25 ม.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
“จับตาตลาดสินค้าผลไม้ Exotic Fruit ในอิตาลีเติบโตต่อเนื่อง หวังไทยส่งออกเพิ่มขึ้น”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลไม้ Exotic Fruit หรือผลไม้จากต่างประเทศ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผลไม้ที่ชาวอิตาเลียนนิยมรับประทานเพิ่มมากขึ้น ตลอดทั้งปีไม่เฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญเท่านั้น โดยอิตาลีนำเข้าผลไม้ Exotic Fruit ส่วนใหญ่จากประเทศในเขตเมืองร้อน และส่วนหนึ่งเพาะปลูกเองในเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของอิตาลีที่มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับประเทศเมืองร้อน อันเนื่องมาจากปัญหาโลกร้อนทำให้อิตาลีเริ่มหันมาปลูกผลไม้ Exotic Fruit บางชนิดเอง ส่วนใหญ่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตซึ่งมีราคาโดยเฉลี่ยต่อกิโลกรัมจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผลไม้ประจำท้องถิ่น/ประจำฤดูกาล โดย ผลไม้ Exotic Fruit ที่ได้รับความนิยมในอิตาลีในปัจจุบัน ได้แก่ อาโวคาโด มะม่วง มะพร้าว มะละกอ สับปะรด และผลไม้อื่น ๆ เป็นต้น
จากข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นนำของโลก NielsenIQ เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดสินค้าผลไม้ Exotic Fruit ในอิตาลี พบว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 - ตุลาคม 2564 อิตาลีจำหน่ายผลไม้ Exotic Fruit มีมูลค่ารวม 65.2 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 หรือคิดเป็นปริมาณ 10,281 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยผลไม้ที่มีมูลค่าการจำหน่ายมากที่สุด คือ
อาโวคาโด (มูลค่า 43 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 และปริมาณ 5,991 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.8)
รองลงมา ได้แก่ มะม่วง (มูลค่า 9.5 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และปริมาณ 1,981 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.1) มะละกอ (มูลค่า 1.5 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และปริมาณ 191 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2)
และ สับปะรด (มูลค่า 5.7 แสนยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 276.5 และปริมาณ 122 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 137)
นอกจากนี้ ระหว่างปี 2550 – 2563 การบริโภคสับปะรด อาโวคาโด และมะม่วง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากการบริโภคเฉลี่ย 1.2 กิโลกรัม/คน เป็น 2.4 กิโลกรัม/คน
โดยผู้บริโภคชาวอิตาเลียนที่นิยมบริโภคผลไม้ Exotic Fruit มากที่สุดอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือ (แคว้น Piemonte, Valle d’Aosta, Liguria และ Lombardia) มูลค่าจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3 และมีสัดส่วน ร้อยละ 36.7 ของมูลค่าการจำหน่ายผลไม้ Exotic Fruit ทั้งหมดในอิตาลี และมีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.3 และมีสัดส่วนร้อยละ 34.8 ของปริมาณการจำหน่ายผลไม้ Exotic Fruit ทั้งหมดในอิตาลี โดยมีราคาจำหน่ายเฉลี่ย 6.35 ยูโร/กิโลกรัม หดตัวลดลงร้อยละ 10 (จากราคา 7.05 ยูโร/กิโลกรัม)
สำหรับช่องทางจำหน่ายผลไม้ Exotic Fruit ในอิตาลีที่สำคัญ ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์-มาร์เก็ต ร้านค้า Discount และร้านค้าปลีก ทั่วไป/ร้านค้าเอเชีย โดยการจำหน่ายผลไม้ Exotic Fruit ในซูเปอร์ มาร์เก็ตมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 41.1 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.5 ของมูลค่าการจำหน่ายผลไม้ Exotic Fruit ทั้งหมดในอิตาลี รองลงมา ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต (เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.1) ร้านค้า Discount (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.3) และร้านค้าปลีกทั่วไป/ร้านค้าเอเชีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.2) จากข้อมูลของสำนักวิจัยที่สำคัญหลายแห่งและความคิดเห็นของบริษัทผู้นำเข้าและผู้กระจายสินค้าผลไม้สด/ ผลไม้ Exotic Fruit ที่สำคัญในอิตาลีและในยุโรป (Top Player) ได้แก่
• Battaglio (ผลประกอบการ ปี 2564 200 ล้านยูโร)
• Brio (ผลประกอบการ ปี 2563 46 ล้านยูโร)
• Chiquita (ผลประกอบการเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
• Del Monte (ผลประกอบการ ปี 2564 3,234 ล้านเหรียญสหรัฐ)
• Dole Italia (ผลประกอบการ ปี 2563 200 ล้านยูโร)
