28 ม.ค. 2022 เวลา 05:24 • ปรัชญา
พระพุทธเจ้าชอบฆ่าอะไร?
คำถามนี้ไม่ได้ตุตะคิดขึ้นมาเอง แต่เป็นเรื่องราวที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก
โดยสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ครั้งนั้นท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และถามคำถามกับพระองค์ว่า..
“บุคคลฆ่าอะไรแล้วจะยังอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรแล้วจึงจะไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงชอบการฆ่าอะไร”
ถ้าเราถูกถามแบบนี้จะตอบว่าฆ่าอะไรดี...?
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
บุคคลฆ่าความโกรธเสียแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรท้าววาสวะ พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธอันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
3
พระพุทธองค์ตรัสถึงลักษณะความโกรธว่า “มีรากเป็นพิษ มียอดหวาน”
3
ที่ว่ามีรากเป็นพิษ หมายความว่า เมื่อความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว จะแสดงพิษสงต่อจิตใจ ทำให้หงุดหงิด เร่าร้อน เดือดดาล จึงต้องรีบระบายความหงุดหงิด เร่าร้อน เดือดดาลออกไปโดยเร็ว ด้วยการด่า ทุบตี หรือทำร้ายบุคคลหรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุให้โกรธ
1
เมื่อได้ทำจนสาแก่ใจแล้ว ในบั้นปลายจะรู้สึกโล่งใจ สบายใจ จึงเรียกว่า “มียอดหวาน”
1
ของที่มียอดหวานแต่รากเป็นพิษ กัดกินเข้าไปอย่างไรก็ต้องทำร้ายคนกินแน่นอน
1
นอกจากนี้ พระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ยังเคยพูดถึงระดับของความโกรธเอาไว้โดยละเอียด จากน้อยไปหามาก เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 13 ขั้น ดังนี้
1. ทำให้จิตใจขุ่นมัว
2. ทำให้หน้าเง้าหน้างอ
3. ทำให้คางสั่น ปากสั่น
4. เปล่งผรุสวาจา (คำหยาบ)
5. เหลียวดูทิศต่างๆ เพื่อหาท่อนไม้
6. จับท่อนไม้และศัสตรา
7. เงื้อท่อนไม้และศัสตรา
8. จับท่อนไม้และ(ผู้อื่น)
9. ทำให้เป็นแผลเล็กแผลใหญ่
10. ทำให้กระดูกหัก
11. ทำให้อวัยวะน้อยใหญ่หลุดไป
12. ทำให้ชีวิต(ผู้อื่น)ดับ
13. เมื่อใดความโกรธให้ฆ่าผู้อื่น แล้วจึงให้ฆ่าตน เมื่อนั้นความโกรธไปขั้นรุนแรงอย่างหนัก ถึงความเป็นของอย่างยิ่ง
สังคมทุกวันนี้ก็มีให้เห็นอยู่มาก คือโกรธกันไปจนถึงขั้นท้าย ๆ สร้างความสูญเสียกันมากมาย
วิธีแก้คือต้องมีสติ รู้ตัว รู้ทันความโกรธ
พระอาจารย์ปราโมช ปราโมชโช ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า
คนที่มักโกรธให้เฝ้าดูเฝ้ารู้อยู่สองอารมณ์ทั้งวัน คือโกรธ กับ ไม่โกรธ
ดูให้เห็นว่าอารมณ์โกรธมันเกิดขึ้นมา แล้วมันดับไปตอนไหน
เวลาเรารู้ทันอารมณ์หนึ่ง ๆ อารมณ์นั้นมันจะหยุดไปโดยอัตโนมัติ และเราจะเห็นอีกว่าอารมณ์โกรธก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป พอรู้ว่ามันไม่ได้อยู่ตลอดเวลาก็ไม่รู้ว่าจะโกรธจนหน้ามืดตามัว ลงไม้ลงมือไปทำไม
ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือ เวลาเราถูกด่า ถูกว่า หรือถูกทำให้โกรธ คนส่วนมากมักรู้สึกว่าต้องด่ากลับหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำน้ำใจเหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าอยากเอาชนะอีกฝ่ายที่มาทำร้ายเราก่อน
แต่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ว่า...
คนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจาอ้อมสำคัญว่าชนะฝ่ายเดียว แต่ความอดทนได้เป็นความชนะของ “บัณฑิตผู้รู้แจ้ง”
1
เราคิดว่าเราชนะ เพราะได้ความสะใจเต็มประดา แต่หารู้ไม่ว่านอกจากจะแพ้แล้ว ยังเข้าขั้นเป็น 'คนพาล' ไปอีกด้วย
คนพาลนี้แพ้ให้กับอำนาจความโกรธ (หรือกิเลส) ส่วนคนที่อดทนให้คนอื่นๆ ด่าโดยไม่ตอบโต้ ทั้งที่สามารถทำได้ นั่นแหละคือ “ผู้ชนะที่แท้จริง” เพราะเอาชนะความโกรธอันเป็นสิ่งที่เอาชนะได้ยาก
1
บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่า “ชนะสงครามในบุคคล ที่ชนะได้โดยยาก” ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่า “ย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย” คือแก่ตนเองและผู้อื่นนั่นเอง
ข้อมูลจาก
พระไตรปิฎก เล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 7 สักกปัญจกะที่ 3
ฆัตวาสูตรที่ 1:
ความโกรธ : โดย ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
โฆษณา