31 ม.ค. 2022 เวลา 08:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 2
บิ๊กเดต้า (ตอน 2-จบ)
บิ๊กเดต้าใกล้ตัวที่คุณอาจไม่เคยรู้
 
สำหรับแวดวงธุรกิจก็มีการนำบิ๊กเดต้ามาใช้ประโยชน์บ้างแล้วนะครับ ถ้าใครเป็นสมาชิกซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ทั้งของไทยหรือของเทศ ก็อาจจะชินกับคูปองลดราคาสำหรับสินค้าบางอย่างที่ "จำเพาะตัว" กับคุณมากๆ มียอดขั้นต่ำที่หากซื้อแล้วจะได้ลดราคา ปรับขึ้นลงตามยอดการซื้อในเดือนก่อนๆ ของคุณนั่นเอง ลองทดสอบดูเองก็ได้ครับ เดือนไหนซื้อน้อยลงมากๆ จะเห็นการปรับตัวเลข ขั้นต่ำที่จะได้ลดราคาลงตามไปด้วยครับ
 
เรื่องพวกนี้อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อของคุณตามเลขสมาชิกนั่นเอง ฉะนั้นข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของคุณไม่อาจหลบซ่อนได้ แต่มันจะถูกเก็บไว้และนำมาใช้อย่าง "จำเพาะ" สุดๆ กับตัวคุณกลายเป็น personalized marketing หรือ "การตลาดส่วนบุคคล" นั่นเอง
ในสหรัฐอเมริกา ซูเปอร์ฯ รายใหญ่ที่สุดคือ วอลมาร์ต (Walmart) มีข้อมูลการใช้จ่ายเงินของลูกค้าเกิดขึ้นมากถึง 1 ล้านรายการในทุกๆ ชั่วโมง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกลงในฐานข้อมูล ซึ่งถึงวันนี้ก็น่าจะใหญ่กว่า 2.5 เพทะไบต์ (petabyte) เข้าไปแล้ว คำว่า "เพทะไบต์" ก็เท่ากับ 1 พันล้านล้านไบต์ (1 ตามด้วย 0 อีก 15 ตัว) หากจะเทียบให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า 1 เพทะไบต์ใหญ่แค่ไหน
คำตอบคือเท่ากับขนาดข้อมูลเพลงแบบ MP3 ที่ใช้เล่นต่อเนื่องกันได้นาน 2,000 ปี !
บิ๊กเดต้ากำลังเติบโตอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน และสถานที่อื่นๆ รอบตัวคุณ
สำหรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่จัดเป็นบิ๊กเดต้าก็มีมากมายนะครับ เช่น ข้อมูลจากชุดกล้องโทรทรรศน์สมัยใหม่ที่มักทำเป็นกล้องหลายๆ ตัวทำงานคู่ขนานกันไป ข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับจักรวาลที่ได้มาก็ถือเป็นบิ๊กเดต้าแบบหนึ่งนะครับ ข้อมูลการจราจรและสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะภัยพิบัติ เช่น พายุถล่ม แผ่นดินไหว หรือสึนามิ ที่ต้องการความแม่นยำสูง แม้จะมีตัวแปรมากมายมหาศาล แถมยังต้องเป็นการวิเคราะห์แบบตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง หรือบางทีก็ต้องเปรียบเทียบกับข้อมูลเก่าๆ นานนับร้อยปี ก็ถือเป็นบิ๊กเดต้ารูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน
ข้อมูลจากโครงการจีโนมมนุษย์ ที่รหัสพันธุกรรมของคนแต่ละคนมีมากถึง 3,000 ล้านรหัส ก็ถือเป็นบิ๊กเดต้าอย่างแน่นอน ในทางชีววิทยาถึงกับเกิดสาขาใหม่ที่เอาข้อมูลด้านชีววิทยามาวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์ จนเกิดเป็นความรู้ใหม่ๆ เรียกว่า ชีวสารสนเทศศาสตร์ (bioinformatics) และเรียกกระบวนขุดหา รวบรวม และวิเคราะห์คุณค่า จากข้อมูลเบื้องต้นปริมาณมหาศาลเหล่านี้ว่า คล้ายกับการร่อนหาทองจากข้อมูล เรียกว่าเป็น การทำเหมืองข้อมูล (data mining)
เทรนด์โลกอนาคตในวันนี้
บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจที่ใหญ่ระดับโลกคือ แมกคินซีย์แอนด์คัมปะนี (McKinsey& Company) ออกรายงานสรุปเรื่องบิ๊กเดต้ามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 โดยชี้ถึงผลกระทบของความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับบิ๊กเดต้าที่จะมาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเราว่ามี "มูลค่า" มหาศาล เช่น คาดหมายว่าข้อมูลทางการแพทย์จะสร้างมูลค่าถึง 3 แสนล้านเหรียญต่อปี สองในสามของจำนวนนี้จะอยู่ในรูปของการช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศในด้านสาธารณสุข
ส่วนภาคเอกชนนั้นก็ประเมินว่า หากพัฒนาศักยภาพเต็มที่ในด้านนี้ จะเพิ่มผลกำไรได้มากกว่า 60% ทีเดียว
ในรายงานฉบับดังกล่าวจำแนกผลกระทบจากบิ๊กเดต้าไว้ถึง 7 เรื่อง โดยท่านที่สนใจสามารถดาว์นโหลดรายงานนี้ฟรี โดยใช้คำค้น McKinsey Big data report ใส่ลงในกูเกิล แต่ผมคงไม่นำมากล่าวถึงทั้งหมดในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างที่คิดว่าน่าสนใจ เช่น บิ๊กเดต้าจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกวงการ และกลายเป็นปัจจัยสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับการผลิตในยุคหน้า
บิ๊กเดต้ายังก่อให้เกิด "คุณค่า" ใหม่ๆ เช่น ทำให้ข้อมูลในบางเรื่องโปร่งใสมากขึ้น ทำให้องค์กรสามารถแยกย่อยกลุ่มเป้าหมายจำเพาะได้ตรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะมาช่วยให้การตัดสินใจเชิงนโยบายบางอย่างได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีข้อมูลสนับสนุนที่หนักแน่นและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บิ๊กเดต้ายังน่าจะก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ แต่เซ็กเตอร์ต่างๆ ในปัจจุบันจะได้รับประโยชน์จากบิ๊กเดต้าไม่เท่ากัน เช่น การเงินการคลังและรัฐบาลหรือหน่วยงานปกครองจะได้ประโยชน์มาก เช่นเดียวกับธุรกิจขายส่งและธุรกิจที่พักหรือห้องเช่าต่างๆ ขณะที่บริการการศึกษากับการก่อสร้างกลับไม่ค่อยได้รับประโยชน์สักเท่าไหร่
สำหรับน้องๆ ที่กำลังเลือกสาขาวิชาเรียน จะมีตำแหน่งงานใหม่เอี่ยมเกี่ยวกับ "บิ๊กเดต้า" รออยู่นับแสนตำแหน่งกับ "ค่าตัว" งามๆ เตรียมตัวกันหรือยังครับ
Photo by Markus Spiske on Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา