28 ก.พ. 2022 เวลา 02:38 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 14
โดรน (Drone) ตอน 1
คงเคยได้ยินคำว่า “โดรน (drone)” กันมาบ้างแล้วนะครับ ภาพถ่ายหรือวิดีโอจากมุมสูงในรายงานข่าวทางโทรทัศน์จำนวนมากก็ได้มาจากโดรนแทบทั้งนั้น
คำว่า “โดรน” มักใช้แทน เครื่องจักรบินได้ที่ไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle, UAV) หรือ ระบบอากาศยานไร้คนขับ (unmanned aircraft system, UAS) ในทางชีววิทยา คำว่าโดรนใช้เรียกตัวผู้ของมด ผึ้ง หรือตัวต่อ คำว่า “โดรน” ยังเป็นชื่ออัลบั้มเพลง ภาพยนตร์ หรือชื่อตอนในซีรีส์ไซไฟอย่าง Star Trek อีกด้วย
Photo by Josh Sorenson from Pexels
โดรนทางทหาร
 
โดรนทางทหารมีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยใน ค.ศ.1849 ออสเตรียส่งบอลลูนปราศจากคนขับบรรทุกระเบิดไปโจมตีเมืองเวนิซ
1
แต่เริ่มพัฒนา UAV กันอย่างจริงจังในช่วงต้นศตวรรษ 20 เช่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 บริษัท Dayton-Wright Airplane Company ประดิษฐ์ตอร์ปิโดอากาศที่จะระเบิดตามเวลาที่ตั้งไว้ล่วงหน้าได้
นิโคลา เทสลา (Nicola Tesla) เคยเขียนถึงความเป็นไปได้ในการใช้กองยาน UAV ตั้งแต่ ค.ศ.1915
กองทัพนาซีก็พัฒนาโดรนเพื่อใช้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ต่างกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่โดรนในยุคนั้นก็ยังต้องใช้การควบคุมระยะไกล ไม่ได้เป็นอากาศยานที่ “ทำงานได้เอง (ตามที่โปรแกรมไว้)”
โดรนเต็มรูปแบบที่บินออกไปปฏิบัติการได้ด้วยตัวเอง เริ่มมีการนำมาใช้ในสงครามเวียดนาม และยังมีพัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
โดรนทหารที่ใช้ล่าสังหารชื่อ General Atomics MQ-9 Reaper, https://en.wikipedia.org/wiki/Unmanned_aerial_vehicle#/media/File:MQ-9_Reaper_UAV_(cropped).jpg
วิกิพีเดียระบุว่าในปี ค.ศ. 2012 กองทัพอากาศสหรัฐฯ มี UAV รวม 7,494 ลำ ซึ่งมากถึง 1 ใน 3 ของอากาศยานทั้งหมด
แม้แต่ซีไอเอก็มี UAV ไว้ใช้งานเช่นกัน ถึงปี 2013 ก็มีไม่น้อยกว่า 50 ประเทศแล้ว ที่มีโดรนไว้ใช้งาน ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ของโลกคือ อิสราเอลและสหรัฐฯ และมีจีนพุ่งตามมา แม้แต่มหาวิทยาลัยบางแห่งก็มีงานวิจัย และโปรแกรมฝึกอบรมเกี่ยวกับโดรนด้วย
โดรนทางทหารนี่ มีเทคโนโลยีเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเยอะนะครับ ทั้งในแง่การออกแบบซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ประจำยาน รูปทรงที่ต้องยากต่อการตรวจจับด้วยเรดาห์ แต่ต้องมีระบบสมดุลของยานที่ดี ระบบพลังงาน (ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แบตเตอรี่แบบลิเทียม-พอลิเมอร์)
นอกจากนั้น ยังต้องมีระบบจับภาพและถ่ายภาพ ระบบเซนเซอร์ตรวจหาเป้าหมาย รวมไปถึงระบบสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ
ตอนหน้า จะเล่าถึงยุคทองและอนาคตของโดรนครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา