24 ม.ค. 2022 เวลา 01:08 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 15
จะขอนำทุกคนเข้าสู่ซีรี่ย์ ‘สัตว์ลายเสือ’ 🐯 กันค่ะ
สัตว์แต่ละชนิดมีลวดลายและสีสันที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกซึ่งช่วยในการอยู่รอดโดยผ่านการปรับตัวและวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานเพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ชนิดนั้น ๆ
เช่น สัตว์ผู้ล่ามักมีลายเพื่อให้ยากต่อการสังเกตของเหยื่อ ส่วนสัตว์ที่เป็นเหยื่อก็อาจมีลวดลายเพื่อเลียนแบบสัตว์ผู้ล่าให้ศัตรูเข้าใจผิดและไม่กล้าเข้ามาทำอันตราย
และหนึ่งในลายที่ฮิตมากในหมู่สัตว์ก็คือลายเสือนั่นเอง🐅
ซีรี่ย์สัตว์ลายเสือจะเป็นการแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีลวดลายคล้ายคลึงกับลายเสือกันนะคะ โดยจะนำมาลงให้ได้อ่านกันเดือนละหนึ่งชนิดตลอดปีเสือนี้ค่ะ🐯
สัตว์ลายเสือตัวแรกที่จะชวนให้รู้จักกันก็คือเจ้า Tiger-striped tree frog หรือ Tiger-leg monkey frog มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllomedusa tomopterna🐸🐯
ซึ่งสัตว์ชนิดนี้ไม่มีในไทยนะคะ เพราะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ แต่เพื่อให้เป็นการง่ายขอตั้งชื่อไทยชั่วคราวตามลักษณะภายนอกว่า ‘ปาดลายเสือ’ ค่ะ
Tiger-striped tree frog (Phyllomedusa tomopterna) © 2021 Tropical Herping via: https://www.tropicalherping.com/about/phyllomedusa_tomopterna.html
ลักษณะทั่วไป:
เป็น tree frog หรือปาดขนาดกลางมีขนาดความยาวสูงสุดประมาณ 60 มิลลิเมตร ตัวผู้♂️จะมีขนาดตัวเล็กกว่าตัวเมีย♀️เล็กน้อย หากินในเวลากลางคืนส่วนเวลากลางวันจะเป็นช่วงเวลาพักผ่อน
ซึ่งขณะที่พักผ่อนในเวลากลางวันที่มีแสงสว่างนั้น ลายเสือสีส้มสลับดำตามตัวจึงถูกซ่อนเอาไว้ แต่จะปรากฎเด่นชัดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนและมีประโยชน์อย่างมากในการทำให้สัตว์ผู้ล่าตกใจ และถ่วงเวลาได้ไม่มากก็น้อยทำให้เจ้าปาดลายเสือใช้ช่วงเวลานี้หนีรอดจากการถูกล่าไดสำเร็จ
แหล่งอาศัยและการแพร่กระจาย:
พบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ในป่าฝนเขตร้อนแพร่กระจายอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเวเนซุเอลาไปจนถึงเฟรนช์เกียนา ลุ่มน้ำอเมซอนในบราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู และโบลิเวีย
โดยมักพบได้ตามพุ่มไม้และต้นไม้เตี้ย ๆ ใกล้แหล่งน้ำชั่วคราวและกึ่งชั่วคราวในช่วงฤดูฝน กินแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร
โดยจะผสมพันธุ์และวางไข่ตามใบไม้โดยลูกอ๊อดจะเจริญเติบโตในแหล่งน้ำรอบ ๆ ต้นไม้เหล่านั้น ดังนั้นระบบนิเวศหลักที่ปาดชนิดนี้อาศัยอยู่จึงเป็นระบบนิเวศป่าไม้และแหล่งน้ำในแผ่นดิน (inland water)
สถานภาพ:
ปัจจุบันแม้ว่าปาดชนิดนี้จะมีสถานภาพโดยรวมที่ค่อนข้างคงที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่อาจมีบางกลุ่มประชากรที่ถูกคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่าในถิ่นที่อยู่อาศัยที่เป็นป่าเขตร้อน
อย่างไรก็ดีปัจจุบันสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibian) จัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อย่างมาก
เนื่องจากตามชีววิทยาพื้นฐานของ amphibian ซึ่งหายใจทางผิวหนังและดำรงชีวิตทั้งบนบกและในน้ำ ผิวหนังจึงมีความ sensitive และต้องการความชื้นอย่างมาก
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้ amphibian หลายชนิดไม่สามารถปรับตัวได้และนั่นทำให้ 1 ใน 3 ของ amphibian ทั่วโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์
ประกอบกับภัยคุกคามอื่น ๆ เช่น การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ทั้งจากการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ป่าฝนและแหล่งน้ำเสื่อมโทรมลง ปัญหามลพิษ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (invasive aline species) และโรคต่าง ๆ
ซึ่งหาก amphibian สูญพันธุ์ไปจากระบบนิเวศใดก็ย่อมส่งผลต่อสายใยอาหารในระบบนิเวศนั้นอย่างแน่นอน
แถมท้าย: กบ เขียด ปาด คางคก อึ่งอ่าง ต่างกันอย่างไร?
ก่อนจะจบตอนนี้ขอแถมท้ายความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของ amphibian กลุ่มนี้กันซักเล็กน้อยค่ะ
สำหรับคนไทยถ้าเห็นสัตว์หน้าหลิมๆ ตัวลื่นๆ มีสีขา กระโดดโหยง ๆ ได้ ก็คงจะเรียกรวม ๆ ว่ากบไว้ก่อน โดยเฉพาะเจ้าพวกที่ผิวตัวเรียบ ๆ ทั้งหลาย
ความจริงสัตว์กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอยู่ไม่มากก็น้อย ทั้งลักษณะภายนอกและเสียงร้อง
แต่หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกได้ บางคนแค่เห็นหน้าหรือเห็นน้องนอนขดอยู่ในรองเท้าก็กระโดดหนีกันแล้ว
จึงขอแชร์ข้อมูลจากกรมป่าไม้ถึงความแตกต่างของ กบ เขียด ปาด คางคกและอึ่งอ่างให้ได้อ่านกันตามในรูปเลยค่ะอ๊บ🐸
https://m.facebook.com/ForestBiodiversityDivision/photos/a.1522389284707001/2904625203150062/?type=3&source=57
โดยสรุปก็คือคางคกและอึ่งมีลักษณะภายนอกที่ค่อนข้างแตกต่างจาก กบ เขียดและปาดอย่างเห็นได้ชัด
คางคกอยู่ในวงศ์ Bufonidae รูปร่างคล้ายกบ แต่ความต่างที่เด่นชัดคือมีผิวหนังเป็นตุ่มขรุขระ
ส่วนอึ่งซึ่งอยู่ในวงศ์ Microhylidae มีรูปร่างอ้วนป้อมและมักพองตัวได้
แต่ที่แยกได้ยากก็คือ กบ เขียดและปาด
โดยกบและเขียด ต่างก็อยู่ในวงศ์ Ranidae มีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากต่างกันแค่เพียงเขียดมักมีขนาดตัวเต็มวัยที่เล็กกว่ากบ
แต่ก็มีกบบางชนิด เช่น กบหนองที่มีขนาดตัวเล็กพอ ๆ กันกับเขียดตัวเต็มไว ส่วนสีสันต่าง ๆ ก็หลากหลายมากตามถิ่นที่อยู่อาศัยเลยค่ะ
ปาดหรือตะปาดหรือเขียดตะปาด อยู่ในวงศ์ Rhacophoridae จะมีรูปร่างที่ค่อนข้างเพรียวกว่ากบและเขียด และจุดที่เด่นชัดก็คือปลายนิ้วที่แบนเป็นปุ่มกลมช่วยในการเกาะเกี่ยว
เพราะปาดมักอาศัยอยู่ตามต้นไม้ดังชื่อภาษาอังกฤษว่า tree frog หรือ monkey frog เช่นเดียวกับเจ้าปาดลายเสือพระเอกของเราในวันนี้
ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับ amphibian ในบ้านเรายังมีกลุ่มผู้สนใจอยู่จำกัดเมื่อเทียบกับสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มอื่น ๆ เช่น ปลา นก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
แม้จะมีเรื่องราวน่ายินดีจากการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ ๆ ในประเทศไทยอยู่เรื่อย ๆ อย่างล่าสุดก็คือ กบอกหนามน่าน (Quasipaa veucospinosa) ที่พึ่งค้นพบและตีพิมพ์ในเอกสารทางวิชาการไปเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
แต่ภัยคุกคามต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ amphibian บางชนิด สูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะได้ค้นพบเค้าเสียอีก...
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา