1 ก.พ. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
โอกาสของธุรกิจเกษตรและอาหารในรัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh)
จากการที่อินเดียเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่องตามสัดส่วนของประชากรในวัยทำงานและชนชั้นกลาง รวมทั้งเมืองรองที่เติบโตขึ้นหลายแห่งทั่วอินเดีย ผู้ประกอบการต่างชาติจึงได้เข้าไปเริ่มต้น ธุรกิจเกษตรและอาหารเพื่อรองรับโอกาสที่เกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษีและไม่ใช่ภาษี ด้วยการเข้าไปผลิตและจำหน่ายเองในอินเดีย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ได้เข้าไปลงทุนทำกิจการ โรงงานผลิตอาหารในหลายรัฐแล้ว อาทิ มหาราชฏระ กรณาฏกะ และคุชราต
ซึ่งแต่ละรัฐในอินเดียจะมีทรัพยากรที่โดดเด่นแตกต่างกันไป อาทิ รัฐมหาราชฏระมีชื่อเสียงด้านการปลูกส้ม องุ่น มะม่วง ทับทิม และสัตว์ปีก รัฐกรณาฏกะ ด้านการปลูกกาแฟ ดอกไม้ และพืชเมืองหนาว รัฐอุตตรประเทศ ด้านการปลูกอ้อยและปศุสัตว์ ประเภทโค กระบือ และหมู รัฐปัญจาบ ด้านการปลูกข้าวสาลี รัฐอันทรประเทศ ด้านการปลูกปาล์มน้ำมัน และประมง
ทั้งนี้ ยังมีรัฐอื่นๆ อาทิ รัฐกัว รัฐเคเรล่า และรัฐมัธยประเทศ ซึ่งล้วนมีศักยภาพสูงในด้านการเกษตรและอาหารที่ผู้ประกอบการไทยควรมีข้อมูลประกอบการวางแผนไว้เป็นรายรัฐ เพื่อโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนในอนาคต
1. ทรัพยากรและศักยภาพของรัฐมัธยประเทศ
รัฐมัธยประเทศเป็นเสมือนหัวใจที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศอินเดีย เป็นรัฐที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของอินเดีย มีเมืองโบพาล (Bhopal) เป็นเมืองหลวง และมีเมืองอินดอร์ (Indore), Gwalior, Jabalpur และ Ujjain เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ รัฐมัธยประเทศมีประชากรรวม 82.89 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ทำให้รัฐมัธยประเทศมีชื่อเสียงในฐานะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของอินเดีย (Agrarian state) เนื่องจากมีระบบชลประทานที่ดีมีสภาพดิน และภูมิอากาศที่หลากหลายเหมาะกับพืชหลายชนิด โดยสินค้าเกษตรที่ผลิตได้มากเป็นพิเศษในรัฐนี้ ได้แก่
- ธัญพืช: ข้าวบาสมาติ ข้าวสาลี ข้าวโพด งา ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วพัลส์
- ผัก: หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ พริกเขียว กะหล่ำปลี ผักชี ขิง ขมิ้น มะนาว มันฝรั่ง สมุนไพร
- ผลไม้ : ส้ม มะม่วง ฝรั่ง กล้วย ทับทิม และมะละกอ
- อื่นๆ : ฝ้าย ไผ่ พืชที่ให้น้ำมันหอมระเหย นม และปลาน้ำจืด
รัฐมัธยประเทศยังมีชื่อเสียงด้านการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ด้วย เนื่องจากยังมีพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่เคยมีการใช้สารเคมีอีกเป็นจำนวนมาก โดยประชากรในแต่ละอำเภอจะมีความชำนาญในการเพาะปลูกพืชที่แตกต่างกันไปตามศักยภาพของท้องถิ่น นอกจากนี้ การที่รัฐมัธยประเทศมีที่ตั้งอยู่บนเส้นทาง Delhi-Mumbai Industrial Corridor ทำให้รัฐนี้มีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าเกษตร และอาหารด้วย
ในด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ รัฐมัธยประเทศเป็นแหล่งทรัพยากรประเภทหินปูน หินอ่อน แกรนิต เพชร และมีพื้นที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แจกจ่ายไปยังรัฐอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบด้วย ในด้านการท่องเที่ยว รัฐมัธยประเทศ มีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดผู้มาเยือนปีละกว่า 60 ล้านคน โดยเป็นที่ตั้งของ Khajuraho ที่มีงานแกะสลักหินกามสูตร และสถูปสาญจี (Sanchi) ซึ่งบรรจุพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชด้วย
ที่มา IBEF, 2021
รัฐมัธยประเทศมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 126.40 พันล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการเติบโตเฉลี่ย ในช่วงปี 2559 – 2564 อยู่ที่ 11.14% ต่อปี โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าภาคเกษตรมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูง พร้อมๆ กับการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะอาหาร เนื่องจากมีผลผลิตส่วนเกินจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอ รวมทั้งอุตสาหกรรมชีวภาพสำหรับการผลิตยาก็มีแนวโน้มขยายตัว เช่นเดียวกัน
ด้วยศักยภาพด้านทรัพยากร และที่ตั้งสำหรับการกระจายสินค้า รวมถึงค่าแรงที่ค่อนข้างถูก (3.7 เหรียญสหรัฐ/วัน) ทำให้รัฐมัธยประเทศสามารถดึงดูดการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบกับ Madhya Pradesh State Industrial Development Corporation Limited (MPSIDC) ได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมศูนย์ห้องเย็นและโลจิสติกส์พาร์กขึ้นมารองรับหลายแห่ง โดยแยกตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ด้วย (Clusters)
ที่มา: https://invest.mp.gov.in
2. อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่น่าสนใจในรัฐมัธยประเทศ
2.1 สินค้าและบริการด้านจักรกลการเกษตร: จากการที่รัฐบาลอินเดียพยายามส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ และการแปรรูปเพื่อส่งออก จึงมีแนวโน้มที่อินเดียจะต้องการเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อพัฒนาผลิตภาพและคุณภาพของสินค้าเกษตรมากขึ้น ซึ่งอินเดียมีนโยบายจะพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด
อย่างไรก็ดี ในระยะ 1-2 ปีนี้ อินเดียจะยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศพร้อมๆ กับยกระดับความสามารถของตนเอง จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกและเข้าไปลงทุนเพื่อผลิตประกอบ และให้บริการด้านจักรกลการเกษตรในอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐมัธยประเทศ อาทิ เครื่องจักรกลประเภทไถ/พรวน เครื่องปักกล้า เครื่องหว่านเมล็ด/ปุ๋ย เครื่องสูบน้ำ เครื่องฉีดพ่นยา เครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องสี เครื่องคัดแยก เครื่องชั่ง เครื่องล้าง ผลิตผล เครื่องอบแห้ง ยางล้อและชิ้นส่วนของรถแทรกเตอร์ และรถพ่วง/กึ่งพ่วงสำหรับการเกษตร ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงวัสดุ และเครื่องจักรที่ใช้ในโรงเรือน ไซโล โกดัง ห้องเย็น และสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ต่างๆ
ทั้งนี้ คู่แข่งรายสำคัญที่ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่คือจีน ไต้หวัน อิตาลี ญี่ปุ่น และเยอรมนี รวมทั้งผู้ผลิตในอินเดียเอง ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางด้านราคาที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรสำหรับพืชไร่ อย่างไรก็ดี อินเดียยังขาดความชำนาญในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าและสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยในต้นทุนที่ไม่สูงนัก รวมถึงการให้บริการวางระบบและตรวจสอบคุณภาพตลอดห่วงโซ่ การผลิตตามมาตรฐานสากลด้วย อาทิ GAP, HACCP และเกษตรปลอดภัย/อินทรีย์
2.2 อุตสาหกรรมผลิตอาหาร: จากการที่อินเดียตั้งเป้าจะเป็น World Food Factory จึงมีความจำเป็นที่ต้องยกระดับความสามารถในการแปรรูปอาหาร อาทิ เครื่องจักรเพื่อการตัด/ย่อย/บด เครื่องแปรรูปผักและผลไม้ เครื่องผสม เตาอบ เครื่องทำความเย็น เครื่องบรรจุหีบห่อ เครื่องปิดผนึกและติดฉลาก รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในการแต่งสี/กลิ่น/รส และสารอาหารต่างๆ รวมทั้งศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้าอาหารด้วย
แม้ว่าการเข้ามาลงทุนและพัฒนาการเกษตรและการผลิตอาหารในอินเดียอาจทำให้ผู้ส่งออกไทยเองต้อง มีคู่แข่งทั้งในตลาดอินเดียและในตลาดโลกมากขึ้น แต่กลุ่มเป้าหมายของสินค้าไทยควรมุ่งไปที่ผู้บริโภคที่มีกำลัง ซื้อสูง ในขณะที่สินค้าที่ผลิตและส่งออกจากอินเดียไม่ได้มุ่งเน้นด้านคุณภาพในระดับที่สูงมากนัก และการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในอินเดียมีแนวโน้มที่จะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป
ดังนั้น การเข้ามาลงทุนในอินเดียจึงเป็นการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่กำลังมีมากขึ้นในตลาดอินเดีย ทั้งอาจจะเป็นช่องทางในการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากไทย เข้ามาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารด้วย เช่น เครื่องปรุง/สารปรุงแต่งน้ำผลไม้ ช็อกโกแลต เมล็ด/ผงโกโก้ และกระป๋อง/บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการไทยเข้ามาทำธุรกิจโลจิสติกส์สินค้าเกษตรและอาหาร ในอินเดียซึ่งยังมีไม่มากในรัฐนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการกระจายสินค้าจากไทยในอนาคตด้วย ซึ่งการที่รัฐมัธยประเทศอยู่บนเส้นทาง Delhi-Mumbai Industrial Corridor จึงสามารถเชื่อมโยงการขนส่งไปยังเมืองหลักๆ ได้หลายเมืองในอินเดีย
2.3 สิทธิประโยชน์ สำหรับการลงทุน
ผู้ประกอบการไทยสามารถมาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในอินเดีย โดยถือหุ้นสูงสุดได้ถึง 100% และมีมาตรการสนับสนุนเพื่อจูงใจนักลงทุนอีกหลายประการ ได้แก่
 
(1) ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ในการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับห้องเย็น ตู้ส่งสินค้าควบคุม-อุณหภูมิ เครื่องอบแห้ง เครื่องจักรเพื่อการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ และเครื่องจักรเพื่อการเลี้ยงสัตว์
(2) ยกเว้นภาษีบริการ (Service Tax) ที่เกี่ยวข้องกับการลดอุณหภูมิผักและผลไม้ หลังการเก็บเกี่ยว (Pre-cooling) การบ่ม (Ripening) การเคลือบผิว (Waxing) การบรรจุภัณฑ์ (Packing) และการติดฉลาก (Labelling)
(3) ลดหย่อนอากรนำเข้า สำหรับการนำเข้าเครื่องจักรสำหรับโรงงานธัญพืช ห้องเย็น โรงงานแปรรูปถนอมและเก็บรักษาสินค้าเกษตร
(4) ยกเว้นภาษีรายได้ สำหรับกิจการแปรรูป การถนอมอาหาร และการบรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทผัก และผลไม้ รวมทั้งเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก สัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 100 ใน 5 ปีแรก และหลังจากนั้นจะได้รับการยกเว้นร้อยละ 25 หรือ 30 ตามแต่ประเภทกิจการ เพิ่มเติมอีก 5 ปี
(5) สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรีที่อินเดียทำไว้กับหลายประเทศ (ภาษีร้อยละ 0-5) โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม Gulf Cooperation Council (GCC)
3. แนวทางการเข้าไปทำธุรกิจเกษตรและอาหารในรัฐมัธยประเทศ
จากโอกาสในการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐมัธยประเทศ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับศักยภาพของ SMEs ไทย และความท้าทายภายใต้บริบททางธุรกิจในมิติต่างๆ แล้ว พบว่ามีประเด็นที่ผู้ประกอบการควรนำมาวิเคราะห์ เพื่อการวางแผนกลยุทธ์ ดังนี้
จุดแข็ง (Strength)
S1: SME ไทยมีความชำนาญในเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารที่สามารถปรับใช้ในอินเดียได้
S2: มีสินค้าหลายรายการที่นำเข้าจากไทย ภายใต้ FTA เพื่อต่อยอดการผลิตในอินเดีย
S3: สามารถเชื่อมโยงช่องทางการขายกับธุรกิจค้าส่งของไทยในอินเดียได้
จุดอ่อน (Weakness)
W1: ความมั่นใจในหุ้นส่วน/ผู้ร่วมลงทุน
W2: ข้อจำกัดด้านภาษาและความเข้าใจในกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุน
W3: การจัดหาทีมงาน จากไทยไปบุกเบิกและกำกับดูแลธุรกิจในอินเดีย
4. ปัจจัยสนับสนุนด้านต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.1 การคัดกรองและเตรียมความพร้อมทั้งในด้านข้อมูลและทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการที่พร้อมและสนใจจะออกไปลงทุนทำธุรกิจผลิตสินค้าหรือบริการด้านอาหารในต่างประเทศ
4.2 การประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานด้านการลงทุนในรัฐมัธยประเทศ/ นักการเมืองท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจและเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น โดยร่วมกันระบุว่าท้องถิ่นมีความต้องการของตลาดในสินค้าใด หรือมีแผนจะพัฒนาสินค้าใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อการจ้างงานและสร้างรายได้ในกับเกษตรกรอินเดียเองด้วย
4.3 การจัดหาที่ปรึกษาธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารประจำรัฐมัธยประเทศ เพื่อให้คำแนะนำในรายละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบ มาตรการจูงใจ บริบททางวัฒนธรรม สภาวะการแข่งขัน ช่องทางตลาด และตรวจความน่าเชื่อถือของผู้ร่วมลงทุน โดยมีค่าบริการที่ผู้ประกอบการ SME ไทย สามารถรองรับได้
4.4 การนัดหมายและอำนวยความสะดวกในการเจรจากับผู้ร่วมลงทุน (Online Investor Matching) รวมทั้ง การเข้าไปร่วมลงทุนใน Start-ups ร่วมกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจภายในรัฐนี้ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่สนใจจะทำการ เกษตรแบบพันธสัญญาที่เป็นธรรม (Fair Contract-Farming) ร่วมกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร จากไทย
4.5 การเชื่อมโยงพันธมิตรระหว่างโรงงานผลิตอาหารของไทยในอินเดียกับธุรกิจค้าส่ง /ค้าปลีกสินค้าอาหาร อาทิ LOTS Wholesale Solutions ในเครือ CP ของไทย รวมถึง Food Bazaar, Big Bazaar, Bigbasket, Godrej, Grofers, Spencer’s และ Reliance เพื่อการเข้าถึงช่องทางการตลาดและรองรับการแข่งขันกับผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายอื่นๆ ในอินเดีย
โฆษณา