• Gruppo Orsero (ผลประกอบการ ปี 2563 มากกว่า 1,040 ล้านยูโร)
• McGarlet (ผลประกอบการ ปี 2563 มากกว่า 30 ล้านยูโร)
• Sicilia Avocado
• Spreafico (ผลประกอบการ ปี 2563 มากกว่า 360 ล้านยูโร)
โดยมีการยืนยันข้อมูลว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคผลไม้สดในอิตาลีมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน จะเลือกซื้อผลไม้สด/ผลไม้ Exotic Fruit ที่บรรจุในภาชนะเรียบร้อยแล้วร้อยละ 52 มากกว่าผลไม้ที่เลือกชั่งได้ตามน้ำหนักร้อยละ 48 เนื่องจากผู้บริโภคมองว่ามีความปลอดภัย สะอาด ป้องกันการกระแทก และช่วยลดการเกิดการเน่าเสียได้ง่าย มากไปกว่านั้นผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น
โดยจะเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ/วัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายมากกว่าพลาสติก รวมถึงผู้บริโภคชาวอิตาเลียน 6 ใน 10 (ร้อยละ 61) เลือกซื้อสินค้าผลไม้สด/ผลไม้ Exotic Fruit ที่ปลูกเองในประเทศมากกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ และยอมซื้อสินค้าราคาแพงกว่ามีสัดส่วนร้อยละ 71 เนื่องจากเชื่อว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศมีคุณภาพ มาตรฐาน สด ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการสนับสนุนแรงงานในประเทศ
ปัจจุบันอิตาลีขยายการเพาะปลูกผลไม้ Exotic Fruit เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาโวคาโด กล้วย ส้ม โดยช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 อิตาลีส่งออกผลไม้ Exotic Fruit มีมูลค่า 73.4 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 หรือคิดเป็นปริมาณ 88,598 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.7 เทียบจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี เป็นต้น ในขณะที่อิตาลีนำเข้าผลไม้ Exotic Fruit มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากอเมริกาใต้
1. ในอดีตที่ผ่านมา ผลไม้ Exotic Fruit ในอิตาลีถือเป็น ผลไม้ที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญเท่านั้น เนื่องจากราคาสูงและหาซื้อได้ค่อนข้างยาก ซึ่งต่างจากยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์-มาร์เก็ตขนาดใหญ่ซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความคุ้นเคยในการรับประทานผลไม้ Exotic Fruit เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ พบว่า ผลไม้ Exotic Fruit ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์-มาร์เก็ตส่วนใหญ่นำเข้าจากอเมริกาใต้ซึ่งส่งผลให้ผลไม้ไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูงในตลาดอิตาลี
2. ผลไม้สดของไทยยังมีโอกาสในการขยายส่วนแบ่งใน ตลาดผลไม้สดในอิตาลี เห็นได้จากการที่ผู้นำเข้าอิตาเลียนสนใจนำเข้า ผลไม้สดจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ มะม่วงสุก ทุเรียน และมะขาม เป็นต้น ปัจจุบันอิตาลีมีการนำเข้าผลไม้สดจากไทย ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง มะขามหวาน แก้วมังกร มังคุด ขนุน และเงาะ เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่วางจำหน่ายในร้านค้าเอเชีย ซึ่งมีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 12 – 30 ยูโร/กิโลกรัม โดยเดือนมกราคม - กันยายน 2564 อิตาลีนำเข้าผลไม้สด (HS Code 0810) จากไทยมีมูลค่า 543,905 เหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 ซึ่งทุเรียน (HS Code 081060) มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดมูลค่า 306,029 เหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 305 ดังนั้น มีความเชื่อมั่นว่าหากเกษตรกรและผู้ส่งออกไทยสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้า และปฏิบัติตามขั้นตอนการนำเข้าผลไม้สดมายังสหภาพยุโรป สินค้าผลไม้สดไทยจะสามารถเจาะตลาดอิตาลีเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ หรือย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอิตาลี
3. การที่อัตราเงินเฟ้อในอิตาลีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าผลไม้สดมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเดือนพฤศจิกายน 2564 ดัชนีราคาสินค้าผลไม้สดในอิตาลีปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.94% (เทียบจากเดือนตุลาคม 2564 ที่ 159.22 เป็น 171.45) ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคผลไม้สดรวมถึงผลไม้ Exotic Fruit ของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนลดลงไม่มากก็น้อย ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
โฆษณา