21 ม.ค. 2022 เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Because This Is My First Life (2017) : มองวิกฤตของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวัย 30 ด้วยเศรษฐศาสตร์
“มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียวที่ยึดติดกับเวลาและความรู้สึกของคนอื่น ในขณะที่แมวไม่เคยมีความทรงจำใด ๆ แมวจะอยากจำแค่ในสิ่งที่อยากจำ ไม่รู้วันเวลาไม่รู้จักคำว่าแก่หรือเด็ก”
2
หลายคนที่อยู่ในช่วงวัย 30 หรือผ่านเลยวัย 30 ไปแล้ว น่าจะจำความรู้สึกสับสนในชีวิตที่เกิดขึ้นตอน 30 ได้ดี ความรู้สึกที่ตัวเองยังไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ยังไม่ได้แต่งงาน มีบ้าน มีรถ ตามที่สังคมหรือคนรอบข้างเห็นว่าควรจะเป็น
2
ถ้าใครกำลังรู้สึกแบบนี้ ขอบอกว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่รู้สึก เพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการที่หลายคนทั่วโลกเผชิญเช่นกัน วันนี้ Bnomics จึงอยากจะนำงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับวิกฤตของวัยกลางคน หรือ Midlife crisis มาเล่าให้ฟัง ผ่านซีรีส์เรื่อง Because This Is My First Life ที่ฉายภาพความคาดหวังของคนอายุ 30 ต่อหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ และครอบครัว
📌 วิกฤตวัยกลางคน (Midlife crisis) คืออะไร?
Midlife crisis เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นมาครั้งแรกในปี 1965 โดยคุณ Elliott Jaques นักจิตวิเคราะห์และนักสังคมศาสตร์ เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนวัยกลางคน เดิมทีแล้ว คำนี้ใช้อธิบายว่า ทำไมคนช่วงวัยกลางคนถึงรู้สึกท้อแท้กับงาน และความสัมพันธ์
1
ในตอนแรกอาการนี้มักเกิดขึ้นกับคนวัยกลางคน คืออายุช่วง 40 แต่จากรายงานในช่วงหลังๆ พบว่าอาการนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด เนื่องจากสังคมที่เชิดชูคนที่ประสบความสำเร็จตอนอายุยังน้อยมากขึ้น จึงเป็นตัวกดดันให้คนต้องประสบความสำเร็จให้ได้เร็วขึ้นกว่ายุคก่อน จนกระทั่งช่วงเวลาวัยกลางคนนั้นเลื่อนขึ้นมาเร็วขึ้นเป็นช่วง 30 แทน
ยุนจีโฮ (รับบทโดย จองโซมิน) หญิงสาวตกงานและจนมาก อายุ 30 แล้ว แต่ยังไม่มีสมบัติอะไรติดตัว และยังไม่ได้แต่งงาน // นัมเซฮี (รับบทโดย อีมินกิ) ชายหนุ่มผู้ไม่อยากแต่งงานและมีภาระต้องผ่อนบ้านอีก 30 ปี ชีวิตมีแต่งานกับแมว
📌 อายุจะ 30 แล้วต้องมีอะไรเป็นของตัวเองบ้าง…ใครกันเป็นผู้กำหนด?
ในวัฒนธรรมอเมริกัน การสร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับอายุนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หรือต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีแรงหนุนมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโรงเรียนกับที่ทำงาน ที่ผู้คนพึ่งพานาฬิกากันมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตขึ้นของ Consumer economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นหลัก ทำให้คนเริ่มนำหมุดหมายชีวิต (Milestones) ไปยึดโยงกับช่วงอายุต่างๆ
3
ตั้งแต่ทศวรรษ 1920 การซื้อสินค้าที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเป็นเรื่องที่คนทำเพื่อแสวงหาความสุขใส่ตัว เพราะในช่วงนั้นชนชั้นกลางและคนวัยกลางคนมีรายได้พอที่จะซื้อสินค้าแข่งกันเพื่อให้ไม่น้อยหน้าคนอื่นได้แล้ว โดยผู้บริโภคจะเน้นให้ความสำคัญกับการบริโภคสิ่งบันเทิงใจ, เฟอร์นิเจอร์, รถ, เสื้อผ้า, อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอเมริกันมาอย่างยาวนาน
2
อูซูจี (รับบทโดย อีซม) หญิงสาวผู้มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก อายุ 30 ทำงานเก่ง ไม่ได้สนใจการแต่งงาน // มาซังกู (รับบทโดย พัคบยองอึน) ประธานบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่นเดทแต่ไม่แต่งงาน
นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการชาวอเมริกัน คุณ Bernice Neugarten ได้ชี้ให้เห็นว่านอกจากลักษณะทางชีววิทยาของมนุษย์จะเป็นเป็นตัวกำหนดวงจรชีวิตของเรา ยังมีกรอบของสังคมที่มักจะกำหนดตารางชีวิตของมนุษย์ว่าในอายุเท่านี้ๆ ควรมีเหตุการณ์ใหญ่ในชีวิตเป็นอะไรบ้าง เป็นต้นว่า ช่วงเวลาที่หนุ่มสาวควรแต่งงาน, ช่วงเวลาที่ควรจะมีลูก, และช่วงเวลาที่ควรเกษียณ ซึ่งรูปแบบที่เป็นบรรทัดฐานเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่กลุ่มคนในสังคมยึดติดเพื่อใช้เป็นมาตรฐานวัดความก้าวหน้าของตนเองตลอดชีวิต ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จึงกลายเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะวัดชีวิตไม่ว่าจะเป็นรายปี หรือรายสิบปี และยังประเมินความก้าวหน้าของตนเองด้วยเกณฑ์อายุกับความสำเร็จในชีวิต
1
ทีนี้ปัญหามันจะเกิดก็ต่อเมื่อคนๆ หนึ่งไม่ได้มีความสำเร็จในชีวิตตามขั้นที่สังคมวาดเอาไว้ หลายคนจึงเกิดความรู้สึกแย่ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ยังไม่ได้สร้างครอบครัว ในช่วงอายุที่สังคมคาดว่าควรจะเป็น วิกฤตความมั่นใจที่เกิดขึ้นในวัยกลางคนนี้จึงเหมือนเป็นตัวสะท้อนการทำความฝันที่เคยคิดไว้ไม่สำเร็จ
1
📌 อธิบายปรากฏการณ์ Mid life crisis ด้วยเศรษฐมิติ
คุณ Andrew J. Oswald นักเศรษฐศาสตร์จาก University of Warwick ร่วมกับคุณ David G. Blanchflower นักสังคมศาสตร์เชิงปริมาณ ได้ทำงานวิจัยร่วมกันโดยใช้ข้อมูล 7 ชุด ครอบคลุมคน 1.3 ล้านคน จาก 51 ประเทศ โดยจะเป็นข้อมูลที่มาจากการสอบถามจากระดับความพึงพอใจในชีวิต แล้วใช้วิธีการทางเศรษฐมิติเพื่อหาว่าความสุขทางจิตใจ (psychological well-being) ของคนในช่วงอายุ 20 ไปจนถึง 90 มีรูปแบบเป็นอย่างไร
2
งานวิจัยนี้ชี้ให้เราเห็นว่าความสุขของคนส่วนใหญ่เริ่มลดลงตอนช่วงอายุ 30 ไปจนถึงราวๆ อายุ 50 ปี ที่คนเริ่มกลับมารู้สึกพึงพอใจกับชีวิตอีกครั้ง โดยมีลักษณะเป็นรูปตัว U และไม่ว่าเพศใดๆ ก็ประสบกับการลดลงของความสุขทั้งนั้น อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยล่าสุดของเขานั้นยังไม่สามารถหาได้ว่าการลดลงของความสุขนี้ไปส่งผลกับงาน ชีวิตแต่งงาน หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร เพียงแค่อยากให้คนเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ
2
ยังโฮรัง ( รับบทโดย คิมกาอึน) หญิงสาวอายุ 30 อาชีพหัวหน้าพนักงานเสริฟที่มีความฝันอยากแต่งงานเป็นแม่บ้าน //  ชิมวอนซอก (รับบทโดย คิมมินซอก) โปรแกรมเมอร์ฟรีแลนซ์ที่การเงินไม่มั่นคง
ทั้งนี้นักวิจัยทั้ง 2 ท่าน ได้แนะรัฐเพิ่มเติมว่าควรมีนโยบายทางด้านสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูแลในส่วนนี้ เนื่องจากความสุขของคน ก็ถือเป็นหนึ่งในความอยู่ดีมีสุขของประเทศเช่นกัน
1
สุดท้ายนี้ Bnomics อยากจะฝากให้ทุกคนที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกท้อแท้ที่ไม่ได้มีชีวิตสำเร็จไปตามลำดับอายุที่สังคมวาดหวังไว้ หรืออาจจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่เคยคิดไว้เมื่อตอนเด็กๆ ว่าอย่ากดดันตัวเองมากเกินไป การที่เราอาจจะสำเร็จช้า หรือไม่ได้สำเร็จตามแบบคนอื่นก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร
2
เพราะนี่คือชีวิตแรกของเรา และทุกคนก็ต้องผ่านการเป็นผู้ใหญ่ครั้งแรกกันทั้งนั้น…
2
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา