19 ม.ค. 2022 เวลา 02:40 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
EP.2 ความรักบนเส้นขนานที่38: ประชาธิปไตยเกาหลีที่กำลังเบ่งบานเฉกเช่น Snowdrop
(ขอความกรุณาไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำเนื้อหาในบทความต่อไปนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หากต้องการนำเนื้อหาไปใช้รบกวนอ้างอิง หรือให้เครดิตหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ)
ต้นปี 2022 หน้าหนาวนี้ ละครเกาหลีที่ผู้เขียนโปรดปรานเป็นพิเศษคงไม่พ้นเรื่อง Snowdrop (2021) ละครที่มีกระแสดราม่าตั้งแต่มีข่าวเริ่มผลิต ชาวเกาหลีต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องย่อละครที่เผยแพร่ออกมาช่วงกลางปี 2021 ว่ามีเค้าจะบิดเบือนประวัติศาสตร์เกาหลี เนื่องจากอิมซูโฮ (รับบทโดย จองแฮอิน) สายลับเกาหลีเหนือ หนีการไล่ล่าจากเจ้าหน้าที่ทางการมาถึงหอพักมหาวิทยาลัยสตรีแห่งหนึ่งในโซล และได้รับการช่วยเหลือจาก อึนยองโน (รับบทโดย จีซู Blackpink) นักศึกษาที่เข้าใจว่าพระเอกของเราเป็นนักศึกษาที่กำลังประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย (ส่อแววจะบิดเบือนยังไง…เดี๋ยวมาขยายต่ออีกทีค่ะ)
ถัดมาปลายปี 2021 ได้ฤกษ์ออนแอร์ ละครก็ถูกทัวร์ลงจากคนดูที่รวมตัวกันล่ารายชื่อ ยื่นเรื่องถึงทำเนียบประธานาธิบดีขอให้ระงับการออกอากาศละครเรื่องนี้ รวมถึงกระแสคว่ำบาตร (Cancel culture) จากคนดูและสปอนเซอร์โฆษณา แต่สุดท้ายทางผู้ผลิตก็ยืนกราน โต้แย้งเสียงวิจารณ์จนละครได้ออนแอร์ต่อมาถึงวันนี้ ดราม่านี้จึงจุดประกายให้ผู้เขียน ในฐานะคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมเกาหลี อยากดูSnowdrop เพื่อหาคำตอบ และคลายข้อสงสัยที่เกิดจากดราม่า เชื่อว่าคุณผู้อ่านบางคนก็น่าจะสงสัยเหมือนกัน….
อึนยองโน นักศึกษาชั้นปี1 เอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ รับบทโดย จีซู Blackpink
ตามคอนเซปต์เดิมของเพจเรา จะไม่สปอยล์เนื้อเรื่องส่วนสำคัญ แต่ขอชวนเม้ามอยวัฒนธรรมและเกร็ดความรู้ที่ปรากฏในเรื่อง จะขอแง้มสักนิดว่า ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวความรักของพระเอกที่เป็นทหารจากเกาหลีเหนือ และนักศึกษาสาวเกาหลีใต้...แต่ความรักของทั้งคู่เกิดขึ้นบนประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ ช่วงเวลาที่การเมืองในเกาหลีใต้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่…คนที่ดูละครเรื่องนี้ไปได้สัก 2-3 ตอนแล้ว อาจจะมีคำถามว่าทำไมรัฐบาลที่เป็นตัวละครสมมติในเรื่องถึงอยากชนะการเลือกตั้งในสมัยต่อไป ถึงขนาดทำทุกวิถีทางโดยไม่สนศีลธรรมและอุดมการณ์ของชาติ Ep.นี้นักเล่าเรื่องซอขอสวมบท “อึนยองโน” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสตรีโฮซู พาทุกคนไปกะเทาะทุกคำตอบ เจาะลึกทุกข้อสงสัยผ่านบริบทการเมืองและเศรษฐกิจเกาหลีใต้ระหว่างปีค.ศ. 1950 ถึงทศวรรษปี ค.ศ. 1980 กันค่ะ
แผนที่เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงสงครามเย็นในปี 1959
เรื่องราวใน Snowdrop ถูกสมมติขึ้นในช่วงสงครามเย็น (1947-1991) ขั้วอำนาจทางการเมืองแบ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมี “สหรัฐอเมริกา” เป็นผู้นำ และฝ่ายคอมมิวนิสต์มี “สหภาพโซเวียต” เป็นผู้นำ ในปี 1945 การประชุมที่มอสโกเพื่อหาทางออกเรื่องการมอบเอกราชให้เกาหลีหลังจากถูกญี่ปุ่นยึดเป็นอาณานิคม (1910-1945) ล้มเหลว เมื่อฝ่ายขวาที่เป็นชาตินิยม(เกาหลีใต้) ปฏิเสธการเป็น “Trusteeship” หรือดินแดนที่ต้องมีฝ่ายสัมพันธมิตร หรือประเทศผู้นำที่ชนะสงครามโลกครั้งที่สองเข้าไปดูแล ส่วนฝ่ายซ้าย(เกาหลีเหนือ) ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เพราะต้องการได้รับเอกราชโดยเร็ว และไม่ต้องการรัฐบาลชั่วคราว รวมถึงปฏิเสธการเลือกตั้งรัฐบาลชุดเดียวที่มีสหประชาชาติเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้ในปี 1948 เกาหลีจึงถูกแบ่งที่เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ และสถาประเทศเป็นสาธารณรัฐเกาหลี(ใต้) และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี(เหนือ)
หลังจากนี้ผู้เขียนจะขอเน้นไปที่บริบทสังคมของเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1950 เป็นต้นไป ถึงปลายทศวรรษที่ 1980 (ละครเรื่อง Snowdrop Ep.1 เริ่มเล่าในปีค.ศ. 1987) นักการเมืองสายทหารที่ผู้อ่านต้องรู้จัก และจำหน้าพวกเขาไว้ก่อนมีทั้งหมด 4 ท่านด้วยกันคือ
  • 1.
    อีซึงมัน ประธานาธิบดีคนที่ 1 (1948-1960 - ปกครอง 3 สมัย : 12 ปี)
  • 2.
    พัคจองฮี ประธานาธิบดีคนที่ 3 (1963-1979 ปกครอง 5 สมัย : 16 ปี)
  • 3.
    ช็อน ดู-ฮวัน ประธานาธิบดีคนที่ 5 (1980-1988 ปกครอง 2 สมัย : 8 ปี)
  • 4.
    โน แทอู ประธานาธิบดีคนที่ 6 (1988-1993 ปกครอง 1 สมัย : 5 ปี)
ผู้เขียนจะขอแบ่ง Timeline เล่าการเมืองและเศรษฐกิจในเกาหลีใต้เป็น 5 ยุคสาธารณรัฐ ตามการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเหมือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ดังนี้ค่ะ
ยุคสาธารณรัฐที่ 1 (1948-1960) – รัฐบาลอีซึงมัน
ในปี ค.ศ. 1948 สหประชาชาติจัดการเลือกตั้งครั้งที่ 1 โดยชาวเกาหลีเลือกระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี มีสภาสมัชชาแห่งชาติ อีซึงมันเป็นพลเรือนที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรก เพราะเขาเคยเป็นแกนนำขบวนเรียกร้องเอกราชที่สหรัฐอเมริกามาก่อน อีซึงมันดำเนินการปกครองด้วยการต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นหลัก รัฐจะควบคุมธุรกิจบางประเภท เช่น คมนาคมขนส่ง สื่อ การไฟฟ้า การประปา หนึ่งในผลงานที่เป็นที่พูดถึงคือ “การปฏิรูปที่ดิน” เพื่อเรียกกระแสนิยม กล่าวคือ ระบบเจ้าของที่ดินหายไป โดยที่ดินจะถูกแบ่งขายไปยังชาวนาในจำนวนเท่ากัน เอาใจชนชั้นรากหญ้า แต่ทำให้ชนชั้นกลางเจ็บปวด ทว่าสุดท้ายชาวนาก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ
ด้านเศรษฐกิจ อีซึงมันปรับปรุงอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยการขายสินทรัพย์ที่เคยเป็นของจักรวรรดิญี่ปุ่นให้นายทุนในราคาถูก ธุรกิจแบบแชบอล (Chaebol, 재벌 財閥) หรือกลุ่มนักธุรกิจที่มั่งคั่งเริ่มก่อตัว บริษัทมีบริษัทเดียวแต่อาจจะทำหลายกิจการ บริหารงานคล้าย ๆ กับระบบกงสี (ไม่ให้คนนอกตระกูลเข้ามาบริหารงาน) บริษัทกลุ่มแชบอลที่โด่งดัง เช่น Samsung POSCO HYUNDAI Hanjin Group (Korean Airline) LG Lotte ถ้าให้โยงเข้ากับละคร เรามักจะเห็นพระเอก นางเอกบางเรื่องโตมาในตระกูลที่ร่ำรวย เช่น ยุน-เซรี ใน Crash Landing on You (2019)
สหรัฐอเมริกาหวาดกลัวการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศที่ยากจนหลังเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมีการใช้“แผนการมาร์แชล” (Marshall Plan) ให้เงินช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจแก่ประเทศยุโรปตะวันตก รวมถึงให้เงินอุดหนุนประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะถูกคอมมิวนิสต์คุกคาม หนึ่งในนั้นก็คือเกาหลีใต้นั่นเองค่ะ อีซึงมันได้นำเงินจากสหรัฐไปจัดระบบกองทัพ แก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร ส่วนวัตถุดิบจำพวกฝ้าย น้ำตาล ข้าวสาลีก็นำไปพัฒนาอุตสาหกรรมเบาภายในประเทศ จะเห็นว่าช่วงนี้เกาหลีใต้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติพอสมควร จึงทำให้เกิดความซบเซาในธุรกิจบางส่วน เช่น ภาคเกษตรกรรม ภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงแรกเกาหลีใต้จึงตามหลังเกาหลีเหนือ (อุตสาหกรรมหนัก ธุรกิจถ่านหิน แหล่งพลังงานส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเกาหลีเหนือ)
1
ปี1950 เหนือ+ใต้ต่างอยากเป็นหนึ่งเดียว อีกฝ่ายเลยต้องถูกกำจัด เหนือเริ่มแผนรวมประเทศ ช่วงแรกเหนือยึดใต้ได้เกือบหมด(ปวศ.ฝั่งเหนือเล่าว่าใต้เป็นฝ่ายบุกก่อน) แต่พอUSA+กองกำลังUN เข้าร่วม ทิศทางเปลี่ยนเป็นฝั่งใต้ได้เปรียบ จีนไม่พอใจ เข้าร่วมสงครามด้วย ฝั่งUN ต้องถอนกำลังจากโซล แต่สุดท้ายรุกได้พื้นที่เดิมคืน ในปี1953 2ฝ่ายทำสัญญาหยุดยิง แต่สงครามยังไม่จบ เส้นขนานที่ 38 กลายเป็นพื้นที่สงบศึกชั่วคราว
ในช่วง 1950 มีการเลือกสมาชิกสภาอีกรอบ ปรากฏว่ามีเสียงสนับสนุนอีซึงมันนิดเดียว ทำให้เขามั่นใจว่าคงไม่ได้เลือกตั้งต่ออีกสมัย จึงใช้กำลังทหารและตำรวจบีบสมาชิกสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง ปรากฏว่าไม่มีคู่แข่ง อีซึงมันเลยชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 ถามว่าทำไมไม่มีคู่แข่ง เพราะอีซึงมันออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (แต่จริง ๆ เพื่อความมั่นคงของตัวเอง) ลงโทษผู้ที่ไม่รักชาติ และมีแนวโน้มเป็นคอมมิวนิสต์ นักการเมืองคนไหนมีประชาชนสนับสนุนก็ถูกจับและประหารชีวิต เกิดการกำจัดคู่แข่งด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ฝักใฝ่เกาหลีเหนือ เพราะสงครามเกาหลีทวีความรุนแรง (1950-1953)
April 19th Movement in 1960
ใกล้ครบวาระที่ 2 อีซึงมันก็แก้รัฐธรรมนูญอย่างไม่ชอบธรรมอีก รอบนี้คือให้ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่มีกำหนดวาระ สมัย 3 เลยได้ไปต่อ ถัดมา ปี 1960 ประชาชนเริ่มเอือมความเป็นเผด็จการ ทุกครั้งที่เลือกตั้งมีผู้สมัครคนเดียว ยิ่งในปีนี้มีการโกงเลือกตั้ง (มีบัตรล่องหนมาจากไหนก็ไม่รู้) ชนะสมัย 4 หน้าตาลอย ๆ ส่งผลให้ในวันที่ 19 เมษายน นักศึกษา และประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้องให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และขับไล่อีซึงมัน แม้อีซึงมันจะประกาศสภาวะฉุกเฉิน แต่ก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ สุดท้ายอีซึงมันลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา และเสียชีวิตที่นู้นในเวลาต่อมา
2
ยุคสาธารณรัฐที่ 2 (1960-1961) – รัฐบาลพัคจองฮี
May 16th Military Coup d’état in 1961 พัคจองฮีคือคนที่สวมแว่นดำ อยู่ซ้ายสุด ถ้าจำหน้าไม่ได้ ลองย้อนกลับไปดูด้านบน ตอนแนะนำบุคคลสำคัญนะคะ
หลังอีซึงมันลี้ภัย มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจประธานาธิบดี โดยเพิ่มระบบอำนาจสูงสุดให้อยู่ที่นายกฯแทน แม้จะมีการกวาดล้างเครือข่ายของอีซึงมัน แต่ผลลัพธ์ล้มเหลว เพราะฝ่ายอำนาจใหม่ชนะเลือกตั้งมาแบบฉิวเฉียด เศรษฐกิจถดถอย เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง คนว่างงาน เพราะสงครามเย็นทั่วโลกตึงเครียด ในเดือนพฤษภาคม 1961 พัคจองฮี อาศัยปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังและการทุจริตคอรัปชัน ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำรัฐประหาร ขอเวลาประชาชนอีกไม่นาน แก้ไขปัญหาบ้านเมือง แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา… คณะรัฐประหารยกเลิกสภาเดิม แล้วตั้ง “สภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูชาติ” อำนาจสูงสุดอยู่ที่พัคจองฮี
แคมเปญ 'หมู่บ้านใหม่' หนึ่งในผลงานของพัคจองฮี ปลูกฝังให้ชาวบ้านขยันขันแข็ง ช่วยกันพลิกฟื้นพื้นที่ชนบทให้ทันสมัย
พัคจองฮีชูนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ ปราบปรามคอมมิวนิสต์ และต้องการรวมประเทศเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง นโยบายที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 1 (1962-1966) เน้นการส่งสินค้าออก พัฒนาความเจริญให้ชนบทด้วยแคมเปญ “เซ-มาอึล” แปลว่า หมู่บ้านใหม่ (새마을 운동) และให้ความสำคัญเรื่องการศึกษากับประชาชน (อัตราการเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายในช่วงปี 1970 อยู่ที่ประมาณ 65%) เศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1960 เริ่มฟื้นตัว มีการตั้งธนาคารของรัฐเพื่อให้เงินทุนกับภาคอุตสาหกรรม พัคจองฮีไม่ได้เอาเงินกู้ จากต่างชาติมาโปรยแจกเล่นเป็นรายคน แต่เลือกใช้เงินบริหารถูกจุด โดยให้เงินสนับสนุนธุรกิจเอกชนที่ควรพัฒนา มีข้อตกลงว่ารัฐจะให้ดอกเบี้ยเงินทุนต่ำ แต่เอกชนต้องลงทุนหนัก (ขอคนจริง ไม่เอาคนเล่น)
ช่วงต้น 60s ธุรกิจเอกชนข้างต้น ส่งออกอุตสาหกรรมเบาเป็นหลัก เช่น สิ่งทอ รองเท้า ไม้อัด โดยผลิตจากวัตถุดิบที่ซื้อมาจากต่างชาติอีกที ต่อมากลาง60s อุตสาหกรรมเหล็ก และปิโตรเคมีได้รับความนิยม และเป็นส่วนสำคัญในภาคอุตสาหกรรม พัคจองฮีเลยเปลี่ยนเกษตรกรรมเป็นธุรกิจเลี้ยงคนในประเทศ แล้วเลือกผลิตวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ซีเมนต์ เน้นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป (semi-product) จากเดิมเอาวัตถุดิบจากต่างชาติมาผลิต เปลี่ยนมาผลิตวัตถุดิบให้ต่างชาติเอาไปผลิตต่อ แล้วส่งออกรัว ๆ ถามว่าทำไมถึงส่งออกได้ดี เพราะรัฐเน้นให้สินค้าของเกาหลีถูก มีการจ้างแรงงานในราคาถูก รวมถึงลดค่าเงินวอน (ค่าเงินวอนอ่อนตัว) ยกกำแพงภาษีสูง ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันสินค้าแบรนด์ประเทศ national brand เลยบูมช่วงนี้มาก (เกาหลีทำ เกาหลีซื้อ เกาหลีใช้) ผลประโยชน์ต้องอยู่ที่ประเทศชาติ!! ช่วงนี้เองที่ธุรกิจแชบอลร่ำรวยเป็นกอบเป็นกำ
2
ยุคสาธารณรัฐที่ 3 (1963-1972) – รัฐบาลพัคจองฮี
1
ตัดมาที่พาร์ทการเมือง ในปี 1960-1961 พัคจองฮี ตั้ง “หน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติเกาหลี” (National Intelligence Service : NIS 국가정보원) มีสำนักข่าวกรองกลางเกาหลี (Korean Central Intelligence Agency :KCIA 중앙정보부) อยู่ในการกำกับดูแล ตามรอย CIA ของสหรัฐอเมริกา โดย KCIA มีคิมจงพิลเป็นผู้นำหน่วย สนับสนุนนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์เป็นหลัก ฉากหน้าของหน่วยงานคือเพื่อความมั่นคงของประเทศ แต่ฉากหลังอย่างที่รู้กันคือเป็นหน่วยงานรับใช้รัฐบาลทหารที่เล่นการเมือง
คุณผู้อ่านคนไหนอยากเห็นภาพมากขึ้น ให้นึกถึงหน่วยงานที่นางเอกจากเรื่อง Vagabond (2019) “โกแฮรี”ทำงานอยู่ค่ะ หน่วยงานเดียวกันเลย
คิมจงพิลใช้เครือข่าย KCIA และเงินทุนจากนักธุรกิจตั้งพรรคการเมือง Democratic Republican Party (DRP) ในช่วงที่พัคจองฮีใกล้แก้ปัญหาเศรษฐกิจเสร็จ และครบกำหนดเวลาที่สัญญากับประชาชนไว้ พัคจองฮีประกาศลั่นว่าจะไม่เล่นการเมือง และจะไม่สืบทอดอำนาจตัวเอง แต่พอใกล้เวลาเลือกตั้ง พัคจองฮีก็ได้ลาออกจากกองทัพ ด้านพรรค DRP ก็ส่งพัคจองฮีเป็น candidate ประธานาธิบดี (คล้าย ๆ กับบางประเทศมั้ยคะ? ) ในยุคนี้พัคจองฮีทำผลงานไว้เยอะ จึงไม่แปลกที่เขาจะได้ชนะเลือกตั้งไป 2 สมัย คือในปี 1963 และ 1967 ตามลำดับ พัคจองฮีเริ่มทำการสืบทอดอำนาจตัวเองด้วยฝังหัวประชาชนว่าเวทีการเมืองต้องมีกฎหมายกำกับดูแล มีการออกกฎหมายไม่เป็นธรรม เล่นงานฝ่ายค้าน เมื่อครบวาระ 2 ปี ในปี 1971 พัคจองฮีก็แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อย ๆ แบบที่อีซึงมันทำ ทำให้ตัวเองได้ชนะเลือกตั้งสมัย 3 ในปี 1972
2
พัคจองฮีทำพิธีเปิดทางด่วนคยองบู สายโซล-ปูซาน เงินทุนที่ใช้สร้างทางด่วนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเบี้ยเลี้ยงของทหารเกาหลีที่ไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม
พัคจองฮีเดินหน้าใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่สองต่อ (1967-1971) ยังคงเน้นส่งออกธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักเหมือนเดิม มีการออกกลยุทธ์สนับสนุนอุตสาหกรรม 6 ประเภท ได้แก่ เหล็ก เครื่องจักร การต่อเรือ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และโลหะประเภทที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบเล็กน้อย เช่น ดีบุก สังกะสี ในปี 1968 มีการสร้างด่วนคยองบูสายแรกเพื่อเชื่อมความเจริญจากโซลถึงปูซาน เกิดเขตอุตสาหกรรมที่เขตยองนัม ในจังหวัดคยองซังใต้ เช่น ธุรกิจปิโตรเคมีในเมืองอุลซัน(ใกล้ ๆ กับปูซาน) ผลผลิตในภาคอุตสาหรรมสูงขึ้นอย่างมาก อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 9.9% GNP ในปี 1974 อยู่ที่ 561$ เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากในปี 1964 อยู่ที่ 103$ ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วทำให้ทั่วโลกขนานนามเกาหลีว่า “มหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำฮัน” (Miracle on the Hangang, 한강의 기적)
ภายใต้ความเจริญรุดหน้าของเศรษฐกิจ ด้านใต้กลับมีพายุปัญหาสังคมหลายเรื่องกำลังก่อตัวอยู่ ในปี 1965 รัฐบาลเกาหลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับญี่ปุ่น (Korea-Japan Pact) โดยไม่รับคำขอโทษ และการชดเชยความเสียหายในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดเกาหลีเป็นอาณานิคม โดยอ้างว่าต้องการเงินทุนมาพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกันก็ส่งเด็กหนุ่มเกาหลีใต้ไปร่วมรบ ในสงครามเวียดนาม (1955 – 1975) คนเกาหลีได้รับสิทธิ์พิเศษจากกองทัพสหรัฐ (월남특수) สามารถหาเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการได้รับสิทธิ์ขนส่งเสบียงทหารสหรัฐในเวียดนาม (แอบเม้าเพิ่มว่า แชบอล Hanjin group เป็นบริษัทใหญ่ที่เติบโตจากการได้สิทธิ์พิเศษในเวียดนาม) รายได้จากเบี้ยเลี้ยงของทหารเกาหลีที่ถูกส่งไปเสี่ยงชีวิตที่เวียดนามอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านวอน ช่วงสงครามเวียดนาม ชาวเกาหลีขนเงินดอลลาร์ กลับมาที่เกาหลีได้เยอะมาก และยิ่งพัคจองฮีใช้นโยบายลดค่าเงินวอน นอกจากผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์แล้ว คนที่ทำงานต่างประเทศจะนำเงินสกุลนอกมาแลกเป็นเงินวอนได้มากขึ้นแต่ลองคิดตามดูว่าเงินที่ได้มาจะคุ้มกับชีวิตที่เสียไปมั้ย?? ทหารที่เข้าร่วมรบตายประมาณ 4,600 คน ในบันทึกบอกว่านับเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากพักรบกับเกาหลีเหนือ
รูปบน : 'อี-บย็องชอล' ประธานซัมซุงกรุ๊ป(คนกลาง) เข้าพบพัคจองฮี(คนขวา) // รูปล่าง : 'ช็อง-จูยอง' ประธานฮุนได(คนขวาสุด) ร่วมเฟรมกับพัคจองฮี(คนตรงกลาง)
นอกจากที่เล่ามาจะเห็นว่ารัฐเน้นอวย สนับสนุนแต่ธุรกิจกลุ่มแชบอล จนมองข้ามธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง (รวยกระจุก จนกระจาย) ปัญหาที่หนักสุดคือรัฐไม่สนใจสิทธิ์ ความเป็นอยู่ของแรงงานถูกกดขี่สารพัด ต้องทำ OT แต่ได้ค่าจ้างเท่าเดิม (ยิ่งต่อมาอยากแข่งส่งออกกับญี่ปุ่นและจีน เลยลดค่าแรงให้ต่ำลงไปอีก เพื่อต้นทุนการผลิตจะได้ถูกขึ้น) ชาวนาในชนบทไม่ได้รับค่าแรงอย่างเหมาะสม มีการตั้งเพดานราคาเพื่อตรึงราคาอาหารให้ต่ำพอสำหรับแรงงานในเมืองเท่านั้น จากปัญหาสะสมข้างต้นที่กล่าวมา ในต้นทศวรรษ 70 ประชาชนจึงตั้งคำถามว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจคืออะไรกันแน่?? นักศึกษา แรงงาน ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วง เรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง และความเท่าทียมในสังคม พัคจองฮีเลยประกาศสภาวะฉุกเฉิน งดใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ยุบพรรคการเมือง ยุบสภา รัฐประหารตัวเองเลย จะได้จบ ๆ
1
ยุคสาธารณรัฐที่ 4 (1972-1979) - รัฐบาลพัคจองฮี
อำนาจอธิปไตย (นิติบัญญัติ+บริหาร+ตุลาการ) อยู่ในมือพัคจองฮี
ในเดือนตุลาคม ปี 1972 พัคจองฮีแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 เรียกว่า “รัฐธรรมนูญยูชิน” (유신, 維新) พัคจองฮีอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปและฟื้นฟู (คำว่า “ยูชิน” ในภาษาเกาหลีแปลว่า ปรับปรุงใหม่ ปฏิรูป) แต่มาดูว่าปฏิรูปจริงมั้ย?? รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจประธานาธิบดีแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1/3 และผู้พิพากษาทั้งหมด มีสิทธิ์ใช้มาตรการฉุกเฉินและยุบสภาแห่งชาติ วาระของตำแหน่งอยู่ได้ถึง 6 ปี คุมนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการได้เบ็ดเสร็จ
ความพีคคือระบบเลือกตั้งถูกเปลี่ยนจากเลือกตั้งโดยตรงเป็นเลือกตั้งทางอ้อมผ่าน “สภาแห่งชาติ” (แล้วสมาชิกในสภามาจากไหนล่ะคะ?? ลองคิดดู 555+) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่เผด็จการเกิน 100% เอาอะไรมาต้านก็ไม่อยู่ เพราะฉะนั้น พัคจองฮีเลยชนะเลือกตั้งสมัยที่ 4 และ 5 ติดกันไป ใครเห็นต่าง หรือพรรคฝ่ายค้านคนไหนคิดจะต่อต้าน ก็จะถูกหน่วย KCIA เก็บเรียบ สมัยอีซึงมันนีนักโทษถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์เกือบ 3 หมื่นคน รวมถึงมีการเรียกคนเห็นต่างมาปรับทัศนคติ (re-education) เกือบ 3 แสนคน แต่สมัยพัคจองฮีไม่ต้องสงสัยว่าจะเยอะกว่าเดิมแค่ไหน เพราะประชาชนออกมาประท้วงเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ถูกจับไปปรับทัศนคติ คนไหนเป็นแกนนำก็จะถูกยัดข้อหาคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคอมมิวนิสต์ ก็จะถูกทรมานร่างกายไปเรื่อย ๆ เรียกได้ว่ารัฐมองประชาชนเป็นศัตรู
นักการเมือง ข้าราชการยุคนี้ รวยผิดปกติจนเป็นปกติ เพราะได้สปอนเซอร์จากกลุ่มแชบอล แลกกับให้แชบอลได้ผูกขาดกิจการ รัฐเลยเอาเงินตรงนี้มาติดสินบน และรักษาอำนาจของตัวเอง ในปี 1979 พัคจองฮีเตรียมเลือกตั้งชุบตัวเองอีกรอบ ให้สภาสมัชชาของตัวเองโหวตไล่คนจากฝ่ายค้านออกให้หมด ประชาชนยังคงออกมาชุมนุมใหญ่ เช่น เดือนตุลาคม 1979 มีการชุมนุมที่เมืองปูซาน และเมืองมาซาน ต่อมารัฐประกาศมาตรการฉุกเฉิน 9 ฉบับ ประชาชนถูกสลายชุมนุม ไม่ก็ถูกจับติดคุก
เหตุการณ์มาหักมุมที่วันที่ 26 ตุลาคม “คิม-แจ-กยู” หัวหน้าหน่วย KCIA ในเวลานั้น (เป็นเพื่อนสนิทกับพัคจองฮีด้วยนะ) สังหารพัคจองฮีคาโต๊ะอาหาร ที่ทำเนียบประธานาธิบดี (จริง ๆ ก่อนหน้านั้นมีการลอบสังหารแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ กระสุนไปโดน ยุก-ย็อนซู ภรรยาแทน) ส่วนสาเหตุการลงมือนั้น คิมแจกยูว่าทำลงไปเพราะความรักชาติ แต่เบื้องลึก เบื้องหลังว่ากันว่าอุดมการณ์ของคิมและพัคเริ่มต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ (พัคเผด็จการจนไม่สนทุกอย่าง) บ้างก็ว่า KCIA ถูกลดบทบาทลงเรื่อย ๆ เพราะคิมทำผลงานไม่ดี โดยเฉพาะการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง บ้างก็ว่าผิดใจกับพัค ถึงขนาดจะมีการปลดคิมจากตำแหน่งหัวหน้าหน่วย KCIA และตั้งคนสนิทคนใหม่เป็นหัวหน้าแทนคิม
1
ช็อน-ดูฮวาน ในปี 1979
ช็อน-ดูฮวาน ลูกน้องคนสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนอำนาจของพัคจองฮี ผู้บัญชาการหน่วยงานความมั่นคง รับผิดชอบสอบสวนคดีลอบสังหารพัคจองฮี สั่งประหารคิมแจกยู แม้ฝ่ายอำนาจเก่าจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่อีกรอบ แต่ประธานาธิบดีที่ได้มาก็ดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 ปี และเป็นหุ่นเชิดของช็อนดูฮวาน แถมไม่ถูกใจคนเชิดสักเท่าไร ในเดือนธันวาคม 1979 ช็อนดูฮวานจับมือกับคู่หู “โนแทอู” ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจประธานาธิบดีคนใหม่ (Coup d'état of December Twelfth) และบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทหารมีอำนาจล้นมือ (สังเกตว่าในละครเกาหลี timeline ช่วงนี้จะมีเคอร์ฟิว 3-4 ทุ่มจนถึงก่อนเช้า ห้ามออกจากบ้าน) จากนั้นช็อน-ดูฮวานประกาศลาออกจากกองทัพ ตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าหน่วย KCIA...ประชาชนเพลียแล้วจ้า เห็นเค้าลาง ว่าวงจรกำลังจะกลับมาอุบาทว์แบบสมัยพัคจองฮี เลยออกมาประท้วง ชุมนุม ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับยูชิน เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก
1
ละครเรื่อง Youth of May (2021) รับชมทาง VIU
เหตุการณ์นี้ถ้าให้เห็นภาพมากขึ้น แนะนำให้ดูละครเรื่อง Youth of May (2021) จำนวนแค่ 12 ตอน แล้วมาดู Snowdrop จะอินและเห็นอกเห็นใจประชาชนที่ถูกเผด็จการยึดอำนาจมากเลยค่ะ ตั้งแต่ช่วงพัคจองฮีประกาศใช้ยูชิน ประชาชนก็ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่มีสิทธิ์แสดงออก วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ จะร้องเพลง หรือฟังเพลงก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ซึ่งผลลัพธ์ของการประท้วงชุมนุมนั้น ไม่สามารถขับไล่ช็อน-ดูฮวานเหมือนอย่างที่เคยไล่อีซึงมันได้คราวก่อน เพราะทหารอยู่ในทุกตำแหน่งของการเมือง (ทั้งกำลัง เงิน กองทัพ อาวุธ มีล้นมือมาปราบปราม) การจัดการประชาชน และนักศึกษายังใช้วิธีเดิมคือกุมตัวนักศึกษา หรือคนที่เห็นต่างทางการเมืองไปยัดเหยียดข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์
ขอบคุณภาพจากVIU - Youth of May Ep.9 แกนนำกลุ่มนศ.ในเมืองควังจูถูกทางการจับกดน้ำในห้องสอบปากคำเพื่อบังคับให้นศ.โกหกว่าการประท้วงชุมนุมนักศึกษา มีกบฏอยู่เบื้องหลัง (ใส่ร้ายศัตรูทางการเมือง) แต่ความจริงคือกลุ่มนศ.ออกมาชุมนุมเอง
ขอบคุณภาพจาก VIU - Youth of May ตอนที่ 10
ฉากหนึ่งใน Youth of May ที่ผู้เขียนสะเทือนใจมากตอนดูละคร คือ รัฐบาลปลุกปั่นทหารเกาหลีใต้ว่ากบฏเกาหลีเหนือปลอมตัวแฝงเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุมที่เมืองควังจู ให้จัดการสังหารทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ความจริงมีแต่ประชาชนเกาหลีใต้ในพื้นที่ ส่วนอีกฉาก....น้องชายของนางเอกพลัดหลงเข้าไปในพื้นที่จลาจล แล้วเห็นตำรวจ ทหารใช้อาวุธทำร้าย ปราบปรามประชาชน แต่น้องชายนางเอกกลับไปเล่าให้เพื่อนในวัยเด็กด้วยกันฟังว่า กลุ่มคนเจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน คือ “ทหารเกาหลีเหนือ” ทั้ง ๆ ที่ความจริงเป็นเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ (เรียกว่าปวดใจจริง ๆ รัฐใช้สื่อและปลูกฝังให้ประชาชนเกลียดชังคอมมิวนิสต์แบบสุด ๆ )
1
Gwangju Uprising in 1980
การชุมนุมบานปลายมาถึงในปี 1980 จนวันที่ 17 พฤษภาคม ช็อน-ดูฮวันสั่งปิดมหาวิทยาลัย ห้ามรวมกลุ่มชุมนุม ห้ามหยุดงาน เป็นผลให้ในวันที่ 18 พฤษภาคม ประชาชนและนักศึกษาที่เมืองควังจูออกมาประท้วงใหญ่ไล่ช็อนดูฮวาน ยกเลิกรัฐธรรมนูญยูชิน เรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง (the May 18th Democratization Movement) ลุกลามนานกว่า 9 วัน เกิดการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมจำนวนมาก (บันทึกคนตายไว้แค่หลักร้อย แต่ความจริงเขาว่ามากกว่านั้น)
6 October 1976 Massacre
ถ้าให้เชื่อมโยงกับที่ไทย เหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันคือ 6 ตุลาคม 2519 มีการปราบปรามนักศึกษา และประชาชนฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านการเดินทางกลับมาจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องเท้าความนิดนึงว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลทหารยุคจอมพลถนอมหมดอำนาจ ต้องหนีออกนอกประเทศ ฝ่ายซ้ายที่หัวก้าวหน้า ออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงงานและชาวนาเป็นผู้ชุมนุมหลัก ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกังวลว่าฝ่ายซ้ายจะเรียกร้องสำเร็จ และเป็นคอมมิวนิสต์แบบเพื่อนบ้าน (ข้ออ้าง??) ก็เลยวางแผนให้นักโทษการเมืองที่ลี้ภัยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลับเข้าประเทศ หวังจะทวีให้เหตุการณ์ชุมนุมร้อนระอุมากขึ้น เพื่อหาเรื่องปราบปรามนักศึกษาและประชาชน หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม รัฐบาลของนายธานินทร์ ก็มีความคิดขวาจัด เกิดการล้างบางฝ่ายซ้าย นักศึกษาที่รอดชีวิตจากการปราบปรามต้องหนีเข้าป่า
1
ก่อนจะเข้า Timeline ในละครเรื่อง Snowdrop จะชวนทุกคนมาสรุปวิธีเล่นแร่แปรธาตุ ยึดอำนาจของนักการเมืองทหารกันนิดนึงค่ะ
  • 1.
    เลือกตั้งประธานาธิบดีเพื่อชุบตัวเองในสมัยต่อไป โดยใช้กลุ่มอำนาจตัวเองแทรกแซงกลไกลข้าราชการ
  • 2.
    ถ้าเกิดการประท้วง ชุมนุมบานปลาย ก็ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ทหารมีอำนาจมากขึ้น แต่ถ้าจัดการไม่ได้ก็ทำรัฐประหาร...รัฐประหารรัฐบาลตัวเองก็ทำมาแล้ว
  • 3.
    รับสปอนเซอร์และเงินทุนจากกลุ่มแชบอล แลกกับการให้แชบอลได้ผูกขาดกิจการ ผลัดกันติดสินบนไปมาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
  • 4.
    ใช้ KCIA เป็นมือเป็นเท้า เล่นงานศัตรูทางการเมือง เช่นพรรคฝ่ายค้าน กลุ่มผู้ประท้วงที่เห็นต่าง นักศึกษาที่มีหัวก้าวหน้าด้วยการจับยัดข้อหาคอมมิวนิสต์หรือสายลับเกาหลีเหนือ(ถ้าเป็นบางประเทศ ใครเห็นต่างก็โทรสั่งเดอะ พิซซ่า คอมปะนีใช่มั้ยคะ...อิอิ)
1
….มาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านจะเข้าใจคนดูชาวเกาหลีได้เลยว่าทำไมช่วงแรกที่มีการเผยแพร่เรื่องย่อ Snowdrop ออกมาแล้วมีดราม่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพราะการพล็อตเรื่องให้พระเอกที่เป็นชาวเกาหลีเหนือตัวจริง ดูเหมือนจะมีเอี่ยว หรือเกี่ยวข้องกับนักศึกษาที่ไปประท้วงนั้น เท่ากับเป็นการตอกย้ำข้อกล่าวหาของ KCIA ว่านักศึกษาที่ไปประท้วงเป็นสายลับเกาหลีเหนือจริง ๆ ซึ่งคนดูในรุ่นปัจจุบันเป็นเจเนอรชันรุ่นลูกหรือหลานของกลุ่มผู้ชุมนุม จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเซนซิทิฟ
1
ยุคสาธารณรัฐที่ 5 (1979-1987) – รัฐบาลช็อนดูฮวัน (Timeline ในละครเรื่อง Snowdrop)
ภาพจาก Snowdrop Ep.1 : การประชุมของสมาคม 'หนึ่ง'
หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองควังจู ชอนดูฮวานยุบสภาสมัชชาแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการปกครองชั่วคราว แก้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ (ทำกันง่ายมากเลยจ้า) ให้ประธานาธิบดีอยู่ไปอีก 7 ปี อีก 1 วาระ และในปี 1980 ช็อนดูฮวานก็ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ พร้อมตั้งสมาคม “หนึ่ง” หรือ “ฮานา-ฮเว” (Hanahoe 하나회 / Group of One) เพื่อรักษาผลประโยชน์และอำนาจของนักการเมืองทหาร ถ้าทุกคนจำได้ในเรื่อง Snowdrop เราจะได้ยินตัวละครใช้โค้ดลับ เรียกรัฐบาลในเวลานั้นว่า “เดอะวัน” (ในภาษาเกาหลี ฮานา = หนึ่ง)
ถัดมาในปี 1981 มีการปฏิรูปองค์กร KCIA และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “หน่วยวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ” (국가안전기획부 เรียกย่อ ๆ ว่า "안기부" [อัน-กี-บู] ส่วนในซีรีส์จะแปลซับไทยว่า นมช. ค่ะ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พระรองในเรื่อง Snowdrop หัวหน้าทีม “อี-คัง-มู” และคู่หมั้นของเขา “จาง-ฮันนา” ทำงานอยู่นั่นเองค่ะ ถึงจะปฏิรูป เปลี่ยนชื่อใหม่ แต่หน้าที่ยังคงเป็นมือเป็นเท้าให้รัฐบาลเหมือนเดิม รับใช้เผด็จการ ฆ่าปิดปาก ใส่ร้ายประชาชนหรือกลุ่มคนที่ต่อต้าน ถ้าไม่ฆ่าก็ จับกลุ่มคนที่เห็นต่างไปทรมาน แล้วยัดเหยียดข้อหาพวกฝักใฝ่นิยมเกาหลีเหนือ หรือไม่ก็บังคับให้อีกฝ่ายทำงานเป็นสายลับให้ โดย “เอาความมั่นคงของประเทศมาอ้าง!” (อีกแล้วจ้า..วลีเดียวกับสมัยอีซึงมันและพัคจองฮีเลย) เหตุการณ์ข้างต้นนี้ผู้อ่านจะเห็นได้จากละคร ทั้งในเรื่อง Youth of May และ Snowdrop เลยค่ะ
อี-คังมู หัวหน้าทีมวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ รับบทโดย จางซึงโจ
จาง-ฮันนา เจ้าหน้าที่หน่วยวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ รับบทโดย จอง-ยูจิน
ขอแวบมาที่เศรษฐกิจในยุคนี้สักครู่หนึ่งค่ะ….ในปี 1979 หลังการถึงแก่อสัญกรรมของพัคจองฮี เศรษฐกิจเกาหลีก็ประสบกับวิกฤต เพราะที่ผ่านมารัฐบาลของพัคจองฮีทุ่มการลงทุนไปที่ภาคอุตสาหกรรมเกินความจำเป็น หลายบริษัทต้องหยุดกิจการ รัฐบาลช็อนดูฮวานพยายามแก้ปัญหาด้วยการให้เงินทุนสนับสนุน ช่วยบริษัทชำระหนี้ มีการควบรวมกิจการ ขยายฐานธุรกิจกลุ่มแชบอล และเริ่มเปิดเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น..ถ้ายังจำกันได้ รัฐบาลพัคจองฮี เกาหลีแทบจะปิดประเทศด้วยการลดค่าเงินวอน และยกกำแพงภาษีสูง ชาวเกาหลีแทบจะไม่ได้เห็นแบรนด์ต่างชาติเลย แล้วต่างชาติที่ไหนจะมาลงทุน อย่างไรก็ตามสิทธิ์และข้อจำกัดของชนชั้นแรงงานยังคงถูกบีบไว้ รอวันที่จะปะทุ… เพราะการเมืองยังคงเผด็จการ ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นและรายได้ยังคงเกิดขึ้นมากพอสมควร
ก๊วนนางเอกในหอพัก ห้อง 207
ถ้าให้เห็นภาพมากขึ้น ลองนึกถึงบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยสตรี และก๊วนเพื่อนยองโนห้อง 207 ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง ใช้ของแบรนด์เนมเป็นว่าเล่น ในขณะที่ คเย-บุนอ๊ก พนักงานรับโทรศัพท์ที่หอพักสตรี เป็นตัวแทนของชนชั้นล่างที่หาเช้ากินค่ำ ต้องทำงานหาเงินไปรักษาพ่อที่ป่วยหนัก
ในช่วงปี 1986-1988 รัฐบาลใช้กลยุทธ์ '3 ลด' ในการพัฒนาให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย (แก้ปัญหาเงินฝืด) ลดราคาน้ำมัน และลดค่าเงินดอลลาร์ (ส่งผลให้ค่าเงินวอนแข็งขึ้น เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ) กลยุทธ์ 3 ลด ช่วยเพิ่มโอกาสเศรษฐกิจของเกาหลีให้กลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง ธุรกิจที่ได้รับการพัฒนาในยุคนี้ คือ งานก่อสร้าง ธุรกิจต่อเรือที่เมืองโพฮัง โรงงานผลิตรถยนต์ที่เมืองอุลซัน รวมถึงอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีก็สามารถพัฒนาไปได้โดยพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศน้อยลง ในส่วนของการผลิตสินค้า เกาหลีเริ่มขยับจากการผลิตสินค้าต้นน้ำ ประเภท semi-product มาเป็นสินค้า consumer product มากขึ้น
3
สภาพเมืองโพฮังที่มีธุรกิจต่อเรือ ในทศวรรษที่ 1980
ธุรกิจที่กล่าวไปไม่ใช่ของใครอื่น…นอกเสียจากกลุ่มแชบอล ซึ่งมีอิทธิพลและกลายเป็นผู้นำทางอำนาจของสังคม (จากการดีลกันลับ ๆ กับรัฐบาลตามเคย) พอธุรกิจได้รับการพัฒนา และการลงทุน จำนวนแรงงานก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในยุคนี้เราจะได้เห็นชาวเกาหลีในชุดพนักงานออฟฟิศ สวมเสื้อเชิ้ตคอปกขาว ผูกไทด์ออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับกลุ่มแรงงานต่าง ๆ ขณะเดียวกันกลุ่มนักศึกษาก็เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองควังจูในปี 1980 อย่างยุติธรรม
กลุ่มแรงงาน นักศึกษา พนักงานบริษัท รวมตัวกันประท้วงในปี 1987
ในปี 1985 พรรคฝ่ายค้านได้เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วง รวมถึงล่ารายชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม ในปี 1987 เกิดกลุ่มสหพันธ์ประชาธิปไตยขนาดใหญ่ต่อต้านรัฐบาลทหาร และต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ถ้ายังจำกันได้ ช่วงเปิดมาEp.1 เราจะเห็นยอจองมิน รุ่นพี่สุดเนิร์ดรูมเมทของยองโนไปเดินขบวนประท้วง แถมลูกพี่ลูกน้องของเธอที่เป็นลูกจ้างในโรงงานถูกทางการจับไปปรับทัศนคติแล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา)
June 10th Democracy Movement in 1987
ในเดือนพฤษภาคม 1987 การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยยอนเซถูกสลาย มีนักศึกษาตาย ในเดือนมิถุนายนถัดมาประชาชนเลยลุกฮือออกมาประท้วงหลักล้าน ไม่กลัวการปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ เริ่มในวันที่ 10 มิถุนายน และลากยาวไปอีก 20 วัน การชุมนุมรอบนี้เป็นครั้งยิ่งใหญ่เลยก็ว่าได้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกรุงโซล แต่ประชาชนพร้อมใจกันออกมาทั่วทุกจังหวัดในเกาหลีใต้เพื่อต่อต้านรัฐบาล (ถ้าจำกันได้ ในละคร Snowdrop เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงองก์2 (กลางเรื่อง) จะมีเหตุการณ์เลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งในเวลานั้นก็กำลังจะเกิดการเลือกตั้งจริง พรรครัฐบาลกำลังจะส่ง “โนแทอู” คู่หูเพื่อนซี้ของช็อนดูฮวาน ลงสมัคร ประชาชนกลัวว่าจะวงจรอุบาทว์จะหมุนเป็นกงล้อไม่จบไม่สิ้นเลยออกมาประท้วงกันสุดพลัง)
1
วันที่ 20 มิถุนายน รัฐบาลเตรียมประกาศสภาวะฉุกเฉิน ปราบปรามการชุมนุมครั้งใหญ่เหมือนปี 1980 ที่เมืองควังจู แต่!! เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น จู่ ๆ...รัฐบาลเปลี่ยนใจยกเลิกสลายการชุมนุม โดยในวันที่ 29 มิถุนายน โนแทอูยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนที่ออกมาเดินขบวน รัฐบาลฝ่ายค้านเดินเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่ 6 ยุคนี้อยู่มาถึงปัจจุบัน เพราะรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย สภาสมัชชาต้องมาจากการเลือกตั้ง รวมถึงประธานาธิบดีก็ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในสมัยเดียว (5 ปีเท่านั้น) ส่วนกองทัพมีหน้าที่เพียงความมั่นคง และต้องเป็นกลางทางการเมือง
โนแทอู (ซ้าย) ช็อน-ดูฮวาน (ขวา) ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากระทำความผิดทางการเมือง
การเมืองเกาหลีใต้เริ่มฟื้นฟูกลับมาดีขึ้น แม้โนแทอูและพรรคพวกจะหาทางสืบทอดอำนาจกันต่อ แต่ก็ไม่สามารถทำรัฐประหารให้สำเร็จได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้สตรอง ปิดช่องโหว่ไม่ให้นักการเมืองเผด็จการเล่นแร่แปรธาตุได้อีก ถัดในปี 1995 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเอาผิดช็อนดูฮวาน และโนแทอูข้อหายึดอำนาจในปี 1979 ใช้อำนาจสร้างความร่ำรวยแบบผิดกฎหมาย มีความผิดอาญาฐานฆ่าประชาชนที่ออกมาชุมนุม นำประเทศสู่ระบบคอรัปชันอย่างเป็นระบบ
1
จรรยา วงศ์สุรัตน์ (2563) ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่รัฐบาลยอมประชาชนมีหลายเรื่อง อย่างแรกคือเศรษฐกิจของประเทศพัฒนามาไกล เกินจะถอยหลังกลับไปเป็นเผด็จการอีกแล้ว (นี่เลยเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนกรุย ลากเม้ายาวเศรษฐกิจคู่การเมือง) อย่างที่สองในปีถัดมา 1988 เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 24 เกาหลีต้องการเผยภาพลักษณ์ความเจริญทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้นานาประเทศได้เห็นว่าตัวเองไม่ได้ยากจน ป่าเถื่อน เผด็จการเหมือนเมื่อก่อนแล้ว และอย่างสุดท้าย เป็นสาเหตุที่ผู้เขียนคิดว่าเข้าท่าที่สุดคือในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1986 ชาวฟิลิปปินส์ได้รวมตัวกันออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสที่เป็นเผด็จการครองอำนาจเกือบ 21 ปี และพยายามจะโกงเลือกตั้งในปีนั้นอีกด้วย (People Power Revolution in 1986) เกาหลีใต้เลยต้องเริ่มพิจารณาสถานการณ์ในประเทศตัวเอง
People Power Revolution : คอราซอน อากีโน (คนขวา) อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์ เป็นแกนนำประท้วงขับไล่ อดีตประธานาธิบดีฟอร์ดินานด์ มาร์กอสคนก่อนหน้าซึ่งปกครองประเทศแบบเผด็จการมาเกือบ20ปี
สาเหตุที่เหตุผลข้อสามดูจะเข้าท่าที่สุด ผู้เขียนมีความเห็นว่า เพราะในทศวรรษ 80 หลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ประชาชนออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ขาดสาย มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ เช่น ในปี 1986 ไต้หวันออกมาประท้วงพรรคก๊กมินตั๋งที่ปกครองแบบเผด็จการ และยกเลิกกฎอัยการศึกษาที่อยู่มานานเกือบ 40 ปี ประชาชนได้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงในที่สุด (Democratization Movement in Taiwan) ส่วนในปี 1988 สหภาพเมียนมา ออกมาประท้วงเรียกร้องรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย (Eighty eight movement) แต่ไม่สำเร็จ เพราะถูกรัฐบาลทหารปราบปราม และทำให้ผลการเลือกตั้งของประชาชนเป็นโมฆะ
Black May in 1992
ถ้าให้โยงมาที่ไทยเรา อีก 4 ปีบ้านเมืองเราก็เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ “พฤษภาทมิฬ” ในพ.ศ. 2535 (1992) โดยมีสาเหตุมาจากประชาชนไม่พอใจที่พลเอกสุจินดา คราประยูรอออกมาทำรัฐประหารรัฐบาลของพลเอกชาติชายในปี 2534 ตั้งคณะ รสช. และสภานิติบัญญติแห่งชาติ มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พลเอกสุจินดาสัมภาษณ์ออกสื่อหลายครั้งว่าตัวเองและคณะรสช. จะไม่รับตำแหน่งการเมืองใด ๆ แต่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรมที่ได้ผู้แทนมากสุด และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กลับเสนอชื่อพลเอกสุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรี (Opps! นี่พัคจองฮีหรือเปล่านะ??) ประชาชน นักศึกษา ชนชั้นกลางวัยทำงานออกมาประท้วงเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก
Snowdrop ว่าด้วยนัยของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวเกาหลีใต้ และความรักบนเส้นขนานที่ 38 ณ คาบสมุทรเกาหลี โดย นักเล่าเรื่องซอ
ทำไมต้องชื่อเรื่อง Snowdrop… สงสัยกันมั้ยคะ?
เกาหลีผ่านร้อนผ่านหนาวกับการปกครองแบบยึดอำนาจ ถูกผู้นำกดขี่มานานตั้งแต่ช่วงราชวงศ์โชซอน ในปลายสมัยโชซอน ศตวรรษที่ 19 สถาบันกษัตริย์ขาดเสถียรภาพ เพราะอำนาจอยู่ที่ขุนนางในราชสำนักเกือบ 100% ขุนนางพากันฉ้อราษฎร์บังหลวง ประชาชนอดยาก เกิดการลุกฮือของชาวนาหรือกบฏทงฮักในเวลาต่อมา (동학, 東學) ถัดมาก็ถูกญี่ปุ่นยึดครองเป็นอาณานิคมเป็นเวลา 35 ปี แล้วมาเจอกับการปกครองแบบเผด็จการทหารที่เอาคำว่า “ประชาธิปไตย” มาฉาบหน้าอีกเกือบ 40 ปี
1
ซอลกัง-ฮวา (설강화) หรือดอกหยาดหิมะ คำว่า "화" [ฮวา] มาจากตัวฮันจา 花 ที่แปลว่าดอกไม้ ใครที่เคยดูซีรีส์ Squid Game(2021) อาจจะเคยได้ยินคำว่า "มู-กุง-ฮวา" (무궁화) ซึ่งหมายถึงดอกมูกุง เป็นดอกไม้ประจำชาติของเกาหลีใต้นั่นเองค่ะ
ความอดทนรอ และต้องต่อสู้กับเผด็จการอย่างลำบากนี้เหมือนกับดอกหยาดหิมะ (Snowdrop, 설강화, 雪降花) ดอกไม้ป่าที่มีหัวเล็ก ๆ เหมือนหัวหอมแบ่ง (ดอกตูม) พวกมันมักจะเติบโตกระจุกกันเหมือนมาชุมชนเพื่อต่อสู้กับอากาศหนาวเหน็บ...รอวันจะเบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิที่ใกล้มาถึง (ถ้าทุกคนจำกันได้ ในละครเรื่อง Snowdrop Ep.1 เปิดเรื่องมาในปี 1987 ฤดูใบไม้ผลิ) ดอกหยาดหิมะเลยเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง (Flower of hope) และสัญลักษณ์ของกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง หลังผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก มีตำนานเล่าว่าในช่วงที่อดัมกับอีฟถูกไล่ออกจากสวนอีเด็น ช่วงเวลาที่อีฟเศร้าโศก ไม่มีดอกไม้ผลิบานสักดอก ในหน้าหนาวหิมะก็กระหน่ำตก เทวดาจึงปลอบโยนด้วยการเป่าหิมะลงไป เมื่อหิมะตกลงผืนดินจึงกลายเป็นดอกหยาดหิมะที่ผลิบาน ความหวังที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบานของชาวเกาหลีใต้จึงถูกตีความผ่านชื่อเรื่องในละครได้อย่างคมคาย
2
ที่ไทยเราก็นำความเปรียบดอกไม้มาใช้ในบริบทการเมืองเหมือนกันค่ะ เช่น กวีนิพนธ์ “ดอกไม้จะบาน” (2516) หรือ “อหังการของดอกไม้” (2516) ของคุณจีระนันท์ พิตรปรีชา หนึ่งในผู้นำขบวนการนิสิตนักศึกษา และหนุ่มสาวรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลาคม 2516
อย่างไรก็ตามมีอีกความเชื่อหนึ่งกล่าวว่าดอกหยาดหิมะเป็นลางร้าย (Flower of Death) เพราะจะชอบขึ้นอยู่ตามหลุมศพ และคนนิยมไปปลูกไว้รอบโบสถ์ ดอกหยาดหิมะในละคร Snowdrop จึงอาจใช้แทนความสูญเสียจากการต่อสู้ได้อีกด้วย ความย้อนแย้งเชิงสัญลักษณ์ (Paradox) ของดอกหยาดหิมะนี้ ผู้เขียนคิดว่าใช้สื่อแทนเส้นเรื่องความรักที่ขัดแย้งของพระเอกกับนางเอกได้เป็นอย่างดี ด้วยทั้งคู่เติบโตมาในอุดมการณ์ของชาติที่ต่างกัน ความรักของทั้งคู่ก็เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นเส้นขนานที่มาบรรจบกันได้ยาก บางทีฉากสุดท้ายของความรักระหว่างซูโฮกับยองโนใน Snowdrop อาจจะสื่อถึงนัย “ความหวัง” ในการรวมชาติเกาหลีอีกครั้งก็เป็นไปได้…แม้ในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นยากก็ตามที
2
ผู้เขียนขอจบ Blog แบบแหวกขนบสปอยล์ ชวนเม้ามอยสไตล์เกาไว้เท่านี้ วันที่เขียน blog Ep.2 นี้ ละคร Snowdrop ยังไม่อวสานนะคะ อยู่ที่ Ep.11 ค่ะ ^^ ผู้เขียนไม่รู้เหมือนกันว่าความรักของพระนางจะ happy ending หรือ tragedy ต้องมาลุ้นและติดตามไปพร้อมกันนะคะ อ่านมาถึงตรงนี้อยากให้ทุกท่านได้อิ่มเอม เข้าถึงอรรถรสของละคร ใครที่ยังไม่ได้ดูก็ห้ามพลาดแล้วละค่ะ แล้วลองไปคิดต่อยอดสไตล์เกา ๆ กันว่า ละครเรื่องนี้บิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างที่กระแสดราม่าว่ากันหรือไม่?...รับชมละครเรื่อง Snowdrop ซับไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ทางแอปพลิเคชัน Disney+ Hotstar ค่ะ
แล้วพบกันใหม่Ep.3 นะคะ Ep.ถัดไปจะเม้ากระชับแล้วค่ะ ขอโทษผู้ติดตามด้วยค่ะที่เขียน Ep.นี้ลากยาวเหลือเกิน เขาบอกกันว่าคนไทยไม่ชอบอ่านอะไรยาว ๆ แต่คนเม้า พอเม้าเป็นเรื่องราวแล้วหยุดไม่ได้จริง ๆ ค่ะ 😆 ขอลาไปด้วย คลิปฉากเต้นรำของพระเอกกับนางเอกคลอด้วย Ending BGM ที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดในเรื่อง
1
2022년 1월 19일 - 서지혜 쓴 글.
อิมซูโฮ รับบทโดย จอง-แฮอิน / อึน-ยองโน รับบทโดย จีซู
Fun Facts about Korean (Bonus as an Epilogue)
  • อาจจะสงสัยว่าทำไมผู้เขียนถึงเรียกชื่อนางเอกว่า “ยองโน” แทนที่จะเรียกว่า “ยองโร” แบบในซับไตเติลใช่มั้ยคะ?? ทั้งที่ก็เพราะว่า 은영로 ถ้าอ่านแบบแยกพยางค์ จะอ่านว่า อึน-ยอง-โร ค่ะ แต่คนเกาหลีจะอ่านแบบเรียงพยางค์เวลาที่สนทนาหรือสื่อสารกันเพื่อความเป็นธรรมชาติ เมื่ออ่านเรียงพยางค์ตามกฎการออกเสียง เสียงพยัญชนะท้าย /ng/ เมื่อเจอกับเสียงพยัญชนะต้น /r/ เสียง /r/ จะต้องเปลี่ยนเป็นเสียง /n/ ไม่เชื่อลองไปฟังนักแสดงในเรื่องเรียกชื่อนางเอกกันนะคะ
1
  • ชื่อของพระเอก 임수호 อ่านว่า อิม-ซู-โฮ ตามสำเนียงของเกาหลีใต้ แต่บางครั้งเราจะได้ยินนักแสดงที่รับบทชาวเกาหลีเหนือเรียกชื่อพระเอกว่า “ริม-ซู-โฮ” (ทงมู) ทั้งนี้ก็เพราะว่า เสียง 이 [อี] ในภาษาเกาหลีใต้ ในสำเนียงแบบเกาหลีเหนือจะออกเป็นเสียง 리 [รี] นอกจากนี้ความหมายของชื่อพระเอกยังมีความหมายที่แฝงไว้ให้ขบคิดด้วยค่ะ คำว่า 수호 [ซู-โฮ] มาจากตัวฮันจา 守護 มีความหมายว่า คุ้มครอง หรือปกป้อง เราเลยจะเห็นพระเอกมอบสร้อยคอจี้รูปนก แล้วบอกนางเอกว่าสร้อยคอเส้นนี้จะคอยปกป้องคุณจากอันตราย (คนเขียนบทเขาวางพล็อตกับชื่อตัวละครมาดีจริง ๆ ค่ะ)
1
References
Special Thank to …. พัค-อึน-กยอง ซอนแซงนิมจากสถาบันวิจัยวัฒนธรรมเกาหลี มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาที่ให้เกียรติมาให้เลคเชอร์ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมสมัยพัคจองฮีแบบจัดแน่น จัดเต็มในโครงการเสริมสร้างความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี ของศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร. สุภาพร บุญรุ่ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเกาหลี ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้เรียนในการอธิบายคำศัพท์ และคำแปลในบทเรียน
  • จรรยา วงศ์สุรวัฒน์. (2563). เกาหลีใต้ เลิกเป็นเผด็จการได้อย่างไร? [Youtube]. https://youtu.be/4dRcCDf7S6g
  • ไพบูลย์ ปีตะเสน. (2564). เกาหลีใต้พัฒนาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ตอน 1 เผด็จการ พลิกยากจนสู่แชโบล | The Secret Sauce EP.484 [Youtube]. https://youtu.be/JYMfB5UjOKA
  • ไพบูลย์ ปีตะเสน. (2564). เกาหลีใต้พัฒนาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ตอน 2 ซอฟต์พาวเวอร์สร้างแบรนด์โลก | The Secret Sauce EP.485 [Youtube]. https://youtu.be/9wCr6jvalN8
  • ฟ้าใสวันใหม่. (2555). Snowdrop ดอกไม้แห่งความหวัง. https://bit.ly/3FGuvmn
ภาษาอังกฤษ
• The Association of Korean History Teachers. (2010). A Korean History for International Readers. Translated by Michelle Seo, Humanist.
ภาษาเกาหลี
• 권미경, 박은경. (2021). 한국어와 한국 문화에 대한 학식을 갖추는 프로젝트. 쭐라롱껀대학교의 인문대학의 학문적 기관.
โฆษณา