12 มี.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
(หมายเหตุ เมื่อวานนี้ลงเรื่องยูเครน และโยงถึงการประกาศสงครามของไทยต่อสหรัฐฯและอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนอาจมองไม่เห็นภาพชัดว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนสงสัยว่าเรามีทางเลือกไม่ประกาศสงครามได้หรือ จึงขอนำเรื่อง ไตรรงค์ใต้ดิน (ในชุดประวัติศาสตร์ที่เราลืม เล่ม ๓) มาให้อ่านเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ และอาจทำให้มองเห็นและเปรียบเทียบกับภาพในปัจจุบันได้ เรื่องนี้ยาวมาก แบ่งออกเป็นห้าตอน ไม่น่าอ่านยาก เพราะเขียนในรูปกึ่งนิยาย แต่ข้อมูลจริง)
3
-ตอน ๑-
ทะเลอ่าวไทยเงียบสงบในเวลาตีสองซึ่งเป็นรอยต่อของวันที่ ๗-๘ ธันวาคมพ.ศ. ๒๔๘๔ ในความมืดเย็นแห่งราตรี เรือรบหลายสิบลำฝ่าความมืดไปอย่างเงียบเชียบ เบื้องหน้าคือชายฝั่งประเทศไทย คำสั่งของผู้บังคับการเรือทุกลำเหมือนกัน ยกพลขึ้นบก ยึดดินแดนไทย
ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เครื่องบิน ๔๑๔ ลำ เรือพิฆาต เรือดำน้ำหลายสิบลำของญี่ปุ่นบุกโจมตีฐานทัพเรือ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ของสหรัฐอเมริกาในภารกิจที่เรียกว่า ปฏิบัติการฮาวาย (Hawaii Operation) กองทัพอาทิตย์อุทัยเปิดศึกหลายด้านพร้อมกัน ขณะที่โจมตี เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ทางด้านตะวันออก กองทัพญี่ปุ่นห้าแสนคน เรือรบ ๗๐ ลำ เครื่องบิน ๗๐๘ ลำ ก็รุกมลายา สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยอย่างสายฟ้าแลบ
ราวตีสองกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ณ เมืองชายทะเลอ่าวไทย เช่น
ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี บางปู สมุทรปราการ นอกจากนี้ยังส่งกำลังรุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ
เวลาเช้าตรู่ ทหารญี่ปุ่นก็ปรากฏทั่วทุกจุดยุทธศาสตร์ชายฝั่ง คนไทยทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชน และยุวชนทหาร ลุกขึ้นจับอาวุธสู้ผู้รุกราน
การปะทะกับญี่ปุ่นที่จังหวัดชุมพร นอกจากทหารกับตำรวจแล้ว ยังมีกลุ่
มยุวชนทหารนำโดยผู้บังคับการ ร.อ. ถวิล นิยมเสน ร.อ. ถวิลถูกทหารญี่ปุ่นยิงตาย แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อ
1
ในห้วงยามที่แผ่นดินกำลังเดือดระอุ เวลา ๐๗.๕๕ น. อัครราชทูตญี่ปุ่นเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี
“เราขอให้ฝ่ายไทยหยุดยิง”
“แต่พวกคุณรุกรานดินแดนเรา”
“เราขอแค่ผ่านทางไทยไปพม่า”
“หากเราไม่ยอม?”
“เครื่องบิน ๒๕๐ ลำของเราที่ไซ่ง่อนจะบินมาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ เส้นตายคือเวลา ๑๐.๓๐ น.”
ฝ่ายเสนาธิการไทยประชุมกันโดยด่วน
“เราต้องยอม เพราะไม่อาจต้านทานกองทัพญี่ปุ่นได้นาน”
5
เวลาสิบเอ็ดโมงเช้ารัฐบาลประกาศผ่านกรมโฆษณาการ
“ได้รับโทรเลขจากจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่เวลา ๐๒.๐๐ น. ว่าเรือรบญี่ปุ่นได้ยกทหารขึ้นบกที่สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และบางปู ทางบกได้เข้าทางจังหวัดพิบูลสงคราม ทุกแห่งดังกล่าวแล้วได้มีการปะทะสู้รบกันอย่างรุนแรงสมเกียรติของทหารและตำรวจไทย ๐๗.๓๐ น. วันนี้ รัฐบาลไทยได้สั่งให้ทหารและตำรวจทุกหน่วยหยุดยิงชั่วคราวเพื่อรอคำสั่ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจากันอยู่ ผลเสียหายทั้งสองฝ่ายยังไม่ปรากฏ”
คนไทยวางอาวุธอย่างลังเล
1
ในค่ำวันนั้นคนไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปที่บ้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปรีดี พนมยงค์ เช่น หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์) สงวน ตุลารักษ์ วิจิตร ลุลิตานนท์ เตียง ศิริขันธ์ ถวิล อุดล จำกัด พลางกูร
ผู้มาเยือนสนทนากัน
“วันนี้เป็นวันอัปยศ ทหารต่างด้าวรุกรานประเทศไทย และรัฐบาลเข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่น เราเสียเอกราชไปแล้วโดยปริยาย”
“ญี่ปุ่นไม่มีทางขอแค่ผ่านทาง ช้าหรือเร็วเราก็จะถูกดึงเข้าเป็นฝ่ายญี่ปุ่นเต็มตัว”
“รัฐบาลไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเยอรมนีและญี่ปุ่น เกรงว่าเราจะไปเข้ากับเขา”
ปรีดี พนมยงค์ ว่า “ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ย่อมดึงสหรัฐฯเข้าสู่สงคราม สหรัฐฯมีศักยภาพในการทำสงครามมากกว่า เพราะ มีอุตสาหกรรมหนักรองรับยุทโธปกรณ์ ในระยะยาวโอกาสที่สหรัฐฯกับอังกฤษชนะสงครามมีสูงกว่า”
2
“เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย เรามีภารกิจคือขับไล่ญี่ปุ่นออกไป”
ก่อนสิ้นราตรีนั้น องค์การต่อต้านญี่ปุ่นก็ถือกำเนิด
ที่ประชุมยกให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า รหัสนาม รูธ
เที่ยงคืนนั้น ปรีดี พนมยงค์ ไปพบ น.อ. หลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) หลวงกาจสงครามเสนอให้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่พม่า ปรีดีตกลง หลวงกาจสงครามซึ่งเป็นชาวเหนืออาสาไปทำ ผ่านไปสามวัน ก็กลับมาบอกว่าญี่ปุ่นคุมหนทางแถบนั้นหมดแล้ว
1
ตลอดเดือนสุดท้ายของปี พ.ศ. ๒๔๘๔ คนไทยทั้งประเทศมองดูทหารญี่ปุ่นเพ่นพ่านในแผ่นดินด้วยความไม่พอใจ
ความไม่พอใจยิ่งบานปลายเมื่อในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รัฐบาลไทยทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น
1
ในระยะแรกของสงคราม กองทัพญี่ปุ่นประสบชัยชนะในทุกสมรภูมิรัฐมนตรีไทยบางคนจึงคิดฉวยโอกาสร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น เพื่อเป็นฝ่ายชนะสงคราม
ในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ โดยไม่ฟังเสียงค้านของ ปรีดี พนมยงค์
ก่อนเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกไทย คณะราษฎรแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายทหารนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับฝ่ายพลเรือนนำโดย ปรีดี พนมยงค์ ความแตกร้าวยิ่งลึกเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น ส่วนกลุ่ม ปรีดี พนมยงค์ ถูกลดบทบาททางการเมือง
1
ญี่ปุ่นเริ่มเจรจาขอกู้เงินจากไทยเพื่อนำไปใช้ในกิจการทหาร ปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วย กล่าวว่า สงครามยังคงอีกยาวนาน ญี่ปุ่นคงต้องกู้เงินจากไทยอีกหลายรอบแน่นอน ไม่ช้าไทยก็ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ
1
จอมพล ป. ถาม ปรีดี พนมยงค์ “อาจารย์มีความคิดอ่านอย่างไร?”
“ให้ญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรของเขาเองเพื่อใช้ในกองทัพ เมื่อสงครามยุติ เราก็ยกเลิกธนบัตรญี่ปุ่น เศรษฐกิจไทยจะไม่ถูกกระทบกระเทือน”
1
“ถ้าทำอย่างนี้ก็เท่ากับไทยเสียเอกราช”
ปรีดี พนมยงค์ แย้งกลับนิ่ม ๆ ว่า “การที่ไทยยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมือง ทำอะไรก็ได้ ไม่ได้แปลว่าเราเสียเอกราชไปแล้วหรือ?”
1
ผลก็คือญี่ปุ่นกดดันให้รัฐบาลปลดเขาออก ปรีดี พนมยงค์ ไปรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
สำหรับองค์การต่อต้านญี่ปุ่นก็มีภารกิจใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง
“การประกาศสงครามจะทำให้สัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดบ้านเราแน่นอน แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ หลังสงครามไทยอาจเสียเอกราช”
“งานของเราหนักขึ้นหลายเท่า เพราะเราต้องทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม”
1
“ดูเหมือนสหรัฐฯจะเข้าใจเรา”
“แต่อังกฤษไม่มีวันยอม”
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ โทรเลขฉบับหนึ่งเดินทางไปถึงสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นคำสั่งให้อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เผาเอกสารสำคัญทั้งหมดทิ้ง
ม.ร.ว. เสนีย์ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลและแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาทราบว่า สถานทูตไทยไม่ยอมรับรัฐบาลไทย
2
รัฐมนตรีสหรัฐฯถาม “ทำไม?”
“เพราะรัฐบาลตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น การตัดสินใจของรัฐบาลไม่ใช่เป็นความเห็นชอบของประชาชนชาวไทย ตรงกันข้าม คนไทยทั้งประเทศไม่เห็นด้วย”
4
“แล้วท่านทูตจะทำอย่างไร?”
“เราจะใช้สถานทูตไทยในสหรัฐฯเป็นศูนย์กลางต่อสู้กับญี่ปุ่น”
1
วอชิงตันตกลง
วันที่ ๑๒ ธันวาคม ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ปราศรัยทางวิทยุถึงชาวไทยว่า ให้คนไทยทั้งประเทศช่วยกันกอบกู้เอกราชและอธิปไตย
1
ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช มีหน้าที่ต้องยื่นเอกสารประกาศสงครามต่อสหรัฐฯ ม.ร.ว. เสนีย์เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา
รัฐมนตรีสหรัฐฯถาม “ท่านทูตมายื่นเอกสารประกาศสงคราม?”
“เปล่า มันอยู่ในกระเป๋าเสื้อผม ผมเห็นว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยมิได้เป็นเจตนารมณ์ของคนไทยทั้งประเทศ”
1
“ถ้าจดหมายยังอยู่ในกระเป๋าคุณ สหรัฐฯก็ไม่จำเป็นต้องประกาศสงครามตอบ”
“ทว่าอังกฤษไม่ได้คิดอย่างสหรัฐฯ เชอร์ชิลโกรธมากที่ประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยหาญประกาศสงคราม” เสรีไทยประชุมกัน
“แต่อังกฤษก็ยังไม่ได้ประกาศสงครามตอบ เพราะเห็นว่ามีคนไทยจำนวนมากต่อต้านญี่ปุ่น
1
“ที่อังกฤษก็มีการรวมตัวกันของคนไทยเหมือนกัน แต่อัครราชทูตไทยรับคำสั่งของรัฐบาล ออกคำสั่งถึงนักเรียนไทยในอังกฤษไม่ให้เคลื่อนไหว สั่งให้ทุกคนเดินทางกลับประเทศไทยทันที แต่นักเรียนไทยในอังกฤษไม่ทำตามคำสั่งของสถานทูต ตอนนี้นักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เป็นตัวตั้งตัวตีตั้งกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่น รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี(พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็ทรงให้การสนับสนุน”
1
“ใครเป็นหัวหน้า?”
“ยังไม่มี เพราะแม้จะมีพระราชวงศ์อาวุโส แต่นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบกับการเมืองในประเทศ”
กลุ่มนักเรียนไทยที่เคมบริดจ์นำโดยนายเสนาะ ตันบุญยืน ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในสหรัฐฯ
วันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๘๕ พวกเขาได้รับคำตอบจาก ม.ร.ว. เสนีย์ว่าจะช่วยเหลือ
กลุ่มนักเรียนไทยเข้าพบ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน แจ้งว่ามีนักเรียนไทยในอังกฤษจำนวนมากต้องการช่วยอังกฤษสู้รบกับญี่ปุ่น ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯจึงทำหนังสือเสนอ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แจ้งว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ากับญี่ปุ่น
เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ นักศึกษาไทยในสหรัฐฯสามสิบคนประชุมกับข้าราชการสถานอัครราชทูตไทยที่วอชิงตัน ที่ประชุมตกลงใช้นาม ‘เสรีไทย’ (Free Thai Movement) ตามข้อเสนอของนายจก ณ ระนอง นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
1
เป้าหมายคือ หนึ่ง โค่นรัฐบาลจอมพล ป. สอง สร้างความแตกแยกระหว่างรัฐบาลจอมพล ป. กับญี่ปุ่น สาม ก่อวินาศกรรมกองทัพญี่ปุ่น สี่ ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองสถานะของขบวนการเสรีไทยและรับมติว่าคนไทยทั้งปวงไม่ร่วมสงครามกับญี่ปุ่น
1
แต่ภารกิจใหญ่ขนาดนี้ พลเรือนจะทำสำเร็จได้อย่างไร?
ปรีดี พนมยงค์ กล่าวในที่ประชุมสมาคมใต้ดินว่า “ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีหน่วยต่อต้านญี่ปุ่นอีกสองกลุ่ม คืออังกฤษและสหรัฐฯ รวมกับหน่วยของเรา ก็เป็นสามกลุ่ม ต่างคนต่างทำงาน สิ่งแรกที่เราต้องทำตอนนี้ก็คือประสานสามกลุ่มโดยเร็วที่สุด เราต้องติดต่อกับอังกฤษและสหรัฐฯโดยเร็วที่สุด เพื่อให้พวกเขารู้ว่าคนไทยแทบทั้งหมดไม่เห็นด้วย มีฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย และเราจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามใต้ดินกับญี่ปุ่น”
1
“ทำอย่างไร?”
“รัฐบาลจีนคณะชาติของเจียงไคเช็กเป็นพวกสัมพันธมิตรที่อยู่ใกล้เมืองไทยที่สุด มีสถานทูตของอังกฤษและสหรัฐฯที่เมืองฉงชิง เราต้องส่งคนไปที่นั่น ไปคุยกับรัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ แจ้งว่าการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรโดยรัฐบาลจอมพล ป. เป็นโมฆะ เพราะผมในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มิได้ลงนามด้วย เราจะขอให้อังกฤษ สหรัฐฯ และจีนรับรองว่าไทยไม่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น”
1
“แล้วขั้นต่อไป?”
ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า “หลังจากนั้นเราจะร่วมมือกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่อินเดีย”
“ทำได้ยากมาก เพราะเส้นทางผ่านพม่าไปอินเดียถูกญี่ปุ่นคุมไว้หมด”
“ติดต่อกับอังกฤษและสหรัฐฯก่อน แล้วค่อยว่ากัน”
ครึ่งปีหลังของ พ.ศ. ๒๔๘๕ เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ น้ำสูงเมตรครึ่ง ท่วมนานสองเดือน ยิ่งซ้ำเติมสภาพจิตของคนไทยที่กำลังอยู่ในภาวะสงคราม
แต่ภารกิจของเสรีไทยก็ต้องดำเนินไป
ปรีดี พนมยงค์ ติดต่อกับเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่
“ผมอยากให้คุณหาคนที่ไว้ใจสักคนไปเมืองจีน”
“ที่ไหนครับ?”
“ฉงชิง”
“ไปทำอะไรครับ?”
“ไปหานายพลเจียงไคเช็ก แล้วติดต่อพวกอังกฤษที่นั่น เพื่อแจ้งให้พวกเขารู้ว่ามีขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น เจรจาขอตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในเขตแดนของฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น อินเดีย ขอให้รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯรับรององค์การเสรีไทยและรัฐบาลพลัดถิ่นที่กำลังจะตั้งขึ้น”
“ได้ครับ”
“อีกเรื่องหนึ่งคือขอให้อังกฤษปล่อยเงินของรัฐบาลไทยที่อายัดไว้ เราจะได้นำเงินนี้มาใช้ต่อต้านญี่ปุ่น อีกประการ คนของเราต้องไปพบ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ขอให้ท่านประสานงานกับ ม.ร.ว. เสนีย์ รวมเสรีไทยทั้งสามกลุ่มเข้าด้วยกัน”
คนของเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ก็เดินทางไป แต่ปฏิบัติการล้มเหลวในเวลาอันสั้น
“ญี่ปุ่นคุมทางเข้าออกประเทศไทยไว้ทุกจุด คนของผมออกไปได้ก็จริง แต่ตลอดทางเป็นป่ารกชัฏ เดินทางยากลำบาก และมีไข้ป่าชุม คนของผมจึงต้องกลับมา”
จนถึงปี ๒๔๘๖ ปรีดี พนมยงค์ ก็พบชายคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะกับภารกิจนี้
จำกัด พลางกูร
(โปรดรออ่านตอน ๒)
จากหนังสือ #ประวัติศาสตร์ที่เราลืม เล่ม ๓ (ชุดนี้มี ๕ เล่ม) ซื้อตรงจากนักเขียนได้ที่ http://www.winbookclub.com/shopping.php (หมวดสารคดี)
โฆษณา