเลย
ยิ่งถ้าดูเป็นรายไตรมาส จะพบว่า
ในไตรมาส 2 ปี 1980 GDP หดตัวสูงถึง 8.0% และ
ไตรมาส 1 ปี 1982 GDP หดตัวอีกราว 6.0%
GDP สหรัฐฯ ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย
📌 สรุปส่งท้าย จะเห็นได้ว่าปัญหามหาวิกฤติเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ข้ามคืน แต่มันเป็นการสะสมปัญหาหลาย ๆ อย่างมาเป็นเวลานานหลายปี
ในยุคนั้น Fed ก็ยังไม่มีเป้าหมายในการควบคุมเงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพ สิ่งเดียวที่ Fed สนใจคือ การลดอัตราการว่างงานให้ต่ำที่สุดเท่านั้น
อีกทั้งนโยบายทางการเงินที่ไม่เป็นอิสระ ถูกครอบงำจากเป้าหมายทางการเมืองที่มุ่งเน้นแต่ประโยชน์ระยะสั้นมากเกินไป จนลืมไปว่ามันอาจนำไปสู่ปัญหาระยะยาวได้นั่นเอง
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา