5 ก.พ. 2022 เวลา 00:00 • หนังสือ
นามเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ คนรุ่นใหม่อาจไม่คุ้น แต่ศิษย์โรงเรียนอัสสัมชัญทุกคนจะรู้ดี
3
ฟ. ฮีแลร์ ก็คือชาวต่างชาติคนหนึ่งผู้มีบุญคุณต่อชาวไทยอย่างใหญ่หลวง
1
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ บาทหลวงเอมิล โอกุสต์ โกลงเบต์ วัยห้าสิบเอ็ด เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ฝรั่งเศส หลังจากใช้เวลายี่สิบสองปีในประเทศสยาม ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ สอนเด็กคริสตังและลูกหลานชาวยุโรป
3
การเดินทางเที่ยวนี้ต่างจากครั้งอื่นคือ ท่านเข้าพบท่านอธิการใหญ่แห่งคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ณ เมืองแซง โลรอง ซูร์ แซฟวร์ จังหวัดวองเด
5
“ข้าพเจ้าปรารถนาส่งมอบกิจการโรงเรียนอัสสัมชัญในประเทศสยามให้แก่คณะฯ”
1
อธิการใหญ่แห่งคณะภราดาเซนต์คาเบรียลตกลง
ปีถัดมา คณะภราดาเซนต์คาเบรียลก็ส่งภราดาห้าคนไปรับหน้าที่บริหารโรงเรียนอัสสัมชัญ
2
ภราดาผู้มีอายุน้อยที่สุดชื่อ ฟรองซัว ตูเวอแน ฮีแลร์ อายุเพียงยี่สิบปีเท่านั้น เกิดที่ตำบลชองนิเอร์ เมืองปัวตีเย ประเทศฝรั่งเศส ในวัยเด็กเขาสนใจพระธรรมและคิดอุทิศตนแก่ศาสนา ถวายตนปฏิบัติกิจเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ศึกษาที่คณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล ที่เมืองแซ็ง โลร็อง ซูร์ แซ็ฟวร์ อายุสิบแปดเป็นภราดา
1
เจษฎาจารย์ทั้งห้าลงเรือที่เมืองมาร์เชย์เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ใช้เวลาเดินทางหนึ่งเดือนกับสองวันก็ถึงกรุงเทพฯ เรือเทียบท่าห้างบอร์เนียว แตะแผ่นดินสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
4
ฟรองซัว ตูเวอแน ฮีแลร์ พูดภาษาไทยไม่ได้สักคำ
1
ภราดาหนุ่มได้รับมอบหมายให้สอนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส วันหนึ่งเขาได้ยินเด็กนักเรียนไทยท่องข้อความบางอย่าง เสียงนั้นสูง ๆ ต่ำ ๆ ไพเราะ มีจังหวะจะโคนงดงาม เขานึกสงสัยว่าเด็กท่องอะไร เมื่อสอบถามก็รู้ว่ามันคือ มูลบทบรรพกิจ แบบเรียนภาษาไทยที่ประพันธ์โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
7
ตั้งแต่นั้นภราดาฟรองซัวก็เรียนตำรานี้ และเริ่มเรียนภาษาไทยอย่างจริงจังกับครูหลายคน เช่น ท่านมหาทิม ครูวัน (พระยาวารสิริ) ท่านมหาศุข ศุภศิริ และครูฟุ้ง เจริญวิทย์ ภราดาหนุ่มเป็นอัจฉริยะด้านภาษา ความเร็วของการเรียนรู้ภาษาไทยของเขาน่าทึ่งอย่างยิ่ง
4
ผ่านไปหลายปี ภราดาชาวฝรั่งเศสก็แตกฉานภาษาไทยยิ่งกว่าคนไทยจำนวนมาก ศึกษาวรรณคดีไทยอย่างลึกซึ้ง เล่ากันว่าเขาสอนเวสสันดรชาดกได้ดีไม่แพ้ท่านมหาศุข
4
ฟรองซัว ตูเวอแน ฮีแลร์ มีบุคลิกผู้คงแก่เรียน ไว้หนวดเครายาว จนนักเรียนตั้งฉายาให้เขาว่า โจโฉ
2
คนทั่วไปเรียกเขาสั้น ๆ ว่า ฟ. ฮีแลร์
2
อักษรว่า ฟ. ย่อมาจาก frère (ภาษาอังกฤษว่า Brother) แปลว่า ภราดาหรือเจษฎาจารย์ (บางท่านเห็นอักษร ฟ. น่าจะมาจากชื่อ ฟรองซัว มากกว่า)
แล้ว ฟ. ฮีแลร์ก็ใช้เวลาทั้งชีวิตของเขาเป็นครูในเมืองไทย
1
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ฟ. ฮีแลร์ออกหนังสือโรงเรียนรายสามเดือน ชื่อ อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ เจตนาเพื่อให้นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญใช้ภาษาไทยได้ดีเทียบเท่าภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส นักเรียนสามารถเขียนบทความ บทกวี ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้
4
ฟ. ฮีแลร์เองก็เขียนงานมากมายลงในอุโฆษสมัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งบทความ บทกวี นิทาน
1
ความสามารถทางด้านกวีของ ฟ. ฮีแลร์นั้นสูงยิ่ง สามารถแปลบทกวีเป็นบทกวี ผลงานที่รู้จักกันแพร่หลายคือบทกวีแปลของนักบวชชาวอังกฤษ Frederick Longbridge
1
"สองคนยลตามช่อง : คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย"
8
ไม่ว่ากาพย์ กลอน หรือโคลง ท่านก็เขียนได้
"หมุน เวียนเปลี่ยนใหม่ให้ ทันกาล
สมอง เชี่ยวปรีชาชาญ ส่งไซร้
ให้ทัน ช่วงใช้งาน ก่อเกิด ประโยชน์นา
สมัย ใหม่ย่อมต้องให้ เก่าเคล้า ระคนกัน"
12
"คนฉลาดขาดเฉลียวประเดี๋ยวแย่
เหมือนเรือแพออกค้าสุดฟ้าเขียว
แต่หากขาดเข็มทิศเสียนิดเดียว
อาจแล่นเลี้ยวเกยแก่งแล่งทลาย
ถ้าแม้มีเข็มทิศติดไปแล้ว
คงคลาดแคล้วเกาะแก่งถึงที่หมาย
เข้าเทียบท่าเปิดระวางอย่างสบาย
เสร็จซื้อขายกลับบ้านสำราญรมย์"
8
ครั้งหนึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้ท่านแปลจดหมายเหตุของ ฌอง ดงโน เดอ วีเซ เรื่องของโกษาปานไปฝรั่งเศส ท่านก็แปลลงในหนังสืออุโฆษสมัย ชื่อ ทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศส เป็นบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญชิ้นหนึ่ง
1
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ โจโฉชาวฝรั่งเศสก็เริ่มสร้างงานชิ้นใหม่ที่สำคัญต่อระบบการศึกษาไทย คือตำราสอนภาษาไทยเพื่อใช้สอนนักเรียนในเครือโรงเรียนอัสสัมชัญ ตั้งแต่ชั้นมูลจนถึงประถม ๔ ท่านใช้เวลาเขียนนานสิบเอ็ดปี โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับหน้าที่เป็นผู้ตรวจแก้
7
หนังสือชุดนี้เรียกว่า ดรุณศึกษา เป็นแบบเรียนหนังสือนิทานมีภาพประกอบ ส่วนใหญ่เป็นกาพย์และกลอน เช่น พระยากง พระยาพาน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๔๕๓
9
ตัวอย่างเช่น “วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบฯ” (ดรุณศึกษา เล่ม ๓)
7
ดรุณศึกษาเล่มแรกเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ด้วย
2
ในงานบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ฟ. ฮีแลร์รับหน้าที่ประพันธ์และอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล ในนามมิซซังโรมันคาทอลิค
1
ฝีมือและผลงานด้านการประพันธ์รอบด้านของนักบวชผู้นี้ ทำให้ในปี ๒๔๗๔ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจัดตั้งสมาคมวรรณคดี ได้เชิญ ฟ. ฮีแลร์เป็นกรรมการด้วย เป็นปราชญ์ต่างชาติคนเดียวที่เป็นกรรมการของสมาคมทางภาษาและวรรณคดีไทย
3
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถูกคณะผู้ก่อการจับกุมเป็นตัวประกัน และต่อมาทรงลี้ภัยการเมืองเสด็จไปประทับที่ปีนัง ฟ. ฮีแลร์ก็ถูกทางการเพ่งเล็งด้วย แต่ท่านไม่แยแสอำนาจการเมืองใหม่ เห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์ในปีถัดมา เกิดกบฏบวรเดช พระยาศราภัยพิพัฒหนึ่งในผู้ก่อการถูกจับเข้าคุก บุตรชายของพระยาศราภัยฯถูกทางการคุกคามให้ออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ฟ. ฮีแลร์ เขียนข้อความบนนามบัตรฝากภรรยาของพระยาศราภัยฯส่งไปถึงนักโทษว่า ‘เรื่องบุตรนั้นไม่ต้องเป็นห่วง เขาจะได้รับการศึกษาเหมือนกันกับเมื่อเจ้าคุณยังมีอิสรภาพอยู่ทุกประการ’
ท่านรักและเมตตาศิษย์ทุกคน ศิษย์คนใดเดือดร้อน ก็ช่วยเหลือเต็มกำลังเสมอ
ฟ. ฮีแลร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ผู้ปกครอง ท่านอบรมสั่งสอนศิษย์ โดยเน้นศีลธรรมและจริยธรรม สอนให้เด็กอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญู
2
ท่านปกครองเด็กสมฉายาของ ‘โจโฉ’ คือด้วยทั้งไม้แข็งและไม้อ่อน
1
ไม้แข็งคือไม้แข็งจริง ๆ เป็นหวายเส้นโตที่หวดก้นเด็กซนโดยไม่เลือกว่าเป็นลูกใคร
3
ไม้อ่อนคือการเอาใจใส่นักเรียน เป็นกันเอง ท่านใช้สรรพนาม ‘อั๊ว-ลื้อ’ เมื่อพูดคุยกับเด็กนักเรียนรุ่นโต
1
ลูกศิษย์จำนวนมากของท่านได้ดีเป็นใหญ่เป็นโต เช่น ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฯลฯ
3
เมื่อภราดาคณะเซนต์คาเบรียลดำเนินการศึกษาในไทยครบห้าสิบปี มีการจัดสร้างอาคารสุวรรณสมโภช ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและสร้างสรรค์งานประติมากรรมชิ้นหนึ่งประดับอาคาร โดยให้สื่อความหมายตามบทกวีที่ ฟ. ฮีแลร์แต่งว่า
1
จงตื่นเถิดเปิดตาหาความรู้
เรียนคำครูคำพระเจ้าเฝ้าขยัน
จะอุดมสมบัติปัจจุบัน
แต่สวรรค์ดีกว่าเราอย่าลืม
11
มันกลายเป็นประติมากรรมนูนสูงงดงามขนาดใหญ่ อยู่คู่โรงเรียนอัสสัมชัญจนทุกวันนี้
ฟ. ฮีแลร์ทำงานทั้งชีวิตโดยไม่ยอมเกษียณ ในวัยเจ็ดสิบกว่า ท่านยังไม่ยอมเลิก ครั้งหนึ่งมาสเตอร์เฉิด สุดารา ลูกศิษย์คนหนึ่ง ถามท่านว่า “อาจารย์อายุมากแล้ว ไม่คิดจะกลับบ้านที่ฝรั่งเศสหรือ”
ท่านตอบว่า “อั๊วจะกลับไปทำไม พ่อแม่พี่น้องก็ตายหมดแล้ว ที่หมู่บ้านอั๊วก็ไม่รู้จักใครอีกเลย อั๊วอยู่เมืองไทยสุขสบายดีเหมือนคนไทยคนหนึ่ง อากาศก็ชิน อาหารก็ชิน รู้จักคนเยอะแยะ ฝรั่งเศสเป็นบ้านเกิด แต่สยามเป็นเมืองนอนและเรือนตาย อั๊วจะฝากกระดูกไว้ในแผ่นดินไทยนี่แหละ”
12
วัยชราของท่านไม่สนุกนัก เพราะโรคเบาหวานทำให้ท่านมองไม่เห็นอยู่หลายปี โรงเรียนจัดเวรนักเรียนไปอ่านหนังสือให้ท่านฟัง บ่อยครั้งท่านก็แต่งบทกวีโดยบอกให้จด
หลังจากแพทย์โรงพยาบาลศิริราชผ่าตัดเยื่อหุ้มตาให้ ท่านก็สามารถมองเห็นได้อีกครั้ง
1
ฟ. ฮีแลร์ผ่านชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ ถึงแก่กรรมในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ อายุแปดสิบเจ็ดปี
2
ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ท่านอุทิศตนเพื่อชาวไทย เป็นครูผู้ให้ความรู้ เป็นแสงนำทาง เป็น ‘สำเภาอันโสภา’ ลำที่พาศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าข้ามฝั่งแห่งความไม่รู้
6
สังขารของท่านฝังในแผ่นดินที่ท่านถือเป็น ‘เมืองนอนและเรือนตาย’
2
ส่วน ‘สำเภาอันโสภา’ จอดไว้กลางใจของชาวไทยชั่วนิรันดร
6
จากหนังสือ #ประวัติศาสตร์ที่เราลืม เล่ม 1 มีจำหน่ายที่ https://bit.ly/3qXkrkW
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]
โฆษณา