11 มี.ค. 2022 เวลา 13:38 • ไลฟ์สไตล์
“คำพูดที่เข้าใจยาก เกี่ยวกับการละตัวกูของกู”
“ … ธรรมะปาติโมกข์ในวันนี้ ก็จะได้พูดกันถึงเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกูของกู ไปตามเดิม
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษาพูด ที่อาจจะยังไม่เข้าใจ เกี่ยวกับพุทธภาษิตนั่นเอง
ในวันอื่นคราวอื่น เราก็ได้พูดถึงหลัก ถึงข้อเท็จจริง หรืออะไรก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่ง มาจนเป็นที่เข้าใจกันโดยกว้าง ๆ ว่า สิ่งที่เราจะต้องละ ต้องระวัง ต้องละ ต้องตัด หรือต้องทำลาย ก็ไม่มีอะไรนอกไปจากสิ่งที่เราสมมติเรียกกันว่า ‘ตัวกูของกู’
ถ้าหมดตัวกูของกู หมายถึงเป็นพระอรหันต์
ทีนี้ปัญหาเกี่ยวกับคำพูดนี้ มันมีมาก มีหลายชั้น แล้วยิ่งกว่านั้นอีก มีพุทธภาษิตที่ใช้เป็นหลักอยู่ คือ พุทธภาษิตที่ว่า ถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
นี่มันแสดงความหมายว่าอย่างไร ลองคิดดู
1
มันแสดงความหมายไปในทางที่ว่า ไม่ได้ทำอะไร หรือไม่ต้องทำอะไร นอกจากเป็นอยู่โดยชอบ
ถ้าโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ ก็คือ มีพระอรหันต์
คำว่า เป็นอยู่โดยชอบ จะมีความหมายลึกลับ หรือลึกซึ้งอย่างไร ถึงกับทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ได้
ที่ว่า เป็นอยู่โดยชอบ นี้มันเป็นการละกิเลส เป็นการตัดกิเลส หรือเปล่า ?
คือ เพียงแต่ว่าเราเป็นอยู่โดยชอบ แล้วกิเลสมันก็หายหน้าไปเอง ไม่ได้เผชิญกันกับกิเลสเลย เหมือนเราเลี้ยงแมวไว้ หนูมันก็หายไปเอง โดยที่เราไม่ได้ไปทำอะไรกับหนูเลย
นี่มันเป็นความหมายของภาษาที่เรายังไม่ค่อยจะรู้กันว่า อะไรเป็นอะไร
ที่ละเอียดลงไปก็คือว่า เราก็ชอบพูดกันอยู่ หรือพูดกันอยู่ทีเดียวว่า ละกิเลส
หรือบางทีพูดมากกว่านั้น ก็ว่าประหัดประหารกิเลสเลย
คุณลองฟังดูให้ดี มันอาจจะเป็นเรื่องที่สลัวกันไปหมดก็ได้ คือไม่ได้เข้าใจอะไรเลย
บวชมาแล้ว พูดมาแล้วตั้ง ๒๐ ปี ๓๐ ปี เป็นครูสอนนักธรรม สอนบาลี สอนอะไรก็แล้ว แล้วมันก็ไม่เข้าใจในความหมายของถ้อยคำ ที่มันลึกลับ หรือว่าฟังดูแล้วมันเข้าใจไม่ได้
แม้แต่ว่า กิเลส นี้ต้องละหรือไม่ต้องละ หรือว่าจะละกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร
ผมเชื่อว่าไม่เข้าใจ แม้ที่เป็นครูสอนอยู่ทุกวัน
กิเลส มันเกิดขึ้นในใจ ประสบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก … แล้วเกิดขึ้นในใจ
ถ้าในปัจจุบันนั้นมันมีกิเลสอยู่แล้ว มันก็ไม่รู้ว่าอริยมรรคที่ไหนจะมาละกิเลสชนิดนั้น
แล้วกิเลสชนิดที่มันรู้สึกอยู่ในใจ เป็นปัจจุบัน รู้สึกอยู่ในใจนั้นมันก็ไม่ใช่อนุสัย มันเป็นกิเลสที่ออกมาในทางจิต ออกมาสู่ทวารแล้ว มันเป็นแต่ ละแต่กิเลสชนิดนั้น มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะว่าเชื้อของกิเลสมันก็ไม่ได้ถูกละ
ดังนั้นการพูดว่า การละกิเลส ๆ มันเป็นเพียงแต่ละกิเลสข้างนอก
ทางกาย ทางวาจา กิเลสหยาบ
ทางจิต กิเลสขนาดกลาง เขาว่ากันอย่างนั้น
ส่วนกิเลสที่เป็น ที่เรียกว่า อนุสัย ก็ไม่มีตัว ไม่มีตน ออกมาให้เห็น แล้วจะละมันได้อย่างไร
ถ้ากิเลสที่ไปฆ่า ไปตี ไปด่า ไปว่า นี่มันก็อาจจะละได้ นึกขึ้นมาได้ แล้วก็ละได้ หรือกิเลสประเภทนิวรณ์ กำลังกำหนัด กำลังขัดเคือง กำลังโง่อะไรอยู่ มันก็จะละไปได้ แต่นี่มันละเพียงขุยของกิเลส ที่เขาเรียกกันว่า กิเลสชั้นหยาบ กิเลสชั้นกลาง
ส่วนกิเลสชั้นละเอียด คือ อนุสัย นั้นยังไม่รู้อยู่ที่ไหน มันก็ไม่ได้ละ
แล้วในขณะที่กำลังมีกิเลสอยู่อย่างนั้น ใครจะทำอริยมรรคให้เกิดขึ้นได้ มันก็ไม่มี
ฉะนั้นอริยมรรค ก็ไม่มีโอกาสจะพบกันกับกิเลส
การจะพูดว่าอริยมรรค เป็นเครื่องประหารกิเลสนั้น มันหมายถึงเมื่อไหร่กัน
นี่คือความเข้าใจยาก
ผมเคยเตือนมาหลายหนแล้วว่า อย่าเอาเรื่องในหนังสือ หรือคำพูดที่ท่องไว้เป็นหลัก มันเป็นหลักไม่ได้ มันต้องเอาความรู้สึกในใจจริง ๆ หัวใจจริง ๆ นั้นเป็นหลัก อะไรมีอยู่อย่างไร
เมื่อกำลังมีกิเลสอยู่ เดือดพล่านเป็นไฟอยู่ในใจ
อริยมรรคไหนจะมาละกิเลสนั้นได้
มันก็เหลว
ทีนี้กิเลสที่เป็นอดีต กิเลสที่เป็นอนาคตนั้นไม่ต้องพูดถึง มันไม่มีตัวตนที่จะมาให้ละ
กิเลสปัจจุบัน ถ้ารู้สึกอยู่ ก็ไม่มีอริยมรรคอันไหนที่จะมาละมันได้ มันก็ยังเหลือแต่กิเลสประเภทที่เรียกว่านอนเนืองอยู่ในสันดาน แม้แต่อย่างนี้มันก็ยิ่งเป็นปัญหาลึกลับ เป็นกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน หรือกิเลสชั้นละเอียดที่เขาเรียกกัน
มันก็ไม่มีอะไรเข้าไปเผชิญหน้ากันได้
และมันก็ยังไม่ได้เกิด กิเลสที่เรียกว่าละเอียด นอนเนื่องอยู่ในสันดาน มันก็ยังไม่ได้เกิด มันยังไม่มีเหตุให้เกิด พอมีเหตุปัจจัยให้เกิด มันก็เกิดขึ้นมาเป็นกิเลสกลาง หรือกิเลสหยาบทุกทีไป
ถ้าใครพูดว่า กิเลสชั้นละเอียดนอนเนื่องอยู่ในสันดาน เหมือนกับไม่ได้เกิด ไม่ได้ดับ ผมว่าเป็นคนบ้า
มันไม่มีอะไรที่จะเป็นสัตตตะ หรือ เที่ยงแท้อย่างนั้นได้
มันมีแต่ “นิพพาน” อย่างเดียว ที่พูดว่าเป็นของเที่ยง หรือ สัตตตะ คือมันไม่ต้องเกิด ไม่ต้องดับ
ส่วนสิ่งที่ต้องเกิด กับต้องดับ มันก็จะนอนเนื่องอยู่ในสันดาน เป็นของเกิดอยู่ตลอดเวลา นอนเนื่องในสันดาน เป็นของเที่ยงอย่างนั้น มันมีไม่ได้
เพราะมีพุทธภาษิตชัดอยู่ว่า แม้แต่ “อวิชชา” มันก็เพิ่งเกิด
ถ้าคนพูดว่านอนเนื่องอยู่ในสันดาน มันคือคนพูดปาว ๆ ไปตามที่ไม่รู้ หรือว่าตามที่เขาพูด ๆ กันไป
ทีนี้อะไรที่ว่าจะพอพูดได้ว่ามันนอนเนื่องอยู่ในสันดานได้ ผมจึงแนะว่า ที่เรียกกันว่า อนุสัย หรือ สังโยชน์ นั้น อย่าไปเรียกกันว่ากิเลส หรือกิเลสชั้นละเอียดเลย ให้เรียกว่า “ความเคยชินแห่งกิเลส”
ความเคยชินแห่งการเกิดของกิเลส นั่นแหละ คือ อนุสัย
ความเคยชินนี้ มิได้เกิดอยู่ แต่มันพร้อมที่จะเกิด
พร้อมที่จะให้เกิด
พอมีอะไรมาให้รัก ก็รัก ทนไม่ได้
พอมีอะไรมาให้เกลียด มันก็เกลียด ทนไม่ได้
บังคับใจไม่ได้ เพราะว่าความเคยชินที่จะรักในสิ่งที่น่ารัก
หรือ ชิน ที่จะเกลียดในสิ่งที่น่าเกลียด
นี่มันมามาก มามากแล้วแต่หนหลัง มามาก เรียกว่าเป็นอาเสวนะปัจจัยฝ่ายกิเลส เป็นความเคยชินที่สุด จนเราไม่ต้องนึก ต้องคิด อะไรมาน่ารักก็รัก อะไรมาน่าเกลียดก็โกรธ หรือ เกลียด
นี่เรียกว่า ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น ที่จะเป็นอย่างนี้ ใน ๑๐ อย่างของสังโยชน์ หรืออนุสัย แล้วแต่จะพูด ๑๐ อย่าง หรือ ๗ อย่าง ก็ตามใจ
ความเคยชินในแต่ละอย่าง ๆ นี้มันเป็นความเคยชินที่พร้อมจะลุกออกมาเมื่อไหร่ก็ได้
ถ้าเราทำลายความเคยชินนี้ไปได้ ก็คือ ทำลายต้นตอของกิเลสทั้งหลายได้ กิเลสที่จะออกมาทางกาย ทางวาจา หรือทางจิต เป็นนิวรณ์นี้ มันก็ไม่มี
ที่ค้างออกมาเป็นนิวรณ์ ก็ต่อเมื่อเห็นอะไรเขาน่ารัก น่าชัง น่าหลงใหล มันก็เกิดขึ้นมา
หรือกิเลสหยาบ ไปตี ไปด่า ไปฆ่า ไปอะไรเขา มันก็เพราะความเคยชินแห่งกิเลสชนิดนั้น มันมีมากและรุนแรงถึงขนาดนั้น
ส่วนความเคยชินของกิเลสแท้ ๆ ที่เราเรียกได้โดยโวหารสมมติว่า นอนเนื่องอยู่ในสันดาน นอนรออยู่ในสันดาน มันไม่ใช่ตัวกิเลสที่เกิดอยู่ในสันดาน มันเป็นเพียงความเคยชิน เป็นนิสัยที่จะเป็นอย่างนั้น
1
จนกว่ามันจะได้รับอารมณ์ ประสบอารมณ์ กระทบอารมณ์ เข้า ไอ้ความเคยชินนั้นมันจะทำหน้าที่ทันที
มันก็มีมาก
ความเคยชินในการที่จะโลภ
ความเคยชินในการที่จะโกรธ
ความเคยชินในการที่จะหลง
ก็แยกออกไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง
แยกออกไปได้อีกมาก แล้วแต่ชื่อ
เราจะแจกเป็นอุปกิเลส ๑๖ ก็ตาม
นิวรณ์ ๕ ก็ตาม
หรือแม้แต่จะแจกตามชื่อสังโยชน์ ๑๐ สักกายทิฏฐิเป็นต้น ก็ตาม
มันก็รวมอยู่ในโลภ โกรธ หลง
จัดได้เป็นหมวด ๆ ๓ หมวดนี้
ทีนี้มันก็เคยชินในการที่จะโลภ โกรธ หลง
ถ้าตัดอำนาจอันนี้เสียได้ อำนาจที่เป็นความเคยชิน
อำนาจที่จะเป็นไปตามความเคยชิน ถูกตัดเสียได้
กิเลสก็ไม่มีทางเกิด
แล้วเราก็พูดว่า หมดกิเลส ได้
พูดว่า หมดกิเลส ได้จริง
เพราะถูกทำลายนิสัย ความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลสนั้นเสีย
อย่างนี้เท่ากับพระพุทธภาษิตที่ว่า
เป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
หมายความว่ามันไม่ให้โอกาส ที่ความเคยชินของกิเลสจะทำหน้าที่ของมัน
จนกระทั่งมันร่อยหรอ กร่อน ร่อยหรอออกไป
ถึงขนาดที่เรียกว่า หมดอำนาจ
หมดอำนาจความเคยชิน คือมันเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนความเคยชิน
เปลี่ยนนิสัยไป ไม่เป็นปุถุชนต่อไปอีก เป็นพระอริยะเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่ง กระทั่งเป็นพระอรหันต์
คุณระวังให้ดีว่า ไอ้ตัวกูของกู นั่นแหละ คือความเคยชินที่สุด
แล้วก็ออกมาเป็นกิเลสกลาง กิเลสหยาบ แล้วแต่เรื่อง
ตัวกูของกู คำเดียวนี้ เป็นชื่อของกิเลสหยาบก็ได้
ชื่อของกิเลสกลางก็ได้
และเป็นชื่อของกิเลส ที่เขาเรียกกันว่า ละเอียด แต่ผมไม่เรียก
แต่ก่อนผมก็เคยเรียก แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่เรียก
จะไปเรียกมันว่า ความเคยชินของกิเลส
ถ้าเรียกว่าอนุสัย เรียกว่าสังโยชน์ ก็แปลว่าเป็นความเคยชินของกิเลสที่ผูกพันจิตใจเรา หรือนอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา แล้วมีความเคยชิน คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสตามชื่อเหล่านี้
ความเคยชินที่จะเกิดมากที่สุด
ก็คือ ความเคยชินที่จะเกิดความรู้สึกว่า เป็นตัวกูของกู
ถ้าว่าทำอะไรลงไป ตามความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู ทางจิตก็ได้ ทางกาย วาจา ก็ได้ ออกมาถึงกาย ถึงวาจาก็ได้
คือมันออกมาเพียงแค่จิตสำนึกก็ได้ ถ้ามันเลยออกมา ทะลุเลยมาถึงกาย วาจา จนเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ก็ได้ คือความเคยชินของกิเลส คือตัวกูของกู
เพราะฉะนั้นมันจึงยากมากที่จะควบคุม ก่อนแต่ที่จะไปรัก หรือไปโกรธอะไรเข้า
ปากก็พูดว่าตั้งใจว่าจะไม่โกรธ พอมีอะไรมาวิบ ๆ เดียว เร็วกว่าสวิตซ์ไฟฟ้า ชินไปโกรธซะแล้ว ไปตีกันหัวแตกแล้ว
หรือว่ามันไปฆ่าพ่อฆ่าแม่เขาแล้ว นี่มันเร็วขนาดนี้
ในส่วนความรัก หรือความโลภก็เหมือนกัน จิตใจมันไปถึงขนาดที่เรียกว่ากำหนัดรักใคร่ หลงใหลไปแล้ว มันจึงสำรวมศีล สำรวมวินัย ปาติโมกข์อะไรไม่ได้
ในเมื่อเป็นผู้ที่ไม่เป็นอยู่โดยชอบ คือ ไม่มีสติอยู่ตลอดเวลา เขาไม่เป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าไม่เป็นอยู่โดยชอบ
ทีนี้พออารมณ์มากระทบ มันก็ไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว ไปเสร็จแล้ว กว่าสติจะมา ที่ไหนได้มันไปฆ่าเขาแล้ว
อริยมรรคไหนจะเกิดขึ้น แล้วฆ่ากิเลสชนิดนั้น ที่เป็นชนิดหยาบ ๆ หรือเป็นเพียงปฏิกิริยาของความเคยชินในการเกิดกิเลสได้ มันก็ไม่มี
ที่มานั่งภาวนาว่า ละกิเลส ๆ อะไรนี่ มันก็เป็นเรื่องน่าสงสาร น่าหัวแล้วก็น่าสงสาร
ฉะนั้นต้องระลึกนึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า
เป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ กันให้มาก
แล้วก็พยายามเป็นอยู่โดยชอบ อยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ให้มีการเป็นอยู่โดยชอบ ที่เราเรียกว่า ทำอานาปานสติ คือมีสติอยู่ทุกครั้งหายใจเข้าออก นี่มันไม่มีช่องที่ว่า ความเคยชินของกิเลสจะแสดงบทบาทอะไรออกไป
ทีนี้มันก็เป็นการขยายความไม่มีกิเลส ความไม่มีกิเลส ความว่างจากกิเลสที่เป็นชั้นธรรมดาสามัญนี้ ยาวออกไป ยาวออกไป ๆ … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุ
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา