17 ก.พ. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ความรู้ในยุคปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย หากเราเกิดเร็วกว่านี้ หากเกิดในยุคที่ไม่มีมือถือ แล้วมีคนบอกเราว่า เราจะสามารถหาความรู้ได้เพียงปลายนิ้ว เราเองคงทำใจเชื่อสิ่งที่ได้รับฟังมาไม่ลงอย่างแน่นอน แต่วันนี้มันก็เป็นไปแล้ว
2
เมื่อก่อนนั้นการจะกระจายความรู้ต้องพึ่งการสั่งสอนจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยตรง หนังสือก็ต้องคัดด้วยลายมือ เพราะแบบนั้นความรู้จึงเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากมากในสมัยก่อน แต่วันนี้ผมจะมาพามาย้อนดูประวัติของชายผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งให้กำเนิดสิ่งที่เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยกระจายความรู้ออกไปสู่คนทุกคนได้ง่ายยิ่งขึ้น และนำไปสู่การปฏิวัติทางความรู้ในเวลาต่อมา
1
ชายผู้นี้คือ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg)
2
โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) เขาเป็นชาวเยอรมัน เกิดราวๆ ค.ศ. 1400 เป็นชาวเมืองไมนซ์ (Mainz) เป็นบุตรชายของพ่อค้าชื่อ ฟรีเลอ เก็นส์ไฟลช์ ซัวร์ ลาเดิน ซึ่งต่อมาได้รับเอาชื่อ "ซุม กูเทินแบร์ค" (zum Gutenberg) ซึ่งเป็นชื่อบริเวณที่ครอบครัวของเขาย้ายเข้าไปอยู่อาศัย มาใช้เป็นนามสกุล
เขาได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง สตราสบูรก์(ฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ในปี 1434 ทำอาชีพเป็นทั้งช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างพิมพ์ และนักประดิษฐ์ จนในปี1446 เขาได้กลับไปที่เมืองไมนทซ์ และเริ่มบุกเบิกสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่ากับมนุษย์โลกเป็นอย่างสูงของเขา
โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg)
โดยกูเตนเบิร์กเป็นบุคคลแรกของชาวตะวันตก ได้คิดวิธีการพิมพ์ โดยเรียงตัวด้วยโลหะ โลหะที่ใช้เป็นส่วนผสมระหว่าง ดีบุก 5% พลวง 12% และตะกั่ว 83%
นอกจากคิดตัวเรียงแล้วกูเตนเบิร์ก ยังเป็นคนที่คิดออกแบบตัวพิมพ์ การแกะสลักแม่พิมพ์ การหล่อตัวพิมพ์ การทำหมึกพิมพ์ และการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ โดยเครื่องพิมพ์ทำด้วยไม้ ปีที่เขาทำได้สำเร็จอยู่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1450
โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากนักการเงินชาวเยอรมัน
เครื่องพิมพ์
โดยเขาใช้เครื่องทำไวน์มาพัฒนาเป็นแท่นพิมพ์ ดูแล้วมันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลยนะครับระหว่างเครื่องทำไวน์กับหนังสือ ผมต้องยอมรับว่าเขาผู้นี้คือนักประดิษฐ์อย่างแท้จริงครับ ผลงานที่สำคัญของเขาก็คือ คัมภีร์ไบเบิล 42 บรรทัด (42-line Bible) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกในยุโรปที่ได้ใช้การพิมพ์ด้วยเทคนิคแบบใหม่นี้
และเมื่อการพิมพ์เกิดแพร่หลายมันก็มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงอย่างมากแก่โลกตะวันตก เพราะเมื่อต้นทุนลดลงทำให้ผู้คนสามารถที่จะเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น อีกนัยหนึ่งคือผู้คนจะเข้าสู่ความรู้มากยิ่งขึ้น
ส่งผลให้เกิดการปฎิวัติทางภูมิปัญญา เศรษฐกิจการเมือง และสังคมวัฒนธรรม ในโลกตะวันตก
นักศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคกลาง สามารถมีตำราที่เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียน แทนที่การคัดลอกด้วยลายมือ นักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ก็ได้ใช้ในการเผยแพร่ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่
ทุกคนคงคิดว่าเมื่อกูเตนเบิร์กคิดค้นเครื่องพิมพ์ได้สำเร็จชีวิตเขาคงมีแต่เงินทองไหลมาเทมาทำกำไรได้เป็บกอบเป็นกำรํ่ารวยใช่ไหมครับ หากแต่ไม่ใช่ครับ เขาไม่สามารถคืนเงินทุนแก่ผู้สนับสนุนของเขาได้ ทำให้ถูกฟ้องร้องต่อศาลและแพ้คดี เขาต้องสูญเสียแท่นพิมพ์และคัมภีร์ไบเบิลที่กำลังพิมพ์ไป
หลังจากนั้น กูเตนเบิร์กได้ย้ายออกไปจากไมนทซ์ไปก่อนจะกลับมาอีกใน3ปีต่อมา และเสียชีวิตอย่างสงบ ในวันที่3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1468 ตอนที่เขาอายุประมาณ 68 ปี
สิ่งที่ผมได้จากชายผู้นี้คือ ความคิดสร้างสรรค์ของนักประดิษฐ์นั้นไร้ขอบเขต จากสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีทางเกี่ยวข้องกัน ชายผู้นี้ใช้มันสมองของเขาสร้างมันให้เกี่ยวของกันได้อย่างน่าอัศจรรย์และมันช่างวิเศษเหลือเกิน
สุดท้ายนี้ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก แม้จะจากโลกนี้ไปล่วงเลยหลายร้อยปีแต่ชื่อของเขายังคงอยู่ และทุกคนยกย่องเขาให้เป็น บิดาแห่งการพิมพ์ ผู้ที่ช่วยกระจายความรู้ที่หลากหลายให้บุคคลผู้ใฝ่รู้ได้เข้าถึงความรู้ที่เมื่อก่อนเกินจะเอื้อมถึง
ขอบคุณที่อ่านจนจบ เพื่อนคิดเห็นกันอย่างไรบ้างครับ คุยกันได้นะครับที่ด้านล่าง
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา