6 พ.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 40 ฉบับเข้าใจง่าย
6
‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ เป็นวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของไทย เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้าง ไม่จากในหนังสือเรียน ก็จากในภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่อิงเนื้อเรื่องจากวิกฤติครั้งนี้
2
วันนี้เลยอยากชวนทุกคนมาย้อนดูเรื่องราวของวิกฤติต้มยำกุ้งกันอีกครั้ง ว่าในตอนนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้างครับ
🏙 เศรษฐกิจไทยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง
ย้อนไปช่วงต้นทศวรรษ 1990 หรือประมาณปี 2533 ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยยังโตสูง จากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว ทั้งจากในประเทศและจากนักลงทุนต่างชาติ สินเชื่อขยายตัวถึง 28% ต่อปี และกรุงเทพฯ ตอนนั้นก็ถูกตั้งเป้าให้เป็น ‘ศูนย์กลางทางการเงิน’ ของภูมิภาค
ปี 2536 มีการอนุญาติให้สถาบันการเงินประกอบกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) ทำให้ธนาคารทั้งในและต่างประเทศ สามารถกู้เงินจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศแล้วนำมาปล่อยกู้ต่อในประเทศได้ พร้อมทั้งให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมผ่านทางนี้มากขึ้น
1
อีกทั้งไทยในตอนนั้นยังใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ที่ไม่ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่า/อ่อนค่าตามกลไกตลาด และอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศช่วงนั้นอยู่ที่ประมาณ 3-7% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ในไทยสูงถึงประมาณ 15-17%
1
ปัจจัยทั้งหมดเลยสนับสนุนให้นักลงทุนเห็นช่องทางทำกำไร ผ่านการกู้เงินต่างประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า มาปล่อยกู้ในประเทศที่ดอกสูงกว่า และส่วนต่างของดอกเบี้ยก็เป็นกำไรที่ได้ไป
บรรดาสถาบันการเงินก็ทำแบบนี้เช่นกัน คือ เปลี่ยนไปหาเงินทุนจากต่างประเทศผ่าน BIBF ที่ดอกเบี้ยต่ำ แล้วมาปล่อยกู้ต่อในประเทศ
ซึ่งพอเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อในภาคการเงิน ยุคนั้นเลยเป็นยุคที่ภาคอสังหาฯ เฟื่องฟูอย่างมาก มีโครงการสร้างใหม่เกิดขึ้นมากมาย และราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นตาม
ภายนอกทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ดี แต่ถ้ามองลึกลงกว่านั้นจะเจอความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ เพราะการระดมทุนผ่าน BIBF ทำให้สถาบันการเงิน มีหนี้ระยะสั้นที่กู้กับต่างประเทศ แต่หนี้ที่มาปล่อยต่อในประเทศกลับเป็นหนี้ระยะยาว
4
โดยในช่วงปี 2537 หนี้ระยะสั้นภาคเอกชนก็ยังสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ แปลว่าหากเจ้าหนี้ต่างประเทศพร้อมใจกันเรียกหนี้คืน ไทยก็จะไม่มีเงินต่างประเทศพอที่จะไปใช้คืน
1
🏙 The Impossible Trinity
ในทางเศรษฐศาสตร์มีทฤษฎีที่เรียกว่า The Impossible Trinity หรือนโยบายเศรษฐกิจ 3 อย่างที่ทำพร้อมกันไม่ได้ คือ
1
1. การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่
2. การปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี
3. การมีอิสรภาพในการดำเนินนโยบายการเงิน
1
ไทยในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เราทำทั้ง 3 อย่างนี้พร้อมกัน ทั้งใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เปิดเสรีทางการเงิน และใช้นโยบายการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศไว้
ทั้งหมดนี้เลยไปสนับสนุนให้นักลงทุน ‘กินส่วนต่าง’ ผ่านการกู้เงินต่างประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำ และมาปล่อยกู้ต่อในประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ควรจะขึ้นลงตามกลไกตลาดเลย
🏙 สัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวเริ่มเกิด
ปี 2537 ภาคอสังหาฯ ของไทยเริ่มมีปัญหาสินค้าล้นตลาด บวกกับโครงการที่ก่อสร้างไปก็เสร็จไม่ทันกำหนด พอส่งมอบโครงการไม่ทัน ธุรกิจก็ไม่มีเงินมาหมุน และสุดท้ายธุรกิจเหล่านี้ก็ไม่มีเงินใช้หนี้คืนให้กับสถาบันการเงิน
ปัญหาเลยเกิด เพราะสถาบันการเงินโดยเฉพาะบริษัทเงินทุนต่าง ๆ มีลูกหนี้ในภาคอสังหาฯ เป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในปีเดียวกันนั้น ราคาหุ้นของธุรกิจอสังหาฯ และบริษัทเงินทุนจึงลดลงอย่างรุนแรง
บวกกับในปี 2539 การส่งออกของไทยก็เริ่มถดถอย ทำให้ GDP ไทยเติบโตลดลง เหลือเพียงโต 5.7% ต่างจากช่วงก่อนหน้าที่เคยโตไม่ต่ำกว่า 8% มาตลอด
🏙 นำมาสู่วิกฤติต้มยำกุ้งในที่สุด
เมื่อนักลงทุนต่างชาติเริ่มเห็นปัญหาเหล่านี้ ก็หมดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย พร้อมทั้งประเมินว่าค่าเงินบาทตอนนั้นแข็งค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น
เลยคาดว่าในอนาคตน่าจะมีการลดค่าเงินบาท จึงเทขายเงินบาทออกมาและเงินทุนก็เริ่มไหลออก และกลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติที่ไทยเคยไปกู้มาก็เริ่มเรียกเงินคืน
ยังไม่จบแค่นี้ หลังการเทขายเงินบาทรอบแรก ก็ตามมาด้วยการโจมตีค่าเงินอีก 2 ระลอกใหญ่ โดยเมื่อเกิดการโจมตีค่าเงินบาท แบงก์ชาติก็ต้องเข้ามาช่วยพยุงค่าเงินไว้
แต่สุดท้ายก็ยื้อไม่ไหว แบงก์ชาติต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 หลังจากนั้นเงินบาทก็อ่อนค่าลงเรื่อย ๆ จนไปถึงจุดต่ำสุดที่ประมาณ 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม 2541
การลดลงของค่าเงินบาท เหมือนเป็นฝันร้ายของคนที่มีหนี้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ
1
อธิบายง่าย ๆ สมมุติเรากู้เงินมา 1 ดอลลาร์ ตอนที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่พอเงินบาทอ่อนค่าลงเป็น 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แปลว่าเราต้องหาเงินเพิ่มเกือบเท่าตัวเพื่อไปคืนหนี้ก้อนเดิม
เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้คืนไม่ได้ เลยกระทบต่อมาถึงสถานะการเงินของเจ้าหนี้ด้วย ผลที่ตามมาคือ บริษัทเงินทุนและสถาบันการเงินหลายแห่งถูกสั่งระงับกิจการจากปัญหาหนี้เสีย โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมผ่านทาง BIBF
1
ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤติครั้งนี้ไม่ได้กระทบกับภาคการเงินไทยเท่านั้น แต่ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับผลกระทบ จากการที่นักลงทุนถอนทุนอย่างฉับพลันด้วยเช่นกัน
วิกฤติต้มยำกุ้งเลยมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอีกชื่อว่า ‘วิกฤติทางการเงินในเอเชีย’ นั่นเอง
ถ้าใครชอบเรียนรู้จากวิกฤติการเงินแบบนี้ อยากให้ติดตามซีรีส์ 𝗛𝗼𝘄𝗖𝗿𝗶𝘀𝗶𝘀𝗪𝗼𝗿𝗸𝘀 ของเพจเราไว้ให้ดี และครั้งหน้าถ้าอยากให้เราเล่าวิกฤติเรื่องไหน คอมเมนต์กันมาได้เลยครับ
1
อ้างอิง
หนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
1
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา