2 มี.ค. 2022 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับเจิ้งเฉิงกง นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างอยุธยากับดัตช์ได้อย่างไร?
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระนารายณ์, บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์, เจิ้งเฉิงกง
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ย้ายเมืองหลวงมาที่ลพบุรีและเริ่มดำเนินความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส ได้แก่ เหตุการณ์เรือรบของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) ปิดอ่าวไทย ค.ศ. 1663-64 ซึ่งเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับวีรบุรุษของชาวไต้หวันอย่าง เจิ้งเฉิงกง อีกด้วย
อนุสาวรีย์เจิ้งเฉิงกง ณ เมืองเซียะเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน
เจิ้งเฉิงกง หรือ โคซิงก้า (ค.ศ.1624-1662) เป็นขุนพลลูกครึ่งจีน-ญี่ปุ่น เป็นทั้งพ่อค้าและโจรสลัดบนเส้นทางสายนางาซากิ-ฝูเจี้ยน-มะนิลา รวมไปถึงรับเครื่องราชบรรณาการจากอาณาจักรอื่นๆ เช่น กรุงศรีอยุธยา,อันนัม (เวียดนาม) และ กรุงอุดง (กัมพูชา) เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ราชสำนึกจีนเกิดศึกสงครามระหว่างราชวงศ์หมิงและชาวแมนจู จนทำให้กองทัพแมนจูสามารถยึดกรุงปักกิ่งและก่อตั้งราชวงศ์ชิงได้ในปี ค.ศ. 1644 ซึ่งในช่วงแรก สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสามารถส่งเครื่องราชบรรณาการแด่จักรพรรดิซุ่นจื่อที่ปักกิ่งในปี ค.ศ 1652 ต่อมาจักรพรรดิได่ออกพระบรมราชโองการห้ามเดินเรือทะเลในปี ค.ศ. 1656 โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดกองกำลังที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์หมิงที่มีฐานกำลังอยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน
เส้นทางการค้าสายมะนิลา-ฝูเจี้ยน-นางาซากิ ภาพ https://storymaps.arcgis.com/stories/497f1bedd7644c2fbb9897257ecf26ba
เพื่อเป็นการหาทุนทรัพย์ในการ “โค่นชิงกู้หมิง” เจิ้งเฉิงกงจึงหันมาค้าขายกับอยุธยา, อันนัม และ อุดง โดยนำสินค้าจากจีน, ทองแดง และเหรียญทองญี่ปุ่น (koban) ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าของป่าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปค้าขายตามเส้นทางฝูเจี้ยน-มะนิลา-นางาซากิ โดยได้รับการรับรองจากราชสำนักอยุธยา สร้างความไม่พอใจให้กับดัตช์ที่ปกครองไต้หวันตั้งแต่ ค.ศ. 1624 ที่พยายามผูกขาดการค้าบนเส้นทางปัตตาเวีย-ไต้หวัน-นางาซากิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังกวาง ซึ่งเป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นต้องการ
เหรียญทองญี่ปุ่น (Koban)
ค.ศ.1661 เจิ้งเฉิงกงได้รวบรวมเรือรบและกำลังพลโจมตีค่ายทหารของดัตช์ที่ป้อมซีแลนเดีย (Fort Zeelandia) จนกระทั่งดัตช์ประกาศยอมแพ้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1662 ความพ่ายแพ้ของดัตช์ต่อกองทัพเจิ้งเฉิงกง ทำให้ดัตช์สูญเสียอิทธิพลในไต้หวัน จึงพยายามจับกุมเรือสินค้าของตระกูลเจิ้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรใหม่อย่างราชวงศ์ชิง ซึ่งหนึ่งในเรือสินค้าของดัตช์ยึดได้ เป็นในเรือสินค้าที่อยุธยาจ้างให้ขนส่งสินค้าไปยังนางาซากิ
Fort Zeelandia (ป้อมอันผิง) เมืองไทหนัน ประเทศไต้หวัน
การยึดเรือสินค้าอยุธยาของดัตช์ สร้างไม่ความพอใจต่อราชสำนักเป็นอย่างมาก และมีการต่อต้านดัตช์อย่างรุนแรงจนนำไปสู่การปิดสถานีการค้า ทางดัตช์จึงตอบโต้ด้วยการส่งเรือรบลาดตระเวนบริเวณอ่าวไทยและยึดเรือสินค้าอยุธยาที่เดินทางจากจีน จนสุดท้ายอยุธยาต้องยอมเซ็นสนธิสัญญาในปี ค.ศ. 1664 โดยให้สิทธิ์ในการค้าหนังกวางและไม้ฝาง
เรือสินค้าและเรือรบของดัตช์
ส่วนเจิ้งเฉิงกงถึงแก่กรรมหลังจากยึดครองไต้หวันได้ 4 เดือน แต่ทายาทตระกูลเจิ้งยังปกครองไต้หวันได้จนถึงปี ค.ศ. 1683 จึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ชิง ในปี ค.ศ.1684 จักรพรรดิคังซีจึงได้ประกาศพระบรมราชโองการเปิดท่าเรือทางตอนใต้ของจีนเพื่อกลับมาค้าขายอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา
- Pimpraphai Bisalputra, Ceramic Trade between early Qing China and Late Ayutthaya 1644-1767. Journal of the Siam Society vol.105, 2017.
- Bhawan Rungsilp, Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perceptions of the Thai Kingdom, Ca. 1604-1765

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา