3 ก.พ. 2022 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
สรุปวิกฤติซับไพรม์ ฟองสบู่อสังหาฯ ครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ
พูดถึงวิกฤติ คงไม่มีใครชอบ เพราะมันมีผลกระทบต่อชีวิตของใครหลายคน แต่ท่ามกลางความมืดมิด ก็มีคนที่หาประโยชน์และใช้โอกาสในการลงทุนจากวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “วิกฤติคือโอกาส”
วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ วิกฤติซับไพรม์ (Subprime Crisis) ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เกิดจากความซับซ้อนทางการเงินและความโลภของมนุษย์ 😨
จุดเริ่มต้น มาจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ชื่อว่า MBS (Mortgage-Backed Security) มันคือการมัดรวมสินเชื่อกู้บ้านหลายฉบับ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่จะได้รับในอนาคต มาขายให้กับนักลงทุนทั่วไป แลกกับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอทุกงวด ซึ่งก็มาจากเงินผ่อนของผู้กู้บ้านทั้งหลายนั่นเอง 🏠
MBS ทำให้ธนาคารสามารถปล่อยเงินกู้บ้านได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อขาย MBS ออกไป ธนาคารจะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนมาทันที แถมด้วยค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นมาอีก ส่วนคนที่มารับความเสี่ยงไปเต็ม ๆ ก็คือ นักลงทุน 🖋
ต่างจากวิธีการปล่อยสินเชื่อบ้านแบบดั้งเดิม ที่ธนาคารจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเต็ม ๆ และกว่าจะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนมาก็ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี เกิดค่าเสียโอกาสในการลงทุนเพื่อต่อยอดเงิน
ที่น่าสนใจคือ MBS มีมานานแล้วตั้งแต่ปี 1977 แล้วทำไมมันไม่เคยมีปัญหาเลย จนมาถึงช่วงปี 2007 ที่ล้มครืนกลายเป็นวิกฤติกระทบทั่วโลก เกือบถึงขั้นอวสานทุนนิยม 📉
ยุคแรกของการทำ MBS เป็นการมัดรวมสินเชื่อบ้าน ที่ตัวผู้กู้บ้านมีความน่าเชื่อถือสูงและมีความสามารถในการผ่อนจ่ายที่แน่นอน โดยยืนอยู่บนความคิดพื้นฐานว่า ไม่มีใครเบี้ยวเงินผ่อนบ้านหรอก เพราะทุกคนก็อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง
ในช่วงแรก มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะคนทั่วไปมีหนี้กู้บ้านกันคนละ 1-2 หลัง
แต่ในระยะหลัง เมื่อตลาดอสังหาฯ ร้อนแรงมาก ราคาบ้านปรับตัวขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในหนึ่งปี จึงมีหลายคนที่กู้เงินซื้อบ้านหลายหลังมากขึ้น เพื่อเอาไปขายต่อในราคาที่แพงขึ้น จนถึงขั้นที่คนหนึ่งอาจเป็นเจ้าของบ้านได้ถึง 5 หลัง
📌 เรื่องนี้จะโทษแต่ผู้บริโภคก็ไม่ได้ เพราะภาคการเงิน ธนาคาร และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ (Credit Rating) ก็ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
ธนาคารเองก็ปล่อยกู้ง่ายขึ้น คนต่างด้าวที่อยากมีบ้าน แต่ไม่มีแหล่งที่มารายได้แน่ชัด ไม่รู้ว่าจะจ่ายค่าผ่อนบ้านได้รึเปล่า ก็สามารถกู้เงินได้โดยง่าย นับเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ ซึ่งในยุคหลัง ๆ ธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อประเภทนี้มากจนเกินไป จึงเป็นที่มาของชื่อวิกฤติซับไพรม์นั่นเอง
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ก็ปลอมแปลงอันดับความน่าเชื่อถือ โดยนำมาขายเพื่อแลกกับเงิน จะเห็นจาก MBS ที่มีความน่าเชื่อถือสูง แท้จริงแล้วไส้ในเป็นการมัดรวมสินเชื่อบ้านด้อยคุณภาพจำนวนมาก
และเมื่อ MBS มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง นักลงทุนก็จะแห่เข้ามาลงทุน ธนาคารก็จะได้เงินไปปล่อยสินเชื่อต่อไปได้อีกทันที
กระบวนการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลาหลายปี มันทำให้ผู้คนเกิดความคิดที่ว่า “ยังไงราคาบ้านก็จะขึ้น และมันก็จะขึ้นต่อไป” 🤔
ดร.ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ภาวะมือขึ้น” (Hot Hand Fallacy) เหมือนกับเวลาเราเทรดหุ้นแล้วมีกำไรติดต่อกันหลายครั้ง เราก็มักจะคิดว่าครั้งถัดไปต้องได้กำไรอีกแน่ ๆ
📌 จุดพลิกผันของเรื่องนี้คือ เมื่อตลาดบ้านเริ่มซบเซาลง ราคาบ้านปรับตัวลงจากที่เคยปรับขึ้นต่อเนื่อง และ Fed ก็ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเรื่อย ๆ คนทั่วไปก็เริ่มจะจ่ายหนี้ไม่ไหวเพราะมีหนี้กู้บ้านอยู่หลายหลัง
ทางออกที่ง่ายที่สุดก็คือ “เบี้ยวหนี้” และปล่อยให้ธนาคารยึดบ้านไปตั้งแต่แรก ยังดีกว่าอดทนผ่อนต่อจนเสร็จ แต่ราคาบ้านที่ได้มา เมื่อดูราคาตลาดแล้ว กลับต่ำกว่าเงินกู้ที่ผ่อนไปทั้งหมด นั่นคือขาดทุนตั้งแต่ผ่อนเสร็จเลย
หนี้เสีย (NPL หรือ Non-Performing Loan) จึงพุ่งทะยาน โดยปกติเมื่อเกิด NPL ธนาคารจะต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในงบการเงินของธนาคาร ส่งผลให้กำไรปีนั้นอาจดูไม่ดี (ถ้าต้องตั้งสำรองเยอะมาก ธนาคารก็อาจจะขาดทุนได้)
ถ้าเรื่องมีแค่นี้ ผลกระทบต่อธนาคารก็อาจจะอยู่เพียงไม่กี่ปี แล้วก็กลับมาตั้งตัวใหม่ได้ แต่เรื่องนี้มันมีมากกว่านั้น เพราะธนาคารเองก็มีส่วนเข้าไปถือและเก็งกำไรใน MBS เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ธนาคารสหรัฐฯ แต่รวมถึงธนาคารทั่วโลกด้วย
เมื่อครัวเรือนสหรัฐฯ ยอมปล่อยให้ธนาคารยึดบ้าน ก็เท่ากับว่าไม่มีใครจ่ายค่าผ่อนบ้านอีกต่อไป ดังนั้นมูลค่าของ MBS จึงเท่ากับศูนย์ เพราะ MBS จะยืนอยู่ได้ก็ต่อเมื่อผู้กู้บ้านยังจ่ายเงินผ่อนบ้านต่อเท่านั้น
ผลสุดท้าย สถาบันการเงิน ธนาคาร และบริษัทประกันหลายแห่งจึงล้มละลาย ร้อนไปถึง Fed ต้องเข้ามาอุ้มสถาบันการเงินบางแห่ง และอัดฉีดเงินเข้าระบบด้วยการทำ QE จำนวนมหาศาล จากเดิมที่แทบจะไม่เคยใช้วิธีนี้เลย
📌 เรื่องนี้สอนอะไรเรา ?
“ไม่มีอะไรแน่นอน” ทุกการลงทุนจงทำมันด้วยความระมัดระวัง เพราะความเสี่ยงอาจซ่อนอยู่ทุกที่ และ “เครื่องมือที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงก็คือความรู้ของนักลงทุนนั่นเอง”
ถ้าใครชอบเรื่องวิกฤติการเงินแบบนี้ ติดตามเพจของเราไว้ให้ดี เพราะตอนนี้เรามีซีรีส์ใหม่ชื่อว่า 𝗛𝗼𝘄𝗖𝗿𝗶𝘀𝗶𝘀𝗪𝗼𝗿𝗸𝘀 ที่จะพาทุกคนย้อนเวลากลับไปเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ และครั้งหน้าถ้าอยากให้เราเล่าวิกฤติเรื่องไหน คอมเมนต์กันมาได้เลยครับ
อ้างอิง
One Minute Economics
The Big Short
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา