7 มี.ค. 2022 เวลา 03:21
เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว บริษัทผลิตหลอดไฟรายใหญ่ นำโดย General Electric (GE) ได้รวมตัวกันจัดตั้ง cartel (กลุ่มทุนผูกขาดคล้ายโอเปก) เพื่อจงใจวางแผนให้ผลิตหลอดไฟที่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าศักยภาพทางเทคโนโลยีหลอดไฟในยุคนั้น จากที่เคยใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 2500 ชั่วโมง ให้ใช้งานได้ไม่เกิน 1000 ชั่วโมง พวกเขาเรียกมันว่าเป็นกลยุทธ์เพิ่มยอดขายอันชาญฉลาด
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากลยุทธ์นี้ (การเจตนาออกแบบสินค้าให้มีอายุสั้นเกินควร) ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในปัจจุบัน รถยนต์ ทีวี ตู้เย็น อุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่สมาร์ทโฟน ที่จงใจออกแบบมาให้มีการใช้งานสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
กลยุทธ์นี้ได้ดึงเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคไปอย่างมหาศาล เพื่อทำลายทรัพยากร (น้ำ ป่าไม้ น้ำมัน แร่ธาตุ ฯลฯ) ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิต และสร้างกำไรส่วนเกินให้แก่ตน ในขณะเดียวกันก็ได้ปล่อยให้ขยะที่เกิดจากสินค้าของตนทำลายธรรมชาติและชีวิตผู้คน
ในแต่ละปีมีขยะจากอุปกรณ์อัจฉริยะถูกนำไปทิ้งในประเทศยากจน ปล่อยให้สารโลหะหนักและสารพิษทั้งหลายแหล่รั่วลงสู่แผ่นดินและซึมลงไปถึงแหล่งน้ำ คร่าชีวิตผู้คนในประเทศเหล่านั้นไปไม่รู้เท่าไหร่
ส่วนพวกเราก็มักมองข้ามต้นเหตุที่แท้จริง ที่มาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (ซึ่งคือการเค้นกำไรส่วนเกินจากทรัพยากร ไม่ใช่ตลาดเสรีอย่าที่เขาบอก) และโทษไปที่พฤติกรรมการบริโภคของปัจเจก ทั้งที่ปัจเจกเองก็เป็นเหยื่อของระบบนี้เช่นกัน
ในวันนี้ วันที่เราต้องบันยะบันยังกับการใช้ทรัพยากร ปัจเจกควรรวมตัวกันเพื่อ “เรียกร้อง” สิทธิที่จะซ่อมอุปกรณ์ของตนในราคาที่เหมาะสม การเปิดเสรีแก่การซ่อมอุปกรณ์อัจฉริยะไม่ให้จำกัดอยู่กับผู้ผลิตรายใหญ่แต่เพียงผู้เดียว และการออกกฎหมายให้การอัพเกรดซอฟต์แวร์และเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนที่เสียเป็นเรื่องที่เป็นไปได้แบบไม่ลำบาก
มึการประเมินกันว่าสินค้าเกือบทั้งหมดในปัจจุบันจะมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น 2-5 เท่าโดยไม่ได้ลดคุณภาพในด้านอื่น
มันคงทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินแบบพอดีในสิ่งที่จำเป็น ผู้ผลิตก็ได้กำไรที่เหมาะสมจากการลงทุนของตัว และโลก (รวมถึงคนจากประเทศยากจนและสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย) ก็ไม่จำเป็นต้องรับภาระจากการกระทำของคนเพียงหยิบมือ
ง่ายๆ เพียงเท่านี้ คุณภาพชีวิตของเราก็น่าจะดีขึ้นได้ หรือใครเห็นว่าไม่ใช่
ป.ล. ข้อมูลเรื่องหลอดไฟมาจาก Markus Krajewski (2014), The Great Lightbulb Comspiracy, IEEE Spectrum.
โฆษณา