28 ก.พ. 2022 เวลา 13:30 • หนังสือ
Principles for Dealing with
THE CHANGING WORLD ORDER
หลักการรับมือกับ การเปลี่ยนขั้วอำนาจของโลก
By Ray Dalio
..........
 
#Who_Should_Read
-ผู้ที่ต้องการเรียนรู้เรื่องวงจรของอำนาจภายในโลก
-ผู้ที่ต้องการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่งคั่ง และอำนาจ
-ผู้ที่ต้องการมองหาเหตุผลของความรุ่งเรืองและเสื่อมอำนาจของประเทศต่างๆ
 
..........
#What_I_Get
Ray Dalio ถือว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมาอย่างมากมายในด้านการลงทุนระดับมหภาคมานานรวมกว่า 50 ปี ได้แบ่งปันผลงานการศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 1500 ปี เพื่อมองหาสาเหตุของความรุ่งเรืองและการเสื่อมถอยของอาณาจักรต่าง ๆ ในอดีต
โดยจะมุ่งเน้นในช่วงเวลาปี คศ.1500 ถึงปัจจุบันอย่างละเอียดเพื่อทำความเข้าใจได้อย่างรอบด้าน ซึ่งอาณาจักรที่เป็นมหาอำนาจของโลกภายในช่วงเวลาดังกล่าวได้แก่ ดัตช์ (เนเทอแลนด์) , อังกฤษ , อเมริกา และจีน
ซึ่งแต่ละอาณาจักรจะเริ่มต้นด้วยการที่ผู้นำประเทศมีความเข็มแข็งและความสามารถในการสร้างอำนาจและออกแบบระบบภายในประเทศที่เอื้อให้ประเทศมีความมั่งคั่งและอำนาจเพิ่มขึ้นในเวทีโลก (The Rise)
นำไปสู่ความรุ่งเรืองที่ประเทศสามารถได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเป็นมหาอำนาจของโลก (The Top) และนำไปสู่การเสื่อมถอยจากการกระจายอำนาจและความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง,การปฏิวัติ หรือ สงคราม ไม่ว่าจะทั้งภายในหรือภายนอกประเทศก็ตาม (The Decline)
การเสื่อมถอยลงของอำนาจเก่าจะเป็นพื้นที่ให้อำนาจของอาณาจักรใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจคนใหม่ของโลกนี้ และเข้าสู่วัฏจักรของวงจรของการรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของอาณาจักรต่อไป
ถึงแม้แต่ละอาณาจักรจะเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่ไม่เท่ากันอาจทำให้การเปรียบเทียบกันตรง ๆ ได้ยากลำบาก Ray จึงใช้ปัจจัยต่าง ๆ ในการบ่งชี้ว่าอาณาจักรต่าง ๆ กำลังอยู่ช่วงในวงจรมากกว่า 18 ปัจจัย ซึ่งแต่ละปัจจัยนั้นส่งผลในแต่ละช่วงเวลาของวงจรต่างกัน
เช่น ในช่วงเริ่มต้น The Rise สิ่งที่ทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว คือ การศึกษา นวัตกรรม และการแข่งขัน ที่ส่งผลให้อาณาจักรสามารถสร้างอำนาจในการสร้างผลผลิตและเป็นศูนย์กลางของการเงินโลกได้
จากการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ของอาณาจักรต่าง ๆ ในอดีตช่วยให้เราสามารถมองเห็นรูปแบบของการก่อตัวของความรุ่งเรืองและจุดเริ่มต้นของการเสื่อมถอยได้แม่นยำมากขึ้น และสามารถสรุปเป็นวงจรของการรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของอาณาจักรได้ (The Big Cycle)
The Big Cycle
ปัญหาหนึ่งที่มนุษย์เราประสบปัญหาและพยายามแก้ไขกันมาตลอด แต่ยังไม่พบการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ การกระจายอำนาจและความมั่งคั่ง ไม่ว่าในอดีตเราจะเคยลองมาหลายวิธีการทั้งทางทฤษฎีและทางศาสนา เรายังคงต้องพัฒนากันต่อไป
ซึ่งปัญหาการกระจายอำนาจและความมั่งคั่งนี้เองทำให้ก่อเกิดวงจรของความรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของอาณาจักรต่าง ๆ
โดยเริ่มต้นจากช่วงเวลาที่อาณาจักรสงบสุข ผู้คนในอาณาจักรสามารถใช้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่ผู้คนได้
เมื่อผู้คนเริ่มมีความมั่งคั่งก็จะเริ่มมีอำนาจในการต่อรองและสร้างกฏเกณฑ์ ผู้ที่มีอำนาจในการผลิตมากกว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของผลผลิตทั้งหมด และยังสามารถร่วมมือกับอำนาจทางการเมืองเพื่อเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้ตนเองมากขึ้นได้ไปเรื่อย ๆ
หลังจากเวลาผ่านไปผู้มีความมั่งคั่งสูงเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์จะเป็นผู้ควบคุมความมั่งคั่งและอำนาจส่วนใหญ่ของอาณาจักร ถ้าอาณาจักรยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานและสร้างผลผลิตได้ดีอาณาจักรก็จะยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้
แต่ถ้าเศรษฐกิจเริ่มถดถอยจะทำให้ผู้คนส่วนมากสูญเสียอำนาจและความมั่งคั่งไป จนก่อให้เกิดความขัดแย้งกับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงที่ยังคงมีอำนาจสูง จนก่อให้เกิดความรู้สึกของความไม่ยุติธรรม ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติ หรือสงครามที่ต้องการโค่นล้มอำนาจเก่า เพื่อสร้างแนวทางใหม่ในการจัดสรรค์อำนาจและความมั่งคั่ง
หลังการการปฏิวัติสำเร็จไม่ว่าจะวิธีใตก็ตาม จะทำให้เกิดอำนาจใหม่ที่เป็นคนสร้างกฏเกณฑ์ใหม่ซึ่งนำไปสู่ความสงบสุข และวนเข้าสู่วงจรอีกครั้งหนึ่ง
 
..........
โดยภายใน The Big Cycle จะประกอบไปด้วย วงจรย่อย ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในอาณาจักร โดยวงจรที่เป็นแกนหลักของการเกิด The Big Cycle คือ
1.Long-term debt and Capital market Cycle (วงจรหนี้ระยะยาวและตลาดทุน)
โดยวงจรเริ่มต้นจากการที่อาณาจักรใช้เงินในระบบ Type 1 : Hard Money ( เหรียญ, โลหะมีค่า ) ซึ่งเป็นระบบที่ตัวเงินนั้นมีค่าในตัวเองทำให้มีความเสถียรสูง และสามารถนำไปใช้แลกสิ่งของได้จริงตามวัตถุที่ใช้ แต่มีข้อเสียคือการผลิตเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตได้ยาก
เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดการผลิตอาณาจักรจึงเริ่มเปลี่ยนไปใช้ระบบ Type 2 : Paper Money ( ธนบัตร ที่มีโลหะมีค่ารองรับมูลค่า) คือ การผลิตธนบัตรแทนเหรียญเพื่อแก้ปัญหาจำนวนการผลิต แต่ยังคงรับประกันมูลค่าของธนบัตรว่าสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นโลหะมีค่าได้เสมอ และธนคารกลางจะไม่สามารถผลิตธนบัตรได้เกินโลหะมีค่าสำรองที่มี ( โลหะมีค่าส่วมมาก คือ ทอง หรือ เงิน)
การใช้ระบบนี้จะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นภายใต้การรับรองของธนาคารกลาง แต่เมื่อเวลาผ่านไปการเติบโตของเศรษฐกิจจะทำให้การสำรองโลหะมีค่าจำนวนมากเป็นเรื่องที่เป็นข้อจำกัดในการเติบโต และการผลิตเงิน
จึงก่อให้เกิดระบบ Type 3 : Fiat Money ที่เป็นระบบที่ธนาคารกลางสามารถผลิตธนบัตรได้อย่างไร้ข้อผูกมัด และสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามความต้องการ แต่แลกด้วยกันที่ธนบัตรจะไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นโลหะมีค่ากับธนาคารได้อีก
ซึ่งระบบ Type 3 นี้จะทำให้มูลค่าของสกุลเงินนั้นมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับโลหะมีค่า ยิ่งผลิตเงินออกไปมากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้สกุลเงินนั้นมีมูลค่าลดลงเท่านั้น และนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ และไม่สามารถรองรับระบบการเงินแบบนี้ได้อีกต่อไป และกลับไปสู่การใช้ระบบ Type 1 หรือ Type 2 อีกครั้ง
2.The Internal Order and Disorder Cycle (วงจรอำนาจและการเสื่อมถอยภายใน)
โดยวงจรอำนาจภายในอาณาจักรจะเริ่มจากระยะที่วงจรอำนาจใหม่และผู้นำใหม่เกิดขึ้น ที่ผู้นำสามารถรวบรวมอำนาจภายในที่สามารถจัดการทรัพยากรของอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยุติธรรม
ซึ่งนำไปสู่ช่วงเวลาที่สงบสุขที่ผู้คนสามารถสร้างสรรค์และก่อให้เกิดความรุ่งเรือง หลังจากช่วงแห่งความรุ่งเรืองผู้คนจะเริ่มใช้จ่ายกันมากขึ้นแต่ประสิทธิภาพลดลง และเริ่มเกิดการรวมตัวของอำนาจและความมั่งคั่งที่แยกผู้มีออกจากผู้ที่ไม่มี
เมื่อเศรษฐกิจแย่ลงก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง จนนำไปสู่การปฏิวัติหรือสงครามกลางเมืองที่นำไปสู่การก่อตั้งอำนาจใหม่ในที่สุด
3.The External Order and Disorder Cycle (วงจรอำนาจและการเสื่อมถอยภายนอก)
ส่วนมากวงจรอำนาจนี้จะเกิดจากสงครามระหว่างอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่อาณาจักรมีปัญหาจากวงจรอำนาจภายใน โดยส่วนมากมักจะเกิดในช่วงนี้มีอาณาจักรที่มีอำนาจมากต้องการที่จะทดสอบอำนาจและเข้าควบคุมอาณาจักรอื่น
โดยสงครามระหว่างอาณาจักรนั้นมีได้หลายรูปแบบ ดังต่อไปนี้
1.Trade / economic wars : สงความการค้าและเศรษฐกิจ ที่มีการกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษีระหว่างประเทศ หรือการทำร้ายเศรษฐกิจของอาณาจักรอื่น
2.Technology wars : สงครามเทคโนโลยี ความขัดแย้งทางด้านการแบ่งปันเทคโนโลยีต่าง ๆ และความลับทางเทคโนโลยีที่ใช้ประกันประเทศ
3.Geopolitical wars : สงครามเขตแดน ความขัดแย้งในการยึดครองเขตแดน ซึ่งมีแนวทางแก้ได้โดยการเจรจา หรือการทำข้อตกลงร่วมกัน โดยไม่ใช้ความรุนแรง
4.Capital wars : สงครามการเงิน ความขัดแย้งด้านการให้เงินทุน อาจทำได้โดยการคว่ำบาตร หรือจำกัดการเข้าถึงตลาดทุนต่าง ๆ
5.Military wars : สงครามทางการทหาร การทำสงครามด้วยกำลังทหารเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม
โดยสงครามแต่ละรูปแบบจะมีความเกี่ยวเนื่องถึงกันซึ่งทำให้สงครามบางประเภทมีความสำคัญมากกว่าในบางช่วงเวลา เช่น ในปัจจุบันสงครามทางด้านเทคโนโลยีเป้นสงครามที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าชนะสงครามนี้จะทำให้มีความได้เปรียบทั้งได้ในการค้า และการทหารเป็นอย่างมาก
เมื่อเกิดสงครามย่อมมีผู้แพ้ผู้ชนะ ผู้ชนะจะสามารถมีอำนาจเหนือผู้แพ้ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และสามารถใช้อำนาจควบคุมผู้แพ้ได้ และเมื่อผู้คนในประเทศที่แพ้ไม่สามารถยอมรับกับอำนาจของผู้ชนะได้ ก็จะทำการปฏิวัติและเข้าสู่วงจรอีกครั้ง
จากการเรียนรู้รูปแบบวงจรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับอาณาจักรมหาอำนาจของโลกจะพบว่าถึงแม้ยุคสมัยที่รุ่งเรืองจะเจริญก้าวหน้าเพียงใด เมื่อถึงวันหนึ่งแม้อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ต้องเสื่อมถอยลง และหลีกทางให้มหาอำนาจคนใหม่ก้าวขึ้นมา
การรับรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของมหาอำนาจในโลกเกิดขึ้นแน่นอนทำให้เรามีมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเปลี่ยนไปมาก ถึงแม้จะบอกเวลาได้ไม่แน่ชัดแต่รูปแบบที่เกิดขึ้นจะคงใกล้เคียงเดิม ทำให้เรามองแนวโน้มในอนาคได้ดีขึ้น
#How_I_Feel
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของ Ray Dalio เล่มที่ 3 ที่ผมได้อ่าน Ray ยังคงสไตล์การเขียนที่มีข้อมูล และเนื้อหาที่ชัดเจน พร้อมทั้งภาพประกอบที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
ผมนับถือในความพยายามศึกษาของ Ray มาก ๆ เพราะหนังสือเล่มนี้ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งข้อมูลทั้งลึกและกว้าง เพื่อสร้างโมเดลของวงจรต่าง ๆ ให้เราได้เรียนรู้
ทำให้ผมรู้สึกว่าการได้อ่านหนังสือเล่มนี้ถือว่าคุ้มค่าจริง ๆ ครับ
..........
 
Review by Another Book
 
กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
สำหรับวันนี้ Another Book สวัสดีครับ
 
..........
โฆษณา