24 ม.ค. 2022 เวลา 00:30 • คริปโทเคอร์เรนซี
Consensus Algorithm กลไกการตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำเข้าบล็อกเชน!
เคยสงสัยไหมว่า ข้อมูลที่เราทำธุรกรรมนั้นจะไปไหนต่อ มีใครมาตรวจสอบยืนยันสิ่งที่เราทำหรือไม่ ? มารู้จักกับกลไกฉันทามติ (Consensus Algorithm) อีกหัวใจสำคัญของบล็อกเชนกัน
🎯 Consensus คืออะไร ?
Consensus Algorithm คือ กลไกตรวจสอบความถูกต้องของบล็อกเชน หรือเรียกกันว่า “ฉันทามติ” เนื่องจากบล็อกเชนคือระบบที่ไร้ศูนย์กลาง การจะเพิ่มข้อมูลลงไปในบล็อกนั้น อยู่ๆอยากจะเพิ่มไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบกันก่อน! และฉันทามตินี้ก็นับเป็นหัวใจสำคัญเลยทีเดียว เนื่องจากฉันทามติจะรักษาความสมบูรณ์และความปลอดภัยของระบบกระจายศูนย์นี้ได้
หากยังไม่รู้จักบล็อกเชน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ 👇
🎯 เริ่มต้นจาก Hash function
ก่อนจะไปเริ่มกัน ต้องเข้าใจก่อนว่าบล็อกเชนนั้นเชื่อมข้อมูลระหว่างกันโดยใช้ hash function มันคือการทำให้ข้อมูลก้อนๆหนึ่งอยู่ในรูปที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น
Data: hello1
Hash: 91e9240f415223982edc345532630710e94a7f52cd5f48f5ee1afc555078f0ab
และบล็อกเชนมันก็ใช้ค่า hash นี้ในการอ้างอิงถึงกัน คือมันจะเอา hash ของบล็อกก่อนหน้ามาอ้างอิง ซึ่งแปลว่าถ้าข้อมูลบล็อกก่อนหน้ามีการแก้ไข ค่า hash มันก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งมันจะไม่ถูกต้องนั่นเอง หรือถ้าคุณจะพยายามโกงข้อมูลในบล็อกเชน คุณจำเป็นต้องแกะข้อมูลที่ถูก hash ออกมาเพื่อโคลนมันให้เหมือนเป๊ะๆ ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก
Hash function นี้ก็จะมีการใช้แตกต่างกันไป อย่าง Bitcoin จะใช้ SHA-256 และ Ethereum ที่ใช้ Ehash เป็นต้น
🎯 Proof of Work (PoW)
Proof of Work (PoW) คือกลไกที่จะใช้การประมวลผลในการแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ โดยเหล่าผู้ที่จะมาร่วมแก้สมการนี้เรียกว่า “นักขุด” (Miner) ซึ่งที่เราได้ยินกันว่าขุดบิตคอยน์ๆ อะไรพวกนั้นมันก็คือการที่เราเอาอะไรที่มันประมวลผลได้อย่าง CPU, GPU หรือเครื่อง ASIC มาทำเนี่ยแหล่ะ
ซึ่งอยากที่เห็นว่า มันต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อทำให้เกิดการประมวลผลได้ นี่คือข้อเสียอย่างหนึ่งของ PoW เพราะมันไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก จนเป็นที่ถกเถียงกันเมื่อเปรียบเทียบกับฉันทามติแบบอื่นๆ
นักขุดต้องสุ่มหาค่า hash โดยระบบจะมีการตั้งค่าความอยาก (ค่า Nonce) ขึ้นมาแตกต่างกันไปตามเครือข่ายเพื่อให้การสุ่มยากขึ้น อย่าง Bitcoin จะกำหนดไว้ประมาณ 10 นาที หากมีนักขุดมาก ค่า Nonce นี้ก็จะมากขึ้น ถ้านักขุดน้อย ค่า Nonce ก็จะน้อยลงตาม
จากนั้นหากใครที่สามารถสุ่มได้สมการนี้ก่อน ก็จะได้รับรางวัลเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาใหม่นั่นเอง และได้สิทธิ์ในการตรวจสอบธุรกรรมและสร้างบล็อกใหม่ขึ้นมา
🎯 Proof of Stake (PoS)
Proof of Stake (PoS) คือกลไกที่ต่างจาก PoW ตรงที่เปลี่ยนจากการใช้พลังงานในการประมวลผลแก้สมการ เป็นการใช้สินทรัพย์มาค้ำประกันหรือฝากไว้เพื่อเข้าร่วมเป็นผู้ร่วมตรวจสอบ (Validator)
โดย Validator แต่ละคนที่จะเข้ามา ต้องทำการฝากทรัพย์สินของตัวเองหรือที่เราได้ยินว่า “Staking” นั่นเอง ซึ่งเมื่อเราฝากทรัพย์สินไว้เพื่อค้ำประกัน เราก็จะมีโอกาสได้ร่วมตรวจสอบธุรกรรม หากเราได้ตรวจสอบ ก็จะได้รางวัลเป็นค่าธรรมเนียมนั่นเอง ส่วนเรื่องการโกง ถ้ามี Validator คนไหนที่พยายามโกง ระบบก็จะทำการยึดทรัพย์สินที่ฝากค้ำประกันไว้ทั้งหมด
หากคุณยังไม่รู้จักการ Staking สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 👇
แล้วมันจะตรวจสอบยังไงหล่ะ? อธิบายง่ายๆก็คือ PoS จะสุ่มผู้ตรวจสอบ โดยให้ความสำคัญปริมาณทรัพย์สินที่ผู้ร่วมตรวจสอบแต่ละคนฝากไว้ ยิ่งมีมากก็มีโอกาสได้ตรวจสอบมาก แต่ก็ใช่ว่าผู้ที่ฝากน้อยจะไม่มีโอกาสเลย กลไก PoS อาจมีการจัดการให้เว้นระยะการสุ่มสำหรับผู้ที่ได้สิทธิ์ตรวจสอบแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้ตรวจสอบได้ด้วย
อีกทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มโอกาสให้เราคือการรวมตัวกันฝากทรัพย์สิน เช่นการ Staking กับกระดานเทรดเจ้าต่างๆ เป็นต้น
จริงๆแล้ว PoS ก็มีประเภทแยกมาอีก นั่นคือ Delegated Proof of Stake (DPoS) คือแนวคิดที่เปลี่ยนจากเดิม ที่ยิ่งมีทรัพย์สินฝากไว้มาก โอกาสในการตรวจสอบก็จะมากตาม ซึ่งทำให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์น้อยอาจไม่ได้รับโอกาส กลายมาเป็นผู้ที่ฝากเหรียญทั้งหมดทุกคนนั้นจะนำสิทธิ์มาโหวตเลือกผู้ตรวจสอบธุรกรรมแทน เรียกว่า Witness
ส่วนผลตอบแทนที่ได้นั้น จะเป็นไปตามสัดส่วนที่เราฝากทรัพย์สินไปในตอนแรก ข้อดีของ DPoS คือมีความเร็วกว่า PoS เพราะสามารถตัดขั้นตอนที่ผู้คนต้องแย่งกันเป็นผู้ยืนยันธุรกรรมมาเป็นการโหวตแทน
🎯 Proof of Authority (PoA)
Proof of Authority (PoA) คือกลไกที่มีลักษณะคล้าย PoS ที่พูดไปก่อนหน้านี้ แต่จะต่างกันตรงที่ PoA จะมีการเลือก Validator จากชื่อเสียงของผู้นั้นแทนไม่ได้ใช้ทรัพย์สินใดๆมาค้ำประกัน และผู้ที่จะมาเป็น Validator จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆให้สาธารณะได้รับรู้และเข้าถึงได้ ตัวอย่างเช่น บริษัท A, B และ C เป็น Validator ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะต้องใช้ชื่อเสียงบริษัทของพวกเขาประกันว่า เขาจะทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมอย่างซื่อสัตย์และถูกต้อง
ข้อดีของ PoA คือการตรวจสอบธุรกรรมที่รวดเร็ว เนื่องจากมี Node จำนวนน้อย ทำให้การเลือกผู้ตรวจสอบนั้นทำได้ค่อนข้างเร็วกว่า ไม่ยุ่งยาก แต่อาจแลกมาด้วยความรวมศูนย์เนื่องจาก Validator จะถูกจัดตั้งขึ้นมา แต่หากจะมีการเพิ่ม Validator เข้ามา ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคนอื่นๆด้วย
PoA นั้นอาจเหมาะสำหรับการใช้งานในองค์กร หรือเครือข่ายเล็กๆอาจตอบโจทย์มากกว่า ถ้ามองในเรื่องการรวมศูนย์/กระจายศูนย์
🎯 Proof of Burn (PoB)
Proof of Burn (PoB) คือ กลไกที่มีเงื่อนไขให้นักขุดเผาเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี่ใด ๆ โดยจะเป็นเหรียญของเครือข่าย หรือต่างเครือข่ายก็ได้ เพื่อมีสิทธิ์ในกาตรวจสอบธุรกรรม ตามปริมาณการเผาเหรียญของ
หากคุณยังไม่รู้จัก “การเผาเหรียญ” สามารถอ่านได้ที่นี่ 👇
PoB นั้นอาจเป็น PoW ที่ไม่มีการใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะนักขุดจะต้องเผาเหรียญเพื่อซื้อ “เครื่องขุดเสมือน” ที่ให้พลังในการขุด ยิ่งนักขุดเผาเหรียญมากเท่าไร เครื่องขุดเสมือนก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นเท่านั้น
🎯 Proof of Elapsed Time (PoET)
Proof of Elapsed Time (PoET) คือกลไกที่ถูกคิดค้นโดย Intel Corporation (INTC) ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตชิปที่เราน่าจะรู้จักกันดี โดยจะใช้หลักการเหมือนการสุ่มล็อตตอรี่ ซึ่งแต่ละโหนดที่เข้าร่วมในเครือข่ายจะได้รับเวลาที่ต้องรอแบบสุ่ม และผู้ที่ได้เวลารอน้อยที่สุดก็จะได้ตรวจสอบและสร้างบล็อกก่อน
PoET นั้นถูกใช้ใน Intel Software Guard Extensions (SGX) ซึ่งเป็นชุดคำสั่งของ Intel ในการประมวลผลภายใน CPU ส่วนใครสงสัยว่ามันเอาไว้ทำอะไรยังไง ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมนะ ไม่งั้นยาว
🎯 Proof of Capacity (PoC)
Proof of Capacity (PoC) คือ กลไกที่ผู้เข้าร่วมตรวจสอบจะต้องใช้พื้นที่ Hard Drive ร่วมด้วย โดย PoC จะสร้างรายการ การแก้ปัญหาไว้ใน Hard Drive ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งต่างจาก PoW ที่นักขุดจะต้องสุ่มค่าเพื่อแก้สมการ ดังนั้นถ้า Hard Drive มีความจุมาก โอกาสที่นักขุดจะได้ค่า hash ที่ต้องการจากรายการใน Hard Drive มากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสชนะรางวัลการขุดมากขึ้น
🎯 Proof of Importance (PoI)
Proof of Importance (PoI) คือ กลไกที่มีลักษณะคล้าย PoS แต่จะมีการเพิ่มเงื่อนไขอื่นๆเพิ่มเติมสำหรับการให้ความสำคัญในการให้สิทธิ์ตรวจสอบธุรกรรม เช่น จำนวนการทำธุรกรรมใน 1 เดือนที่ผ่านมา จำนวนทรัพย์สินขั้นต่ำที่ฝากค้ำประกันไว้ หรือเงื่อนไขอื่นๆเป็นต้น
โดยทั่วไปเราอาจเห็นการใช้กลไกฉันทามติแบบ PoW, PoS และ PoA ฉันทามติแบบอื่นๆเลยอาจไม่ค่อยคุ้นกัน อย่างไรก็ตาม การที่เรารู้กลไกการทำงานฉันทามติแต่ละประเภท ก็ช่วยให้เราเข้าใจถึงที่มาที่ไป และการทำงานของบล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น อย่างเช่น ทำไมเราฝากเหรียญ (Staking) แล้วถึงได้รับผลตอบแทน ผลตอบแทนมาจากไหน อย่างไร? เป็นต้น
โฆษณา