8 มี.ค. 2022 เวลา 02:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 17
กราฟีน ตอน 2 (จบ)
อนาคตของกราฟีน
เมื่อมองดูคุณลักษณะต่างๆ ของกราฟีนแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็เกิดไอเดียบรรเจิดมากมายหลายแนวคิดในการนำกราฟีนมาใช้ ในวารสาร Physics World ฉบับพิเศษในหัวเรื่อง Focus on Nanotechnology (มิ.ย. 2012) มีบทความเกี่ยวการประยุกต์ใช้กราฟีนได้มากมายถึง 20 แบบด้วยกัน
จะขอยกตัวอย่างงานวิจัยเด็ดๆ กับการประยุกต์ใช้กราฟีนบางแนวทางนะครับ
มีนักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้ที่สามารถสร้างแผ่นกราฟีนที่กว้างถึง 63 เซนติเมตร ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วก็อาจจะนำไปสร้างแผ่นวงจรหรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือแบบม้วนพับได้ บริษัทโนเกียก็กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างมือถือแบบม้วนพับได้ชนิดโปร่งแสง
และยิ่งไปกว่านั้นคือ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้
แค่คิดก็ขนลุกแล้วครับ !
กราฟีนเป็นโครงสร้างของคาร์บอนที่นำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลายมาก. ที่มา: http://image.guardian.co.uk/sys-images/Observer/Pix/pictures/2011/11/11/Graphene.jpg?guni=Article:in%20body%20link
มองกันว่าน่าจะเอากราฟีนไปทำพวกแขนขาเทียมได้ดี เพราะแข็งแรงมาก ยืดหยุ่นดี และยังมีน้ำหนักเบาอีก วัสดุในฝันชัดๆ!
มีคนคิดจะเอาไปใช้เป็นขั้วไฟฟ้าให้ใช้ความคิด (สัญญาณประสาทในสมอง) เป็นตัวควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนขาได้อีกด้วย
มีหลายคนฝันว่ากราฟีนจะกลายมาเป็นวัสดุหลักที่มาแทนซิลิคอนในการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็ม (IBM) ก็ทดลองเรื่องนี้อยู่
ส่วนในแวดวงอากาศยานก็วาดฝันกันว่า เราน่าจะได้อากาศยานที่แข็งแรงมากๆ แต่มีน้ำหนักเบามาก ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้มหาศาล
บริษัทอังกฤษชื่อ ออกซ์ฟอร์ดนาโนพอร์ (Oxford Nanopore) ถือสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่จะใช้กราฟีนอ่านรหัสดีเอ็นเอ ซึ่งจะทำให้รวดเร็วขึ้นและราคาถูกลง
สายดีเอ็นเอที่เคลื่อนที่ผ่านช่องของแผ่นกราฟีน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ กระแสไฟฟ้า และทำให้แยกแยะรหัสดีเอ็นเอ (ของสายของมัน) ได้. ที่มา: https://www.extremetech.com/wp-content/uploads/2016/01/NIST-DNA-graphene.jpg
มีคนจะใช้กราฟีนสร้างเซนเซอร์แบบต่างๆ และแม้แต่ใช้ในการถ่ายภาพทางการแพทย์ เพื่อทดแทนเอกซ์เรย์หรือใช้ตรวจอาวุธในงานด้านรักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ มีคนจะเอากราฟีนมาทำเป็นตัวเก็บข้อมูลด้วย
หมวดใหญ่ของการประยุกต์ใช้ก็เป็นด้านพลังงาน ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ เช่น การสร้างตัวเก็บประจุพลังงานสูง (คล้ายๆ กรณีของเพาเวอร์แบงก์ที่ใช้กับมือถือ) หรือแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมมาก
นอกจากนี้ ยังอาจนำไปใช้กักเก็บไฮโดรเจนได้ ซึ่งก็เหมาะกับยานยนต์ในยุคหน้าซึ่งใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานขับเคลื่อน มีคิดกันไปไกลขนาดจะเอากราฟีนมาใช้ดักจับพลังงานจากแสงอาทิตย์ด้วย !
จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงเห็นได้ไม่ยากว่า กราฟีนนี่ถือได้ว่าเป็นวัสดุมหัศจรรย์มากชนิดหนึ่งทีเดียว
ถ้าแค่สักครึ่งเดียวของที่ว่ามากลายเป็นจริง โลกก็คงเปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่เลยนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา