7 ก.พ. 2022 เวลา 00:08 • ประวัติศาสตร์
จุดกำเนิดทุนนิยม: (1) การปฏิวัติที่ถูกลืม
มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของยุโรปหลายเรื่องที่เราไม่ค่อยได้ยินกันนักในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างระบบศักดินาสู่ระบบทุนนิยม แต่ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้แหละที่ได้เปลี่ยนโฉมของทั้งโลกไปตลอดกาล ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย
มันมีความไม่ชัดเจนว่าเมื่อใดนับเป็นจุดสิ้นสุดของระบบศักดินาและเมื่อใดเป็นจุดเริ่มต้นของทุนนิยม เราได้รับการบอกกล่าวเพียงว่าทุนนิยมมาแทนระบบศักดินาแบบแทบไร้รอยต่อ
เริ่มจากการเสื่อมสลายของระบบศักดินาแบบค่อยเป็นค่อยไปจากความไร้ประสิทธิภาพของมัน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ดิน การขยายตัวทางการค้า การพัฒนาศิลปวิทยาการ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการเข้าสู่ยุคของระบบทุนนิยมแบบสมบูรณ์ และนำไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติจนทุกวันนี้
นั่นเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะ
แต่หากเรานับจากจุดที่ระบบศักดินาเริ่มเสื่อมสลายในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถึงจุดเริ่มต้นของทุนนิยมในศตวรรษที่ 18 มันมีประวัติศาสตร์ย่อยอยู่อย่างน้อย 2 ช่วงเวลาใหญ่ๆ ที่เรามักไม่ค่อยรู้กัน แต่มันได้ปูพื้นฐานสำคัญไปสู่ปัจจัยแวดล้อมของการก่อกำเนิดทุนนิยม
หนึ่งในนั้นคือยุคทองของเหล่าสามัญชนยุโรป ระหว่างประมาณปี ค.ศ. 1350-1500 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก "การปฏิวัติที่ถูกลืม"
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 กลุ่มสามัญชน (ประกอบไปด้วยชนชั้นแรงงานและทาสที่ดิน) ได้เริ่มรวมตัวกันต่อต้านระบบศักดินาจากขุนนางที่ใช้ชีวิตอย่างเสวยสุขบนแรงงานและเงินภาษีของพวกเขา ในระบบศักดินา ขุนนางได้รับการจัดสรรที่ดินมาจากกษัตริย์ โดยส่งมอบเงิน อาหาร กำลังทหาร ฯลฯ เป็นการตอบแทน และเก็บส่วนเกินไว้กับตัว - ยิ่งรีดส่วนเกินจากที่ดินและแรงงานได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสวยสุขได้มากเท่านั้น
จากการต่อต้านเป็นหย่อมๆ ก็ได้นำไปสู่การสู้รบเป็นเรื่องเป็นราว เช่นการต่อสู้ที่แคว้นเฟลมิช (ในประเทศเบลเยียมปัจจุบัน) ที่กินเวลาอย่างน้อยห้าปีในทศวรรษ 1320 และได้กระจายไปสู่การสู้รบแบบเดียวกันทั่วทั้งยุโรป แต่สามัญชนจะไปสู้กับทหารในการดูแลของเหล่าอัศวิน (ที่ได้รับจัดแบ่งที่ดินจากขุนนางมาอีกที) ได้อย่างไร พวกเขาถูกบดขยี้อย่างไม่มีชิ้นดี
สงครามแห่งคาสเซล 23 สิงหาคม ค.ศ.1328
ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของพวกเขาเมื่อเกิดการระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1347 ในมุมหนึ่งมันก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปเยอะมากๆๆๆ แต่พอสิ้นสุดโรคระบาดในอีกเจ็ดปีต่อมา มันกลับทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองกับเหล่าขุนนางมากขึ้น (เพราะการขาดแคลนแรงงาน) ขุนนางไม่สามารถกดขี่พวกเขาได้อีกต่อไป แต่กลับต้องง้อพวกเขาหากยังอยากใช้ประโยชน์จากที่ดินเช่นเดิม
คราวนี้พวกเขาสบโอกาสที่จะสยบอำนาจของขุนนางให้สิ้นซาก และคาดหวังถึงโครงสร้างทางสังคมในรูปแบบใหม่
วัตต์ ไทเลอร์ และจอห์น บอลล์ ได้นำการปฏิวัติในอังกฤษอีกครั้งในปี ค.ศ.1381 ถึงแม้เขาทั้งคู่และผู้ร่วมปฏิวัติอีกพันกว่าคนต้องถูกประหารชีวิต แต่การเริ่มต้นของเขาได้เป็นแรงบันดาลใจให้สามัญชนทั่วทั้งยุโรปโค่นล้มศักดินาลงได้สำเร็จในช่วงกลางศตวรรษที่ 15
และได้สถาปนาระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อำนาจของชุมชน เป็นครั้งแรกที่ทาสสามัญชนได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่มีใครเป็นเจ้าชีวิตของพวกเขาอีกต่อไป พวกเขาทำมาหาเลี้ยงชีพบนที่ดินของตนเอง (ก็ที่ดินผืนเดิมที่พวกเขาถูกกดขี่นั่นแหละ) พวกเขามีอิสระในการใช้ที่ดินส่วนรวมเพื่อเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้าง เพื่อเป็นพื้นที่ในการล่าสัตว์บ้าง เพื่อพักผ่อนหย่อนใจบ้าง พวกเขาใช้ลำน้ำสาธารณะในการตกปลาและการชลประทาน นอกจากนี้พวกเขายังสามารถเอาส่วนเกินที่เหลือจากการอุปโภคบริโภคไปแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นได้อย่างอิสระ (เอ๊ะ นี่มันรูปแบบเดียวกับตลาดเสรีนี่นา!)
ขุนนางบางรายก็ปรับตัวทัน และสามารถรักษาความสัมพันธ์กับสามัญชนในรูปของเจ้านายที่ใส่ใจลูกน้อง ถึงจะอยู่ในรูปแบบศักดินา แต่ความสัมพันธ์เป็นไปในรูปของการเกื้อกูลกันมากกว่าการกดขี่อย่างแต่ก่อน
สามัญชนบางรายก็ขายแรงงานไปด้วยหากพวกเขาอยากมีรายได้เพิ่ม แต่ไม่มีใครสามารถบังคับพวกเขาได้เหมือนก่อน ค่าแรงของพวกเขาเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า ส่วนเกินที่เคยต้องสูญเสียไปกับการใช้จ่ายเพื่อความฟุ้งเฟ้อของขุนนาง ก็กลับมาในรูปของการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของสามัญชน เป็นครั้งแรกเช่นกันที่พวกเขาไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำและได้มีวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง
นักประวัติศาสตร์บางคนบอกว่านี่เป็นยุคทองของสามัญชนและระบบนิเวศน์ในยุโรปอย่างแท้จริง
งานรื่นเริงของสามัญชนยุโรป กลางคริสต์ศตวรรษที่ 15
นอกจากความเป็นอยู่ของสามัญชนจะดีขึ้น ระบบนิเวศน์ก็ยังได้รับการฟื้นฟูอีกด้วย ในยุคศักดินา ขุนนางได้บังคับให้มีการโค่นป่าเพื่อขยายผลผลิตให้ได้มากที่สุด ผลคือการเสื่อมคุณภาพของดินและระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้อง การกลับมาถือที่ดินของสามัญชนเองทำให้สภาพทางธรรมชาติได้กลับคืนมา พวกเขาบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะโดยอาศัยหลักการประชาธิปไตยในการกำหนดกฎเกณฑ์ร่วมกัน ทั้งในการเพาะปลูกและเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงใช้ประโยชน์อย่างอื่นจากที่ดิน ผลคือความอุดมสมบูรณ์ของดินและการฟื้นฟูสภาพผืนป่า
นับเป็นครั้งแรกจากยุคล่าสัตว์เมื่อหลายพันปีก่อนหน้า นี่คือยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ได้อาศัยอยู่ในสังคมแห่งความเสมอภาค สังคมที่ผู้คนอยู่ในชุมชนด้วยความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกัน ทั้งต่อผู้คนด้วยกันเองและต่อสิ่งแวดล้อม อันที่จริงช่วงเวลานี้ได้ปูรากฐานสู่ยุคเรอแนซ็องส์ด้วยซ้ำ แต่มันเป็นรูปแบบทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ตำราส่วนใหญ่แทบไม่ได้พูดถึง ราวกับว่ารูปแบบความเป็นอยู่ของมนุษย์แบบนี้ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์
ทำไมน่ะเหรอ … คราวหน้าเราจะมาว่ากันถึงช่วงเวลาหลังจากนี้ ที่ได้ปูรากฐานให้แก่ทุนนิยมอย่างสมบูรณ์
โฆษณา