4 มี.ค. 2022 เวลา 07:56 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 15
โดรน (Drone) ตอน 2 (จบ)
เดี๋ยวนี้มีภาพสวยๆ น่าตื่นตาตื่นใจมากมายจากโดรน, ที่มา: Photo by Tom Fisk from Pexels
"ยุคทองของโดรน"
ความนิยมในโดรนนี่เห็นได้ชัดจากตัวเลขอากาศยาน ปี 2005 มีโดรนอยู่แค่ 5% เท่านั้น แต่พอถึงปี 2010 กลับมีมากถึง 41% กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใช้งบไปกับ UAS ในปี 2000 รวม 284 ล้านเหรียญ
แต่พอมาถึงปี 2010 ก็เพิ่มเป็น 3.3 พันล้านเหรียญ
โดรนมีขนาดตั้งแต่ 5 เซนติเมตรไปจนถึง 50 เมตร และน้ำหนักตั้งแต่กิโลกรัมกว่าๆ ไปจนถึง 3.4 ตัน
โดรนประสิทธิภาพดีมีหลากหลายขนาดมาก ตั้งแต่เล็กเท่าฝ่ามือไปจนใหญ่บรรทุกคนได้, ที่มา: Photo by Dose Media on Unsplash
โดรนพลเรือนกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ เพราะราคาของโดรนที่ถูกลงเรื่อย ๆ เช่น โดรนจิ๋วขนาดใส่ไว้ในฝ่ามือได้ ในปัจจุบันมีราคาแค่เพียงพันกว่าบาทเท่านั้น แถมประยุกต์ใช้ได้มากมายจริงๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องเล่นและแข่งขันแบบเดียวกับเครื่องบินบังคับก่อนหน้านี้ ใช้ในการลาดตระเวนตรวจสอบฝูงปศุสัตว์ ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ทำแผนที่ไฟป่า และตรวจสอบรอยแตกของท่อส่งน้ำมัน
ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ใช้โดรนช่วยในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือสารคดีมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ในหลายประเทศทำได้แค่เฉพาะพื้นที่นอกเมือง เพราะกลัวเรื่องภัยจากการก่อการร้าย
ในปี 2014 มีการใช้โดรนช่วยถ่ายภาพในกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาว ซึ่งทำให้ได้ภาพที่งดงามกว่าที่ใช้กล้องติดสายเคเบิลแบบเดิมมาก
ในสหรัฐฯ มีการนำโดรนมาใช้ค้นหาและช่วยชีวิตผู้คน นับจากโดนเฮอริเคนเล่นงานที่หลุยเซียนาและเท็กซัสในปี 2008 ใช้เป็นไลฟ์การ์ดเพื่อช่วยชีวิตนักว่ายน้ำ โดยติดกล้องตรวจจับความร้อนเพื่อช่วยในการค้นหา
ส่วนที่เซิร์ฟไซด์บีช (Surfside Beach) ในแคลิฟอร์เนีย ใช้โดรนในการสอดส่องฉลาม
มีกรณีหนึ่งที่โดรนช่วยชีวิตชายอายุ 82 ปีเอาไว้ กูอิลเลอร์โม เดอเวเนเซีย เป็นโรคอัลไซเมอร์ อาศัยอยู่ในแถบชนบทของรัฐวิสคอนซิน เขาหายตัวไป 3 วัน มีการส่งสุนัขดมกลิ่น เฮลิคอปเตอร์ และอาสาสมัครออกค้นหา แต่ก็ไร้ผล
แต่หลังจากปล่อยโดรนออกไปเพียง 20 นาที ก็พบร่างของเขาที่หมดสติอยู่ในทุ่งข้าวโพดที่หนาทึบและยากจะเดินค้นหา
ในงานโฆษณาก็มีตัวอย่างของร้านขายอาหารในรัสเซียชื่อ ว็อกเกอร์ (Wokker) ที่ใช้ฝูงโดรน 10 ลำ ติดป้ายโฆษณาเรียกลูกค้ามากินอาหารกลางวัน
ในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในนามิเบียมีการนำโดรนมาใช้ในการติดตามและตรวจจับสัตว์หายาก รวมทั้งใช้ในการเฝ้าระวังนายพรานล่านอแรด ในอุทยานแห่งชาติเนปาล ก็มีการนำมาโดรนไปใช้ในภารกิจคล้ายคลึงกันด้วย
ภาพสวยแปลกตาของถนนคดเคี้ยวในทรานซิลเวเนีย, โรมาเนีย ถ่ายด้วยโดรน, ที่มา: Photo by CALIN STAN on Unsplash
แม้แต่ในทวีปอันหนาวเหน็บอย่างแอนตาร์ติกา ก็มีผู้นำโดรนมาใช้ในการเฝ้าระวังการล่าวาฬด้วย มีงานอนุรักษ์ทำนองนี้อีกมากมายหลายแห่งทั่วโลก
ในเปรู มีนักโบราณคดีนำโดรนขึ้นบินเพื่อเก็บข้อมูล แล้วนำมาใช้สร้างภาพจำลอง 3 มิติของสถานที่ขุดค้น เพื่อวางแผนการขุด รวมไปถึงป้องกันการโจรกรรม เป็นต้น
วิธีการแบบนี้ช่วยลดเวลาในการทำแผนที่ลงจากหลายๆ เดือนหรือเป็นปี ให้เหลือเพียงไม่กี่วันได้
"อนาคตของโดรน"
ในสหรัฐอเมริกา ประเมินกันว่าจะมีผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์จากโดรนในปี 2025 ถึงราว 08.-1.0 หมื่นล้านเหรียญ และภายใน 10 ปี จะมีงานใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับโดรน เพิ่มขึ้นถึงราว 100,000 ตำแหน่ง
การประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการขนส่งสิ่งของจำเป็นหรือสินค้ามาแรงมากๆ เช่น มีบริษัทสตาร์ตอัพชื่อ แมตเทอร์เน็ต (Matternet) ใช้โดรนช่วยส่งเวชภัณฑ์ในแถบซับซาฮาราแอฟริกา เพราะในช่วงฤดูฝนราว 85% ของถนนจะใช้การไม่ได้ ในเฮติกับสาธารณรัฐโดมินิกัน ก็กำลังทดสอบการใช้งานแบบนี้อยู่เช่นกัน
ปี 2015 มีบริษัทเม็กซิกันชื่อ Burrito Bomber ที่ใช้โดรนในการส่งอาหารไปยังลูกค้าที่อยู่ใกล้ๆ ร้าน ส่วนงานร็อกเฟสติวัลที่แอฟริกาใต้ ก็มีการส่งเบียร์โดยให้โดรนไปหย่อนเบียร์ติดร่มชูชีพในงาน !
แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ค้าขายหนังสือ (หลังๆ ขายอย่างอื่นด้วย) อย่าง แอมะซอน ก็ประกาศจะใช้โดรนชื่อ “ไพร์มแอร์” ในการขนส่งสินค้าน้ำหนักไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม และระยะทางห่างจากคลังสินค้าของแอมะซอนไม่เกิน 16 กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มส่งได้ในเร็ววันนี้ ขณะนี้แอมะซอนเริ่มเปิดคลังหนังสือในหลายเมืองแล้ว
โดรนไม่เพียงมีประโยชน์ในแง่สันทนาการ แต่มีประโยชน์ด้านอื่นอย่างหลากหลายมาก, ที่มา: Photo by The Lazy Artist Gallery from Pexels
ต้นปี 2016 นี้เอง ก็เริ่มมีบริษัทที่ประกาศแผนจะใช้โดรนในการขนส่งคนด้วย !
แต่ความเด็ดของการประยุกต์ใช้งานต้องยกให้กับยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ค ครับ
เพราะเฟซบุ๊คมีแผนการจะเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ต เข้ากับโลกจริงของผู้คนที่อยู่ห่างไกลทางภูมิศาสตร์และเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยโดรนที่ออกแบบเป็นพิเศษชื่อ “อกิลลา” เป็นตัวส่งสัญญาณไวไฟ นัยว่าน่าจะมีข้อดีเหนือกว่าวิธีอื่นๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (เช่น ตั้งเสาสัญญาณ)
ที่กล่าวมาเป็นแค่บางส่วนของการประยุกต์ใช้งานโดรน และคงจะมีมากขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา