2 มี.ค. 2022 เวลา 13:05 • หนังสือ
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ห้องเรียนแห่งการเงิน วิชาที่จำเป็นที่สุดในการใช้ชีวิต
ในโลกทุนนิยม เงินเป็นสิ่งที่ทุกคนในทุกช่วงชีวิตหลีกหนีจากมันไปไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นทำไมถึงไม่มีวิชาบริหารการเงินบรรจุอยู่ในหลักสูตรแบบจริงๆจังๆ? หลังจากก้าวออกจากรั้วการศึกษา เราต้องพบเจอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษี ประกันสังคม ประกันชีวิต และสำคัญที่สุด แผนเกษียณ
เราจะรอให้ชีวิตมาบีบบังคับให้เราวางแผนการเงินในระยะเวลาที่กระชั้นชิด หรือจะเลือกลงทะเบียนในวิชาบริหารการเงินกับหนังสือ Money Lecture ที่เขียนโดย ภก.กิตติศักดิ์ คงคา เจ้าของนามปากกา ลงทุนศาสตร์ เสียแต่เนิ่นๆกันล่ะครับ
โดยต่อมาผมจะชี้แจงว่าเนื้อหาของวิชานี้นั้นมีอะไรบ้าง
แผนการเงินของคนเรานั้นเปรียบเสมือนการทำธุรกิจครับ เราต้องวางแผนเพื่อให้สามารถ สร้างกำไร สร้างกระแสเงินสด และอยู่รอดได้
1
โดยผ่านการคำนวณจากสูตร
"รายได้ = ค่าใช้จ่ายจำเป็น + เงินออม/เงินลงทุน + ค่าใช้จ่ายตามต้องการ"
เป็นสมการที่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ และเป็นหัวใจหลักของการสร้างแผนการเงินของเราครับ
ผมขออธิบายความหมายอย่างสั้นๆของแต่ละตัวแปรดังนี้
ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น หรือ Fixed Expense คือค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่เราจำเป็นต้องใช้ในหนึ่งเดือน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็จะมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแตกต่างกันไป เมื่อนำมาเข้าสมการข้างตน เราจะทราบว่าค่าใช้จ่ายของเรานั้นมากเกินไปหรือไม่
เงินออม คือเงินที่เราจำเป็นต้องมีสำรองเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน แนะนำว่าควรมีประมาณ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือนครับ เป็นเงินที่เมื่อเราขาดรายได้หรือมีเหตุฉุกเฉิน เราจะได้ไม่ลำบาก ยังพอมีเงินมาหมุนเพื่อที่จะหาทางออกใหม่ๆได้ครับ เพราะฉะนั้นเงินออมจึงสำคัญมากและต้องเก็บให้ครบก่อนที่จะลงทุนนะครับ
เงินลงทุน เมื่อเราเก็บเงินออมได้ครบตามที่ต้องการแล้ว เราก็จะนำเงินไปลงทุนต่อ เงินลงทุนก็คือเงินที่เราเตรียมไว้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆนั่นเองครับ
ค่าใช้จ่ายตามต้องการ ก็จะเป็นจำนวนเงินที่เหลือจากสมการข้างต้น ถ้าเรานำค่าใช้จ่ายตามต้องการไปใช้ไม่หมด สามารถนำไปเพิ่มในเงินลงทุนต่อได้
แล้วค่าใช้จ่ายในอนาคตที่ทุกคนต้องเจอมีอะไรบ้างล่ะ?
1. แผนเกษียณ
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องรีบคำนึงถึงแผนเกษียณ รออายุมากค่อยคิดไม่ได้หรอ? ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่ามันก็สามารถทำได้ แต่ว่าถ้าคุณเริ่มเก็บเงินเพื่อแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ พลังแห่งการทบต้นจะทำให้คุณเก็บเงินได้อย่างสบายมากขึ้น
ผมขออธิบายให้เห็นภาพดังนี้ครับ
สมมติว่าคุณจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และจำเป็นต้องเก็บเงินจำนวน 5,000,000 บาทไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณ คุณจะต้องเก็บเงินเท่าไหร่ต่อเดือนเพื่อนำไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 5% ต่อปี?
ถ้าคุณเริ่มเก็บเงินตอนอายุ 50 คุณจำเป็นต้องเก็บเงินเดือนละ 32,200 บาท
แต่ถ้าคุณเริ่มเก็บเงินตอนอายุ 30 คุณจะต้องเก็บเงินเดือนละ 6000 บาท
เห็นไหมครับว่าพลังแห่งการทบต้นทำให้การเก็บเงินเพื่อการเกษียณทำได้ง่ายมากขึ้น
แต่ไม่ต้องตกใจไปครับ เรายังมีตัวช่วยออมเงินในยามเกษียณอีก 3 ตัวด้วยกัน ได้แก่
กองทุนประกันสังคม คือกองทุนที่จัดตั้งโดยรัฐบาลที่จะสะสมเงินจากลูกจ้างและนายจ้างเพื่อเป็นหลักประกันกรณี เจ็บป่วย ตกงาน หรือเสียชีวิต
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนของบริษัทเอกชน ที่ลูกจ้างสามารถเข้าร่วมได้ด้วยความสมัครใจ โดยแต่ละบริษัทก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ คล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่มีไว้สำหรับข้าราชการ
2. ประกันภัย
อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนครับ ยิ่งถ้ามีคนที่ต้องดูแล การทำประกันถือว่าสำคัญมาก เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการทำประกันความเสี่ยงและส่งต่อทุนประกันให้แก่คนที่อยู่ข้างหลัง โดยแบ่งเป็น
ประกันชีวิต คือประกันที่มีไว้เพื่อรับประกันความสูญเสียต่อบุคคล โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ทำประกัน
ประกันวินาศภัย คือประกันที่นอกเหนือจากประกันชีวิต ที่แบ่งเป็น ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ และประกันรถยนต์
3. ภาษี
คือเงินที่ประชาชนที่มีรายได้ทุกคนจำเป็นต้องนำส่งให้แก่ภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิ่งที่เราละเลยไม่ได้เลยครับ ถ้าเรามีแผนการเงินที่ดี เราสามารถทราบได้ว่าเราจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ และลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ การที่เราไม่ให้ความสนใจกับภาษีเลย อาจทำให้ภาษีที่เราต้องจ่ายนั้นพอกพูนเกินกว่าที่เราคิดก็ได้นะครับ
มีแต่ค่าใช้จ่ายทั้งนั้นเลย!
ใจเย็นๆครับ นอกจากค่าใช้จ่ายที่บานเบอะข้างบนแล้วนั้น ภายในหนังสือก็ได้พูดถึงการสร้างความมั่งคั่งผ่านสินทรัพย์ทั้ง 6 ตัว ได้แก่
1. เงินฝากและสลากออมทรัพย์
2. ตราสารหนี้
3. ตราสารทุน
4. ตราสารอนุพันธ์
5. สินค้าโภคภัณฑ์และอสังหาริมทรัพย์
6. กองทุนรวม
ที่จะช่วยอธิบายถึงลักษณะของสินทรัพย์แต่ละตัวให้ทุกคนเข้าใจ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจถูกว่าเราอยากที่จะมั่งคั่งผ่านสินทรัพย์ตัวไหน
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจเริ่มมีความสงสัยใคร่รู้ อยากจะสร้างแผนการเงินของตัวเองเต็มทน ผมจึงอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ เพราะภายในเล่มจะมีทั้งวิธีคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆข้างต้นและแบบฝึกหัดท้ายบท ที่จะช่วยสอนทุกคนสร้างแผนการเงินที่เหมาะสมกับตัวเองขึ้นมา พร้อมทั้งการใช้ภาษาที่สละสลวยและการเปรียบเปรยความรู้เรื่องการเงินยึดโยงเข้ากับเรื่องต่างๆ ทำให้การอ่านหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน (แน่นอนแหละครับ เพราะผู้เขียนเป็นนักเขียนนิยายนี่นา)
ส่วนตัวผมชอบหนังสือเล่มนี้มากๆเลยครับ เพราะก่อนหน้านี้ผมเป็นคนที่กลัวอนาคตมาก ไม่รู้ว่าเมื่อโตไปต้องพบเจอกับอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการเงิน เรียนมาตั้งหลายปีแต่ยังไม่เห็นได้เรียนเรื่องนี้เลย การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนประตูบานแรกที่พร้อมจะเปิดไปสู่อนาคตที่ผมสามารถวางแผนได้ พอมีแผนการเงินที่ชัดเจน ความกลัวที่ผมมีต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนก็เริ่มลดลง มั่นใจว่าแต่ละก้าวจะมั่นคงมากขึ้น
ผมจึงอยากชักชวนทุกคนมาลงทะเบียนเรียนในวิชานี้ด้วยกันกับ “Money Lecture เรียนหนึ่งครั้ง ใช้ได้ทั้งชีวิต” พร้อมแล้วก็มาจับจองที่นั่งแถวหน้า เรียนจบไปด้วยเกรดเอ และออกไปใช้ชีวิตกันเถอะครับ!
โฆษณา